เบื้องหลังเรื่องราวการฉลองการประกาศเลิกทาสของ อับราฮัม ลินคอล์น วันจูนทีนธ์ 19 มิถุนายน วันหยุดแห่งชาติล่าสุดของอเมริกา

ทุกวันที่ 19 มิถุนายน คือ วันจูนทีนธ์ วันหยุดเพื่อรำลึกถึงการสิ้นสุดความเป็นทาสของผู้คนในรัฐเท็กซัสซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง อับราฮัม ลินคอล์นประกาศเลิกทาสในสหรัฐฯ ถึงสองปี

วันจูนทีนธ์ หรือรู้จักกันในชื่อ “วันประกาศอิสรภาพที่สอง” เป็นวันหยุดเพื่อเฉลิมฉลองให้แก่เหล่าทาสในอเมริกาที่ได้รับอิสรภาพคืนหลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง และเป็นเวลากว่า 150 ปีมาแล้วที่ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาทั่วประเทศร่วมเฉลิมฉลองวันแห่งความเป็นอิสระนี้

ในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของวันจูนทีนธ์จากการผลักดันของบรรดานักเคลื่อนไหวที่เรียกร้องให้ทางรัฐและรัฐบาลกลางรับรองวันสำคัญนี้ และในปี 2021 ความพยายามเหล่านี้ก็บรรลุผล เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามรับรองร่างกฎหมายว่าด้วยการกำหนดให้วันจูนทีนธ์หรือวันที่ 19 มิถุนายนเป็นวันหยุดแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา และในปีนี้วันจูนทีนธ์ตรงกับวันอาทิตย์ พนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้หยุดชดเชยในวันที่ 20 มิถุนายนแทน

การอนุมัติให้วันจูนทีนธ์เป็นวันหยุดแห่งชาติถือเป็นการเพิ่มวันหยุดครั้งล่าสุดของสหรัฐอเมริกานับจากการกำหนดวันรำลึกถึงมาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ขึ้นในปี 1983 ความเป็นมาของวันสำคัญนี้เป็นอย่างไร มาร่วมหาคำตอบผ่านประวัติศาสตร์เบื้องหลังวันจูนทีนท์และการเฉลิมฉลองที่ผ่านมาได้ในเนื้อหาต่อไปนี้

อิสรภาพหลังการล่มสลายของสมาพันธรัฐ

เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนเข้าวันที่ 1 มกราคม ปี 1863 คำประกาศเลิกทาสของประธานาธิบดีลินคอล์นก็เริ่มมีผลบังคับใช้ และมีผลทำให้เหล่าทาสในดินแดนของฝ่ายสมาพันธรัฐ (หรือฝ่ายใต้) เป็นอิสระ หากแต่มีเงื่อนไขว่าฝ่ายสหภาพ (หรือฝ่ายเหนือ) จะต้องเป็นผู้ชนะในสงครามเท่านั้น ในเวลาต่อมาประกาศนี้จึงส่งผลให้สงครามที่เกิดขึ้นแปรเปลี่ยนเป็นการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ และยังทำให้ในช่วงท้ายของสงครามมีทหารผิวสีรวม 200,000 นาย เข้าร่วมการรบเพื่อกระจายข่าวการคืนอิสรภาพนี้ในขณะที่เคลื่อนพลไปยังรัฐทางใต้

กอร์ดอน เกรเจอร์ หัวหน้าฝ่ายสหภาพ ผู้แจ้งทาส 250,000 คนในเท็กซัสว่าพวกเขาเป็นอิสระแล้ว ภาพโดย LIBRARY OF CONGRESS และ PRINTS & PHOTOGRAPHS DIVISION/CIVIL WAR PHOTOGRAPHS

การประกาศเลิกทาสเป็นข่าวสำคัญที่ส่งไปไม่ถึงบรรดาทาสในเท็กซัส เนื่องจากรัฐนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่รัฐหลักที่ฝ่ายใต้หรือฝ่ายสมาพันธรัฐยังปกครองอยู่ เชื่อว่ายังมีทาสจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้ว่าตนเป็นไทแล้วแม้การปะทะครั้งสุดท้ายของสงครามกลางเมืองจะสิ้นสุดลงในปี 1865 หรือนับเป็นเวลาสองปีเต็มหลังประกาศเลิกทาสมีผลบังคับใช้ ว่ากันว่าทาสราว 250,000 คน พึ่งรับรู้ว่าตนเองเป็นอิสระแล้วหลังนายพลกอร์ดอน เกรนเจอร์ จากฝ่ายสหภาพมาถึงเมืองกัลเวสตัน รัฐเท็กซัส ในวันที่ 19 มิถุนายน ปี 1865 และประกาศให้ทราบว่าประธานาธิบดีได้คืนอิสรภาพให้แก่พวกเขาแล้ว

ในวันนั้น นายพลเกรนเจอร์ได้ประกาศว่า “ขอให้ประชาชนในเท็กซัสพึงทราบไว้ ตามประกาศเลิกทาสจากประธานาธิบดี ทาสทั้งหมดถือว่าเป็นอิสระแล้ว โดยประกาศนี้ครอบคลุมถึงความเสมอภาคโดยสมบูรณ์ทางสิทธิของทาสทุกคน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิส่วนบุคคลหรือสิทธิในทรัพย์สินระหว่างอดีตนายทาสและทาส และนับแต่นี้ไปความเกี่ยวข้องระหว่างทาสและนายทาสจะเปลี่ยนเป็นลูกจ้างและนายจ้างแทน”

วันแห่งการเฉลิมฉลอง

(ภาพงานเฉลิมฉลองจูนทีนส์ ในริชมอนด์ เวอร์จีเนีย ในปี 1905 ภาพโดย Library of Congress)

การประกาศของนายพลเกรนเจอร์ ทำให้วันที่ 19 มิถุนายนกลายเป็นวันเฉลิมฉลองการสิ้นสุดของระบบทาสในรัฐเท็กซัส (ซึ่งในภายหลังเป็นที่รู้จักในชื่อวันจูนทีนธ์) และเมื่อชาวเท็กซัสที่พึ่งเป็นอิสระย้ายถิ่นฐานไปยังรัฐข้างเคียง การฉลองวันจูนทีนธ์นี้ก็ได้แผ่ขยายตามผู้คนเหล่านั้นไปทั่วทั้งตอนใต้ของประเทศและพื้นที่อื่น ๆ อีกมากมาย

โดยการเฉลิมฉลองวันจูนทีนธ์ในช่วงแรกประกอบด้วยกิจกรรมหลักคือ การเข้าโบสถ์ การอ่านคำประกาศเลิกทาสในที่สาธารณะ และกิจกรรมรื่นเริงต่าง ๆ เช่น การโชว์โรดีโอหรือโชว์คาวบอยผาดโผน และการเต้นรำตามแบบฉบับของเผ่าต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม การเหยียดชาติพันธุ์และกฎหมายจิมโครว์ (Jim Crow Laws) หรือกฎหมายแบ่งแยกคนผิวขาวและผิวดำ ทำให้เหล่าคนผิวดำซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของอเมริกาถูกบังคับให้เฉลิมฉลองวันจูนทีนธ์ในเขตนอกเมืองเป็นเวลาหลายสิบปี ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ต้องการจะฉลองวันจูนทีนธ์จึงมักจะรวบรวมเงินเพื่อซื้อที่ดินผืนเล็ก ๆ ในตัวเมืองร่วมกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการพบปะสังสรรค์ และเพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะมีสถานที่ปลอดภัยในการจัดงานเลี้ยงฉลอง โดยพื้นที่เหล่านั้นมักจะถูกตั้งชื่อว่า ‘สวนแห่งอิสรภาพ’ ซึ่งยังสามารถพบเห็นได้จนถึงทุกวันนี้

สำหรับชาวแอฟริกันอเมริกันหลายคน จูนทีนธ์หมายความถึงงานเลี้ยงฉลองในละแวกบ้านด้วยบาร์บีคิวและดนตรี พร้อมกันกับการจดจำและระลึกถึงประวัติศาสตร์ด้วย “มันเป็นเรื่องของสังคม” Jonathan Talley จาก Roxbury รัฐแมสซาชูเซตส์กล่าว “เป็นงานเลี้ยงรวมตัวครอบครัวของผู้คนมากมายแถวนี้” ภาพถ่ายโดย Zack Wittman, The Boston Globe/GETTY

แม้การเฉลิมฉลองวันจูนทีนธ์จะเลือนหายไปเมื่อผู้คนหันมาผลักดันขบวนการสิทธิพลเมือง (The Civil Rights Movement) ในช่วงยุค 60 แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ วันจูนทีนธ์ก็ได้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง โดยผู้คนมักจะออกมาพบปะสังสรรค์และร่วมรับประทานอาหารร่วมกันในวันสำคัญนี้ นอกจากนั้น จูนทีนธ์ยังมีส่วนช่วยทำให้ผู้คนตระหนักถึงประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกากำลังเผชิญอยู่ ยกตัวอย่าง การต่อสู้ทางการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งการชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าชดเชยแก่ลูกหลานของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในระบบทาส

ในปี 1980 เท็กซัสเป็นรัฐแรกที่ประกาศให้วันที่ 19 มิถุนายนเป็นวันหยุดราชการประจำรัฐ และในปัจจุบันนี้ วันจูนทีนธ์ยังถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการในแทบทุกรัฐในอเมริกา ด้วยเหตุนี้เอง ในเดือนมิถุนายนของปี 2021 รัฐสภาสหรัฐฯ จึงได้ลงมติเห็นชอบให้เพิ่มวันจูนทีนธ์เข้าเป็นหนึ่งในวันหยุดแห่งชาติ

ผู้คนต่างพากันโห่ร้องให้กับ Antwon Rose ที่ขบวนพาเหรดจูนทีนธ์ปี 2018 ในพิตต์สเบิร์ก หลังจากเด็กอายุ 17 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิต ภาพโดย Andrew Russell, PITTSBURGH TRIBUNE-REVIEW/AP

งานเฉลิมฉลองอิสรภาพอื่น ๆ

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันกระแสความนิยมของวันจูนทีนธ์จะเริ่มฟื้นคืนมาแล้ว แต่วันสำคัญนี้ยังถือว่าเป็นที่รู้จักเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ผู้คนยังสับสนระหว่างวันจูนทีนธ์กับวันปลดปล่อยทาสซึ่งมีการเฉลิมฉลองในวันที่ 16 เมษายนของทุกปี

วันปลดปล่อยทาสเองก็ถูกกำหนดให้เป็นวันสำคัญเช่นเดียวกับวันจูนทีนธ์ที่มีจุดประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองอิสรภาพของทาสในเท็กซัส กล่าวคือ วันปลดปล่อยทาสเป็นวันที่ประธานาธิบดีลินคอล์นคืนอิสรภาพให้แก่ทาสกว่า 3,000 ชีวิต ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนการประกาศเลิกทาสถึงแปดเดือนเต็ม และเกิดขึ้นก่อนการประกาศอิสรภาพในเท็กซัสร่วมสามปี

เรื่อง ซิดนีย์ โคมส์

แปลโดย พรรณทิพา พรหมเกตุ

โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม อับราฮัม ลินคอล์น ชายบนธนบัตร 5 ดอลลาร์ ผู้ประกาศเลิกทาส และ 1 ใน 4 ประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ถูกลอบสังหาร

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.