หนุ่มสาว ซูดาน มองหาอนาคต ในเงื้อมมือเผด็จการ

หนุ่มสาว ซูดาน ได้แรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ขณะต่อสู้เรียกร้องเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น

เช้าวันจันทร์วันหนึ่งช่วงปลายเดือนตุลาคมปีที่แล้ว การปฏิวัติครั้งล่าสุดของ ซูดาน กำลังพังทลาย

เวลาเพิ่งผ่านไปสองปีครึ่งนับจากรัฐบาลเผด็จการสุดโต่งของโอมาร์ อัล บาเชียร์ ที่ครองอำนาจมายาวนาน 30 ปี ล่มสลายลงเมื่อเดือนเมษายนปี 2019 สภาอธิปไตย (Sovereign Council) ของชาติในขณะนั้นซึ่งเกิดจาก การจัดสรรอำนาจระหว่างผู้นำพลเรือนและกองทัพ กำลังนำพาประเทศออกจากสามทศวรรษอันมืดมนแห่ง การกดขี่ปราบปราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การคว่ำบาตรจากนานาชาติ และการแยกตัวเป็นเอกราชของเซาท์ซูดาน

แต่แล้วราวเที่ยงวันของวันที่ 25 ตุลาคม ปี 2021 เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนการเปลี่ยนผ่านตามแผนไปสู่ การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน อนาคตของชาติแอฟริกาแห่งนี้กลับพบจุดหักเหอีกครั้ง พลโทอับเดล ฟัตตาห์ อัลบูร์ฮัน ประธานสภาอธิปไตย ประกาศยุบรัฐบาลและควบคุมตัวนายกรัฐมนตรีพลเรือนไว้ภายในบ้าน อับบูร์ฮัน เรียกเหตุการณ์นี้ว่าสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ประชาชนซูดานรับรู้ว่าเป็นการรัฐประหาร จึงออกมารวมตัวกันนับแสนคนเพื่อประท้วงในเมืองหลวงคาร์ทูม และเมืองอื่นๆ

อาห์เม็ด อิบราฮิม อัลคาเอียร์ (ซ้ายสุด) ซึ่งห่มกายด้วยธงชาติดั้งเดิมของซูดานหลังได้รับเอกราช และอาวาบ ออสมาน อาลีอับโด ซึ่งห่มธงชาติปัจจุบัน ซึมซับทัศนียภาพจากเจเบบาร์คาล การปฏิวัติเมื่อปี 2019 โค่นอำนาจ จอมเผด็จการโอมาร์ อัล บาเชียร์ ลงได้ และจุดประกายความหวังให้การปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่หลังการ ก่อรัฐประหารเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว ชาติที่ใหญ่เป็นอันดับสามของแอฟริกาแห่งนี้ก็อยู่บนทางแพร่งระหว่างสันติภาพและความรุนแรง

สมกับเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในศตวรรษที่ 21 ทุกอย่างตีแผ่บนสื่อโซเชียลแบบสดๆ และฉันได้เฝ้าดูอย่างจดจ่อจากแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ไกลออกไปครึ่งโลก ฉันติดตามข่าวคราวจากซูดานมาตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐประหารและการปฏิวัติ เพื่อบันทึกการทำงานของผู้รับทุนสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกทีมหนึ่งที่ขุดค้นแหล่งโบราณคดีอยู่ทางภาคเหนือของประเทศ ฉันไปทำข่าวทริปแรกในช่วงเดือนท้ายๆ ของระบอบบาเชียร์ที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง ซึ่งเป็นยุคสมัยขึ้นชื่อเรื่องการขาดแคลนอาหารและน้ำมัน การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่จำกัด และด่านตรวจของทหารที่พบเห็นได้มากขึ้นเรื่อยๆ ทีมสำรวจของเราแอบวางเส้นทางหนีไปยังชายแดนอียิปต์เผื่อไว้ในกรณีซูดานดิ่งสู่ความโกลาหล

ตอนรัฐบาลบาเชียร์ถูกโค่นล้มในฤดูใบไม้ผลิ ปี 2019 ภาพถ่ายที่แพร่สะพัดอยู่ในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กตอนนั้นช่างน่าทึ่ง นั่นคือภาพฝูงชนหนุ่มสาวรวมตัวกันต่อต้านระบอบการปกครองอย่างสันติ เรียกร้องโลกที่แตกต่างให้กับคนรุ่นเดียวกัน ฉากหนึ่งโดดเด่นที่สุดและปรากฏซ้ำไม่สิ้นสุดในรูปของชุดภาพถ่ายและคลิปวีดีโอจากมือถือ นั่นคือ ภาพหญิงสาวคนหนึ่งในชุดพื้นเมืองสีขาวยืนบนหลังคารถยนต์ ชูนิ้วขึ้นสู่ท้องฟ้าเลือนสลัว ขณะกู่ร้องร่วมกับฝูงชนว่า “ปู่ของเราคือทาฮาร์คา ย่าของเราคือ กันดากา!”

ที่เชิงเขาเจเบลบาร์คาล ภูเขาศักดิ์สิทธิ์และแหล่งมรดกโลก คนงานขุดดินเพื่อเผยอารยธรรมยิ่งใหญ่แห่งหนึ่ง ของทวีปแอฟริกา อาณาจักรซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อคูชหรือนูเบีย ได้รับการกล่าวถึงมาช้านานว่าเป็นเพียงส่วนผนวกของดินแดนอียิปต์ที่อยู่ติดกัน

ฉันถึงกับอึ้ง นี่ไม่ใช่การตะโกนร้องสนับสนุนกลุ่มการเมืองหรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม กลุ่มผู้ประท้วงกำลังประกาศว่า พวกเขาเป็นลูกหลานของทาฮาร์คา กษัตริย์ชาวคูชโบราณ และผองราชินีและพระชนนี ซึ่งเรียกรวมกันว่า กันดากา เหล่าบรรพชนหน่อเนื้อกษัตริย์เหล่านี้ปกครองจักรวรรดิยิ่งใหญ่ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ทางเหนือของซูดาน และครั้งหนึ่งเคยแผ่ไกลจากกรุงคาร์ทูมในปัจจุบันไปจรดชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

อาณาจักรคูชหรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า นูเบีย เคยยิ่งใหญ่เกรียงไกรก็จริงอยู่ แต่ปัจจุบันกลับถูก ลดความสำคัญจนส่วนใหญ่เป็นเพียงเชิงอรรถในหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณ กระทั่งในซูดานเองก็มีนักศึกษาที่เติบโตขึ้นภายใต้ระบอบเผด็จการของบารเชียร์ไม่กี่คนที่พอรู้เรื่องอาณาจักรคูชในอดีตไกลโพ้น เช่นนั้นแล้วเพราะเหตุใดมรดกตกทอดจากอาณาจักรโบราณซึ่งเป็นที่รู้จักน้อยมากกระทั่งในหมู่นักโบราณคดี อย่าว่าแต่ชาวซูดานทั่วไปเลย จู่ๆ จึงถูกชูขึ้นมาในการประท้วงเรียกร้องตามท้องถนนในกรุงคาร์ทูม

เชิงเขาทางทิศใต้ของเจเบลบาร์คาลตระหง่านหนือสุสานอิสลาม ชนชั้นนำชาวมุสลิมอาหรับผูกขาดอำนาจในซูดานมาช้านาน แต่กลุ่มชายขอบต่างๆ หวังว่า ชาวซูดานรุ่นใหม่จะสร้างอนาคตที่โอบอุ้มความหลากหลาย

ตอนฉันกลับไปซูดานอีกครั้งเมื่อเดือนมกราคม ปี 2020 เพื่อสำรวจคำถามเหล่านี้ บรรยากาศในเมืองหลวง หลังการปฏิวัติดูคึกคักมีพลัง ในกรุงคาร์ทูม ซึ่งเพียงหนึ่งปีก่อน ผู้หญิงอาจถูกโบยต่อหน้าธารกำนัลฐานสวมใส่กางเกง มีหนุ่มสาวชาวซูดานออกมาเต้นรำกันในเทศกาลดนตรีและร้านกาแฟเนืองแน่น ตามถนนสายหลักและถนนทางลอดของเมืองประดับประดาด้วยภาพเหมือนของผู้พลีชีพยุคใหม่ หรือส่วนหนึ่งของผู้ประท้วงราว 250 คนที่ถูกสังหาร ในระหว่างและตั้งแต่เกิดการปฏิวัติเป็นต้นมา และยังมีภาพเขียนบนกำแพงของเหล่าราชันและทวยเทพยุคคูชโบราณรวมอยู่ด้วย

ตำแหน่งที่ตั้งอันโดดเด่นของซูดาน ณ จุดตัดของแอฟริกากับตะวันออกกลาง และเป็นจุดบรรจบของแควใหญ่สามสายของแม่น้ำไนล์ ทำให้ซูดานเป็นศูนย์กลางในอุดมคติสำหรับอาณาจักรทรงอำนาจทั้งหลายในยุคโบราณ และเป็นดินแดนหมายปองของบรรดาจักรวรรดิในยุคหลังๆ ในสมัยใหม่ ซูดานตกอยู่ภายใต้การปกครองของ ออตโตมาน-อียิปต์ ตามด้วยการครอบงำของอังกฤษ-อียิปต์จนถึงปี 1956 เมื่อสาธารณรัฐซูดานได้รับเอกราช ปัจจุบันพลเมืองอันหลากหลายของซูดานประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กว่า 500 กลุ่ม พูดภาษามากกว่า 400 ภาษา และมีสัดส่วนพลเมืองหนุ่มสาวสูงอย่างเหลือเชื่อ กล่าวคือราวร้อยละ 40 ของประชากรมีอายุต่ำกว่า 15 ปี

จากยอดเขาเจเบลบาร์คาล หนุ่มสาวชาวซูดานสำรวจเมืองหลวงของบรรพบุรุษชาวคูชระหว่างครุ่นคิดถึงอนาคต ที่ไม่แน่นอน ประวัติศาสตร์ยุคโบราณของซูดานจะกลายเป็นพลังสร้างเอกภาพในดินแดนที่มักแบ่งแยก ด้วยเชื้อชาติและชาติพันธุ์ได้หรือไม่ การเปลี่ยนแปลงล่องลอยอยู่ในสายลม ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นจริงและจะยืนยงหรือไม่

ก่อนการปฏิวัติปี 2019 รัฐบาลอิสลามสุดโต่งและการเป็นสมาชิกสันนิบาตอาหรับ ส่งให้รัฐบาลผด็จการของ บาเชียร์ได้ประโยชน์จากการนำเสนออารยธรรมคูช ไม่ใช่ในฐานะปรากฏการณ์อันโดดเด่นเฉพาะของทวีปแอฟริกา แต่ในฐานะมรดกของอียิปต์ ซึ่งเป็นพันธมิตรทรงอำนาจในปัจจุบัน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นเพียงบทหนึ่งในหนังสือประวัติศาสตร์ภูมิภาคตะวันออกใกล้

ภาพของกันดากานักปฏิวัติในชุดเสื้อคลุมสีขาวกลางวงผู้ประท้วง ชี้นิ้วขึ้นไปบนฟ้าขณะเอ่ยอ้างถึงเหล่ากษัตริย์และราชินีชาวคูช ได้รับการจารึกไว้ในศิลปะบนท้องถนนทั่วกรุงคาร์ทูมและรอบโลก แต่เมื่อฉันได้พบกับอาลา ซาลาห์ระหว่างการเดินทางไปซูดานครั้งที่สองเมื่อต้นปี 2020 ฉันจำเธอแทบไม่ได้ เมื่อเห็นเธอในชุดแต่งกายสีทึบทึม กับผ้าคลุมศีรษะสีแดงเข้ม

ในวัย 23 ปี ซาลาห์กลายเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติในซูดาน บทบาทซึ่งจะขับเคลื่อนเธอจากนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ไปสู่บุคคลระดับนานาชาติ ที่ได้รับเชิญไปกล่าวสุนทรพจน์เรื่องบทบาทผู้หญิงในซูดานยุคใหม่ ต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซาลาห์บอกฉันผ่านล่ามว่า ระหว่างเติบโตขึ้น เธอเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์คูชโบราณน้อยมากในโรงเรียน และต้องค้นพบด้วยตนเอง เพิ่งไม่กี่ปีก่อนหน้านี้เองที่เธอได้เดินทางไปดูพีระมิดอันเลื่องลือที่เมโรเอ เธอทึ่งมากกับสิ่งที่เห็น “เรามีพีระมิดอยู่เยอะมากค่ะ เยอะกว่าอียิปต์ด้วยซ้ำ!”

เด็กนักเรียนเยี่ยมชมสุสานพีระมิดของกษัตริย์และราชินีชาวคูชที่นครหลวงโบราณเมโรเอ ภายใต้รัฐบาลเผด็จการของโอมาร์ อัล บาเชียร์ หลักสูตรโรงเรียนในซูดานละเลยหรือปกปิดมรดกนอกศาสนาอิสลามและรากเหง้า ในภูมิภาคซับสะฮาราแอฟริกาของตนเอง

ตอนผู้ประท้วงบนถนนในกรุงคาร์ทูมเริ่มกู่ร้องว่า “ปู่ของฉันคือทาฮาร์คา ย่าของฉันคือกันดากา” ซาลาห์อธิบายว่า พวกเขากำลังแสดงความภาคภูมิในความไม่ยอมจำนนและความกล้าหาญของเหล่ากษัตริย์และราชินีโบราณ เป็นการกู่ร้องที่ทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมโบราณของเหล่าผู้นำที่เข้มแข็งกล้าหาญ โดยเฉพาะสำหรับพวกผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญในการประท้วงครั้งนี้

“ทุกครั้งที่ผู้คนเห็นหญิงสาวบนท้องถนนกำลังต่อสู้เพื่อซูดาน ไปลงถนนเพื่อซูดาน นั่นแปลว่า เธอกล้าหาญ เธอกำลังขัดขืนเต็มกำลัง” ซาลาห์อธิบาย “เธอเข้มแข็งและเป็นนักรบเหมือนกับเหล่ากันดากาค่ะ”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเกือบสามปีนับจากการล่มสลายของบาเชียร์ บทบาทของผู้หญิงในซูดานกลับถูก ลดความสำคัญลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นความกังวลหลักของซาลาห์ระหว่างที่เราพูดคุยกัน นั่นคือจะทำอย่างไรเพื่อให้มั่นใจ ได้ว่า เหล่ากันดากายุคใหม่จะปลอดภัย และมีตัวแทนที่เหมาะสมในรัฐบาลเฉพาะกาลใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้น หลังการสัมภาษณ์ของเราเป็นต้นมา การก่อรัฐประหารที่น่ากลัวว่าจะนำมาซึ่งรัฐบาลเผด็จการกดขี่อีกรอบ และดูเหมือนเป็นการปฏิวัติซ้อนมากกว่า ทำให้สถานการณ์ของผู้หญิงชาวซูดานยิ่งสุ่มเสี่ยงมากขึ้น

เรื่อง คริสติน รอมีย์

ภาพถ่าย นิโคล โซเบกกี

ติดตามสารคดี ซูดาน คืนอดีตให้อนาคต ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/540164


อ่านเพิ่มเติม หลังตอลิบานหวนคืน ชีวิตของ ชาวอัฟกานิสถาน ที่ถูกแบ่งแยกจะเป็นเช่นไร

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.