เนื่องจากเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 คณะกรรมการโอลิมปิกและพาราลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ USOP ได้ประกาศรับรองให้ “มวยไทย” เป็นกีฬาชนิดใหม่ ที่ทางการกีฬาแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (IFMA) และ สหพันธ์มวยไทยแห่งสหรัฐอเมริกา (USMF) ได้พยายามผลักดันมาอย่างยาวนาน เพื่อแสดงศักยภาพศิลปะการต่อสู้ เพื่อสร้างมูลค่าวัฒนธรรมไทย ถือเป็นอีกหนึ่ง Soft Power สำคัญ
“USMF และ IFMA ขอขอบคุณพันธมิตรของเราสำหรับความไว้วางใจและการทำงานหนัก ที่ทำให้เกิดการยอมรับมวยไทยในฐานะศิลปะการป้องกันตัว ซึ่งเป็นกีฬาต่อสู้อันมีศิลปวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ของไทยที่สืบทอดมาช้านาน มีคุณค่า และทำให้อนาคตของมวยไทยในสหรัฐอเมริกานั้นสดใสอย่างแน่นอน” ไมเคิล คอร์เรย์ (Michael Corley) ประธานสหพันธ์มวยไทยแห่งสหรัฐอเมริกากล่าว
โดยก่อนหน้านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้ส่งนักกีฬามวยไทยเข้าแข่งขันในมหกรรมกีฬา “The World Games 2022” ที่เมืองเบอร์มิงแอม รัฐอลาบามา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 7-17 กรกฎาคม 2565 ซึ่งถือว่าเป็นความพยายามในการประชาสัมพันธ์และสร้างกระแสการแข่งขันที่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมวยไทยได้รับความนิยมมากที่สุด หากนับจากจำนวนผู้เข้าชมที่เต็มสนาม แตกต่างจากกีฬาอื่น ๆ
การได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการโอลิมปิกและพาราลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกานี้ สร้างความยินดีอย่างยิ่ง และทางหน่วยงานทุกคนหวังว่าจะเกิดการผลักดันต่อไปเพื่อบรรจุ ‘มวยไทย’ ในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งต่อ ๆ ไป
– มวยไทย ปะทะ กุน ขแมร์ ในสังเวียนซีเกมส์กลางปีนี้ ที่ยังไม่มีผลแพ้ชนะ
แม้มวยไทยจะได้รับการยอมรับในระดับคณะกรรมการโอลิมปิก สหรัฐอเมริกา แล้ว แต่ในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีกำหนดแข่งกันระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2566 ประกาศว่าจะไม่มีการแข่งขันกีฬา “มวย” ในการแข่งขันครั้งนี้
แต่จะจัดแข่งกีฬา “กุน ขแมร์” หรือ ‘มวยเขมร’ ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้จะจำชาติกัมพูชาแทน โดยให้เหตุผลว่าเป็นกีฬาประจำชาติ และเป็น ‘ต้นกำเนิด’ ของ ‘มวยไทย’ โดยกติกาของ กุน ขแมร์ นั้นเหมือนมวยไทยเกือบทุกประการ
โดย กุน ขแมร์ เป็นกีฬาการต่อสู้ที่ชาวกัมพูชาเชื่อว่ามีความเป็นมานับพันปี เพื่อน็อกคู่ต่อสู้ บีบให้ยอมแพ้ หรือการชนะคะแนน โดยใช้อวัยวะ 4 อย่างเป็นอาวุธต่อสู้ ได้แก่ หมัด, เท้า, เข่า และศอก รวมถึงใช้การเข้ากอดเพื่อโจมตีระยะประชิด โดยนักสู้ชาวกัมพูชามักจะใช้ศอกโจมตีมากกว่าศิลปะการต่อสู้อื่นๆ
โดยรูปแบบการแข่งขัน “กุน ขแมร์” ในปัจจุบัน จะชกกันทั้งสิ้น 5 ยก ยกละ 3 นาที และจัดขึ้นที่เวทีมวยขนาด 20×20 ฟุต จะมีการพัก 1.30-2.00 นาทีระหว่างยก กล่าวโดยสรุปคือ ความแตกต่างระหว่าง มวยไทย และ กุน ขแมร์ มีเพียงแค่รูปสไตล์การต่อสู้ของนักมวยเท่านั้น ซึ่งมวยไทยจะเน้นการกอดคลุกวงใน และใช้หมัด เข่า เตะ เป็นหลัก แต่ กุน ขแมร์ จะเน้นการต่อสู้ระยะประชิดและใช้ศอกเป็นอาวุธ
โดยล่าสุด ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ นายกสมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยฯ และประธานสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ(IFMA) ได้ตอบโต้การไม่จัดกีฬามวยไทยในกีฬาซีเกมส์กลางปีนี้ ด้วยการไม่ส่งนักส่งนักกีฬาเข้าร่วมกุน ขแมร์ เพราะไม่ได้เป็นกีฬาที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) รวมทั้งสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) และประกาศพร้อมแบนทุกชาติที่ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน กุน ขแมร์ จากการแข่งขันเวทีมวยไทยระดับนานาชาติในอนาคต
ด้าน วัธ จำเริน เลขาธิการคณะกรรมการจัดการแข่งขันซีเกมส์ของกัมพูชา (CAMSOC) และคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติของกัมพูชา (NOCC) ยืนยันยืนกรานใช้ชื่อ “กุน ขแมร์” โดยไม่สนใจว่า สหพันธ์มวยไทยนานาชาติ (IFMA) จะลงโทษหรือไม่ และตามกฎของซีเกมส์ หากมีชาติเข้าร่วม 4 ประเทศขึ้นไป ก็จะจัดการแข่งขันได้
PHOTOGRAPH BY AHMAD ZAINI YAHAYA, NATIONAL GEOGRAPHIC YOUR SHOT