ผลงานชื่อ “And so to mend her-gave me work Until another morn-“ (morn มาจาก morning) ของสเตฟานี เจน เบิร์ท (Stephanie Jane Burt) ศิลปินที่สร้างประติมากรรมไปจนถึงงานประพันธ์สมมุติ งานของเธอเชิญชวนให้ผู้ชมสำรวจบทสนทนาระหว่างงานของเธอและสถานที่ติดตั้ง ผ่านการเล่าเรื่องสมมติ โดยมีการอ้างอิงถึงภาพยนตร์และวรรณกรรม งานของเธอครอบคลุมประเด็นสตรีนิยม เพศ และการวิเคราะห์วัฒนธรรมของผู้หญิง เธอเป็นสมาชิกหนึ่งของกลุ่ม A Stubborn Bloom ซึ่งมีความสนใจเรื่องตัวแทนของความเป็นผู้หญิงในแฟชั่น ภาพยนตร์ และวัฒนธรรมทางวัตถุ
ผลงานชื่อยาวนี้มีที่มาจากกลอน The first Day’s Night had come – ของ เอมิลี่ ดิคเกนสัน (Emily Dickinson) กวีนิพนธ์ชาวอเมริกัน ที่ว่า
“I told my Soul to sing –
She said her Strings were snapt –
Her Bow – to Atoms blown –
And so to mend her – gave me work
Until another Morn –“
ในขณะที่งานนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมเรื่อง Jane Eyre ของ Charlotte Bronte ซึ่งเล่าเรื่องการเปลี่ยนผ่านของหญิงสาวคนหนึ่ง จากวัยเด็กแสนยากลำบากมาสู่ความสัมพันธ์ในแง่คนรักที่ยากลำบากไม่แพ้กัน แต่ท้ายที่สุด เธอก็ได้หาค้นหาเส้นทางของความเป็นอิสระ จนสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง
ด้านมืด ด้านสว่างในตัวตนของผู้หญิง
ผลงานนี้ขึ้นโครงสร้างเป็นประติมากรรมผ้า ซึ่งมีองค์ประกอบจำลองความป็นหญิงอยู่ภายในกรงขนาดใหญ่ จัดแสงให้มีมิติของความมืดความสว่างแตกต่างกันชัดเจน และเน้นจุดสนใจราวกับอยู่ในโรงละคร
เนื้อหาจากวรรณกรรมที่ศิลปินสนใจเป็นพิเศษคือตอนที่เจนกำลังจะแต่งงานกับนายรอสเชสเตอร์ แล้วค้นพบว่าเขามีภรรยาอยู่แล้ว เป็นหญิงวิกลจริตและก้าวร้าวที่เขาซ่อนไว้ในห้องใต้หลังคา
เนื้อหาตอนนี้เคยมีบทวิเคราะห์จากหนังสือชื่อ The Mad Woman in the Attic โดย Sandra n. gilbert และ Susan Gubar ที่ว่า เบอร์ธา (ภรรยาวิกลจริตของรอสเชสเตอร์) คืออีกด้านที่มืดมิดของเจน ดังนั้น การที่เจนจะเป็นอิสระได้ เบอร์ธาจะต้องตายเสียก่อน หนังสือเล่มนี้มีการตีความใหม่ในเชิงสตรีนิยมว่าเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่พรากชีวิตของเบอร์ธา คือด้านมืดที่เจน แอร์ต้องข้ามผ่าน นั่นคือการฆ่าด้านมืดในตัวตนของเธอ เพื่อที่จะได้รับชัยชนะของชีวิต
ผลงานติดตั้งของสเตฟานี้ เน้นไปที่ด้านทั้งสองของเจน จะเห็นได้ว่าสื่อถึงเจน แอร์และเบอร์ธาต่างถูกกักขังอยู่ในกรง โดยสร้างประติมากรรมนี้ให้ดูนุ่มนวล เพื่อแสดงให้เห็นความเป็นร่างกายของหญิงทั้งสอง
จากยุควิคตอเรียนถึงผู้หญิงในปัจจุบัน
ในยุควิคตอเรียน สิทธิของเพศหญิงถูกจำกัด หนทางเดียวที่ผู้หญิงจะมีที่ทางในสังคมคือการแต่งงาน พวกเธอไม่สามารถทำงานเพื่อพึ่งพาตัวเองได้ แต่ในวรรณกรรมเรื่องนี้นำเสนอมุมที่ต่างออกไป เจนสามารถหาทางอยู่ด้วยตัวเองได้ และสร้างฐานให้ตัวเองเท่าเทียมกับชายคนรัก ซึ่งมันสิ่งที่หายากในวรรณกรรมยุควิคตอเรียนทั้งหลาย
ประเด็นนี้ล้ำสมัยและก้าวหน้ามากในยุคนั้น และเนื้อหาบางอย่างจากวรรณกรรมเรื่องนั้นก็ยังสามารถเชื่อมโยงมาถึงผู้หญิงในยุคปัจจุบันได้ ศิลปินจึงสร้างเจนและร่างแยกในด้านมืดของเธอ ที่ต้องดิ้นรนอยู่ในกรงแห่งยุควิคตอเรียน
“And so to mend her-gave me work until another morn- “ ศิลปินชอบบรรทัดนี้จากกลอนเป็นพิเศษ และตีความใหม่เป็น “การที่เราจะเยียวยา (mend) ตัวเอง เราจะต้อง work on yourself เอาชนะและจัดการกับตัวเองให้ได้จนกระทั่งถึงวันใหม่อีกครั้ง” คือเราพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นมาก่อน
‘สุขภาพจิต’ เป็นอีกประเด็นที่สเตฟานี้คิดถึง สุขภาพจิตของผู้หญิงจะเป็นอย่างไรในสังคมที่กดทับอย่างยุควิคตอเรียน รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับสตรีหลายอย่างที่เกิดขึ้นคู่ขนานมาจากอดีตแล้วส่งมายังปัจจุบัน งานที่ว่าด้วยการกักขังและอิสรภาพเป็นหลัก ยังพูดถึงการดิ้นรนและสภาพลักษณะที่แบ่งแยกไม่ได้ของผู้หญิงทั้งสองคน
นอกจากประติมากรรมกรงขัง สเตฟานี เจน เบิร์ท ยังมีงานวิดีโออีกชิ้นหนึ่งที่แสดงคู่กัน คือวิดีโอ “ศิลปะในการครองเรือน” ซึ่งเป็นวิชาที่สอนเกี่ยวกับการทำอาหาร การทำความสะอาด และการดูแลบ้าน ศิลปินได้จัดตั้งกลุ่มศิลปิน A Stubborn Bloom ร่วมกับเพื่อนซึ่งเป็นคิวเรเตอร์ด้านแฟชั่น พวกเธอศึกษาหนังสือเรียนของสิงคโปร์ในยุค 1970s ซึ่งพยายามบอกว่าเราควรจะทำหรือแสดงออกอย่างไรเพื่อที่จะดูสมกับเป็น ‘ผู้หญิง’ การตีความใหม่ของพวกเธอถูกแสดงในวิดีโอนี้ ที่สื่อว่าหากเป็นยุคนี้แล้ว เราควรจะวางตัวเองอย่างไร ผู้หญิงสามารถเลือกที่จะเป็นได้
– – – – –
ผลงานของ สเตฟานี เจน เบิร์ท เป็นส่วนหนึ่งในเทศกาล Bangkok Art Biennale 2022 จัดแสดงที่ JWD Art Space ซอยจุฬาลงกรณ์ 16 เขตปทุมวัน ได้ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566
เรื่องและภาพ พิชามณชุ์ สุวรรณธวัช