หลุยส์ มานูเอล ซาลามังกา ทรงตัวอยู่บนบานประตูท้ายรถกระบะมีหลังคาที่โคลงเคลง เขาเกาะตะแกรงหลังคาไว้แน่น ขณะรถแล่นปัดไปปัดมาตามถนนชนบทลดเลี้ยวในเทือกเขาแอนดีส ตอนนั้นเป็นช่วงรุ่งสางของวันที่ 22 พฤษภาคม ปี 2018 และนูโดเดอัลมากวยร์ เขตเขาสูงรูปโดมอันอุดมสมบูรณ์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของโคลอมเบีย เพิ่งตื่นจากหลับใหล
เรากำลังมุ่งหน้าไปยังคินชานา หมู่บ้านขนาดราว 90 ครัวเรือนที่ซุกตัวอยู่ในเนินเขาเขียวชอุ่มกลาง สายหมอกของจังหวัดอุยลา ภูมิภาคที่ขึ้นชื่อเรื่องการปลูกกาแฟ การสำรวจน้ำมัน และแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำหลัก หลายสาย ทั้งยังเป็นต้นทางทอดสู่ชุมชนเล็กๆ ชื่อลาไกตานา และแหล่งโบราณคดีซึ่งมีศิลปวัตถุยุคก่อนโคลัมบัสอย่างบรรดาเทพเจ้าหินและคูหาฝังศพที่มีอายุในช่วงศตวรรษที่หนึ่งถึงแปด โบราณวัถตุเหล่านี้ถูกค้นพบอีกครั้ง ในปี 1942 และช่วยให้ภูมิภาคนี้เป็นที่รู้จักของโลกภายนอก
ซาลามังกาอุทิศหน้าที่การงานของตนเพื่อศึกษาและรักษาประวัติศาสตร์ข้างต้น ชายวัย 64 ปีผู้นี้เป็น นักมานุษยวิทยาที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโคลอมเบีย เขาพูดจานุ่มนวล เลือกเฟ้นถ้อยคำ ใบหน้าอ่อนโยน ทรงกลมรับกับจมูกกลมๆ รวมเป็นบุคลิกสุขุม อบอุ่น เหมือนความสบายของเสื้อสเวตเตอร์นุ่มฟู
ผมมาหาซาลามังกาในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านอันตึงเครียดสำหรับโคลอมเบีย ประเทศที่เผชิญกับความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นใช้อาวุธอยู่ครึ่งศตวรรษ ตอนนั้น ผมกำลังลัดเลาะไปตามแม่น้ำมักดาเลนา ลำน้ำ สายหลักในตำนานที่ทอดยาวกว่า 1,500 กิโลเมตรผ่านใจกลางประเทศในอเมริกาใต้แห่งนี้ และใช้เวลากับผู้คน ที่ทำงานส่งเสริมสันติภาพอันเปราะบางตามสองฝั่งแม่น้ำ กลางปี 2018 ถือเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างสงบสุข แต่ไม่ยั่งยืน
กองกำลังติดอาวุธเพื่อการปฏิวัติแห่งโคลอมเบียหรือฟาร์ก (Revolutionary Armed Forces of Colombia: FARC) ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากลัทธิมาร์กซ์ ทำสงครามกับรัฐบาลโคลอมเบียอยู่นานกว่าครึ่งศตวรรษ ความขัดแย้งนั้นดึงดูดกองกำลังติดอาวุธฝ่ายซ้ายอื่นๆ รวมทั้งกองกำลังกึ่งทหารฝ่ายขวา กลุ่มค้ายาเสพติด และทหารสหรัฐฯ ให้เข้ามาในพื้นที่ ส่งผลให้พื้นที่กว้างใหญ่กลางป่าดงและเขตห่างไกลอื่นๆ ไม่ปลอดภัยสำหรับ ทั้งนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นเอง ผู้คนเกือบ 270,000 คนเสียชีวิตในความขัดแย้งดังกล่าว สูญหายไปอีก 81,000 คน และพลัดถิ่นฐานบ้านเกิดรวมแล้ว 7.4 ล้านคน
ข้อตกลงสันติภาพที่ลงนามเมื่อปี 2016 ควรจะทำให้ทุกสิ่งเปลี่ยนไป ทหารกลุ่มฟาร์กตกลงวางอาวุธ ฝ่ายรัฐบาลให้คำมั่นว่ายินดีต้อนรับพวกเขากลับสู่สังคม ข้อสำคัญที่สุดคือรัฐบาลสัญญาว่าจะจัดหาและปรับปรุงบริการสาธารณะในเขตชนบทที่เคยอยู่ในการควบคุมของกลุ่มกองโจร จุดประกายให้เกิดความหวังว่า พื้นที่ ความขัดแย้งในอดีตจะกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยว และสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ชาวบ้านในพื้นที่
แต่ความเย้ายวนของผลประโยชน์ทางธุรกิจจากทรัพยากรที่ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์มาพร้อมกับราคา สูงลิบ นักธุรกิจเหมืองทองคำ เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ พ่อค้ายาเสพติดพากันย้ายเข้ามา ชาวบ้านที่กล้าลุกขึ้นปกป้องผืนดินและวัฒนธรรมของตนจากการพัฒนาต้องตกเป็นเป้า สถาบันเพื่อการพัฒนาและสันติศึกษา องค์กรไม่แสวงกำไรในกรุงโบโกตาที่รู้จักกันในชื่อ อินเดปาซ (Institute for Development and Peace Studies: INDEPAZ) รายงานว่า มี “ผู้นำสังคม” ชาวโคลอมเบีย 1,297 คนถูกฆาตกรรมหลังข้อตกลงสันติภาพปี 2016 เป็นต้นมา ในจำนวนนี้ หลายคนเป็นนักต่อสู้เพื่อปกป้องถิ่นเกิดและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชาวโคลอมเบียเชื้อสายแอฟริกันและชน
“รูปแบบวิธีการสังหารผู้นำเหล่านี้ ประเภทของผู้นำที่ตกเป็นเป้า ไปจนถึงสถานที่เกิดเหตุ ล้วนบ่งชี้ว่า ทำกันอย่างเป็นระบบครับ” เลโอนาร์โด กอนซาเลซ จากอินเดปาซบอกผม ทั้งเป็นระบบและเกิดขึ้นถี่ถึงขนาดที่ว่า ปี 2020 โคลอมเบียขึ้นแท่นประเทศที่จัดว่าอันตรายที่สุดในโลกสำหรับนักสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปีที่สองติดต่อกัน ตามรายงานของโกลบอลวิตเนสส์ (Global Witness) องค์กรสืบสวนด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนซึ่งตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน เกือบหนึ่งปีหลังวันที่ผมพบกับซาลามังกา นักมานุษยวิทยาผู้นี้กลายเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตอย่าง น่าสลดใจไปด้วย คืนวันที่ 11 พฤษภาคม ปี 2019 เขาถูกยิงและทิ้งให้ขาดใจตายหน้าประตูบ้าน
เพิ่งไม่นานก่อนหน้านี้เองที่เมืองต่างๆ ซึ่งอยู่ในการควบคุมของกลุ่มฟาร์กเป็นเขตหวงห้ามสำหรับผู้ไม่ได้ รับเชิญ ทั้งชาวต่างชาติและชาวโคลอมเบียโดยเฉพาะพวกที่มีฐานะ ถูกลักพาตัวไปเรียกค่าไถ่ คนทำไม้และนักพัฒนาที่ดินต่างหลีกเลี่ยงพื้นที่ป่าเขาที่กลุ่มกบฏควบคุม สถานที่อย่างหมู่บ้านคินชานาซึ่งมีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ใกล้กับช่องเขาที่เหล่าพ่อค้าเกลือ หนังสัตว์ และน้ำตาล นิยมใช้สัญจรก่อนยุคอุตสาหกรรม กลายเป็นระเบียงเชื่อมต่อของขบวนการลักลอบขนส่งอาวุธและยาเสพติด ซึ่งสนับสนุนเงินทุนให้กลุ่มกองโจร
การปลดแอกพื้นที่ขนาดใหญ่ของดินแดนโคลัมเบียจากกลุ่มฟาร์กนับว่าเป็นประโยชน์ต่อวิทยาศาสตร์และการท่องเที่ยว โคลอมเบียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก เป็นแหล่งรวมของความหลากหลายทั้งทางระบบนิเวศ ภูมิทัศน์ และชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิต
ขณะเดียวกัน การอนุญาตให้คนทำไม้ เจ้าของไร่ปศุสัตว์ และคนทำเหมืองทองคำ เข้ามาได้อย่างเสรี กลับกระตุ้นให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าและการเพาะปลูกต้นโคคา ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของโคเคน พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2018 ตามรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนโลสเบโซเตสในเทือกเขาเซียร์ราเนบาดาเดซานตามาร์ตา และการสำรวจโดยการขุดเจาะตามแนวแม่น้ำมักดาเลนา ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงของน้ำท่วมผืนดิน สารพิษปนเปื้อนแหล่งน้ำ การพลัดถิ่นของชุมชนและชนิดพันธุ์ต่างๆที่พึ่งพาระบบนิเวศทั้งสองแหล่งที่กล่าวมา
เจ้าหน้าที่รัฐไม่อาจควบคุมคนที่เห็นผลกำไรสำคัญกว่าการคุ้มครองทรัพยากรได้ มีหลักฐานของ การทุจริตอย่างกว้างขวางในหมู่เจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาค ซึ่งเพิกเฉยต่อการตัดไม้ทำลายป่า การทำเหมือง และการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ยังประโยชน์แก่กลุ่มชนชั้นนำ
ความล้มเหลวของรัฐที่ไม่อาจสร้างความยำเกรงในพื้นที่ที่เคยมีความขัดแย้งมาก่อน เอื้อให้กลุ่มอาชญากรต่างๆเติบโตเฟื่องฟู ต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ลักลอบค้าตามระเบียงเชื่อมต่อและท่าเรือต่างๆที่ ใช้ ขนย้ายของเถื่อนได้
ทว่าเหล่านักกิจกรรมกำลังโต้กลับ และต้องแลกด้วยชีวิตตัวเอง ผู้ตกเป็นเป้ามีทั้งผู้นำชนพื้นเมือง ครูอาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์ เกษตรกรที่พยายามปลูกพืชไร่ถูกกฎหมายแทนต้นโคคา นักการเมือง ฝ่ายอนุรักษนิยมจำนวนหนึ่งพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของเหล่านักรณรงค์เคลื่อนไหวว่าเป็นพวกนิยม ลัทธิมาร์กซ์ และกล่าวอ้างว่าอันตรายที่คนเหล่านั้นเผชิญอยู่เป็นเรื่องเล็กน้อย ซึ่งอาจเท่ากับให้ท้ายผู้ลงมือก่อการ
เรื่อง จอร์แดน ซาลามา
ภาพถ่าย ฟลอรองซ์ กูปิล
ติดตามสารคดี เพื่อปกป้องผืนแผ่นดิน พวกเขาต้องแลกด้วยชีวิต ฉบับสมบูรณ์ ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมีนาคม 2565
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/541514