ช่วงต้นปี 2565 ข่าวเรื่องการลักลอบขุดดินบริเวณโบราณสถาน หัวเขาแดง และเขาน้อย อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ถูกนำเสนอในสื่อมากมาย ทำให้เสียงของกลุ่มประชาชนและนักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหว “ปกป้องหัวเขาแดง” #Save_Singora ดังขึ้นเรื่อยๆ เป็นข่าวร้ายที่ย้อนแย้งกับเจตนารมณ์ของจังหวัดที่ประกาศผลักดันสงขลาให้เป็นเมืองมรดกโลก ซึ่งถ้าว่ากันตามมรดกทางวัฒนธรรมทั้งด้วยโบราณคดีและวิถีชีวิต สงขลานับว่ามีศักยภาพมาก แต่หากยังคงมีการทำลายพื้นที่ใกล้โบราณสถานอย่างอุกอาจ สองความเคลื่อนไหวนี้ก็สวนทางกันสิ้นเชิง
คนอาจมองเห็นว่าบริเวณหัวเขาแดงเป็นซากดินเก่า แต่ที่นี่คือโบราณสถานอายุ 1,400 ปี ซึ่งก่อร่างขึ้นในสมัยศรีวิชัย ก่อนที่จะเกิดชื่อตามการเรียกขานของนักเดินเรือชาวเปอร์เชียซึ่งมาทำการค้าสมัยอยุธยา โดยเรียกเมืองท่าซึ่งตั้งอยู่เชิงเขาแดงว่า “ซิงกอรา – Singora” ชื่อ “สิงหนคร” และชื่อจังหวัดสงขลาก็ผันมาตาม Singora
ก่อนการย้ายเมืองสงขลาไปอยู่ฝั่งบ่อยางในปัจจุบัน สุลต่านสุไลมาน เจ้าเมืองคนสำคัญของสงขลามองเห็นชัยภูมิซึ่งเป็นภูเขาอยู่ปากอ่าวทางเข้าทะเลสาบสงขลา จึงสร้างเมืองบนภูเขาล้อมด้วยป้อมปืนใหญ่คอยสังเกตการณ์และป้องกันเมือง มองลงไปยังเห็นท่าเรือที่เป็นจุดศูนย์กลางการค้าและคมนาคมมาจนถึงปัจจุบัน ตลาดหัวแดงยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่ผู้คนมาแลกเปลี่ยนสินค้าจากทั่วประเทศ แพขนานยนต์ยังรับส่งผู้คนที่สัญจรไปมาในย่านนี้
ดร.จเร สุวรรณชาต รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (ด้านสถาปัตย์) บอกว่า พื้นที่บริเวณเขาหัวแดงมีความเฉพาะมากตรงที่ความเป็นปากอ่าว บรรพบุรุษฝั่งหัวเขาแดงจึงเลือกวางป้อมปืนไว้บนเขา สถาปัตยกรรมของป้อมปืนรับเทคโนโลยีมาจากยุโรป ซึ่งใช้หินในการก่อสร้าง ดร.จเรเคยจัดประชุมวิชาการ เชิญคนต่างชาติมาดูสถาปัตยกรรมป้อมโบราณที่หัวเขาแดง ก็ยังประทับใจในเอกลักษณ์ ถึงกับบอกว่าสามารถผลักดันเป็นมรดกโลกได้เลย
ดร.จเร ย้ำว่ามรดกโลกของฝั่งบ่อยาง (อำเภอเมือง) คือ Living Heritage หรือวัฒนธรรมที่มีชีวิต ส่วนฝั่งเขาหัวแดงคือด้านโบราณคดี และเป็น Cultural Heritage คือแหล่งวัฒนธรรมที่อาศัยภูมิทัศน์ แหล่งที่ตั้ง กับตัวสถาปัตยกรรม นี่คือภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม
“หัวเขาแดงอายุ 1,400 ปี จะเป็นหลักกม.ที่ 1 ของประวัติศาสตร์สงขลา และโบราณสถานเป็นประจักษ์พยานที่สำคัญที่สุด ในการยืนยันว่าที่นี่เคยเป็นแหล่งความเจริญก็คือที่เจดีย์เขาน้อย”
อาณาจักรศรีวิชัย (ราว 1,300 – 1,400 ปีที่แล้ว) รุ่งเรืองขึ้นบนเกาะสุมาตรา อินโดนิเซีย ครอบครองพื้นที่แหลมมลายู รวมเกาะชวาและภาคใต้ของไทยเข้าไปด้วย ศิลปะสมัยศรีวิชัยได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนามหายาน มีการพบพระพุทธรูปสมัยศรีวิชัยในหลายจังหวัดแถบภาคใต้ แต่สำหรับสถาปัตยกรรมแล้ว นับว่าพบน้อยมากในประเทศไทย
เจดีย์เขาน้อย คือเจดีย์เก่าแก่สมัยศรีวิชัย เท่าที่พบอีกแห่งก็คือเจดีย์พระธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับเจดีย์ในเกาะชวามาก อาจารย์บุญเลิศ จันทระ อาจารย์สถาบันทักษิณคดี มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยทักษิณ เล่าถึงการมีอยู่ของสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม สืบสาวราวเรื่องไปได้ไกลถึงเส้นทางประวัติศาสตร์ของชาวสงขลา มะละกา และชวา การขุดพบสุสานของทั้งเจ้าเมือง และชาวต่างชาติในอดีตที่เดินทางมาทำการค้าในแถบนี้ ล้วนเป็นเรื่องราวที่นำมาต่อยอดเป็นการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ได้ทั้งหมด หากมีการวางแผนและเชื่อมต่อทุกอย่างให้เป็นภาพใหญ่ พื้นที่หัวเขาแดงและเจดีย์เขาน้อย ก็จะไม่ใช่เพียงซากโบราณที่คนผ่านไปมาโดยไม่รู้มูลค่า
ไม่เพียงสถานที่ แต่ประวัติศาสตร์ยังคงสานต่อมาในชีวิตของคนสงขลา เมื่อพุทธศาสนามหายานเลือนหาย ศาสนาอิสลามเข้ามาแทนที่ ผสมผสานด้วยพุทธเถรวาท และความเชื่อเทพเจ้าในแบบจีน ซึ่งอยู่ร่วมกันอย่างสอดคล้องกลมกลืน ถึงตอนนี้ สุลต่านสุไลมาน ที่ชาวมุสลิมสงขลาเรียกว่า “โต๊ะหุม” และที่ชาวพุทธหรือชาวสงขลาเชื้อสายจีนเรียกขานกันว่า “ทวดหุม” ก็เป็นที่เคารพนับถือมาตลอด มีประเพณีไหว้โต๊ะหุมที่ทุกศาสนาพร้อมใจกับทำบุญในแบบของตัวเอง ทำให้เห็นบทบาทของเจ้าเมืองเก่าผู้ยังคงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวสงขลา อาจารย์บุญเลิศ ย้ำถึงสังคมพหุวัฒนธรรมของชาวสงขลาที่ไม่มีใครเหมือน “ระบบความสัมพันธ์ของพุทธและมุสลิม เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เราพุทธและมุสลิมอยู่กับอย่างสันติ”
หากไม่สนใจประวัติศาสตร์ อาจมีน้อยคนที่รู้ข้อมูลนี้ คนหัวเขาแดงเองที่เติบโตวิ่งเล่นอยู่แถวนี้ ก็เคยชินจนไม่เห็นความสำคัญ ไม่ซิ ภูเขาที่เต็มไปด้วยทรัพยากร พวกเขารู้ถึงมูลค่า แต่ไม่ใช่คุณค่าที่มากกว่าเพื่อประโยชน์ส่วนตน
“ผมเป็นคนหัวเขาแดง บ้านอยู่ตรงข้ามสุสาน ณ สงขลา ผมวิ่งเล่นแถวนั้นแต่เด็ก ผมเคยคิดว่ามันแค่ซากอิฐเก่าๆ บ้านผมตอนนี้จุดเกิดเหตุอยู่บนหัวผมเลย” คุณเอกพล ฤทธิ์โต ชาวสิงหนครยอมรับว่าเขาก็เป็นอีกคนหนึ่งที่คิดจะซื้อที่ดินตรงทางขึ้นเขา เขามองว่าชุมชนที่ซื้อที่ชายเขาก็เท่ากับปิดทางขึ้น เก็บไว้เฉพาะสำหรับตนใช้ประโยชน์พื้นที่บนเขาได้เลย “แค่ซื้อที่ชายเขาก็เท่ากับปิดกั้นทางขึ้นเขาได้ทั้งลูก” แต่เมื่อนานไป ความเปลี่ยนแปลงที่เขาเห็นมาตลอด ก็ทำให้เขาคิดใหม่ มูลค่าจากการสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวจะมหาศาลเลี้ยงได้ทั้งจังหวัด “ทุนที่สงขลามีคือธรรมชาติและวัฒนธรรม ไม่ต้องปรุงแต่งมาก เพียงแค่สะกิดดินออกก็เห็นเลย”
“จังหวะที่เห็นพื้นที่บนหัวเขาแดง ผมอึ้งไปเลย ไม่สามารถบรรยายเป็นคำพูดได้” คุณพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการ สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา คนเพชรบุรีกล่าว เขาเพิ่งมารับตำแหน่งที่สงขลาได้ไม่กี่เดือน เขาเคยรับมือกับผู้บุกรุก ทั้งการเชิญพระสงฆ์ออกจากพื้นที่โบราณสถาน การดำเนินคดีผู้ลักลอบขุดโบราณวัตถุ แต่ไม่เคยมีที่ไหนที่เขาเห็นว่า “เป็นการทำลายล้างอย่างกว้างใหญ่”
กรมศิลปากรกำลังตรวจสอบพื้นที่ เพื่อทำแผนสร้างจุดขึ้นลง ขยายพื้นที่ทางเข้าให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย มีแผนทำให้สมเกียรติของประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างสิ่งก่อสร้างที่เล็กที่สุด ใช้พื้นที่ให้น้อยที่สุด กระทบกับเขตโบราณสถานและชุมชนน้อยที่สุด แต่เมื่อขึ้นไปตรวจสอบกลับมีการลักลอบเอารถขุดไถเป็นทางขนาดใหญ่ เขาลงเขามาพร้อมกับความเต็มใจที่จะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้รับเรื่อง ทำการสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป รวมถึงอีกหลายๆ กรณีที่จะมีการตรวจสอบเพิ่มเติม
ส่วนพื้นที่ถัดออกไปบนเขาน้อยนั้น ห่างออกไปเพียงแค่ 40 เมตรจากเจดีย์เขาน้อย มีการขุดดินออกไปมหาศาล ผู้กระทำผิดอาจคิดว่าไม่ได้แตะต้องเจดีย์โบราณ เอาแต่ตักดินออกไปจนพื้นที่ใกล้เจดีย์ถูกตัดตรงเป็นแนวดิ่ง ทำให้เจดีย์เขาน้อยตั้งอยู่บนสภาพคล้ายริมหน้าผา เสี่ยงต่อดินถล่มและการทรุดทลายอย่างยิ่ง
สำนักศิลปากรพื้นที่ 11 รายงานความเสียหายบริเวณหัวขาแดงประมาณ 5 ไร่ ปริมาณดินที่ขุดปรับออกไปประมาณ 20,400 ลูกบาศก์เมตร เฉพาะราคาดินคือ 4 ล้านบาท แต่มูลค่าความเสียหาย ไม่อาจคิดได้เพียงค่าขายดินคิวละเท่าไร
นอกจากความเสี่ยงต่อโบราณสถาน สิ่งที่หายไปกับดินคือต้นไม้ คือป่าที่ให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ป่าอุ้มชูสิ่งมีชีวิตมากมาย กักเก็บน้ำใต้ดิน ลดอุณหภูมิพื้นที่ให้ร่มเย็น เป็นภูมิทัศน์ที่ดีสำหรับการอยู่อาศัย ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับการท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์
“การประเมินมูลค่าความเสียหายมีหลายแบบมาก เช่น มูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ ต้องดูว่ามีคนใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นยังไงบ้าง และมูลค่าทางจิตใจ ซึ่งเป็นมูลค่าที่เขาอยากให้สิ่งนั้นดำรงอยู่ เพราะสิ่งที่มีความสุข ความผูกพัน มีมูลค่าที่ยอมจ่ายด้วยทรัพยากรที่ตนมีอยู่ ทั้งเงิน แรงกาย เวลา” ดร.สินาด ตรีวรรณไชย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาสงขลานครินทร์ กล่าว
ว่าโดยรวม แม้ผู้คนไม่ได้ใช้ประโยชน์จากโบราณสถานและพื้นที่รอบข้างโดยตรง แต่ทรัพยากรเหล่านั้นคือ “โอกาส” การอนุรักษ์ก็เหมือนการลงทุนเพื่อเก็งกำไรไว้ก่อน เพราะการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จำเป็นต้องใช้ภูมิทัศน์ภาพรวมทั้งหมด มีมูลค่าเผื่อใช้ (option value) ในอนาคต การไถพื้นที่หายไปทำให้มูลค่าองค์รวมของพื้นที่เสียหาย เท่ากับการทำลายโอกาสในอนาคต
ความผิดซึ่งเสร็จสิ้นแล้วในพื้นที่ซึ่งไม่มีกล้องวงจรปิด จึงไม่มีพยานและหลักฐาน ที่บ่งชี้ผู้กระทำผิด ไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด แต่ก็ต้องทำการสืบสวนต่อไป เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด เพื่อลงโทษทั้งชดใช้ความเสียหายตามมูลค่าที่เกิดขึ้นกับโบราณสถาน เพื่อไม่ให้เป็นภาระภาษีของประชาชน ไปจนถึงการจำคุกหรือรอลงอาญา ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลา ในเบื้องต้น กรมศิลปากรจะตั้งรั้วจำกัดการเข้าถึง เพื่อป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นอีก
นอกจากเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว คนสงขลาซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวอิสระที่ติดตามเรื่องนี้มานาน ก็เริ่มสร้างการรับรู้ให้กว้างขึ้น “ถ้าไม่เอาชาวบ้านมาเป็นแนวร่วม สิบปีก็ไม่มีทางเกิด เราต้องร่วมกับหน่วยงาน บรรจุเรื่องโบราณสถานสงขลาเข้าไปในการเรียนรู้ของเด็ก ให้เขาไปศึกษา ถ่ายภาพ บอกเล่าออกไป” คุณเอกพลย้ำ “ต้องคิดถึงคนจำนวนมาก ใช้กระบวนการเรียนรู้ ว่าจะทำยังไงให้พหุวัฒนธรรมเป็นมากกว่าคำพูด และออกมาเป็นการกระทำ”
เรื่อง อาศิรา พนาราม
ภาพ นายแพทย์รังสิต ทองสมัคร์
แหล่งข้อมูล
เสวนา “ปกป้องหัวเขาแดง #Save_Singora” 27 มีนาคม 2565 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา
เผยแพร่โดย สื่อเถื่อนข่าว https://www.facebook.com/100066914075214/videos/736918800625679
https://www.facebook.com/pongdhans
https://nkr.mcu.ac.th/buddhasil/?p=100
นายแพทย์รังสิต ทองสมัคร์
มีงานอดิเรกคือการถ่ายภาพ ผู้ผูกพันกับหัวเขาแดง ยามต้องเดินทางด้วยแพขนานยนต์ สมัยเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ผ่านมาเขามีส่วนร่วมกับการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยใช้ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือ โดยไม่ต้องอาศัยถ้อยคำ ภาพก็เล่าเรื่องได้มากมาย