น้ำตาและความกล้าหาญที่หนองบัวลำภู

บทวิเคราะห์ด้านจิตวิทยา โศกนาฏกรรมที่หนองบัวลำภู

หลังจากวันที่ 6 ตุลาคม 2565 หนองบัวลำภู จังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไปในความทรงจำของผู้คน

โศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิต 36 รายนี้แม้จะได้รับการเปิดเผย ตรวจสอบ และสืบสวนแทบจะทุกแง่มุมอย่างมากมายทั้งจากประชาชน สื่อมวลชน และตำรวจ แต่แก่นกลางของเหตุการณ์นี้กลับยังไม่กระจ่างชัดนัก

มันเกิดอะไรกันแน่ที่หนองบัวลำภู

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการสังหารหมู่ (Myths of Mass Murder)

ในช่วงแรกหลังเหตุการณ์ การประณามด่าและสรุปสาเหตุกันเองง่ายๆ ปรากฏอยู่ทั่วไปในหมู่ประชาชน บ้างก็ว่าเลวร้ายดั่งสัตว์นรก บ้างก็ว่าเมายาจนขาดสติคุ้มคลั่ง บ้างก็ว่าเป็นฆาตกรโรคจิต ลามไปถึงประณามมารดาของผู้ก่อเหตุว่าต้องรับผิดชอบ

แต่สำหรับชุมชนนักวิชาการขนาดเล็กในประเทศกำลังพัฒนาประเทศนี้ พวกเรารู้ดีว่าทั้งหมดที่สังคมสรุป มันไม่ได้ง่ายเช่นนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยความดี ความเลว หรือการเสียสติ แต่ความรู้และข้อมูลที่พวกเรามีนั้นมีน้อยเหลือเกิน

อันดับแรก เรามีข้อมูลค่อนข้างชัดเจนว่า การกระทำนี้เกิดจากการไตร่ตรองล่วงหน้า กระทำอย่างเป็นระบบ ด้วยแผนงานที่ละเอียดถี่ถ้วนพอสมควร ดังนั้นไม่ว่าผู้ก่อเหตุจะมีอาการทางจิตใดจากสารเสพติดหรือไม่ เขามีสติสัมปชัญญะขณะทำการ ซึ่งนี่อาจจะเป็นที่เข้าใจได้ยากสำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ทางจิตวิทยาหรือจิตเวชศาสตร์ ข้อเท็จจริงคือการทำงานของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความหลงผิดและการแยกแยะความเชื่อกับความจริงนั้น ไม่จำเป็นต้องทำงานสอดคล้องกันกับสติสัมปชัญญะสั่งการเสมอไป

สรุปด้วยภาษาง่ายๆ คือจิตสำนึกและสติสัมปชัญญะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน บุคคลผู้ซึ่งมีอาการทางจิตก็สามารถวางแผนกระทำการอันสลับซับซ้อนได้ เพราะปัญหาของบุคคลนั้นไม่ได้อยู่ที่ความสามารถของสติปัญญา แต่มันอยู่ที่ระบบความคิดและความเชื่อ บุคคลคนหนึ่งที่ผ่านการหล่อหลอมจากเหตุปัจจัยต่างๆ ซึ่งผู้เขียนขอเรียกว่า “อนุกรมแห่งความย่อยยับ” พวกเขาสามารถมีระบบความคิดบิดเบี้ยวเยี่ยงนี้ได้

“ข้าพเจ้าถูกทำร้ายด้วยสังคม สังคมที่สิ้นหวังนี้ทำลายข้าพเจ้าจนไม่มีทางออกอื่นอีก ในเมื่อเช่นนี้แล้วก่อนที่ข้าพเจ้าจะจบชีวิตอันทุกข์ทรมานของข้าพเจ้าลง ข้าพเจ้าต้องเอาคืนสังคมนี้อย่างสาสม ให้ทุกข์ทรมานเฉกเช่นเดียวกันกับที่ข้าพเจ้าประสบ”

ทั้ง 5 ประโยคนั้น อ่านผิวเผินเหมือนกับมีเหตุผล แต่มันเป็นเหตุผลเทียมที่เกิดจากจิตสำนึกที่บกพร่องของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาคือถ้าผู้ก่อเหตุคนนี้มีความคิดใกล้เคียงกันกับผู้บกพร่องทางสุขภาพจิตในตัวอย่าง เขาได้รับการดูแลปรับจิตสำนึกในสภาวะแวดล้อมที่เพียงพอจะช่วยเหลือเขาหรือไม่

ระบบการดูแลสุขภาพจิตของบุคลากรทหารตำรวจในไทยนั้นมีปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนาน เฉกเช่นเดียวกับระบบการให้บริการทางสุขภาพจิตของประเทศทั้งประเทศ มันไม่เพียงพอทั้งทางด้านคุณภาพ ปริมาณ การกระจายตัว การบริหารจัดการ การพัฒนา และวิสัยทัศน์ ประเทศที่มีประชาชนเกือบ 70 ล้านคนแห่งนี้ มีจิตแพทย์ปฏิบัติงานไม่ถึง 800 คน จังหวัดหนองบัวลำภูทั้งจังหวัดซึ่งมีประชากรครึ่งล้าน ไม่มีจิตแพทย์แม้แต่คนเดียว ทุกสัปดาห์จะมีจิตแพทย์จากสถานบริการที่ใกล้ที่สุดที่อยู่ห่างออกไปร้อยกว่ากิโลเมตร เดินทางมาดูแลประชาชนทั้งจังหวัดในเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมง มีข้อมูลเบื้องต้นว่าผู้ก่อเหตุรายนี้เคยไปพบจิตแพทย์ดังกล่าว 1 ครั้ง

แล้วเขาก็ไม่กลับไปอีกเลย

น้ำตาและความกล้าหาญ (Tears of The Braves)

ในขณะที่สังคมส่วนหนึ่งพุ่งเป้าความสนใจไปที่ผู้ก่อเหตุ แต่สังคมส่วนใหญ่ก็ยังตอบสนองกับเหตุการณ์ได้อย่างเหมาะสมเช่นเดียวกับข้าราชการกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ลงพื้นที่อย่างรวดเร็ว

ทีมปฐมพยาบาลทางจิตใจจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (Mental Health First Aid by Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ได้ลงปฏิบัติงานอย่างขะมักเขม้นตามหลักวิชา ในขณะที่ผู้บังคับบัญชาทำในสิ่งดังต่อไปนี้

จัดการให้ผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขและข้าราชการการเมืองระดับสูงของประเทศไทยทำการหาเสียงด้วยการลงเยี่ยมพื้นที่ โดยให้ประชาชนผู้เป็นเหยื่อมายืนรอต้อนรับ ทั้งหมดอย่างน้อย 4 คณะ หนึ่งวันหลังจากการเกิดเหตุ

อำนวยให้ทางราชการจัดความช่วยเหลือเป็นพิธีศพอย่างพร้อมเพรียงและเป็นระเบียบเพื่อเป็นการแสดงความเสียใจต่อสังคม โดยขัดต่อประสงค์ของเหยื่อผู้เสียหายบางส่วนที่ต้องการนำศพกลับไปประกอบพิธีตามความเชื่อทางศาสนาในภูมิลำเนาของตัวเอง

กระบวนการย่ำยีซ้ำเติมจิตใจเหยื่อผู้เสียหายหรือ Re-traumatization นี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเคยมีบทเรียนจากประสบการณ์เช่นนี้มาแล้ว

นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตยังอำนวยการให้มารดาของผู้ก่อเหตุออกมาขอโทษต่อสังคม ทั้งๆ ที่มารดาผู้ก่อเหตุไม่มีความผิดใดๆ แล้วยังนับได้ว่าเป็นเหยื่อคนหนึ่งเช่นเดียวกัน

ในทางวิชาการ เราไม่ได้เยียวยาผู้ได้รับความสะเทือนใจมือสอง (Second Victim Syndrome) มือสาม หรือได้รับความสะเทือนใจผ่านทางสื่อสังคมด้วยวิธีนี้ เราจะไม่หาแพะรับบาป จะไม่โทษเหตุใดเหตุเดียว เราจะใช้เวลาในการค้นหาข้อเท็จจริงและคำอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตามหลักวิชา สังคมทั้งสังคมจะสามารถเยียวยากันเองได้หลังจากมีคำอธิบายนี้ แต่ถ้าจะมีองค์กรใดในสังคม โดยเฉพาะหน่วยงานต้นสังกัดเดิมของผู้ก่อเหตุ ออกมาแสดงความรับผิดชอบเพื่อบรรเทาความโกรธแค้นของสังคม ก็เป็นสิ่งที่สมควรและพึงกระทำ

แต่ยังมีสัญญาณที่ดีมาจากฝั่งชาวบ้าน ชุมชนได้ร้องขอให้หน่วยงานของรัฐอนุญาตและอำนวยความสะดวกในการทำพิธีโบราณตามคติความเชื่อของชุมชน กระบวนการนี้เราเรียกว่า Spiritual Healing หรือการเยียวยาทางจิตวิญญาณ ซึ่งมีตั้งแต่พิธีส่อนขวัญเพื่อเรียกคืนขวัญที่หายไปกลับคืนมา ไปจนถึงพิธีเรียกวิญญาณกลับบ้านในการทำพิธีศพ

พิธีเหล่านี้มีความหมายในทางจิตวิทยา มันคือความกล้าหาญของชุมชนที่จะเผชิญหน้ากับการสูญเสียอันเป็นสัจธรรมของชีวิต มันคือน้ำตาแห่งการรวบรวมกำลังใจ มันคือสิ่งที่เราไม่เคยพบในระบบราชการ

ไม่มีวันเหมือนเดิม (Aftermath)

นอกจากจิตวิทยาปัจเจกของผู้ก่อเหตุและการเยียวยาเหยื่อผู้เสียหายแล้ว ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เราควรคำนึงถึงอย่างยิ่งยวด คือจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ แล้วเราจะป้องกันเหตุเช่นนี้อย่างไร

จะทำสิ่งนี้ได้ เราต้องมีความเข้าใจต่อเหตุการณ์นี้ในแง่มุมต่างๆให้ครบถ้วนเสียก่อน เพราะมันมีความเป็นไปได้ว่าขณะเกิดเหตุ ผู้ก่อเหตุมีพฤติกรรมบางลักษณะที่บ่งบอกถึงการนับจำนวนคนตาย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง นั่นเป็นสัญญาณสำคัญอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์นี้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นโดยสุ่ม (Sporadic Case) ซึ่งถ้าตำรวจสืบสวนพฤติการณ์การก่อเหตุอย่างเข้มข้นแล้วพบสิ่งบ่งชี้ว่าผู้ก่อเหตุมีการนับจำนวนเหยื่อสังหารให้ครบ 30 คน ก่อนที่จะกลับไปสังหารบุตร ภรรยาและตนเองที่บ้าน การสังหารหมู่ที่หนองบัวลำพูนี้อาจนับเข้าข่ายเป็น Copycat Crime หรืออาชญากรรมเลียนแบบในบางแง่มุมของการสังหารหมู่ที่โคราช

ปัญหาคือตำรวจมีองค์ความรู้เพียงไรในการวิเคราะห์การสังหารหมู่ เพราะจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีการคัดกรอง ดัชนีชี้วัด และฐานข้อมูลของการสังหารหมู่อย่างเป็นระบบแต่อย่างใด

และในเมื่อเราไม่มีองค์ความรู้พื้นฐานเหล่านี้ เราจึงไม่มีหลักวิชาในการแยกแยะว่านี่อาจเป็นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระยะการระบาด (epidemic phase) ของการสังหารหมู่เฉกเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นแล้วในบางประเทศหรือไม่ โดยยังไม่ต้องกล่าวถึงระบบการติดตามตรวจสอบและการวางแผนป้องกันแต่อย่างใดเลย พวกเรา ส่วนหนึ่งของชุมชนวิชาการเล็กๆในประเทศกำลังพัฒนาประเทศนี้ จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐหันมาใส่ใจ เพิ่มเติมทรัพยากรเพื่อการศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน

สิ้นหวังหรือมีหวัง (Hopeless or Hopeness)

ถ้าเราพิจารณาจากความอุ้ยอ้ายไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการจารีตนิยมในการรับมือกับเหตุสลดที่เกิดขึ้น พิจารณาจากการหลงทางของผู้นำทางการเมืองเหล่านั้น เราอาจจะสิ้นหวัง

แต่ขอให้เรามองไปที่ชุมชน ชุมชนวิชาการเล็กๆ ที่พยายามตักเตือนสังคมและแสวงหาความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ชุมชนเล็กๆ ที่หนองบัวลำภูที่กล้าหาญพอที่จะยอมรับความจริงอันแสนจะเจ็บปวดนี้ รวมถึงบุคลากรในพื้นที่ที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

เรายังมีความหวัง …แม้จะแสนริบหรี่ก็ตาม

นพ. เดชา ปิยะวัฒน์กูล

จิตแพทย์และนักวิชาการอิสระ

—————————

เอกสารอ้างอิงและอ่านเพิ่มเติม

Mental Illness, Mass Shootings, and the Future of Psychiatric Research into American Gun Violence

https://journals.lww.com/hrpjournal/fulltext/2021/01000/mental_illness,_mass_shootings,_and_the_future_of.6.aspx

Neurodevelopmental and psychosocial risk factors in serial killers and mass murderers

https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S1359178914000305

Why female shooters are rare

https://edition.cnn.com/2019/05/08/health/female-shooters-rare/index.html

Two Professors Found What Creates a Mass Shooter. Will Politicians Pay Attention?

https://www.politico.com/news/magazine/2022/05/27/stopping-mass-shooters-q-a-00035762

The Violence Project

https://www.theviolenceprojectbook.com/

การส่อนขวัญ

https://www.m-culture.go.th/mahasarakham/ewt_news.php?nid=4331&filename=index

ฐานข้อมูลบุคลากรจิตเวชต่อประชากรไทย

http://mpis.srithanya.go.th/mhc/TotPopulation.aspx

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.