จิตวิญญาณของกังฟู วัดเส้าหลิน ในยุคปัจจุบัน

ใต้ร่มเงา วัดเส้าหลิน อันเป็นตำนานลือเลื่อง เหล่าศิษย์ของปรมาจารย์กังฟูกำลังเผชิญหน้ากับโลกแห่งศิลปะการต่อสู้ที่เปลี่ยนแปลงไป

ท่านอาจารย์ทอดร่างใต้ผ้านวมฝีมือการตัดเย็บของภรรยาในวันสุดท้ายของชีวิตในห้องนอนเล็กๆ มีเพียงเสียงลมหายใจแหบพร่าดังเป็นห้วงๆ ตลอดวันที่อากาศเย็นสบายของฤดูใบไม้ผลิ อาคันตุกะหลั่งไหลมายังเมืองเหยี่ยนชือตรงตีนเทือกเขาซงชาน เพื่อคารวะท่านอาจารย์หยางกุ้ยอู่ผู้ถ่ายทอดวิชากังฟู วัดเส้าหลิน ให้พวกตนเป็นครั้งสุดท้าย บ้างนุ่งห่มจีวรพระและสวดให้พรขณะก้าวเข้าสู่บ้าน อิฐหลังน้อยแห่งนี้ ภรรยาท่านอาจารย์เจ้าของเรือนผมสีดอกเลาที่หวีอย่างบรรจง บีบไหล่ของทุกคนแน่นราวกับเป็นลูกในไส้ ก่อนจะเดินนำพวกเขาผ่านครัวที่มีเตาถ่านลุกโชนไปสมทบกับสมาชิกครอบครัวและลูกศิษย์ที่รวมตัวกันข้างเตียงท่านอาจารย์

ผู้เป็นภรรยาโน้มตัวลงหาร่างของสามีที่ซุกอยู่ในผ้าห่มเพื่อแนะนำ ผู้มาเยือนคนหนึ่ง เป็นลูกศิษย์คนสุดท้ายที่ท่านอาจารย์รับเข้าสู่ครอบครัวกังฟูเมื่อ 15 ปีก่อน “หูเจิ้งเชิงมาเยี่ยมค่ะ” เธอบอก หูในวันนี้เป็นหนุ่มใหญ่ วัย 33 ที่ช่วงไหล่ผึ่งผาย สวมชุดวอร์มของไนกี้และรองเท้า ผ้าแบบดั้งเดิม เขาน้อมกายลงหาร่างที่ไหวระริกและเอ่ย ปากเรียก “ชือฟู่” ภาษาจีนกลางที่แปลว่าอาจารย์ อย่างแผ่วเบาและเปี่ยมด้วยความเคารพ “ได้ยินผมไหมครับ” เปลือกตาของชายชราที่ขาวซีดและบางราวกระดาษว่าว กะพริบ ชั่วขณะหนึ่งม่านตาของเขาดูราวกับจับจ้องไปที่ใบหน้าของชายหนุ่ม ก่อนจะกลายเป็นเหม่อลอย

ก่อนหน้านี้ ท่านอาจารย์เคยเล่าให้ลูกศิษย์คนสุดท้องคนนี้ฟังหลายต่อหลายครั้งว่า บูรพาจารย์ด้านศิลปะการป้องกันตัวหรือเหล่าหลวงจีนจาก วัดเส้าหลิน ที่ล่วงลับได้มาเข้าฝันและถ่ายทอดภูมิปัญญาที่สั่งสมต่อเนื่องมานานนับศตวรรษ และสืบทอดต่อกันมาในหมู่ศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า ผู้ฝากรอยฝ่าเท้าเป็นร่องลึกบนพื้นหินในหอฝึก และอัฐิได้รับการเก็บรักษาไว้ในป่าเจดีย์(Pagoda Forest) นอกกำแพงวัด บุรุษเหล่านั้นคือบรรดาหลวงจีนผู้อุทิศชีวิตให้กับการฝึกฝนกังฟูด้วยกระบวนท่าที่มีชื่อเรียกอย่างมหัศจรรย์พันลึก อาทิ หมัดดอกเหมย (Plum Flower Fist) และฝ่ามือนกน้ำ (Mandarin Duck Palm) ที่สื่อถึง กระบวนท่าการเคลื่อนไหวอันสอดประสานของร่างกาย เสริมด้วยลีลาพลิกแพลงหลายชั้นที่ดึงเอาศักยภาพสูงสุดของกล้ามเนื้อและกระดูกมาใช้ หูอดคิดไม่ได้ว่า บางที บูรพาจารย์เหล่านั้นอาจรวมตัวกันอยู่ข้างเตียงท่านอาจารย์ในเวลานี้ก็เป็นได้

วัยรุ่นที่โรงเรียนสอนศิลปะป้องกันตัวเส้าหลินถ่าโกวในเมืองเติงเฟิงปล่อยหมัดชุดและเพลงเตะติดต่อกันนาน 20 นาที เพื่อฝึกความทนทานของร่างกาย เมืองเติงเฟิงซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดเส้าหลินกลายเป็นเมืองหลวงแห่งกังฟูของจีนด้วยโรงเรียนสอนศิลปะ ป้องกันตัวกว่า 60 แห่งและนักเรียน 50,000 คน จากทั่วประเทศ

บรรดาศิษย์เอกของท่านอาจารย์ต่างตระหนักถึงความจริงที่ขัดแย้งว่า ปอดของชายชราจะย้อนกลับมาทำร้าย ท่านในที่สุด ท่านอาจารย์เองก็คงยอมรับในวัฏจักรอันไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่ง อันเป็นบทเรียนสุดท้ายว่าด้วยความนอบน้อมถ่อมตนจากบุรุษผู้พร่ำสอนศิษยานุศิษย์ว่าการหายใจเป็นพื้นฐานของการฝึกพลังชี่  หรือลมปราณ การฝึกควบคุมลมหายใจให้ช้าและสม่ำ เสมอ สอดคล้องกับจังหวะการเต้นของหัวใจและท่วงทำนองของอวัยวะอื่นๆ ถือเป็นก้าวแรกบนเส้นทางอันยากลำบากแสนสาหัสเพื่อ เข้าถึงบ่อกำเนิดแห่งพลังชี่ พร้อมไปกับการไขประตูปริศนาอันลี้ลับที่สุดบานหนึ่งของจักรวาล

แต่ ณ เวลานี้ หยางกุ้ยอู่ได้มายืนเบื้องหน้าประตูปริศนาอีกบานของจักรวาลแล้ว บรรดาศิษย์ต่างเงี่ยหูฟังเสียงลมหายใจขณะที่ท่านอาจารย์รวบรวมลมปราณเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางที่รออยู่เบื้องหน้า

นักเรียนช่วยกันขึงผ้าเป็นธงชาติจีนในสนามของโรงเรียนถ่าโกว ใกล้เทือกเขาซงชาน โรงเรียนสอนศิลปะป้องกันตัวใหญ่ที่สุดในประเทศแห่งนี้มีนักเรียนถึง 25,000 คน ความชำนาญในการแสดงที่ต้องอาศัยคนหมู่มากทำให้นักเรียนที่นี่ได้ร่วมแสดงในพิธีเปิดและปิดกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง

เพียง 19 กิโลเมตรจากนิวาสสถานของท่านอาจารย์ในหุบเขาเหนือเทือกเขาซงชานเพียงเล็กน้อย รถทัศนาจรพร้อมจะปล่อยขบวนนักท่องเที่ยวเข้าสู่กำแพงวัดเส้าหลิน พวกเขาหลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อมาเยี่ยมเยือนแหล่งกำเนิดตำนานกังฟูอันยิ่งยงที่สุดของแผ่นดินมังกร

เรื่องเล่าที่สืบทอดต่อกันมามีอยู่ว่า ณ ที่แห่งนี้ ภิกษุชาวอินเดียสมัยศตวรรษที่ห้าได้ถ่ายทอดท่วงท่าการออกกำลังกายที่เลียนแบบการเคลื่อนไหวของสัตว์ให้เหล่านักบวชแห่ง วัดเส้าหลิน ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น หลวงจีนทั้งหลายได้ประยุกต์กระบวนท่าเพื่อใช้ในการป้องกันตัว และต่อมาได้ปรับปรุงสำหรับใช้ในการศึก ชนรุ่นหลังในยุคต่อๆ มาค่อยๆ ขัดเกลา “ศิลปะการป้องกันตัว” เหล่านี้ และใช้ในการรบพุ่งนับครั้งไม่ถ้วนตลอด 1,400 ปีต่อมา เรื่องราวเหล่านี้ได้รับการจารึกไว้บนแผ่นศิลาภายในวัด รวมทั้งเล่าขานในนิยาย หลายต่อหลายเรื่องย้อนไปถึงยุคราชวงศ์หมิง

ปรมาจารย์กังฟูหยางกุ้ยอู่ลาโลกด้วยวัย 77 ปี ครอบครัวในชุดพิธีศพตามธรรมเนียมจีนร่ำไห้หวนหาวิชากังฟูของอาจารย์หยางสืบสายย้อนไปถึงบรรดาหลวงจีนแห่งวัดเส้าหลินหลายต่อหลายรุ่น เป็นที่คาดหวังว่า ลูกศิษย์ลูกหาของท่านจะสืบทอดคำสอนของอาจารย์ต่อไป

นักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นว่า หลักฐานเหล่านี้เป็นเพียงตำนานที่มีความจริงแค่หยิบมือเท่านั้น ศิลปะการป้องกันตัวด้วยมือเปล่ามีอยู่ในประเทศจีนก่อนศตวรรษที่ห้ามานานนับ และน่าจะมาถึงวัดเส้าหลินโดยอดีตทหารที่หนีมาหลบซ่อนตัว ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของวัดแห่งนี้เท่าที่ทราบกันคือ เป็นสถาบันที่มั่งคั่งและมีกองทัพย่อยๆ ที่ได้รับการฝึกฝนอย่างดีเป็นของตัวเอง

ยิ่งเหล่าหลวงจีนสู้รบมากเท่าใด ศักยภาพในการเป็นนักรบยิ่งเพิ่มพูนขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกับชื่อเสียงที่ขจรขจายออกไป แต่ใช่ว่าเหล่าหลวงจีนจะไม่เคยปราชัย วัดเคยถูกปล้มสะดมซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดประวัติศาสตร์ ครั้งที่เสียหายมากที่สุดคือปี 1928 เมื่อขุนศึกผู้อาฆาตแค้นนายหนึ่งเผาวัดจนแทบวอดวาย ซึ่งรวมถึงหอสมุดด้วย ม้วนคัมภีร์จารึกทฤษฎีและท่ากังฟูอายุหลายศตวรรษ รวมทั้งตำรายาแผนจีนและพระสูตรในพุทธศาสนาล้วนถูกทำลายจนหมดสิ้น เหลือไว้เพียงตำนานกังฟูเส้าหลินที่สืบทอดต่อกันมาจากอาจารย์สู่ศิษย์

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่วัดดูจะให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์หรือเครื่องหมายการค้ายี่ห้อเส้าหลินมากกว่าการฟื้นฟูจิตวิญญาณของวัดในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เจ้าอาวาสนามว่าชื่อหย่งซิ่น วัย 45 ปี ได้สร้างอาณาจักรธุรกิจระดับโลกขึ้น โดยมีจุดขายอย่างคณะกังฟูที่เดินสายแสดงทั้งในประเทศและต่างประเทศ โครงการสร้างภาพยนตร์จอเงินและจอแก้ว ร้านค้าออนไลน์จำหน่ายชาและสบู่ยี่ห้อเส้าหลิน ไปจนถึงสาขาวัดเส้าหลินในต่างประเทศซึ่งรวมถึงสาขาหนึ่งในออสเตรเลียที่วางแผนไว้ ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสนามกอล์ฟ

การยืนด้วยมือติดต่อกันนาน 5 นาทีเป็นหนึ่งในความยากลำบากที่สอนให้นักเรียนรู้จัก “ดื่มด่ำความลำเค็ญ” บรรดาอาจารย์เคี่ยวเข็ญทั้งเรื่องการอบรมบ่มนิสัย กังฟู และความรู้ทางวิชาการ จนเด็กๆ แทบไม่มีเวลาเล่นสนุก

ท่านเจ้าอาวาสหย่งซิ่นจิบน้ำชาในห้องทำงานพร้อมอธิบายด้วยท่าทีสงบว่า ทั้งหมดที่ทำ ไปนั้นเพื่อสืบสานพระพุทธศาสนา “เราทำให้คนอีกมากได้รู้จักพุทธศาสนานิกายเซน” ท่านกล่าว “การทำให้ชื่อของเส้าหลินเป็นที่รู้จักในต่างประเทศก็ดี การเผยแพร่วัฒนธรรมดั้งเดิมของเส้าหลินรวมทั้งกังฟูก็ดี เท่ากับเป็นการทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักและนับถือพุทธศาสนานิกายเซนมากขึ้น”

นี่เป็นคำอธิบายที่ท่านเจ้าอาวาสหย่งซิ่นตอกย้ำหลายต่อหลายครั้งระหว่างให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทั้งของจีนเองและต่างประเทศ กระนั้นไม่ว่าจะด้วยแรงผลักดันในการเผยแผ่พุทธศาสนานิกายเซนหรือการทำกำไรก็ตามแต่ คงต้องยอมรับว่าวัดเส้าหลินได้ช่วยฟูมฟักและผลักดันให้กังฟูรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง ซึ่งบังเอิญเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่พญามังกรจีนผงาดขึ้นในฐานะมหาอำนาจของโลก และคงไม่มีที่ไหนพิสูจน์คำพูดนี้ได้ดีเท่าอำเภอเติงเฟิง เมืองที่มีประชากร 650,000 คนที่ขยายตัว อย่างต่อเนื่องและอยู่ห่างจากประตูวัดเพียง 10 กิโลเมตร ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ที่นี่มีสำนักสอนศิลปะการป้องกันตัวเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 60 แห่ง และมีนักเรียนจากทั่วประเทศแห่แหนมาเรียนมากกว่า 50,000 คน สำนักเหล่านี้ผุดขึ้นราวดอกเห็ดพร้อมหอพักสูงลิบลิ่ว ตกแต่งด้วยภาพเขียนผนังรูปนักสู้กังฟู มังกร และพยัคฆ์

สำนักกังฟูคลาคล่ำไปด้วยเด็กชาย และเด็กหญิงที่ระยะหลังเริ่มมีมากขึ้น เด็กเหล่านี้มาจากทุกมณฑลและสถานะทางสังคม อายุอานามมีตั้งแต่ 5 ขวบไปจนถึง 20 ปลายๆ บางคนมาเรียนเพราะหวังจะเป็นดาราหนังชื่อดัง หรือมีชื่อเสียงในฐานะนักมวยคิกบ็อกซิ่ง บ้างมาร่ำเรียนทักษะที่เชื่อว่าจะช่วยให้ได้งานดีๆ ในกองทัพ สำนักงานตำรวจ หรืองานบอดี้การ์ด และส่วนน้อยที่พ่อแม่ส่งมา เพื่อให้เรียนรู้ความมีวินัยและความวิริยอุตสาหะ

ตลอดสัปดาห์ละ 6 วัน ปีละ 11 เดือน สำนักเหล่านี้จะมีชีวิตชีวาตั้งแต่ย่ำรุ่ง เมื่อนักเรียนในชุดวอร์มเหมือนกันหมดยืนเรียงกันเป็นแถวตรงเป๊ะเพื่อฝึกกังฟู เด็กชายหญิงนับร้อยๆ ผู้เป็นลูกหลานของจีนยุคใหม่ยืนหน้าเชิดหลังตรง ต่อยเตะอย่างพร้อมเพรียงกัน และเปล่งเสียงทวนคำสั่งของอาจารย์ดังก้องกังวานในอากาศยามเช้า

ฟ่านฟู่จงวัย 75 ก็ไม่ต่างจากเพื่อนกังฟูร่วมรุ่น พวกเขาผ่านช่วงเวลาที่กังฟูถูกห้ามโดยกองทัพญี่ปุ่น ตามด้วยการปราบปรามโดยเหล่ายุวชนแดงของประธานเหมา ก่อนจะได้รับการฟื้นฟูให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของจีนยุคใหม่

ไม่กี่วันก่อนหน้าที่หูเจิ้งเชิงจะเดินทางไปดูใจท่านอาจารย์ เขาได้รับโทรศัพท์ที่คงมีนักแสดงศิลปะป้องกันตัวมากมายเฝ้ารอมาทั้งชีวิต นั่นคือผู้สร้างภาพยนตร์จากฮ่องกงเสนอบทนักแสดงนำในภาพยนตร์กังฟูเรื่องหนึ่งให้กับเขา กระนั้นเขากลับลังเลใจว่าควรตอบรับข้อเสนอหรือไม่ หูไม่เห็นด้วยกับภาพลักษณ์ของกังฟูที่นำเสนอในภาพยนตร์ โดยเฉพาะพฤติกรรมรุนแรงขาดความยั้งคิดที่ละเลยหัวใจสำคัญของกังฟูอย่างมนุษยธรรมและความเคารพในคู่ต่อสู้ เขายังกังวลว่าตัวเองอาจตกหลุมพราง แห่งชื่อเสียงและเกียรติยศ ทั้งนี้เพราะท่านอาจารย์ได้พร่ำสอนให้ยึดมั่นในความอ่อนน้อมถ่อมตน แม้ว่าเขาจะรุดหน้ากว่าศิษย์ร่วมสำนักคนอื่นๆ ก็ตาม อาจารย์หยางย้ำเสมอว่า ความอ่อนน้อมถ่อมตนมีชัยเหนือความทะนงตน และความทะนงตนคือหนทางสู่ความวิบัติของบุรุษ

แต่ในทางกลับกัน บทบาทการแสดงดังกล่าวจะนำชื่อเสียงและเงินทองซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากมาสู่โรงเรียนกังฟูเล็กๆ ของเขา ด้วยความเห็นชอบของท่านอาจารย์ หูได้ก่อตั้งโรงเรียนสอนกังฟูในตึกอิฐบล็อกสองสามคูหา นอกเมืองเติงเฟิงเมื่อแปดปีก่อน โรงเรียนแห่งนี้แตกต่างจากสถาบันกังฟูใหญ่ๆ ที่เน้นแนวกายกรรมและคิกบ็อกซิ่ง หูสอนเด็กชายร่วม 200 ชีวิตและเด็กหญิงอีกไม่กี่คนให้เรียนรู้กระบวนท่ากังฟูดั้งเดิมที่อาจารย์หยางกุ้ยอู่ได้ถ่ายทอดให้กับเขา

หูอธิบายว่า การต่อสู้ไม่ใช่บทเรียนสำคัญที่สุดของกังฟู หากแต่เป็นศักดิ์ศรี ทักษะที่เขาถ่ายทอดสู่ลูกศิษย์เป็นสิ่งที่มาพร้อมความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ เขาได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเคารพในเพื่อนมนุษย์ และความเต็มใจที่จะ “ดื่มด่ำความลำ เค็ญ” ในเด็กแต่ละคน โดยสอนให้น้อมรับความยากลำบาก และใช้มันเป็นเครื่องกล่อมเกลาพลังใจและหล่อหลอมบุคลิกตลอดจนอุปนิสัยใจคอ

ฉากการแสดงฉากหนึ่งในละครโทรทัศน์ของจีน สตันต์แมนรับบทเป็นพระวัดเส้าหลินที่สู้รบกับกองโจรในสมัยราชวงศ์ชิง แม้นี่อาจไม่ใช่ภาพของพุทธสาวกผู้รักสงบ แต่ในมโนสำนึกของชาวจีนทั่วไปแล้ว พระเหล่านี้คือวีรบุรุษ

พอตกกลางคืน นักเรียนต้องนอนในห้องที่ไม่มีเครื่องทำความร้อน และไม่ว่าอุณหภูมิในเช้าวันรุ่งขึ้นจะเป็นเช่นไร เด็กๆ ต้องฝึกกันกลางแจ้ง โดยมากก่อนรุ่งสาง ทั้งชกต้นไม้เพื่อให้มือแกร่ง และนั่งยองๆ โดยมีเพื่อนนักเรียนนั่งบนบ่าเพื่อฝึกกำลังขา ระหว่างการฝึก ผู้ฝึกสอนจะใช้ลำไม้ไผ่ฟาดที่ต้นขาด้านหลังของเด็กชายที่ทำท่าไม่ถูกต้อง หรือไม่ตั้งใจฝึกเต็มที่

เมื่อถามว่าการเคี่ยวเข็ญเช่นนี้จะไม่ทำให้นักเรียนผูกใจเจ็บหรอกหรือ หูยิ้มก่อนตอบว่า “นี่แหละครับ การดื่มด่ำความลำเค็ญ พวกเด็กๆ เข้าใจดีว่าสิ่งนี้จะทำให้พวกเขาเก่งและดีขึ้น”

ปัญหาของหูไม่ใช่การออกกลางคันของนักเรียน หากแต่เป็นการหานักเรียนใหม่ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของโรงเรียน เด็กชายจำนวนมากมาจากครอบครัวยากจน และหูก็คิดเพียงค่าอาหารเท่านั้น แต่ท้ายที่สุดเขาก็ต้องจำนนต่อกระแสนิยม โดยเริ่มสอนคิกบ็อกซิ่งสองสามหลักสูตร รวมทั้งกังฟูแนวกายกรรม โดยหวังจะดึงดูดนักเรียนใหม่ๆ เข้ามา ก่อนจะค่อยๆ เบนเข็มให้เด็กเหล่านั้นเข้าสู่การเรียนการสอนกังฟูแบบดั้งเดิม

“เสวยผลบุญในสนามรบ” เป็นคำจารึกเหนือหลุมฝังศพของหลวงจีนสองรูปจากทั้งหมด 231 รูปที่ได้รับการยกย่องด้วยสถูปในป่าเจดีย์ของวัดเส้าหลิน จำนวนชั้นของสถูปสะท้อนคุณธรรมของหลวงจีนแต่ละรูป ขณะที่อัฐิของท่านและศิษยานุศิษย์ได้รับการบรรจุไว้ด้านล่าง

จากประสบการณ์ หูรู้ดีว่าทัศนคติที่เด็กๆ มีต่อกังฟูสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามวุฒิภาวะที่เพิ่มขึ้น สมัยเป็นเด็ก เขาเองหลงใหลภาพยนตร์กังฟูและ “อิน” ไปกับบทบาทการแสดงของบรูซ ลีและเจ็ต ลี ทั้งยังวาดฝันว่าสักวันจะแก้แค้นบรรดาหัวโจกในหมู่บ้าน พออายุได้ 11 ปี เขาก็พูดจาหว่านล้อมจนเข้าสู่รั้ววัดเส้าหลินได้ โดยทำหน้าที่เป็นเด็กรับใช้ของผู้ฝึกสอนประจำคณะแสดงกังฟู ก่อนที่ครูฝึกท่านนั้นจะแนะนำเขาให้อาจารย์หยางกุ้ยอู่

หูเล่าว่า “ตอนที่พบชือฟู่ ผมจดจำท่ามวยดั้งเดิมได้หลายท่าแล้ว แต่ท่านอาจารย์สอนทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังกระบวนท่าเหล่านั้น เป็นต้นว่า ทำไมต้องเคลื่อนไหวมือแบบนี้ ทำไมต้องถ่ายน้ำหนักลงที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเท้า” เขายืนขึ้นทำท่าทางประกอบ พลางอธิบายว่า การปล่อยหมัดเปรียบได้กับการเดินหมากรุกที่ต้องคาดการณ์ถึงกระบวนท่าโต้ตอบของอีกฝ่าย “ไม่ว่าคู่ต่อสู้จะตอบโต้มาอย่างไร ผมจะเตรียมปัดป้องและส่งหมัดที่สอง สาม และ สี่ตามไป แต่ละหมัดพุ่งเป้าไปที่จุดเปราะบางบนร่างกาย ทั้งสิ้น” เขาออกท่าให้ดูอย่างช้าๆ “นักเรียนสามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้ภายในหนึ่งปีครับ แต่ถ้าจะทำให้ได้อย่างนี้” พูดยังไม่ทันขาดคำ มือและศอกของเขาก็เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วจนเป็นภาพพร่ามัว “ต้องใช้เวลาหลายปีครับ”

หลวงจีนเดินทำวัตรในวัดเส้าหลิน ปัจจุบันมีหลวงจีนราว 150 รูปจำพรรษาอยู่ที่นี่ รวมทั้งพระที่มาเยี่ยมเยือนจากในประเทศและต่างประเทศเพื่อศึกษาและเจริญสมาธิ ณ สถานที่ที่เชื่อกันว่าเป็นต้นกำเนิดของพุทธศาสนานิกายเซน

หูเสริมว่า “ไม่มีการเตะสูงหรือท่ากายกรรมหรอกครับ” เพราะท่าเหล่านั้นเปิดช่องให้ถูกโจมตีได้ง่าย “กังฟูเส้าหลินคิดค้นขึ้นมาเพื่อการต่อสู้ ไม่ใช่เพื่อสร้างความบันเทิงให้คนดู ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะครับที่จะทำให้เด็กๆ เชื่อมั่น และยอมใช้เวลาหลายปีเรียนรู้สิ่งที่ไม่สามารถทำให้พวกเขากลายเป็นคนร่ำรวยหรือมีชื่อเสียงได้” เมื่อพูดถึงตรงนี้ เขาดูเนือยๆ ลงไป “เพราะเหตุนี้แหละครับ ผมจึงเป็นห่วงว่าการเรียนการสอนกังฟูแบบดั้งเดิมจะสูญหายไป”

เด็กชายในชุดนักเรียนสีเทาอ่อนและรองเท้าผ้าใบโผล่มาที่หน้าประตูห้องทำงานเพื่อรายงานว่า มีนักเรียนคนหนึ่งข้อเท้าพลิก พอหูไปถึงเพื่อดูอาการ นักเรียนคนดังกล่าวก็กลับไปฝึกได้แล้ว เขากัดฟันแน่นขณะเตะกระสอบทรายหนักอึ้ง หูพยักหน้าอย่างครูผู้พอใจในตัวศิษย์ “เขากำลังเรียนรู้การดื่มด่ำความลำเค็ญครับ”

ข่าววาระสุดท้ายที่ใกล้มาถึงของอาจารย์หยางล่วงรู้ถึงหูลูกศิษย์ผู้ลึกลับที่สุดบนยอดเขาอันโดดเดี่ยวเหนือวัดเส้าหลิน หลวงจีนชื่อเต๋อเจี้ยน วัย 47 ปี เพิ่งผ่านพ้นสัปดาห์อันเหนื่อยยากมาหมาดๆ เริ่มจากทีมงานถ่ายทำรายการโทรทัศน์ดั้นด้นลัดเลาะขึ้นสู่อารามพร้อมนักต่อสู้มือเปล่าระดับมืออาชีพคนหนึ่ง และบันทึกเทป การทดสอบทักษะกับบรรดาหลวงจีน (ผลปรากฏว่าเขาสะบักสะบอมกลับไป) ตามมาด้วยทีมนักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงที่ต้องการทดสอบผลของการบำเพ็ญ สมาธิอย่างเข้มงวดที่มีต่อการทำงานของสมอง เขายังอดตาหลับขับตานอนเดินลมปราณเพื่อช่วยรักษาเพื่อนหลวงจีนรูปหนึ่งที่อาพาธ แล้วยังมีเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จากซูโจวที่ถือวิสาสะบุกเข้ามาถามหาวิธีรักษาโรคเบาหวานให้พี่ชาย สำหรับภิกษุผู้รักสันโดษอย่างหลวงจีนเต๋อเจี้ยนแล้วการต้อนรับขับสู้และพบปะผู้คนมากหน้าหลายตาเช่นนี้ถือว่ามากเกินรับมือ

หลวงจีนรูปหนึ่งหาที่หลบหิมะโปรยปรายไม่ขาดสายภายในวัดเส้าหลิน ซึ่งได้รับการปฏิสังขรณ์อย่างตระการตาเมื่อไม่นานมานี้ แผ่นศิลาที่เรียงรายทั่วเขตวัดประกาศคุณงามความดีของผู้มีอุปการคุณต่อวัดจากทั่วโลก

คนแปลกหน้าหลั่งไหลมาอย่างไม่ขาดสายหลังจาก ได้ดูคลิปวิดีโอทางอินเทอร์เน็ตที่หลวงจีนเต๋อเจี้ยนสาธิตกระบวนท่ากังฟูดั้งเดิมแบบเส้าหลิน โดยส่วนใหญ่ท่านทำขณะทรงตัวอยู่บนชะง่อนผาเรียวแหลม หรือไม่ก็บนหลังคาเจดีย์ที่ลาดเอียงริมหน้าผา ซึ่งหากพลาดพลั้งแม้เพียงก้าวเดียวย่อมหมายถึงการตกจากที่สูงกว่าร้อยเมตร คลิปเหล่านั้นซึ่งส่วนมากถ่ายโดยนักท่องเที่ยวตลอดหลายปีที่ผ่านมาและเผยแพร่อยู่ตามเว็บไซต์ที่อุทิศแด่กังฟู และการแพทย์แผนจีนมีส่วนสร้างกระแสความสนใจในปรัชญาที่ว่า ร่างกายที่แข็งแรงนั้นตั้งอยู่บนวิถีแห่งฉาน (การทำสมาธิแบบเซน) อู่ (ศิลปะการป้องกันตัว) และ อี (สมุนไพร) หลวงจีนเต๋อเจี้ยนบอกผมว่า วิถีทั้งสามนี้คือหลักการเดียวกับรากฐานทางปรัชญาของวัดเส้าหลิน และแม้ท่านจะไม่ได้เอ่ยออกมา แต่วิถีดังกล่าวคือสิ่งที่นักวิจารณ์วัดเส้าหลินทั้งในและนอกประเทศเห็นตรงกันว่าถูกบดบังและละเลยด้วยสัญญาทางธุรกิจและเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยว ดูเหมือนว่าแก่นสารของการแสดงเสี่ยงตายของหลวงจีนรูปนี้เห็นจะไม่พ้นความซื่อตรงต่อรากเหง้าที่แท้ของกังฟู พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ หากคุณฝึกปรือวิถี ฉาน-อู่-อีที่แท้จริง สิ่งที่เห็นย่อมเป็นไปได้

เมื่อได้เห็นหน้าค่าตากัน หลวงจีนเต๋อเจี้ยนดูเหมือนภูตภูเขาไม่มีผิด ด้วยรูปร่างกำยำล่ำสันและความสูง 160 เซนติเมตร ท่านห่มจีวรผ้าขนสัตว์และสวมหมวกทรงกลมแบบมองโกลเพื่อปกป้องศีรษะจากความหนาวเย็นของอากาศบนยอดเขา ท่านมักพูดขณะทำกิจวัตรอื่นๆ ไปด้วย เช่น ปลูกต้นไม้ หรือเก็บใบไม้ใบหญ้ามาทำสลัด

การเดินทางสู่เทือกเขาซงชานของหลวงจีนเต๋อเจี้ยนเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1982 ตอนนั้นท่านยังเป็นชายหนุ่มอายุ 19 ผู้มีพรสวรรค์ด้านกังฟู และจากบ้านซึ่งอยู่ไม่ไกลจากชายแดนมองโกเลียเพื่อแสวงบุญมาจนถึงวัดเส้าหลิน การสืบเสาะหาอาจารย์กังฟูนำ พาเขามาพบกับอาจารย์หยางกุ้ยอู่ ไม่ช้าไม่นาน ฝีไม้ลายมือของเขาก็เป็นที่ประจักษ์ในฐานะศิษย์เอกของท่านอาจารย์ ยิ่งได้ศึกษากังฟูมากเท่าใด ท่านก็ยิ่งสนใจความคาบเกี่ยวระหว่างกังฟูกับสมาธิและการแพทย์แผนจีนมากขึ้นเท่านั้น จนท้ายที่สุดจึงได้ตัดสินใจหันหลังให้เพศฆราวาสและเดินเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ที่วัดเส้าหลินนี้เอง

แม้ในอนาคตนักเรียนของโรงเรียนถ่าโกวอาจไม่ต้องใช้ไม้กระบองฟาดใครในชีวิตจริง แต่ครูผู้ฝึกสอนก็บอกว่า วินัย และอุปนิสัยที่พัฒนาขึ้นระหว่างการฝึกฝน จะเป็นอาวุธที่เด็กๆ สามารถใช้เป็นเกราะป้องกันตัวสืบไปในภายภาคหน้า

ขณะที่คลื่นนักท่องเที่ยวเริ่มหลั่งไหลเข้ามาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 หลวงจีนเต๋อเจี้ยนก็เริ่มแสวงหาความวิเวกมากขึ้นทุกที โดยมากท่านมักปลีกตัวไปปักกลดใกล้ซากปรักหักพังของวัดเล็กๆ บนยอดเขาที่อยู่ใกล้เคียงบรรดาหลวงจีนอาวุโสในวัดผู้กล้ำ กลืนกับการขยายตัวของ พุทธพาณิชย์ในเส้าหลินต่างสนับสนุนหลวงจีนเต๋อเจี้ยนให้ใช้วัดเก่าแห่งนั้นเป็นสำนักสงฆ์เพื่อปฏิบัติฉาน-อู่-อี ท่านเกณฑ์ช่างฝีมือในท้องถิ่นให้ช่วยสกัดหินแกรนิตจากหน้าผา ขณะที่ตัวท่านเองและลูกศิษย์ลูกหาช่วยกันแบก กระสอบปูนซีเมนต์และกระเบื้องมุงหลังคาขึ้นไปยังที่ก่อสร้าง พวกเขาค่อยๆ บูรณปฏิสังขรณ์วัดเก่าอันผุพังให้กลายเป็นหมู่เจดีย์ที่ดูราวกับแขวนอยู่ข้างหน้าผาสูงชัน

หลวงจีนเต๋อเจี้ยนและศิษย์ช่วยกันดูแลป่าไผ่ผืนน้อยๆ รวมทั้งแปลงเพาะปลูกขั้นบันไดที่มีทั้งพืชผักและสมุนไพร ทุกคนล้วนถือศีลกินเจและเก็บเกี่ยวดอกไม้ป่า หญ้ามอสส์ และรากไม้เพื่อใช้เป็นยารักษาอาการเจ็บป่วยทุกชนิด ตั้งแต่แมลงสัตว์กัดต่อยไปจนถึงโรคตับ ผู้คนจากทั่วประเทศหลั่งไหลมาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับโรคต่างๆ หลวงจีนเต๋อเจี้ยนเล่าว่า ปกติแล้วคนเหล่านี้ต้องการแค่รักษาอาการของโรคเท่านั้น แต่ “ฉาน-อู่-อีเป็นการบำบัดแบบองค์รวม ถ้าคนคนนั้นสุขภาพดีแล้ว อาการต่างๆ จะหายไปเอง”

กิจวัตรของท่านคือ ตื่นนอนตอน 3.30 น. เริ่มด้วยการนั่งสมาธิ จากนั้นจึงฝึกการหายใจเพื่อเสริมสร้างพลังลมปราณ ช่วงหนึ่งท่านเคยใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นในการฝึกกังฟูแบบดั้งเดิมทุกวัน แต่ทุกวันนี้ท่านเองก็ไม่อาจหลีกหนีกระแสแห่งโลกสมัยใหม่ที่มีส่วนพลิกโฉมหน้าวัดเส้าหลิน ไม่ว่าจะเป็นการรับกิจนิมนต์เพื่อไปบรรยายนอกสถานที่ รับบริจาคเงินเพื่อใช้ในการก่อสร้างวัด อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ และแน่นอนว่าย่อมรวมถึงการต้อนรับญาติโยมที่มาพบไม่ขาดสาย กิจกรรมเหล่านี้ล้วน ต้องการแรงกายแรงใจและความเอาใจใส่จากท่าน

ถึงกระนั้น หลวงจีนเต๋อเจี้ยนก็ย้ำ ว่า “แต่อาตมายังฝึกกังฟูสม่ำเสมอ” ท่านจับมือผมและดึงไปจับต้นขาที่เต็มไปด้วยมัดกล้าม ผมสัมผัสได้ถึงพลังที่ท่านส่งผ่านมาถึงกล้ามเนื้อ ท่านบอกว่า “อาตมาฝึกแบบนี้ทั้งวันแหละโยม” และอธิบายว่า ท่านผสานท่วงท่ากังฟูเข้ากับกิจวัตรประจำวันตั้งแต่การถอนหญ้าไปจนถึงปีนเขา

ผมถามท่านว่ากังฟูไม่ใช่เรื่องของความรุนแรงที่ขัดกับหลักอหิงสาของพุทธศาสนาหรอกหรือ ท่านอธิบายว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น แก่นแท้ของกังฟูคือการเปลี่ยนพลังงานให้เป็นพลัง เมื่อไร้คู่ต่อสู้ภายนอก การฝึกฝนนั้นคือการออกกระบวนท่าอย่างต่อเนื่อง ความอ่อนแอทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ฝึกจะกลายเป็นศัตรูภายใน “ด้วยเหตุนี้ กังฟูจึงไม่ต่างจากการอบรมบ่มนิสัยดีๆนี่เอง” ท่านย้ำ

ทว่าบางครั้งก็หาได้ไร้ศัตรูไม่ เพราะใช่ว่าทุกคนที่ขึ้นมาบนนี้จะเป็นมิตร และหลวงจีนเต๋อเจี้ยนก็เอาตัวรอดจากผู้หมายปองชีวิตมาแล้ว ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ขณะที่ท่านเดินขึ้นเขา ชายสี่คนกระโจนเข้าใส่หมายจะผลักท่านให้ตกหน้าผา ชายเหล่านั้นมีทักษะกังฟูขั้นสูง แต่ท่านก็โต้กลับและไล่พวกนั้นไปได้ แม้ท่านจะไม่อยากพูดถึง เรื่องนี้แต่คนอื่นยืนยันว่าเกิดขึ้นจริง

ในเช้าวันสุดท้ายของผมบนยอดเขาซงชาน หลวงจีนเต๋อเจี้ยนพาผมไปชมกุฏิของท่าน เป็นกระท่อมหินหลังเล็ก หลังคาทรงโดมตั้งอยู่บนชะง่อนผาชัน

จู่ๆ โดยไม่บอกไม่กล่าว ท่านก็กระโดดขึ้นไปยืนบนแนวกำแพงเตี้ยๆ ที่กั้นริมหน้าผา สายลมพัดจีวรขนสัตว์หนาหนักของท่านปลิวแผ่ปกคลุมความเวิ้งว้างว่างเปล่าเบื้องหลัง ท่านถามเมื่อเห็นสีหน้าผมว่า “คุณโยมกลัวหรือ กังฟูไม่ใช่แค่การฝึกฝนร่างกาย แต่ยังหมายถึงการควบคุมความกลัวด้วย” ท่านกระโดดสลับเท้าไปมาอย่างนิ่มนวล เคลื่อนตัวไปข้างหน้า ปล่อยหมัด หมุนตัว แต่ละก้าวห่างจากการพลัดตกจากหน้าผาสูงเสียดฟ้าไม่กี่เซนติเมตร นัยน์ตาท่านเบิกกว้างขณะรวบรวมสมาธิ จีวรโบกสะบัด ปะทะสายลมยะเยือก

หลวงจีนชื่อเต๋อเจี้ยนฝึกกังฟูที่วัดร้างบนยอดเขาที่ท่านใช้เวลาถึง 15 ปีในการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์

ท่านอธิบายด้วยน้ำเสียงดังกังวานแข่งกับสายลม “เราไม่อาจเอาชนะความตาย” ตามด้วยการเตะเท้าเหนือหุบผาเวิ้งว้าง ทรงตัวด้วยขาอีกข้างที่แข็งแกร่งราวกับต้นไม้ “แต่เราสามารถเอาชนะความกลัวตายได้”

ไม่นานหลังจากหูเจิ้งเชิงมาถึง อาจารย์หยางกุ้ยอู่ก็เดินทางสู่สัมปรายภพ ศิษย์เก่านับสิบคนอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับสมาชิกครอบครัวในบ้านหลังเล็กที่ตกแต่งด้วยพวงหรีดกระดาษสีสันสดใสในเมืองเหยี่ยนชือ หลวงจีนเต๋อเจี้ยนมาพร้อมลูกศิษย์สองคน

เสียงประทัดดังอื้ออึงไปทั่วบริเวณ นัยว่าเป็นการบอกกล่าวแก่เจ้าหน้าที่ทางยมโลกให้รับทราบถึงการเดินทางของท่านอาจารย์ นักดนตรีเป่าขลุ่ยสามคนเดินนำขบวนแห่ศพจากตัวเมืองไปยังไร่ข้าวสาลีของครอบครัว เพื่อฝังร่างท่านอาจารย์ลงเคียงข้างบิดาและมารดาท่ามกลางทุ่งข้าวสาลีเขียวขจีสูงท่วมต้นขา

ระหว่างที่เราเดินตามหีบศพท่านอาจารย์ไปนั้น หูยังครุ่นคิดอยู่ว่าจะรับงานแสดงในภาพยนตร์กังฟูดีหรือไม่ อาจดูเป็นการไม่ให้เกียรติท่านอาจารย์ที่เพิ่งลาลับ กระนั้น เขาก็ได้ปรึกษาศิษย์พี่ท่านอื่นๆ ที่ต่างสนับสนุนให้เขาตอบรับ เพราะนั่นหมายถึงเศษเสี้ยวหนึ่งของท่านอาจารย์หยางกุ้ยอู่ จะดำรงอยู่ต่อไปผ่านการแสดงของหู และอาจช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนรุ่นใหม่ๆ พี่น้องศิษย์ร่วมสำนักต่างย้ำกับหูว่า ไม่ใช่เพราะภาพยนตร์กังฟูหรอกหรือที่ชักนำให้เขามาพบท่านอาจารย์ในตอนแรก

ฤๅวัฏจักรชีวิตจะเวียนกลับมาซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง ท่านอาจารย์เองคงกล่าวเช่นนั้น

เรื่อง ปีเตอร์ กวิน
ภาพถ่าย ฟริตซ์ ฮอฟฟ์แมนน์

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2553


อ่านเพิ่มเติม  สือเหม่า-ปริศนาอารยธรรมก่อนยุคราชวงศ์ของจีน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.