“สมอร์ แซน” สลัมในสุสาน สะท้อนปัญหาการเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัยในกัมพูชา

กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของประเทศกัมพูชา ครั้งหนึ่งเคยได้รับการขนานนามว่า ไข่มุกแห่งเอเชีย

ปัจจุบัน กรุงพนมเปญ เป็นที่หมายตาของบรรดานักลงทุนชาวต่างชาติ ภาคอุตสาหกรรมกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ตึกสูงใหญ่ผุดขึ้นใหม่ทั่วเมือง ในช่วง 5-10 ปีก่อน พนมเปญมีจำนวนอะพาร์ตเมนต์หรู ราวๆ 2,000-5,000 ยูนิต แต่ในปัจจุบันคาดการณ์กันว่ามีคอนโดและอะพาร์ตเมนต์หรูถึง 30,000 ยูนิต ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติและชาวกัมพูชาที่มีฐานะร่ำรวย

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทุนต่างชาติที่เข้าในกรุงพนมเปญมากที่สุดคือชาวจีนที่มาลงทุนในด้านธุรกิจ อุตสาหกรรมประเภทต่างๆ และอสังหาริมทรัพย์  การลงทุนมากมายเหล่านี้ส่งผลให้เศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วทางด้านเศรษฐกิจของกัมพูชา รวมไปถึงอาคาร สิ่งปลูกสร้างต่างๆ และอะพาร์ตเมนต์หรูที่ผุดขึ้นจำนวนมากในกรุงพนมเปญกลับสวนทางกับประชากรกัมพูชาส่วนใหญ่ที่มีฐานะยากจน มีรายได้ค่อนข้างต่ำ ทำให้พวกเขาพบเจอกับปัญหาการเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัย

รัฐบาลกัมพูชามีนโยบายสนับสนุนการจัดหาที่ดินเพื่อให้สัมปทานแก่นักลงทุนต่างชาติอย่างเต็มที่ เช่นที่ บึงก๊อก

สุขไข สอน” หนึ่งในชาวบ้านที่บ้านของเธอมีหลุมฝังศพตั้งอยู่ ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับหลุมศพเหมือนเป็นเรื่องปกติ เธอบอกว่าทุกวันพระเธอจะจุดธูปเทียนเพื่อไหว้หลุมศพที่อยู่ในบ้าน เธออาศัยอยู่กับสามีและลูกๆ อีก 3 คน และกำลังตั้งครรภ์คนที่ 4 เธอเล่าให้ฟังอีกว่าตัดสินใจย้ายมาสร้างบ้านในสุสานแห่งนี้เป็นเวลาเกือบ 5 ปีแล้ว เพราะไม่สามารถหาเช่าที่พักอาศัยดีๆ ได้ และเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ เธอและครอบครัวจึงตัดสินใจย้ายมาอาศัยที่ชุมชนในสุสานแห่งนี้
สวนสาธารณะ​และทางเดินใกล้กับเขตพระราชวังหลวงพนมเปญมีผู้คนมาเที่ยวพักผ่อนจำนวนมากในช่วงวันหยุด พื้นที่นี้มีสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างใหม่และดูดี

บึงก๊อกเคยเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ใจกลางกรุงพนมเปญ รอบๆ บึงเคยเป็นชุมชนและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในละแวกนั้น แต่ปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้กลับไม่เหลือเค้าโครงและภาพของบึงขนาดใหญ่เหมือนในอดีต เนื่องจากบึงน้ำขนาดใหญ่ถูกทำให้กลายเป็นบึงคอนกรีต

ปัจจุบัน พื้นที่ที่เคยเป็นบึงได้ถูกถมและเต็มไปด้วยอาคาร อะพาร์ตเมนต์หรู และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ไปจนเกือบหมด ส่วนใหญ่เป็นฝีมือจากทุนจีน สังเกตได้จาก ร้านอาหาร อาคาร ห้างหรู ที่ผุดขึ้นมาใหม่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยอักษรภาษาจีน รวมไปถึงสิ่งปลูกสร้างที่กำลังก่อสร้าง

ในช่วงปี ค.ศ. 1975-1979 หรือในยุคเขมรแดงที่กินเวลานาน 4 ปี อันเป็นช่วงเวลาที่ชาวกัมพูชาต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดง เอกสารสิทธิ์ต่างๆ ได้ถูกทำลายจนหมด เพื่อสร้างสังคมยุคใหม่ในตอนนั้น

หลังจากเขมรแดงล่าถอยและหมดยุคไป รัฐบาลใหม่ในยุคนั้นมีนโยบายหาทางกระตุ้นให้คนชนบทเข้ามาจับจองพื้นที่ว่างในกรุงพนมเปญ เพื่อร่วมกันทำตามนโยบายฟื้นฟูประเทศ จึงเกิดเป็นชุมชนน้อยใหญ่กว่า 4,000 ครัวเรือน ตามกฎหมาย ถ้าชาวบ้านคนใดอยู่เกิน 5 ปี ก็จะมีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินที่ตัวเองอยู่ แต่กลับมีชาวบ้าน “ร้อยละยี่สิบ”เท่านั้นที่ได้กรรมสิทธิ์ดังกล่าว

ตลาดกลางกรุงพนมเปญเป็นตลาดขายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดใจกลางกรุงพนมเปญ มีสินค้ามากมาย ทั้งเสื้อผ้าและแหล่งขายเครื่องอัญมณีที่อยู่ด้านใน​ ผู้คนที่มาจับจ่ายและเลือกซื้อสินค้าที่นี่โดยส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ และคนท้องถิ่นที่พอมีกำลังทรัพย์​
อาคารและคอนโดหรูผุดขึ้นมากมายทั่วกรุงพนมเปญ โดยเฉพาะในย่านบึงก๊อกที่ส่วนใหญ่เจ้าของมักเป็นทุนต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน สิ่งนี้แสดงถึงการเจริญเติบโตของกรุงพนมเปญรวมไปถึงเศรษฐกิจ​ แต่ความเจริญและการเติบโตทางเศรษฐกิจ​เหล่านี้สวนทางกับชาวกัมพูชาในกรุงพนมเปญที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ อะพาร์ตเมนต์​เหล่านี้ ส่วนใหญ่ผู้ที่ครอบครองจะเป็นชาวต่างชาติ และชาวกัมพูชาที่มีฐานะร่ำรวย

หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชามีนโยบายสนับสนุนการจัดหาที่ดินเพื่อมอบสัมปทานอย่างเต็มที่ มีการโยกย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่ในเมืองต่างๆ ซึ่งไม่ค่อยมีใครอยากย้ายเพราะจะได้รับค่าชดเชยที่น้อยมาก และที่อยู่อาศัยที่จะต้องย้ายไปใหม่นั้นอยู่ไกลและยากลำบากเกินกว่าจะทำมาหากินและใช้ชีวิต

ท่ามกลางอาคารหรูทันสมัยและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในกรุงพนมเปญ กลับมีชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่จำนวนไม่น้อยที่ต้องพบเจอกับปัญหา “การเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัย”

คนกัมพูชาในกรุงพนมเปญที่มีฐานะปานกลางค่อนข้างไปทางต่ำ รวมไปถึงคนยากจนส่วนใหญ่ต้องอาศัยอยู่ตามแฟลตเก่าๆ บ้านเช่าโทรมๆ และเพิงในสลัมกว่า 500 แห่งทั่วเมือง

“รวมไปถึงอาศัยในพื้นที่ที่เป็นสุสาน!”

ชาวกัมพูชาในกรุงพนมเปญโดยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ส่วนใหญ่พวกเขามักเช่าบ้านตามชุมชนแออัดหรือสลัมเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย แต่มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงได้แม้กระทั่งที่พักตามชุมชนหรืออะพาร์ตเมนต์​เก่าๆ ทำให้พวกเขาต้องมาอาศัยพื้นที่ในสุสานเพื่อเป็นบ้านและที่พัก
คุณยายที่เพิ่งย้ายเข้ามาอาศัยในชุมชนสุสานแห่งนี้ กล่าวว่า ก่อนหน้านั้นเธออาศัยอยู่บ้านเช่าที่ราคาไม่แพงนัก แต่เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทำให้เธอและครอบครอบครัวตัดสินใจย้ายมาอาศัยอยู่ในชุมชนสุสานแห่งนี้

“สมอร์ แซน”หรือที่เรียกกันว่าสุสานคนเป็น คือชุมชนในสุสานที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของการเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัยของคนกัมพูชาในกรุงพนมเปญ หากจะนึกภาพความเหลื่อมล้ำของกัมพูชาว่าเป็นอย่างไร ภาพของคนที่อาศัยอยู่ สมอร์ แซน ที่รายล้อมไปด้วยคอนโดหรู และอาคารสิ่งปลูกสร้างสูงใหญ่รายรอบนั้น คือคำตอบ

สภาพในสลัมนั้นส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นสังกะสี ภายในบ้านหรือบริเวณบ้านเกือบทุกๆ หลังจะมีหลุมศพตั้งอยู่ ชาวบ้านยากจนที่มาอาศัยอยู่ในสุสานนี้ใช้ชีวิตกินอยู่หลับนอนใกล้ๆ กับสุสานกันบ้านเกือบทุกหลัง โดยรอบๆ ชุมชนแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นคนเวียดนาม ซึ่งก่อนที่สุสานแห่งนี้จะมาเป็นชุมชนนั้น พื้นที่บริเวณนี้ส่วนใหญ่มีชาวเวียดนามเข้ามาอาศัยอยู่กันมานาน

“ลีดา สา” เป็นหญิงสาวผู้อาศัยและประกอบอาชีพค้าขายของชำในชุมชนแห่งนี้ ภายในร้านของเธอมีหลุมศพอยู่ติดกับโต๊ะและชั้นวางขนม เธอเล่าว่า เธออยู่และขายของข้างๆ หลุมศพนี้จนชินและไม่กลัวแล้ว เพียงแต่ในทุกๆ วันพระ เธอจะจุดธูปเทียนเพื่อไหว้เคารพบูชาและขอโชคลาภให้เธอทำมาค้าขายได้ราบรื่น และเมื่อถึงวันครบรอบวันตายของร่างในหลุมฝังศพที่อยู่ภายในบ้าน ญาติพี่น้องของร่างที่อยู่ในหลุมฝังศพนี้ก็จะมาทำบุญ
เด็กๆ ในชุมชนสุสานแห่งนี้ใช้ชีวิตรวมไปถึงวิ่งเล่นบริเวณหลุมฝังศพได้อย่างปกติ เด็กๆ บอกว่าพวกเขาอยู่กับสุสานตั้งแต่ยังจำความได้จนรู้สึกชินไปแล้ว

คนกัมพูชาส่วนใหญ่นั้นนับถือศาสนาพุทธ แต่การฝังศพนั้นเป็นประเพณีของชาวเวียดนาม เมื่อผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ในสุสานมากขึ้น ทำให้ญาติพี่น้องของเจ้าของหลุมศพเริ่มขุดย้ายหลุมฝังศพของคนที่เขารักและบรรพบุรุษไปฝังอยู่ที่อื่นเป็นจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ต่อมา เมื่อผู้คนที่ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้พื้นที่ที่เรียกว่าสุสานกลับมีคนเป็นเยอะกว่าคนตาย ผู้คนที่มาอาศัยในสุสานแห่งนี้ชาชินกับหลุมศพจนเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน บ้างวางของต่างๆ ไว้บนหลุมศพ จอดรถหรือตากผ้าไว้ข้างๆ หลุมศพ บางหลุมถูกเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในสุสานยึดเป็นสนามเด็กเล่นเสมือนเป็นเรื่องปกติ

แต่บ้านหลายๆ หลังในชุมชนสุสานแห่งนี้ จะทำการจุดธูปเทียน และไหว้หลุมศพที่อยู่ในบ้านตัวเองหรือหลุมศพบริเวณบ้านในทุกๆ วันพระ เพื่อเป็นการเคารพ ขอขมา ขอพร ขอโชคลาภต่างๆ และเพื่อความสบายใจกับทั้งคนเป็นและคนตายตามความเชื่อของคนกัมพูชา ณ ชุมชนที่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกับหลุมศพภายในบ้านของตัวเอง

“เปียน ไหม”หญิงชราวัยร่วม 70 ปีที่เข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนนี้มานานเนื่องจากไม่มีเงินมากพอที่จะพอเช่าหรืออาศัยในที่อยู่ที่ดีๆ ต้องตัดสินใจขอซื้อพื้นที่เล็กๆ ในสุสานแห่งนี้ ในช่วงปี ค.ศ. 2000 ด้วยราคา 400 ดอลลาร์สหรัฐ

กรุงพนมเปญมีอาคารและคอนโดหรูที่ทั้งเสร็จแล้วและอยู่ในระหว่างก่อสร้างผุดขึ้นมาเรื่อยๆ เช่นเดียวกับจำนวนสลัมและชุมชนแออัดที่มีมากมาย
ป้ายร้านอาหารและป้ายร้านค้าต่างๆ จำนวนไม่น้อยในกรุงพนมเปญเต็มไปด้วยตัวอักษรภาษาจีน

เธอเล่าว่า สมัยก่อนตรงนี้เป็นป่าทึบ และรอบๆ บ้านของเธอในสมัยนั้นรายล้อมไปด้วยสุสานจนแทบจะไม่มีที่เดิน แต่บ้านของเธอนั้นอยู่บนเนินดินโล่งๆ พอดี บ้านของเธอจึงไม่ได้สร้างทับหลุมศพ ทำให้ไม่มีหลุมศพอยู่ในบ้านเหมือนกับบ้านหลายๆ หลัง และบ้านของเธอเป็นบ้านหลังแรกๆ เพียงไม่กี่หลังที่จำเป็นต้องย้ายมาอาศัยในชุมชนตอนนั้น

แต่พอเวลาผ่านไป ผู้คนก็เริ่มย้ายเข้ามาในสุสานมากขึ้น จนในช่วงหลังๆ หลุมฝังศพถูกขุดย้ายออกไปฝังที่อื่นมากขึ้น ปัจจุบันนจึงเหลือหลุมศพที่ยังอยู่ในสุสานแห่งนี้น้อยลงไปมากแล้ว เพราะปัจจุบันมีคนเป็นมาอาศัยอยู่เยอะขึ้น ทำให้ญาติของเจ้าของหลุมศพต้องขุดย้ายร่างคนตายที่ฝังอยู่ในหลุมไปฝังไว้ที่อื่นเป็นจำนวนมาก

แม้ว่า กรุงพนมเปญ ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปมาก ดังจะเห็นได้จากการที่ในเมืองมีตึกสูง อาคารหรู และเมืองที่พัฒนาเจริญก้าวหน้ามากขึ้น แต่ชีวิตของผู้คนที่อยู่ข้างล่างกลับสวนทางกับความเจริญ ยากที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตามไปด้วย

เรื่องและภาพโดย วิศรุต วีระโสภณ
IG : https://instagram.com/thejeffff
บรรณาธิการภาพ เอกรัตน์ ปัญญะธารา
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.