ชมงาน Cut Piece และ Changes ตัดขั้วให้ถึงหัวใจ ศิลปะการแสดงสดบอกอะไรเรา

ชมงานของศิลปิน มงคล เปลี่ยนบางช้าง และ นพวรรณ สิริเวชกุล ทำไมศิลปะการแสดงสด จึงกระทบใจเราหนักหนา

ในผลงานศิลปะกว่า 200 ผลงานใน BAB 2022 มีศิลปะการแสดงสด (Performance Art) อยู่หลายชุด หนึ่งในนั้นคืองานของ 2 ศิลปิน มงคล เปลี่ยนบางช้าง และ นพวรรณ สิริเวชกุล ซึ่งสร้างผลงานศิลปะการแสดงร่วมกันมายาวนาน ในหัวข้อที่ต่างกัน แต่มักอยู่ในโครงการเดียวกันเสมอ

Duo Performance ใน BAB 2022

มงคล เปลี่ยนบางช้าง ทำงานศิลปะการแสดงตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เขาเป็นผู้อำนวยการของ blurborders International Performance Art eXchange มงคลทำกิจกรรมศิลปะมากมายเกี่ยวกับปัญหาสังคม เขาได้รับเชิญจากเทศกาลทั้งในและต่างประเทศ อาทิ เยอรมนี โปแลนด์ ยูเครน สโลวาเกีย ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย เมียนมาร์

เขาใช้ร่างกายและวัตถุของเขาเพื่อสื่อถึงความโกลาหลทางสังคม ทัศนคติทางการเมือง การรุกล้ำ และปฏิสัมพันธ์ สำหรับเขาการแสดงของเขาคล้ายกับกวีนิพนธ์ชีวิต เนื่องจากเงื่อนไขแตกต่างกันไปเสมอทั้งในเวลาและพื้นที่

นพวรรณ สิริเวชกุล หนึ่งในศิลปินสาขาศิลปะการแสดงสดที่ทุ่มเทที่สุด เธอทำงานร่วมกับมงคล เปลี่ยนบางช้าง ในโครงการ blurborders International performance art eXchange และเคยทำงานในตำแหน่ง ผู้จัดการโครงการของ ASIATOPIA ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 – 2560

ในปี 2550 เธอได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ให้จัดแสดงผลงานของเธอที่ประเทศโปแลนด์ และในปี พ.ศ. 2556 ได้รับการสนับสนุนจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครให้เข้าร่วมงานแสดงศิลปะที่ประเทศอิสราเอล และ 2559 เธอได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในศิลปินที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยน Bangkok / Quebec ที่แคนาดา นอกจากนี้เธอยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมเทศกาลการแสดงต่างๆ ในหลากหลายประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา

การทำงานข้ามแขนงของเธอครอบคลุมสื่อตั้งแต่ภาพถ่ายไปจนการแสดง และมักจะบรรจุเรื่องราวที่ผสมผสานกันระหว่างความงดงามและความแห้งแล้วในชีวิต รวมทั้งวิพากษ์ความรุนแรงของมนุษยชาติ และแรงกระตุ้นที่ทำให้เกิดความแปลกแยก

ใน Bangkok Art Biennale 2022 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ทั้งสองมีผลงานการแสดงมากกว่า 1 ชุด บางชุดอย่างชุดที่เราได้ชมนี้ แสดงคนละหัวข้อในพื้นที่เดียวกัน และในวันที่ 19 พฤศจิกายน ก็จะมีผลงานแสดงร่วมกันในชื่อ Double Nagative แม้จะเป็น Duo Performance แต่ศิลปินคู่นี้ก็มีความคิดที่เป็นอิสระจากกัน

ตัดขั้วใน Cut Piece

สำหรับการแสดงในชื่อ Cut Piece ของมงคล ที่แสดง กว่า 2 ชั่วโมงที่เขายืนตอกลิ่มลงตัดขั้วดอกกุหลาบสีขาวสีแดงนับร้อยดอก ผู้ชมเดินผ่าน เฝ้ามอง ครุ่นคิด แต่ไม่ยากที่จะเชื่อมโยง ดอกตูมที่ถูกตัดฉับกระเด็นหล่นกองเกลื่อนพื้นไม่ต่างกับการประหารความงามก่อนการเบ่งบานซ้ำๆ เขาหยิบดอกไม้จากถุงโลหะมาตอกตัดซ้ำเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ด้วยสมาธิแน่วแน่ราวกับทำพิธีกรรมบางอย่าง

“ผลงานชิ้นนี้ ผมคิดและทำตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิดกำลังระบาด ผมคิดถึงชีวิตที่ถูกตัดทิ้งไป มันคือภาวะที่เกิดขึ้นทั้งโลก สำหรับการแสดงในหอศิลป์ฯ ครั้งนี้ผมเพิ่มปริมาณและความยาวของการแสดงมากขึ้นเพื่อเชื่อมต่อเรื่องราวของสงคราม คือเรื่องนี้มันเกิดขึ้นไม่รู้จบไม่รู้สิ้น ทุกคนได้รับผลกระทบกันหมดไม่ว่าจะเป็นผิวสีไหน ผมเลือกใช้กุหลาบเพราะกุหลาบมันตีความได้หลายอย่าง แล้วก็ใช้วิธีการกระทำซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ เหมือนสิ่งที่มันเกิดขึ้นแล้วคร่าชีวิตคนไปเรื่อยๆ โดยที่เราเป็นผู้ถูกฆ่าในเวลาเดียวกัน ดอกไม้ที่ตัดจะถูกทิ้งไว้อย่างนั้นหนึ่งสัปดาห์เพื่อให้เห็นสภาพการเสื่อมสลายของมันไปด้วย คือชีวิตที่ถึงตายแล้วก็ยังดำเนินไปอยู่ตามกาลเวลา เช่นเดียวกับมนุษย์เรา”

ท้ายการแสดงเขาหยิบธงสันติภาพมาคลุมกองก้านกุหลาบไร้ดอก แล้วสั่นกระดิ่งเป็นจังหวะช้าๆ ก่อนเดินออกไปเงียบๆ  หลังจากกระหน่ำด้วยเสียงตอกที่รุนแรง บทจบนั้นเหมือนการปลอบประโลม

เหมือนการคลุมศพด้วยธงสันติภาพ แล้วก็มีเพลงกล่อม ผมรู้สึกว่าเราต้องการกล่อมตัวเราเองด้วย ในสภาวการณ์แบบนี้ มันเป็นทั้งเพลงกล่อมศพสันติภาพ เพลงกล่อมธรรมชาติ แล้วก็กล่อมเกลาชีวิตตัวเอง ซึ่งทั้งสามอย่างนี้มันเชื่อมโยงกันหมด”

แม้จะคลี่คลายให้เราฟัง แต่ที่จริงศิลปินไม่ต้องการให้ผู้ชมยึดติดกับแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง “อยากให้เขาดูในแบบที่มันเป็นปลายเปิดและตีความไปในแบบของตัวเอง มันต่างกับงานที่สำเร็จรูปไปแล้ว อันนี้มันเป็นงานกึ่งอิมโพรไวซ์ที่โยงร่วมกับประสบการณ์ ความทรงจำ และความมุ่งหวังส่วนตัวของทั้งคนดูและคนทำ

เฉือนหัวใจ ใน Changes

ในบริเวณเดียวกัน นพวรรณกางผ้าขาวผืนยาวทำการแสดงชื่อ Changes อันเป็นผลงานต่อเนื่องจากผลงานชื่อ I will follow you into the dark ซึ่งเคยแสดงด้วยความยาว 4 ชั่วโมง นำเสนอด้วยแนวคิดเดียวกันคือการถูกกดทับ สัญญะวัตถุที่สำคัญในการแสดงนี้คือ บีทรูท ผักที่มีลักษณะคล้ายหัวใจ เมื่อเฉือนเนื้อและน้ำก็หยาดสีแดงเข้มราวกับเลือด การแสดงนี้นพวรรณเชื้อเชิญให้ผู้ชมมานั่งตรงข้าม แล้วหยิบบีทรูทมาเฉือนไปด้วยกัน “อยากชวนเขาคิดว่า เมื่อเขาเฉือนหัวใจแล้ว เขาจะรู้สึกอย่างไร”

ไม่แค่เฉือน ‘หัวใจ’ กองโต เธอยังลงนะหน้าทองด้วยแผ่นทองคำเปลว ดื่มเครื่องดื่มสีหมึกแล้วคายรดบนกระดาษขาวแผ่นยาวราวกับหลั่งหมึกให้จารึกบางสิ่งไว้ เทหมึกดำท่วมทับตัวราวกับการประท้วง เป็นความเงียบที่รุนแรง เรียกความสนใจจากผู้ชมให้จับจ้องซึมซับไขข้อความตามความคิดของตัวเอง

ทำไมจึงชม ทำไมจึงแสดง

ศิลปะการแสดงสด ให้การแสดงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และเต็มไปด้วยสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารบางประเด็น เราต้องยอมรับว่าบางเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นสังคมที่ต้องการการกระตุ้น การปล่อยให้สมองคิดอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องใช้หัวใจและความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันนั้นทำความเข้าใจสิ่งที่สะสมมาทั้งหมดในชีวิตของเรา

การชมศิลปะเป็นเรื่องปัจเจก ผลงานแต่ละชิ้นต่อให้ศิลปินจะสร้างมาจากความคิดและความเชื่อส่วนตัว แต่ในเมื่อมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราจึงมีความทรงจำ มีประสบการณ์ร่วมบางอย่าง และมีหลายอย่างที่ต่างกัน หลายครั้งเมื่อศิลปินสื่อสารประเด็นสังคม ผู้ชมจึงเชื่อมโยงได้ทันที แต่ตีความแตกต่างกันไปเกินจะจินตนาการ

ถามนพวรรณว่า ทำไมเธอจึงเลือกสื่อการแสดงมาสร้างงานศิลปะ “เพราะมันสื่อสารได้ตรงที่สุด เราสามารถสื่อสารข้อความของเราด้วยการใช้ร่างกายกับวัสดุที่เราเลือกหยิบมาเพื่อจะแปรความหมายมันให้สื่อตรงปะทะคนดูมากที่สุด”

เธอไม่ได้หมายความว่าตรงไปตรงมา แต่คือตรงจากความรู้สึกนึกคิดของศิลปินสู่ผู้ชมงาน และเมื่อมันพุ่งไปยังจุดใดก็ตามในใจของผู้ชม นั่นแสดงว่าผู้ชมหันเอาประสบการณ์ส่วนตัวที่ตรงที่สุดมาเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นฉับพลันอยู่ตรงหน้า ความหมายของงานนั้นจะเกิดขึ้นอย่างเป็นอิสระ ทว่า มีสัญลักษณ์บางอย่างที่เป็นคำอธิบายร่วมอยู่

ในการแสดงสด โดยมากศิลปินจะวางโครงสร้างหลักๆ ของการแสดงเอาไว้ แต่ไม่ได้มีการวางแผนที่ชัดเจน แสดงไปตามความรู้สึกและอารมณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะขณะนั้นๆ จะสร้างงานที่แสดงในแต่ละครั้งให้สมบูรณ์ ร่วมกับพื้นที่และผู้ชม หลายการแสดงเปิดทางให้ผู้ชมเข้ามาร่วมแสดงด้วย และผู้คนที่มาจากหลากหลายที่มาทำให้งานแตกต่างกันไปอย่างน่าสนใจ

แต่ไม่เสมอไปที่งานจะเชื้อเชิญทุกคนเข้ามาแสดงออกกับงาน เช่นลักษณะงานแบบ Cut Piece ที่มีระเบียบการแสดงชัดเจน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องระมัดระวังเมื่อทำงานกับของมีคม และต้องใช้สมาธิสูง เป็นอีกวิธีของการแสดงที่อยากให้ผู้ชมเฝ้าสังเกตมากกว่า การรับชมงานศิลปะแสดงสดที่ดีจึงควรอ่านคำแนะนำในการรับชมผลงานก่อนที่จะตัดสินใจแสดงออกกับชิ้นงานเพื่อให้เราสามารถรับชมงานประเภทนี้ได้อย่างเหมาะสม

การแสดงที่โกลาหลแต่สงบสุข

เคยได้ยินศิลปินคนหนึ่งพูดว่า ในช่วงเวลาที่สังคมคับข้อง ศิลปะจะเบ่งบาน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สังคมเกิดปัญหา ในยามผู้คนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ ศิลปะจะเป็นเครื่องมือสื่อสารชั้นดี ไม่ได้ด้วยข้อความแต่เป็นสารพัดสื่อที่ผสมผสานออกมา ศิลปะการแสดงทั้ง 2 ผลงานนี้เต็มไปด้วยความรู้สึกหนักอึ้ง แต่เมื่อติดตามดูจนจบกลับเหมือนได้รับการปลอบประโลมบางอย่าง ไม่ถึงกับคลี่คลาย แต่คล้ายว่าเราได้พบกับกลุ่มคนที่มองเห็นปัญหาเดียวกัน เป็นหนึ่งตัวแทนที่อยากจะสื่อสาร และเฝ้าหาทางออก

เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ชิ้นงานใน BAB 2022 เต็มไปด้วยประเด็นสังคม ทั้งผลกระทบจากโรคระบาด สงคราม การเมือง ชนกลุ่มน้อย ผู้ลี้ภัย สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่นำเสนอด้วยสุนทรียะที่แตกต่าง หล่อหลอมอารมณ์ความรู้สึกด้วยผัสสะหลากหลาย

ศิลปะไม่ได้ให้คำตอบเสมอ แต่สร้างแรงบันดาลใจให้เรามองชีวิตให้รอบด้าน ตั้งคำถาม แสวงหาคำตอบด้วยตัวเอง

สัมภาษณ์ พิชามญชุ์ สุวรรณธวัช

เรียบเรียง อาศิรา พนาราม

ภาพ ณัฏฐพล เพลิดโฉม, พิชามญชุ์ สุวรรณธวัช


อ่านเพิ่มเติม งานศิลป์แปลก คนใช้ชีวิตในกล่องแคบ สะท้อนชีวิตอึดอัดยุคใหม่ ที่งาน BAB 2022

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.