พลัดที่นาคาที่อยู่ สูญสิ้นแม้ความหวัง

“เต้น!” เสียงตะโกนจากเจ้าหน้าที่ทหาร ผู้แกว่งปืนในมือไปยังเด็กหญิงที่กำลังหวาดกลัวจนตัวสั่นเทิ้ม อฟีฟาเพิ่งจะอายุได้ 14 ปี เธอถูกจับกุมอยู่ในนาข้าวรวมกับเด็กหญิงและผู้หญิงคนอื่นๆ อีกหลายสิบคน ทั้งหมดเป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์โรฮิงญา บรรดาทหารที่บุกรุกหมู่บ้านของพวกเธอในเช้าวันหนึ่งของเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กล่าวว่า พวกเขากำลังตามหาตัวผู้ก่อการร้ายติดอาวุธที่สังหารเจ้าหน้าที่ชายแดนตายไป 9 ราย เด็กผู้ชายและผู้ชายในหมู่บ้านพากันหวาดกลัว ดังนั้นพวกเขาจึงหนีไปซ่อนตัวในป่า และทหารเหล่านี้จึงหันมาข่มขวัญผู้หญิงและเด็กๆ แทน

หลังจากถูกค้นตัว อฟีฟาเห็นทหารลากหญิงสาว 2 คนเข้าไปในทุ่งนาลึก ก่อนที่พวกเขาจะมุ่งความสนใจมาที่เธอ “ถ้าแกไม่เต้น” หนึ่งในนั้นกล่าว แล้วเอานิ้วลากไปที่ลำคอของตัวเอง “เราจะฆ่าเธอ” อฟีฟาร้องไห้น้ำตานองหน้า เธอเริ่มแกว่งตัวไปมา พวกทหารปรบมือเป็นจังหวะ บางคนหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายคลิปวิดีโอไว้ ผู้บัญชาการของพวกเขาสอดแขนเข้ามาโอบเอวของเธอ

“แบบนี้ดีกว่าใช่ไหม?” เขาพูดพร้อมรอยยิ้ม

เช้าวันหนึ่ง สมาชิกครอบครัวผิงตัวรอบกองไฟในค่ายพัก Kutupalong ผู้อพยพเหล่านี้สร้างที่พักของเขาจากกิ่งไม้ ใบไม้และแผ่นพลาสติกสีดำ ที่พักหลายหลังของพวกเขาถูกทำลายโดยพายุไซโคลนเมื่อเดือนพฤษภาคม

เหตุการณ์ทำนองนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงล่าสุดที่เกิดขึ้นจากการปราบปรามชาวโรฮิงญาจำนวนกว่า 1.1 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา สหประชาชาติออกมากล่าวว่า ชาวโรฮิงญาเหล่านี้เป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหงมากที่สุดในโลก พวกเขาเป็นชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศที่พุทธศาสนาเป็นใหญ่ ชาวโรฮิงญาอ้างว่าพวกเขาเป็นชนพื้นเมืองของรัฐยะไข่ และหลายคนก็สืบเชื้อสายมาจากบรรพบรุษที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 แม้พวกเขาจะมีรากเหง้าที่ยาวนาน แต่กฏหมายตั้งแต่ปี 1982 ไม่ได้ให้สิทธิชาวโรฮิงญาเป็นพลเมืองของประเทศ ปัจจุบันพวกเขายังคงมีสถานะเป็นผู้อพยพผิดกฎหมาย และในบังกลาเทศเองก็รองรับชาวโรฮิงญากว่าครึ่งล้านคนที่หลบหนีเข้าไปอาศัยอยู่

การปะทะกันระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิม เมื่อ 5 ปีก่อน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน ส่วนมากอยู่ในรัฐยะไข่หมู่บ้านและมัสยิดหลายแห่งถูกเผาทำลาย ชาวโรฮิงญาจำนวน 120,000 คนถูกบังคับให้ใช้ชีวิตในค่ายพัก ซึ่งควบคุมโดยกองกำลังทหารเมียนมา ที่ปกครองประเทศนี้มานานกว่า 50 ปี ก่อนที่ระบบการปกครองของประเทศจะเริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อปีที่ผ่านมา เมื่อมีรัฐบาลที่มาจากประชาชน

ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุดคือการไล่ล่าปราบปรามผู้ที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีเจ้าหน้าที่ชายแดนอย่างป่าเถื่อน รายงานการให้สัมภาษณ์พยาน จากสหประชาชาติและองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนอื่นๆ รวมถึงเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกด้วยเช่นกัน ระบุ ทหารเมียนมาเข่นฆ่า, กักขัง และทำลายหมู่บ้าน และข่มขืนหญิงชาวโรฮิงญาอย่างเป็นระบบ Yanghee Lee เจ้าหน้าที่พิเศษผู้รายงานสิทธิมนุษยชนในเมียนมาเชื่อว่า “มีความเป็นไปได้สูงมาก” ที่การกระทำของพวกเขาจะสามารถจัดอยู่ในอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในรัฐยะไข่ ยังคงไม่สามารถทราบได้ นั่นเป็นเพราะรัฐบาลเมียนมาไม่อนุญาตให้องค์กรอิสระ, นักข่าว หรือองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ สามารถเข้าตรวจสอบพื้นที่ได้อย่างอิสระ ขณะนี้มีเพียงภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงให้เห็นว่าหมู่บ้านของชาวโรฮิงญาถูกเผา คลิปวิดีโอที่ปรากฏบนโลกออนไลน์แสดงให้เห็นร่างของผู้ใหญ่และเด็กถูกย่างเกรียมนอนอยู่บนซากของอดีตหมู่บ้าน หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนรายงานชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนเสียชีวิตจากการปราบปรามนี้ และหนึ่งในความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ความรุนแรงนี้ส่งผลให้เกิดคลื่นผู้อพยพชาวโรฮิงญามากกว่า 75,000 ราย สู่ค่ายผู้อพยพในบังกลาเทศที่แออัด ในจำนวนนี้ 60% เป็นเด็ก (ประมาณตัวเลขคร่าวๆ ชาวโรฮิงญา 20,000 คนหรือมากกว่า หลบหนีออกจากชายแดนเมียนมา)

ด้วยความที่ปราศจากบริการทางการแพทย์ หญิงโรฮิงญาและเด็กทารกที่ขาดสารอาหารนี้จำต้องรอความช่วยเหลือจากองค์การแพทย์ที่ไม่แสวงผลกำไร

ก่อนที่ทหารจะจากหมู่บ้านของอฟีฟาไปในวันนั้น เธอเล่าว่าพวกเขาจุดไฟเผานาข้าว ปล้นบ้าน และยิงวัวกับแพะทั้งหมดทิ้ง ความหวาดกลัวทำให้ครอบครัวของอฟีฟาตัดสินใจแบ่งสมาชิกออกเป็น 2 กลุ่ม หนีไปคนละทิศทาง เพื่อช่วยให้พวกเขาอยู่รอดต่อไปได้ “เราไม่ต้องการจากบ้านมา” โมฮัมหมัด อิสลาม พ่อของอฟีฟากล่าวกับผม ในอีก 5 เดือนต่อมาเมื่อสมาชิกครอบครัวจำนวน 5 ใน 11 คน เดินทางมาถึง  Balukhali ค่ายผู้อพยพในบังกลาเทศ “แต่ทหารมีเพียงเป้าหมายเดียว : กำจัดโรฮิงญาให้หมด”

พวกผู้ชายสวดมนต์ในมัสยิดที่สร้างขึ้นแบบง่ายๆ จากไม้ไผ่ ในค่าย Balukhali ค่ายผู้อพยพในบังกลาเทศ ชาวโรฮิงญาเป็นมุสลิม ที่อาศัยอยู่ในประเทศซึ่งพุทธศาสนาเป็นใหญ่ กลุ่มผู้ประท้วงชาวพุทธได้ลุกขึ้นทำลายและทวีความเกลียดชังแก่ชนกลุ่มน้อยนี้

สถานการณ์ทั้งหมดไม่ควรดำเนินมาถึงจุดนี้ ย้อนกลับไปไม่กี่ปีก่อน ผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ อองซาน ซูจี กลายมาเป็นผู้นำของเมียนมา บรรดาองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนและแม้แต่ชาวโรฮิงญาเองคาดหวังว่าเธอจะสามารถนำสันติสุขและการประนีประนอมมายังรัฐยะไข่ได้ ลูกสาวของวีรบรุษแห่งเมียนมา นายพลอองซาน เธอได้รับการยกย่องถึงความกล้าหาญในการต่อสู้กับระบอบเผด็จการของประเทศ หลังถูกจองจำในบ้านของตนเองมานาน 15 ปี อองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติชนะการเลือกตั้งและนำประเทสไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในปี 2015 (ข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญทำให้เธอไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีได้ อองซานแต่งตั้งคนสนิทขึ้นดำรงตำแหน่ง ในขณะที่ตนเองบริหารรัฐบาลในฐานะ “ที่ปรึกษารัฐ”)

“เราหวังไว้สูงมากว่าซูจีและประชาธิปไตยจะนำสิ่งที่ดีมาสู่เรา” มูลาบี จาฟฟา นักบวชมุสลิมวัย 40 ปี และเจ้าของร้านค้าจากหมู่บ้านทางตอนเหนือของเมืองมองดอกล่าวในขณะที่นั่งอยู่เพิงของเขาในค่าย  Balukhali “แต่ทุกอย่างกลับเลวร้ายลง นั่นเป็นอะไรที่น่าประหลาดใจมาก”

เด็กผู้ชายเรียนอัลกุรอ่านภายในค่าย Kutupalong เด็กๆ ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ในบังกลาเทศไม่ได้รับการศึกษาเนื่องจากพวกเขาเป็นผู้อพยพที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน

แม้จะมีชื่อเสียงด้านการทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชน แต่ดูเหมือนว่าซูจีจะไม่เต็มใจหรือไม่สามารถพูดถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาได้ เมื่อรายงานการปราบปรามอันโหดร้ายของทหารเมียนมาถูกเผยแพร่เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา เธอออกมากล่าว ไม่ใช่การพูดถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสมของทหาร แต่เป็นการตำหนิการกระทำของสหประชาชาติและกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่กระตุ้นความไม่พอใจให้เกิดขึ้นทั่วโลก จากการฟังคำบอกเล่าของชาวโรฮิงญาที่หลบหนีเข้าไปในบังกลาเทศ มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย เธอกล่าว “ถ้าทุกคนมุ่งนำเสนอไปที่แง่ลบของสถานการณ์” อองซาน ซูจียังไม่ได้เดินทางไปเยี่ยมพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ แต่ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เธอกล่าวว่า “ฉันไม่คิดว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น”

ความนิยมในตัวอองซาน ซูจี ยังคงมีอยู่ในเมียนมา ประเทศที่ประชากรกว่า 90% เป็นชาวพุทธ และกองกำลังทหารยังคงมีอำนาจ แต่บทบาทของเธอในการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ กำลังทำให้ชื่อเสียงของเธอต้องมัวหมอง ถึงขนาดที่ว่าผู้ได้รับรางวัลโนเบลจำนวน 13 คนร่วมกันเขียนจดหมายประณามความล้มเหลวของเธอในการปกป้องสิทธิของชาวโรฮิงญา “เช่นเดียวกับหลายประเทศในประชาคมโลก เราคาดหวังจากซูจีมากกว่านี้” กล่าวโดย แมตธิว สมิท ผู้ร่วมก่อตั้ง Fortify Rights กลุ่มสิทธิมนุษยชนที่มีที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร “เธออยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองที่ละเอียดอ่อนมานานหลายปี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเธอจะทำเงียบเฉยหรือปฏิเสธหลักฐานกองเท่าภูเขาที่อยู่ตรงหน้าได้ ทหารกำลังเข่นฆ่าประชาชน และไม่มีใครออกมารับผิดชอบ”

โรฮิงญาจากหมู่บ้าน Shaplapur ผู้ทำงานเป็นชาวประมง ช่วยกันออกเรือจากฝั่งเตรียมที่จะหาปลาในเวลากลางคืน
Nur Haba กำลังตากปลาให้แห้ง เธอทำงานและอาศัยอยู่ที่ค่าย Kutupalong มานานกว่า 10 ปี เธอมีลูก 4 คนกับสามี และทั้งหมดไม่สามารถหางานทำได้

ทางรัฐบาลเมียนมาเองตั้งคณะกรรมการขึ้น 3 คณะเพื่อตรวจสอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ แต่ไม่มีคณะกรรมการที่มาจากองค์กรอิสระ รายงานจากการตรวจสอบของทหารถูกเผยแพร่ออกมาในเดือนพฤษภาคม ประกาศถึงความบริสุทธิ์ของกองกำลังทหารเมียนมา เว้นเพียงแต่เหตุการณ์สองสามเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ เช่น หนึ่งในทหารขอยืมมอเตอร์ไซต์ของชาวบ้านไปโดยไม่ได้ขออนุญาต สมาชิกของคณะกรรมการสอบถามหาข้อเท็จจริงว่าทหารเมียนมาได้ข่มขืนหญิงชาวโรฮิงญาจริงหรือไม่ ด้านทหารเมียนมาเองระบุพวกเขาไม่สามารถทำแบบนั้นได้เนื่องจากชาวโรฮิงญานั้น “สกปรก” เกินไป รายงานชิ้นสุดท้ายของการตรวจสอบถูกเปิดเผยเมื่อต้นเดือนสิงหาคม ยืนยัน “ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ถึงการก่ออาชญากรรมและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” อองซาน ซูจี ระบุรัฐบาลของเธอจะยอมรับคำแนะนำจากแค่โคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ ตัวรายงานมีกำหนดส่งภายในเดือนนี้ อย่างไรก็ตามหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้คือการให้คำแนะนำด้านนโยบายไม่ใช่การสืบสวนหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สหประชาชาติมีภารกิจใหม่ในการสืบสวนหาข้อเท็จจริงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ซึ่งรวมถึงในรัฐยะไข่ด้วย รัฐบาลของอองซาน ซูจีปฏิเสธที่จะให้วีซ่าแก่สมาชิกของพวกเขา “เราไม่ยอมรับเรื่องนี้” เธอกล่าว  โดยระบุภารกิจนี้จะยิ่งทวีความรุนแรงระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิม When Lee เจ้าหน้าที่พิเศษจากสหประชาชาติเดินทางกลับไปยังเมียนมาในเดือนกรกฎาคม เธอเข้าพบกับซูจีด้วยบรรยากาศอบอุ่น ก่อนที่เธอจะถูกปิดกั้นการเข้าถึง ตลอดจนข่มขู่พยานที่จะให้ข้อมูล ยุทธวิธีนี้เคยถูกใช้ในสมัยการปกครองของทหารมาก่อน “ก่อนหน้านี้นักสิทธิมนุษยชน, นักข่าว และประชาชนถูกจับตามอง ติดตาม ตั้งคำถาม ทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่” เธอกล่าว

Nur Ayesha เล่าว่าเธอถูกทหารเมียนมาเผาที่ใบหน้า ในขณะที่พวกเขาบุกรุกบ้านของเธอ เธอได้รับการรักษาบาดแผลที่ค่าย Kutupalong
Nurul Amain ผู้อพยพในค่าย Kutupalong ถูกยิงเข้าที่แขนซ้ายหลายครั้ง ในที่สุดแพทย์ตัดสินใจตัดแขนของเขาออก

อฟีฟา พ่อของเธอ และพี่น้องจำนวนหนึ่งใช้เวลา 5 เดือนไปกับการหลบหนีในเมียนมา ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาอาศัยอยู่ในป่าเพื่อหลบซ่อนตัวจากบรรดาทหาร และมีหลายวันที่ไม่มีอาหารตกถึงท้องเลย ในความพยายามครั้งแรกของพวกเขาที่จะข้ามแม่น้ำ Naf แม่น้ำที่แบ่งแยกระหว่างเมียนมาและบังกลาเทศ เรือลาดตระเวนชายแดนของเมียนมาเปิดฉากยิงใส่เรือของพวกเขา กระสุนสังหารผู้อพยพไปหลายคน และในอีก 3 เดือนถัดมา พวกเขาก็ลองเสี่ยงข้ามแม่น้ำดูอีกครั้ง

ผมพบกับอฟีฟาในเดือนมีนาคม ในวันที่ครึ่งหนึ่งของสมาชิกครอบครัวเธอเดินทางมาถึงค่าย Balukhali เรียบร้อยแล้ว ผู้มาใหม่จำนวน 11,000 คนเปลี่ยนผืนป่า ให้เป็นที่อยู่อาศัยด้วยเพิงไม้ไผ่หรือกระท่อมผ้าใบสีดำ อฟีฟายังคงสวมเสื้อสีน้ำตาลเช่นเดียวกับในวันที่เธอถูกบังคับให้เต้นต่อหน้าทหารเมื่อ 5 เดือนก่อน “นี่คือทั้งหมดที่ฉันมี” เธอกล่าว ครอบครัวหนึ่งจากหมู่บ้านใน Maung Hnama ให้อาหารและที่พักแก่พวกเขา แต่อิสลามร้องไห้อยู่เงียบๆ คนเดียว เพราะภรรยาและลูกๆ อีก 5 คนของเขายังคงหลบซ่อนตัวอยู่ในเมียนมา

ค่ายผู้ลี้ภัยที่ตั้งอยู่ริมชายแดนของบังกลาเทศนี้ อยู่ห่างจากรีสอร์ท Cox’s Bazar เพียงไม่กี่นาที นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมชายหาดและผาถ้ำ พวกเขายิ้มถ่ายภาพเซลฟี่ของตนเอง ในขณะที่ห่างออกไปไม่กี่ไมล์บรรดาผู้อพยพหลายแสนคนกำลังจมอยู่กับความเศร้า

ในตอนท้ายของวัน เด็กผู้ชายคนหนึ่งเดินผ่านบ้านเรือนหลายหลังในค่าย Kutupalong ตรงไปยังสนามเด็กเล่นที่เป็นที่รวมตัวของเด็กๆ หลายคน

โรซินา อัคห์ตา วัย 22 ปี อาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เธอสิ้นหวังที่จะออกไปจากที่นี่ “เราไม่มีหนังสือเดินทาง ไม่มีบัตรประชาชน แล้วเราจะทำอะไรได้?” เธอพยายามให้ความช่วยเหลือผู้มาใหม่ในฐานะผู้ลี้ภัยด้วยกัน “เราไม่สามารถปฏิเสธพวกเขาได้” เธอกล่าว “พวกเขาทั้งหมดคือพี่น้องของเรา” อัคห์ตาช่วยผู้มาใหม่ให้พวกเขาได้รับยา, แผ่นพลาสติกและอาหาร แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการจริงๆ คืองาน ที่นี่ผู้ชายบางคนอาจได้รับมอบหมายงานรายวัน เช่น การหาปลา, ปลูกข้าว หรือทำงานในนาเกลือเพื่อแลกกับค่าจ้างหนึ่งหรือสองดอลล่าร์ต่อวัน ในขณะที่พวกผู้หญิงออกมาเป็นขอทานไปตามท้องถนนนอกค่ายพัก

ใต้ต้นมะเดื่อที่ค่ายพัก Kutupalong ค่ายพักอีกแห่งหนึ่งที่มีผู้อพยพชาวโรฮิงญาจำนวน 30,000 คน บรรดาผู้ที่มาใหม่มารวมตัวกันเพื่อพูดคุยถึงความรุนแรงที่พวกเขาเผชิญในเมียนมา Nur Ayesha หญิงวัย 40 ปี  ดึงผ้าคลุมศีรษะออกเผยให้เห็นรอยแผลเป็นสีขาวทางยาวบนหน้าผาก เธอเล่าว่า ทหารเมียนมาเผาบ้านของพวกเขา ก่อนจะยิงชายและหญิง 6 คนที่มาช่วยทำคลอดเด็กทารกทิ้ง รวมถึงแม่ของเด็กด้วยเช่นกัน

มินารา หญิงสาววัย 18 ปี ในชุดบุรกาสีดำ เล่าถึงสมาชิกครอบครัวที่หายตัวไป ก่อนจะเปิดเผยว่าทหารเมียนมาหลายคนข่มขืนเธอและหญิงสาวในหมู่บ้าน เสียงของเธอแผ่วเบาเหมือนกระซิบ ในขณะที่เราพูดคุยกับ มินาราและเหยื่ออีกหลายคนทำเหมือนกัน นั่นคือพวกเขาเลือกที่จะไม่เปิดเผยนามสกุล และปิดบังใบหน้าไว้ และในตอนท้ายที่สุดเธอพูดว่า “พวกเราหวาดกลัวเหลือเกินที่จะกลับไป”

เด็กๆ เข็นเพื่อที่นั่งอยู่บนรถเข็นไปตามทางในค่ายพัก ที่ซึ่งชาวโรฮิงญาเปิดเป็นร้านค้าและร้านกาแฟ 2 ใน 3 ของผู้อพยพเหล่านี้ที่เดินทางมายังบังกลาเทศล้วนเป็นเด็ก สร้างความกังวลที่พวกเขาจะมีความเสี่ยงต่อการเผชิญกับการค้าแรงงานเด็ก, การแต่งงานก่อนวัยอันควร ไปจนถึงการค้าบริการทางเพศ

บนภูเขาหลังค่าย Balukhali ผมพบกับเด็กหนุ่มวัย 14 ปี ผู้มีนามว่า อาจิม อัลลาห์ เพื่อนของเขากำลังหวีผมให้ อาจิมโชว์แขนซ้ายที่ห้อยอยู่ข้างลำตัวเพราะกระดูกแตกเป็นเสี่ยงๆ ให้ดู เขาเล่าว่าตำรวจยิงเขาเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อนของเขา 3 คนเสียชีวิตในคืนนั้นจากพิษบาดแผล ในกระท่อมใกล้ๆ กัน ยาสมิน วัย 2 ปี เล่ารายละเอียดวันที่ทหารบุกพังบ้านของเธอในหมู่บ้าน Ngan Chaung และข่มขืนเธอต่อหน้าลูกสาววัย 5 ขวบ “เมื่อลูกสาวของเธอกรีดร้อง พวกเขาชี้ปืนไปที่เธอและบอกว่าพวกเขาจะฆ่าเธอ ถ้าเธอส่งเสียงขึ้นมาอีก” เธอกล่าว สิ่งเลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นเมื่อพวกทหารไปแล้ว เธอออกไปข้างนอกเพื่อตามหาลูกชายวัย 8 ขวบ ที่หลบหนีไปเมื่อทหารบุกเข้ามาในหมู่บ้าน เธอพบร่างของเขานอนอยู่ในทุ่งนา พร้อมด้วยรูกระสุนที่แผ่นหลัง

Molia Banu วัย 60 ปี เดินทางมาถึงค่าย Kutupalong เมื่อ 2 เดือนก่อน เธอและลูกสาว
หลบหนีจากทหารเมียนมาเมื่อพวกเขาเริ่มต้นเผาหมู่บ้าน ตัวเธอยังคงทุกข์ทรมาณจากการผ่าตัดเนื้องอก Banu
ช่วยเหลือครอบครัวของเธอด้วยการออกไปขอทานตามท้องถนน

ปัจจุบันชาวโรฮิงญามากกว่า 500,000 คนอาศัยอยู่ในบังกลาเทศ มีเพียง 32,000 คนเท่านั้นที่ลงทะเบียนอย่างถูกกฏหมาย อย่างไรก็ตามจากรายงานไม่มีชาวโรฮิงญาลงทะเบียนเพิ่มตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา จากความพยายามที่มากขึ้นในการป้องกันไม่ให้ชาวโรฮิงญาเข้ามาหลบภัยในบังกลาเทศ แน่นอนว่าด้วยวีธีใดก็ตามแสดงให้เห็นแล้วว่าไม่ได้ผล ทุกวันนี้มีชาวโรฮิงญาครึ่งล้านคนที่ไม่มีเอกสารกลายมาเป็นผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ พวกเขาไม่มีสิทธิทำงาน ไม่ได้รับการศึกษา และการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน

บังกลาเทศเป็นประเทศยากจนและมีประชากรล้นอยู่แล้ว พวกเขาไม่ได้กระตือรือร้นที่จะต้อนรับชาวโรฮิงญา ความเป็นอยู่ภายในค่ายพักเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่รัฐบาลกลับปฏิเสธความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ รวมถึงมีแผนที่จะย้ายผู้ลี้ภัยทั้งหมดให้ไปอยู่อาศัยบนเกาะอันห่างไกลในอ่าวเบงกอล ข้อเสนอที่โหดร้ายนี้มีขึ้นเพื่อขจัดชาวโรฮิงญาให้ออกห่างจาก Cox’s Bazar สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง รวมถึงแผนผลักดันให้ผู้อพยพเหล่านี้เดินทางกลับเมียนมา อย่างไรก็ตามชาวโรฮิงญาจำนวนมากบอบช้ำเกินกว่าจะกลับไปยังรัฐยะไข่ หรือพื้นที่ที่รู้จักกันในนามชื่อประวัติศาสตร์ว่ารัฐอาระกัน หนึ่งในเหยื่อที่ถูกข่มขืนที่ผมมีโอกาสได้พูดคุยด้วยกล่าวถึงคำพูดที่น่าหวาดกลัวจากทหารที่ทำร้ายเธอ เขาเอาแต่พูดซ้ำว่า “พวกแกจะเจอแบบนี้ซ้ำๆ จนกว่าจะออกจากประเทศนี้ไปซะ”

ผู้หญิงและเด็กในค่าย Kutupalong ต่อแถวรับอาหารจากโครงการอาหารโลก

เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้า ชาวโรฮิงญาหลายคน ซึ่งรวมถึงสามีของยาสมินด้วย เสี่ยงชีวิตข้ามทะเลเพื่อไปทำงานก่อสร้างยังมาเลเซียและอินโดนีเซีย ด้วยความที่พวกเขาไม่มีสัญชาติและหนังสือเดินทาง การเดินทางข้ามประเทศจึงเป็นเรื่องผิดกฏหมาย พวกเขาจึงต้องพึ่งนายหน้าผู้ลักลอบค้ามนุษย์ ชะตาชีวิตของพวกเขาตกอยู่ในมือคนกลุ่มนี้ การทุบตีหรือปล่อยให้หิวโซจนตายอาจเกิดขึ้น หากสมาชิกครอบครัวของพวกเขาไม่ได้จ่ายค่าลักลอบในราคาที่สูง การปราบปรามการค้ามนุษย์ทำนองนี้ในเอเชียจะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้เส้นทางดังกล่าวถูกปิด และทำให้ผู้อพยพชายในค่ายพักจนปัญญาที่จะทำมาหากิน ส่วนผสมของความจนตรอกและสิ้นหวังนี้ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าส่งผลให้พวกเขาแสวงหาศรัทธาในศาสนามากขึ้น และนำไปสู่กลุ่มชาวโรฮิงญาติดอาวุธ ในสายตาของคนนอกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้กำลังเป็นสัญญาณไม่ดี Arakan Rohingya Salvation Army กลุ่มก่อการร้ายที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่นี้ มีรายงานว่าพวกเขากำลังชักชวนผู้อพยพชาวโรฮิงญาอื่นๆ ให้เข้าร่วม เพื่อต่อต้านทหารเมียนมาและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

ชาวโรฮิงญาบางคนอาศัยอยู่นอกค่ายพัก เช่นชายคนนี้อาศัยอยู่บริเวณอ่าวเบงกอล ใกล้ต้นไม้ที่ปลูกไว้เพื่อป้องกันแนวกัดเซาะของชายฝั่ง และใกล้โรงแรมที่ติดกับชายหาดซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว

ครั้งสุดท้ายที่ผมพบกับอฟีฟา เธอกำลังกวาดผืนผ้าใบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าของเธอ บนเนินเขาใกล้กับค่ายพัก ซึ่งเป็นที่พักใหม่ของครอบครัว พ่อของเธอยืมเงินจำนวน 30 ดอลล่าร์สหรัฐมาจากเพื่อนผู้อพยพ เพื่อซื้อแท่งไม่ไผ่สำหรับใช้ในการสร้างบ้าน อิสลาม อดีตครูสอนภาษาอารบิก สวมใส่หมวกสีขาวและเสื้อสีครีมสะอาด เตรียมพร้อมที่จะเข้าพิธี jumu’ah หรือการสวดมนต์ประจำวันศุกร์ และนี่เป็นครั้งแรกที่เขาจะได้ทำพิธีนี้นับตั้งแต่จากหมู่บ้านมาเมื่อ 5 เดือนก่อน

เดินลงมาจากเนินทราย ชายคนหนึ่งในโสร่งนั่งอยู่บนนั่งร้านที่ทำจากไม้ไผ่ เขากำลังก่อสร้างมัสยิดหลังใหม่ของค่าย Balukhali ซึ่งน่าจะใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์กว่าจะเสร็จสิ้น มัสยิดหลังนี้มีใบปาล์มเป็นหลังคา muezzin เจ้าหน้าที่ผู้ประกาศเรียกให้คนมาทำละหมาดเรียกให้คนมารวมตัวกันที่พรมตรงกลางของมัสยิด อิสลามได้ที่ของตนในแถวแรก เค้าโค้งคำนับหน้าอิหม่าม ผู้ยืนอยู่บนม้านั่งพลาสติกสีแดง เวลาผ่านไปเขาเดินกลับออกมาจากมัสยิด ยิ้มให้ผม “ตอนนี้ผมรู้สึกดีขึ้นแล้ว” เขากล่าว

ความทุกข์ยากยังคงดำเนินต่อไป ปลายเดือนพฤษภาคม พายุไซโคลนถล่มพื้นที่ทางตอนใต้ของบังกลาเทศทำลายที่พักของผู้อพยพหลายพันคนในค่าย ไม่มีใครเสียชีวิตในค่าย Balukhali อาหารยังคงเหลืออยู่ ฝนยังตกต่อไปและมีรายงานการปะทะกันรุนแรงจากทั้งสองฝ่ายในรัฐยะไข่เป็นครั้งคราว ในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่แน่ใจว่าอฟีฟาและครอบครัวของเธอจะยังมีสถานที่ที่พวกเขาสามารถเรียกว่าบ้านได้อย่างเต็มปากหรือไม่

ดังที่เพื่อนบ้านคนหนึ่งเคยคร่ำครวญ “เรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับเราไม่เคยจบสิ้น”

 

โดย บรู๊ค ลาเมอร์

ภาพถ่าย วิลเลียม ดาเนียล

อ่านเพิ่มเติม : ชีวิตบนรถไฟเส้นทางยาวที่สุดในอินเดีย, เปลี่ยนห้องขังที่ว่างเปล่าให้เป็นบ้านของผู้อพยพ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.