135 ปี สมาคม National Geographic – สืบทอดมรดกแห่งการสำรวจ

เรื่องราวภายในครอบครัวผู้ก่อตั้งสมาคมเนชั่นเนล จีโอกราฟฟิก ถือเป็นการเดินทางอย่างห้าวหาญด้วยตัวมันเอง

ตอนที่ กิลเบิร์ต เอ็ม. โกรฟเนอร์ เกษียณจากตำแหน่งประธานสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เมื่อปี 2010 เป็นการปิดฉากการสืบทอดมรดกพันธกิจอันยาวนานห้าชั่วรุ่น และ 122 ปีของการกุมบังเหียนองค์กรโดยสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเป็นตำนาน โกรฟเนอร์เป็นคนถ่อมตัวตามพื้นนิสัย “ผมทำงานของผมแล้ว” เขาบอก “ถึงตาคนอื่นบ้างแล้วครับ”

แต่ถึงจะมีดีกรีว่าจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยระดับไอวีลีก และเป็นเจ้าของบ้านพักฤดูร้อนหลังหนึ่งบนที่ดินในโนวาสโกเชียซึ่งเคยเป็นของปู่ทวด อะเล็กซานเดอร์ แกรห์ม เบลล์ โกรฟเนอร์ยังชอบเก็บเนื้อเก็บตัว เขาเคยพกแซนด์วิชเยลลีเนยถั่วขึ้นเครื่องบินและสวม “สูทราคาถูกอย่างออกหน้าออกตา” ตามที่นักข่าวผู้หนึ่งเขียนไว้

ทว่าบุคลิกสงวนท่าทีเช่นนี้กลับไม่สอดคล้องกับผลงานและการอุทิศตนของบุรุษผู้หนึ่งและครอบครัวที่ช่วยทำให้เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ผงาดขึ้นเป็นอาณาจักรมัลติมีเดียอันโดดเด่นในปัจจุบัน ในช่วงที่โกรฟเนอร์ดำรงตำแหน่งนั้น องค์กรที่ก่อตั้งเมื่อปี 1888 “เพื่อเพิ่มพูนและเผยแพร่ความรู้ทางภูมิศาสตร์” แห่งนี้ได้สยายปีกไปสู่โทรทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสือ สิ่งพิมพ์สำหรับเด็ก และสื่อดิจิทัล ทั้งยังขยายการเข้าถึงสู่ผู้อ่านภาษาต่างประเทศ และฟื้นฟูการเรียนการสอน วิชาภูมิศาสตร์ในโรงเรียนอเมริกาด้วย นับเป็นความสำเร็จที่ทำให้โกรฟเนอร์ได้รับเหรียญอิสรภาพของประธานาธิบดี (Presidential Medal of Freedom) ซึ่งเป็นเกียรติยศชั้นสูงสุดของพลเมืองอเมริกัน

ในบันทึกความทรงจำเล่มใหม่เรื่อง A Man of the World โกรฟเนอร์ซึ่งปัจจุบันอายุ 91 ปี อธิบายถึงการเติบโตในธุรกิจครอบครัวเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ว่าเป็นอย่างไร และเพราะเหตุใดพันธกิจของสมาคมจึงสำคัญกว่าที่เคยเป็นมา

กิลเบิร์ต เอ็ม. โกรฟเนอร์ นำร่องโครงการริเริ่มทั่วประเทศในช่วงทศวรรษ 1980 เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนภูมิศาสตร์ในโรงเรียนของอเมริกา
ภาพ พีต โซวซา

คุณเติบโตในบ้านที่ใคร ๆ ตั้งแต่นักสำรวจขั้วโลก โรเบิร์ต อี. แพรี จนถึงอะมีเลีย เอียร์ฮาร์ต และหลุยส์ ลีคีย์ เคยมาเยือน ปู่ทวดของคุณ อะเล็กซานเดอร์ แกรห์ม เบลล์ ผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์ ก็เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมคนหนึ่ง สื่อเรียกปู่ย่าของคุณ [กิลเบิร์ต เอช. กับเอลซี เบลล์ โกรฟเนอร์] ว่า “นายและนางภูมิศาสตร์” คุณต้องแบกภาระความเป็นโกรฟเนอร์ไว้ด้วยไหมคะ

ครับ ผมถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวว่าจะล้มเหลว และไม่อาจทนกับความคิดเรื่องการไม่ประสบความสำเร็จได้ ช่วงแรก ๆ ที่ทำงานเป็นช่างภาพให้นิตยสาร ผมรู้ว่าทุกครั้งที่ถ่ายภาพ ทุกคนจับจ้องมองผมอยู่

คุณก็ยังเข้าเรียนภูมิศาสตร์ที่เยลใช่ไหมคะ

มันแย่มากครับ ปีที่แล้วบราซิลส่งออกกล้วยไปกี่ผล ตอนนั้นวิชาภูมิศาสตร์เป็นแบบนี้แหละครับ ผมเลยเลิกเรียน

เส้นทางอาชีพแต่เดิมของคุณคือเป็นแพทย์ แต่ชีวิตกลับต้องพลิกผัน

ตอนปีสามกับปีสี่ ผมไปที่เนเธอร์แลนด์ตามโครงการให้ความช่วยเหลือเพื่อบูรณะความเสียหายจากนํ้าท่วมครั้งใหญ่ ผมกับเพื่อนคนหนึ่งเราไปทำงานอาสาสมัคร และพ่อของผมก็เสนอว่า เราจะทำสารคดีสักเรื่องให้นิตยสารได้ไหม ความเสียหายกับความมุ่งมั่นของชาวดัตช์ทำให้ผมประทับใจ ผมพบว่าหนทางเดียวที่โลกจะเข้าใจเรื่องนี้คือการตีพิมพ์ลงใน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก มันเปลี่ยนชีวิตผมเลยครับ ผมติดใจการเล่าเรื่องและค้นพบพลังของสื่อสารมวลชนครับ

โกรฟเนอร์ปรากฏตัวครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกเดือนกรกฎาคม ปี 1939 ในบทความเกี่ยวกับสถาบันสมิทโซเนียน ซึ่งเขาวางท่าถ่ายภาพกับอุกกาบาตก้อนหนึ่ง

คุณเข้าทำงานกับ “บริษัทของครอบครัว” ในฐานะ บรรณาธิการภาพให้นิตยสาร กลายเป็นบรรณาธิการ ตอนอายุ 39 และตีพิมพ์สารคดีชุดเกี่ยวกับมลพิษ ส่ง สัญญาณว่านิตยสารที่เคยถูกเยาะเย้ยว่าเป็นพวกโลกสวย นั้นเปลี่ยนไปแล้ว ประเด็นร้อนแรงที่สุดน่าจะเป็นเรื่องที่ ตีพิมพ์ในฉบับเดือนมิถุนายน ปี 1977 เกี่ยวกับแอฟริกาใต้ ซึ่งพินิจพิเคราะห์นโยบายแบ่งแยกสีผิวและมรดกความ ยากจนจากการแบ่งแยก จนรัฐบาลของประเทศนั้น วิพากษ์ว่าเป็นสารคดีที่มีอคติ

ตอนที่เราส่งนิตยสารฉบับพิมพ์ล่วงหน้าให้พิก โบทา เอกอัครราชทูตแอฟริกาใต้ประจำสหรัฐฯ เขาเรียกผมไปพบ ที่ห้องทำงาน โบทาหยิบนิตยสารของเรา เหวี่ยงลงบนโต๊ะ ทำงาน แล้วแผดเสียงว่า “คุณไม่เข้าใจหรอก ใคร ๆ ก็เชื่อ สิ่งที่คุณเขียน!”

คุณเขียนในหนังสือของคุณว่า โบทา “กระตุกชีพจรที่ ขับเคลื่อนเราโดยไม่ตั้งใจ” แน่นอนว่า ความไว้วางใจ มีความหมายมากกว่าที่เคยเป็นมาในยุคของ “เฟกนิวส์”

ใช่ครับ ความเชื่อถือเป็นสิ่งที่ทีมงานนิตยสารให้ความสำคัญโดยเฉพาะทีมนักวิจัย หรือผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเรา

บทความว่าด้วยแอฟริกาใต้ยังทิ้งระเบิดลงในหมู่คณะกรรมการสมาคมที่ไม่ยอมรับ คำขู่ของกรรมการกำกับ ดูแลงานด้านบรรณาธิการคนหนึ่งคุกคามนิตยสาร ในเชิงนโยบายด้วย

ผมตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ยอมเสียบังเหียนควบคุมงานบรรณาธิการไปครับ ผมหอบเอกสารต่าง ๆ มายันพวกเขา [คณะ กรรมการ] เข็นเอกสารเป็นตั้ง ๆ เข้ามาเพื่อแสดงว่ามีการ ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเราทำเพื่อให้มั่นใจในความเที่ยงตรง ด้วยการตรวจสอบทุกถ้อยคำซํ้าสองและสามครั้งก่อนตีพิมพ์ แล้วความตรงไปตรงมาของกองบรรณาธิการก็ชนะในที่สุดครับ

จี.เอ็ม. โกรฟเนอร์ ฉลองหลังพุ่งลงไปใต้พืดนํ้าแข็ง ขั้วโลกในปี 1979 ด้วยการถือธงจากการเดินทางสู่ขั้วโลก ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบของนักสำรวจ ภาพ โรเบิร์ต อี. แพรี

พูดถึงผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญในสมาคม เริ่มจากย่า ของคุณ เอลซี เบลล์ โกรฟเนอร์ ก่อนค่ะ

ย่าอยู่เป็นเพื่อนปู่จนดึก ๆ ดื่น ๆ ตอนที่ปู่ทำงานเพื่อปรับโฉม นิตยสารครับ ย่าออกแบบธง [สามสี สื่อถึงท้องฟ้า ผืนดิน และมหาสมุทร] ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เธอ ยังเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของสตรี และชวนปู่ไปลงถนน เพนซิลเวเนียกับเธอในการเดินรณรงค์เมื่อปี 1913 แล้วเรา ก็มีช่างภาพหญิงรุ่นบุกเบิกอย่างเอไลซา ซิดมอร์ ผู้รบเร้าให้ปู่ตีพิมพ์ภาพถ่ายสีในนิตยสาร ยังไม่ต้องพูดถึงนักสำรวจและนักวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยอย่างเจน กูดดอลล์, ซิลเวียร์ เอิร์ล, ไดแอน ฟอสซีย์ และบีรูเต กัลดิกัส อีก

ทีมงานนิตยสารหลายคนมีชื่อเสียงโด่งดังระดับตำนาน

พวกเขาทำให้นิตยสารมีชีวิตชีวา ตอนที่หลุยส์ มาร์เดนผู้ซึ่งต่อมากลายเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการฝ่ายต่างประเทศ เข้ามาสัมภาษณ์งานในช่วงทศวรรษ 1930 เขาขับเครื่องบินเล็กมาจากบอสตัน หลุยส์พบซากเรือรบหลวง เบาน์ตี บุกเบิกภาพถ่ายใต้นํ้าที่เป็นภาพสี ค้นพบกล้วยไม้ชนิดพันธุ์ใหม่ที่ตั้งชื่อตามเขา และย้อนรอยการเดินทางของโคลัมบัสโดยใช้ปูมเรือดั้งเดิม แล้วก็มีเพื่อนรักของผมอย่าง ทอม อะเบอร์-ครอมบี ผู้บุกเบิกการถ่ายภาพสมัยใหม่อยู่ในกองบรรณาธิการเขามีชื่อเสียงจากการเป็นนักข่าวคนแรกที่เหยียบขั้วโลกใต้ พูดภาษาอาหรับได้คล่องแคล่ว และยังย้อนรอยเส้นทางกำยานระยะทางเกือบ 2,600 กิโลเมตรทั่วคาบสมุทรอาหรับด้วย

คุณยังเขียนว่า “เป็นที่รู้กันว่าไม่มีใครทิ้งขว้างนิตยสารเลย” แม้แต่ในยุคดิจิทัลนี้ ตู้เก็บนิตยสารกรอบเหลืองของหลายครอบครัวยังอัดแน่นจนชั้นแอ่น อดีตประธา-นาธิบดี โรนัลด์ เรแกน เอ่ยเรื่องนี้ เมื่อเขากล่าวสดุดีในพิธีเปิดตึกใหม่ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เมื่อปี 1984

ประธานาธิบดีเรแกนมาที่หอประชุมของเรา มองไปรอบ ๆ ห้องที่กว้างเหมือนโถงถํ้า ชี้มือไปที่ตึกแล้วพูดอย่างถูกจังหวะที่สุดว่า “ผมว่าคุณต้องมีปัญหากับการเก็บนิตยสารเล่มเก่า ๆ เหมือนกันแน่ ๆ” เล่นเอาทั้งห้องหัวเราะครืนเลยครับ

กิลเบิร์ต เอ็ม. โกรฟเนอร์ ตรวจดู เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนมิถุนายน ปี 1977 ที่โรงพิมพ์

คุณเคยบอกว่า “ถ้าคุณไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน คุณก็ไม่มีตัวตน” เรามาคุยเรื่องภูมิศาสตร์กันดีกว่า ถึงอย่างไร องค์กรก็คือสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และนิตยสารก็คือ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ทำไมภูมิศาสตร์ถึงสำคัญคะ

ภูมิศาสตร์ส่งผลกระทบเกือบทุกอย่าง ดูยูเครนเป็นตัวอย่างก็ได้ เพื่อจะเข้าใจว่าทำไมประเทศนี้ถึงสำคัญ คุณต้องรู้ว่ายูเครนเป็นกันชนระหว่างรัสเซียกับยุโรป เป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก และป้อนนํ้ามันดอกทานตะวันมากถึงร้อยละ 40 ของโลก และตอนนี้ ผมกำลังมองออกไปทางหน้าต่างจากเคบินของผม มองกระแสนํ้ากับระดับนํ้าขึ้นนํ้าลง ทำไมขวดที่ทิ้งจากชายฝั่งรัฐฟลอริดาถึงมาเกยฝั่งที่ไอร์แลนด์ได้ นั่นก็เพราะกระแสนํ้ากัลฟ์สตรีมพัดมันไป แล้วการที่สัตว์ป่าและพืชพรรณโยกย้ายถิ่นฐานขึ้นเหนือกันยกใหญ่นั่นก็เพราะโลกร้อน การรู้จักภูมิศาสตร์คือการเข้าใจโลกและปัญหาต่าง ๆ ของโลก ไม่ใช่เฉพาะแต่การเมือง แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกลายเป็นทะเลทราย นํ้าในมหาสมุทรเป็นกรด รวมทั้งแบบแผนการอพยพต่าง ๆ ด้วย เราต้องเรียนภูมิศาสตร์ ถ้าเราอยากจะดูแลโลกที่เราอยู่ให้ดีกว่านี้ ถ้าเราอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือแม้แต่จะอยู่รอด

ทั้ง ๆ ที่มีความท้าทายมากมาย คุณก็ยังปิดท้ายด้วยการมองโลกในแง่ดี

ผมเชื่อว่าเราจะยืดหยุ่นและปรับตัวได้ เราจะปกปักรักษาพื้นที่ป่าอันไพศาล และตัดไม้อย่างยั่งยืนเท่าที่จำเป็น เราจะใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานสะอาด เราจะสงวนแนวปะการังและแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญในมหา-สมุทรอันกว้างใหญ่ได้

คุณมีข้อแนะนำใดบ้างสำหรับผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้

ทำสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด ไม่ใช่สิ่งที่ใคร ๆ ก็ทำครับ

เรื่อง เคที นิวแมน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.