ผลกระทบสุขภาพจิตจาก TikTok กระตุ้นเครียด ซึมเศร้า ปลุกพฤติกรรมท้าทายสุดโต่ง

นักจิตวิทยากังวลถึงผลกระทบต่อสุขภาพจิตจากการเล่น TikTok กระตุ้นภาวะเครียดและซึมเศร้า ปลุกพฤติกรรมท้าทายสุดโต่ง

แอปพลิเคชันติ๊กต่อก (TikTok) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มียอดดาวน์โหลดกว่าสามพันล้านครั้งทั่วโลกกำลังเป็นที่นิยมในกระแสสังคมสมัยใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น จากคุณสมบัติเฉพาะตัวของแอพพลิเคชั่นติ๊กต่อกที่เปิดให้รับชมและสร้างสรรค์วิดีโอของตัวเองได้อย่างอิสระ ผู้ใช้งานจึงสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายทาง ไม่ว่าจะใช้เพื่อแสดงตัวตน รับชมความบันเทิง ค้นคว้าหาความรู้ จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ สร้างกระบอกเสียงสู่สาธารณะ จนถึงการเข้าสังคม

ทว่า อลัน บลอชกี้ รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาคลินิกที่มหาวิทยาลัยอลาบามาแห่งเบอร์มิงแฮมกลับแสดงความกังวลถึงอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นจากการรับและส่งข้อมูลมหาศาลผ่านแอพพลิเคชั่นดังกล่าว

พื้นที่พลังงานลบ กระตุ้นภาวะเครียดและซึมเศร้า

คลิปขาที่ห้อยจากตึกระฟ้า พร้อมแฮชแท็กว่า “ฉันยอมแพ้แล้ว” ขึ้นเป็นคลิปแนะนำแก่เด็กอายุ 13 ปีคนหนึ่งในอเมริกาซึ่งเปิดใช้งานบัญชีติ๊กต่อกได้เพียงสองวัน แม้จะมีการจำกัดเนื้อหาตามทางนโยบายของแอพพลิเคชั่น แต่คลิปวิดีโอเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเองและการฆ่าตัวตายก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ มีผู้ใช้งานหลายคนร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์การทำร้ายตัวเองและสนับสนุนการฆ่าตัวตายจนเป็นเรื่องปกติ “หลายคนที่มีสภาวะเครียดเลือกที่จะสร้างความสัมพันธ์กันทางโลกออนไลน์แทนที่จะพบผู้เชี่ยวชาญ และนั่นคืออันตรายถึงชีวิต” บลอชกี้กล่าว

เช่นเดียวกับโซเชียลมีเดียอื่นๆ ผู้ใช้งานติ๊กต่อกสามารถนำเสนอเนื้อหาอย่างอิสระตามความคิดของตัวเอง ทว่ามีผู้คนไม่น้อยที่สร้างวิดีโอเพื่อการกลั่นแกล้ง วิพากษ์วิจารณ์ เย้ยหยันผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม สิ่งนี้ไม่ได้เป็นปัญหาแค่กับผู้รับชมเท่านั้น แต่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในระดับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่มีสภาวะเครียดหรือซึมเศร้าเป็นทุนเดิม

การปลุกเร้าพฤติกรรมอันตรายด้วยเนื้อหาแบบสุดโต่ง

อัลกอริทึมของติ๊กต่อกสามารถคัดสรรวิดีโอเพื่อสนองความสนใจของผู้ใช้งานแต่ละคน ความเฉลียวฉลาดของมันเป็นเหมือนดาบสองคมเพราะผู้ชมอาจได้รับคลิปเนื้อหารุนแรงและเป็นอันตรายโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น เด็กวัยรุ่นที่สนใจเรื่องการล่าสัตว์หรือกองทัพทหาร อาจได้รับการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่อง ทั้งรายละเอียด และวิธีการที่คนร้ายใช้ฆ่าเหยื่อ

เมื่อเนื้อหาถูกบรรจุมาในรูปแบบของวิดีโอสั้นที่จู่โจมอย่างรวดเร็ว จึงเป็นเป็นเรื่องยากที่วิจารณญาณของสมองจะจัดสรรการรับสารให้ถูกที่ถูกทาง จนในที่สุด สิ่งนี้อาจนำไปสู่พฤติกรรมอันตราย โดยเฉพาะกระแสของการสร้างสรรค์วิดีโอตามกระแสต่างๆ หรือที่รู้จักกันว่า “ชาเลนจ์ (Challenge)” ที่สามารถกำหนดรูปแบบพฤติกรรมของผู้ใช้งานให้แสดงออกในทิศทางเดียวกัน เช่น “Devious Lick Challenge” กระแสในติ๊กต่อกที่วัยรุ่นทำคลิปขโมยของในสถานศึกษาก็ได้รับความนิยมในหมู่เด็กนักเรียนจำนวนมาก จนนำไปสู่การกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างการทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ตั้งแต่ฝาสบู่ในห้องน้ำ ถังดับเพลิง จนถึงประตูรถของผู้อำนวยการโรงเรียน

ความเสี่ยงต่อสภาวะสมาธิสั้น หรือ โรค ADHD

ด้วยประสิทธิภาพในการปลุกเร้าอารมณ์จากการสไลด์หน้าจอดูสื่อวิดีโอที่ได้รับการคัดสรรจากอัลกอริทึมอัจฉริยะ ผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นจึงถูกตรึงความสนใจไว้ที่คลิปสั้นที่มีเนื้อหาไม่ซับซ้อนนับร้อยๆ คลิป รวมแล้วเป็นเวลาเฉลี่ยอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงครึ่งต่อวัน การกระทำพฤติกรรมเช่นนี้ซ้ำๆ เป็นเหมือนการฝึกสมองให้คุ้นชินกับการเลือกรับข้อมูลในรูปแบบที่สั้นกว่าปกติ

เมื่อคุ้นชินกับการรับสารแบบสั้น ประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิอย่างการอ่านหนังสือ การดูคลิปขนาดยาว รวมถึงการคิดวิเคราะห์ก็ถดถอยลงเนื่องจากสมองไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานๆ นอกจากนี้ โรคสมาธิสั้นยังส่งผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น การสูญเสียความสามารถในการควบคุมอารมณ์ นอนหลับไม่สนิท ความจำสั้น เป็นต้น

แอพพลิเคชันติ๊กต่อกเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่วัยรุ่นและเด็ก หนึ่งในสามของผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นติ๊กต่อกเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี พวกเขามีแนวโน้มที่จะขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์เพื่อการตัดสินใจที่ดีสำหรับตนเอง ซาแมนธา ลอว์เรนซ์ พยาบาลกุมารเวชศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเด็กในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัฐฟลอริดาเคยเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวไว้ว่า “ฉันพบเจอเด็กๆ ที่ถูกผู้ใหญ่ล่อลวงให้ส่งคลิปโป๊ หลังจากที่เด็กๆ โพสต์คลิปเต้นของตัวเอง”

ไม่ใช่แค่ติ๊กต่อกเท่านั้น แต่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ จะต้องรับผิดชอบและตรวจสอบเนื้อหาด้วยวิธีการที่รัดกุมมากขึ้น ส่วนทางผู้ใช้งานเองก็ต้องรู้เท่าทันและตระหนักรู้ถึงสภาวะจิตใจของตนอยู่ตลอดเวลา ในส่วนของเด็กๆ และวัยรุ่นที่ยังขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์อาจต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษในรูปแบบเฉพาะทางที่แตกต่างกันไป

ดังที่เดวอร่า ไฮเนอร์ นักเขียนหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงเด็กให้เติบโตและเอาตัวรอดได้ในโลกยุคดิจิทัล (Screenwise: Helping Kids Thrive (and Survive) in Their Digital World) กล่าวไว้ว่า “ผู้ปกครองไม่ควรแสดงท่าทีตื่นตระหนกหรือลงโทษในสิ่งที่พวกเขาได้เห็น เราต้องใจเย็นๆ รับฟังสิ่งที่พวกเขาคิด รู้สึก และพูดคุยอย่างเข้าใจ”

สืบค้นและเรียบเรียง : พิชามญชุ์ สุวรรณธวัช
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

Photo by Solen Feyissa on Unsplash

ที่มา

https://www.nydailynews.com/opinion/ny-oped-whats-tiktok-doing-to-our-kids-20211118-32kx365w2ja6rhnoe2aoorkbpi-story.html

https://www.rawstory.com/paintok-tiktok/

https://www.bangkokbiznews.com/tech/993941

https://www.bangkokbiznews.com/tech/993941

https://medium.com/linens-n-love/how-tik-tok-is-affecting-youth-the-positive-and-negative-effects-7381b17ac43a

https://www.springnews.co.th/news/826229

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.