เม ศิรษา บุญมา จากเพจ Hear & Found ผู้ใช้การฟังเล่าเรื่องวัฒนธรรมผ่านดนตรีชนเผ่าและเสียงของท้องถิ่น

พูดคุยกับ เม ศิรษา บุญมา ผู้ก่อตั้ง Hear & Found ในหัวข้อ เล่าเรื่องวัฒนธรรมที่อาจเลือนหาย ผ่านดนตรีชนเผ่าและเสียงของท้องถิ่น

เมย์ ศิรษา บุญมา กล่าวในกิจกรรมเสวนา Meet on Stage โดย National Geographic ฉบับภาษาไทย ร่วมกับ บ้านและสวน Explorers Club ในงาน บ้านและสวนแฟร์ select 2023 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 26 มีนาคม 2566 ถึงจุดเริ่มต้นในการเล่าเรื่องเสียงของชุมชนว่า เกิดขึ้นจากการไปทำโปรเจกต์ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ระหว่างที่เดินทางลงพื้นที่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้พบกับเครื่องดนตรีของชนพื้นเมืองอย่าง แคนมูเซอ แม้ว่าตอนนั้นเครื่องดนตรีชนิดนี้จะส่งเสียงที่ไม่ได้ออกมาเป็นโน๊ตสากล แต่ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตกับเสียงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน

การได้ลองไปฟังเสียงของ ชนเผ่ามูซอ ลีซู และกระเหรี่ยง ทำให้เราได้ซึมซับวิถีชีวิตที่น่าสนใจของกลุ่มคนชายขอบที่บางชุมชนยังไม่มีแม้แต่บัตรประชาชน รวมถึงได้เข้าใจถึงปัญหาต่างๆของพวกเขา ในมุมที่ต่างออกไป

วิถีชีวิตที่ถูกบันทึกไว้ในดนตรีและบทเพลง

การเดินทางไปแม่ฮ่องสอนจุดประกายให้เราหันมาใช้เสียงนำทางและเล่าเรื่อง โดยใช้ดนตรีเป็นตัวเชื่อมโยงกลุ่มของเรากับคนท้องถิ่น อย่างเช่น ชาวปกาเกอะญอ ในจังหวัดลำพูน พวกเขาใช้เครื่องดนตรีกับเนื้อเพลงในการบันทึกเรื่องราววิถีชีวิต ดังเช่นเพลงนี้

“เปอ-ออ-กอ ปะ-เกอะ-ตอ-กอ เปอ-ออ-ที ปะ-เกอ-ตอ-ที เปอ-ออ-เด ปะ-เกอ-ตอ-เล เปอ-ออ-ยา- ปะ-เกอ-ตอ-ที”

“เราอยู่กับป่า เรารักษาป่า เราดื่มนํ้า เรารักษาแหล่งป่าต้นนํ้า เรากินเขียด เราดูแลผา เรากินปลา รักษาลำห้วย”

เราพบว่า มีเรื่องราวอยู่ในเนื้อเพลงที่พวกเขาต้องการจะสื่อสาร มันเป็นการส่งต่อบันทึกจากรุ่นสู่รุ่นผ่านเสียงเพลง ประกอบกับเมื่อได้ไปสัมผัสถึงวิถีชีวิตของชนเผ่าต่างๆด้วยตัวเอง ยิ่งทำให้เราเข้าใจถึงตัวตนของพวกเขาได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่า พวกเขามีการหมุนเวียนที่อยู่อาศัยและที่ทำกินไปเรื่อยๆ เพื่อให้ครบรอบ 7 ปีจะสามารถกลับมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่เดิมได้ ซึ่งไร่หมุนเวียนของชนเผ่ามีกระบวนการ รวมถึงพิธีกรรมในการดูแลระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม แต่โลกภายนอกกลับยังมีภาพจำว่า ชนพื้นเมืองบนดอยสูงเป็นพวกชอบเผาป่า ตัดไม้ ทำไร่เลื่อนลอย ฯ

เชื่อมคนฟังด้วยความหลากหลายของดนตรีและชนเผ่า

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าแต่ละชนเผ่ามีเครื่องดนตรีเป็นของตัวเอง ส่วนบทเพลงก็มีหลากหลายมากกว่า เพลงชนเผ่า พวกเขามี เพลงรัก เพลงเพื่อชีวิต เพลงฮิปฮอป เราได้พบกับ พี่ปุ๊ นักดนตรีชาวปกาเกอะญอมากความสามารถที่ต่อมาเราได้ชวนให้เขามาแสดงโชว์ในกรุงเทพฯ

อีเวนท์แรกของ Hear & Found เกิดจากความต้องการแลกเปลี่ยนในพื้นที่ใหม่ๆ ผ่านงานกิจกรรมดนตรี ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี ขายบัตรได้หมด คนประมาณ 75% ที่มาดูเขาก็รู้สึกเข้าใจ จึงพิสูจน์ว่าดนตรีสามารถเชื่อมโยงให้คนเข้าใจวิถีชีวิตของกลุ่มปกาเกอะญอขึ้นได้ และจุดนี้เองที่ทำให้เรามองเห็นถึงความเป็นไปได้ของการนำเสนอดนตรีชนเผ่าสู่โลกภายนอก

เครื่องดนตรีชิ้นสุดท้ายบนโลกของชาวมานิ

ชาวมานิ ในป่าภูผาเพชร เป็นอีกกลุ่มชนพื้นเมืองที่เรามีความประทับใจ พวกเขาอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นของจังหวัดสตูล ซึ่งกลุ่มชาวมานิเหลืออยู่ไม่กี่กลุ่ม พบได้ยากเพราะพวกเขาจะ Hob ไปเรื่อยๆระหว่างพื้นที่ป่าในสตูลกับพัทลุง ไม่มีได้การสร้างบ้านเป็นหลักมั่นคง บ้านของพวกเขาสร้างจากไม้และใบหญ้า สามารถทำเสร็จได้ภายใน 15 นาที

เมื่อเราได้สนทนากับเขาก็ทำให้ได้รู้อะไรหลายอย่างเช่น การที่คนนอกพื้นที่ชอบเรียกพวกเขาว่า เงาะป่า ชายชาวมานิตอบว่า พวกเขาไม่ใช่เงาะ เงาะเป็นผลไม้ พวกเขาคือชาวมานิ เป็นมนุษย์ และเรายังพบว่าพวกเขาก็มีภูมิปัญญาในเรื่องธรรมชาติที่ดีกว่าคนที่อยู่ในเมืองมาก ไม่ว่าจะความรู้เรื่องพรรณไม้ต่างๆ การทานสมุนไพรเพื่อรักษาตัว การฟังเสียงสัตว์ป่า รวมถึงทักษะในการใช้ชีวิตในป่าลึก

นอกจากนี้เรายังได้พบกับเครื่องดนตรีทำมือชื่อ ญะฮอง ของชาวมานิ ซึ่งเหลืออยู่ชิ้นเดียวในโลก น่าเสียดายที่เมื่อชาวมานิเล่นเพลงให้ทีมงานถ่ายไปได้ 4-5 เพลง ญะฮอง เกิดหักและพัง ซึ่งด้วยวัตถุดิบกับภูมิปัญญาที่ไม่ได้รับการถ่ายทอดต่อ ชาวมานิเองจึงไม่สามารถสร้าง ญะฮอง อันใหม่ขึ้นมาได้อีกแล้ว

ปัจจุบัน เม ศิรษา บุญมา นิยามตัวเองว่าเป็นนักออกแบบประสบการณ์การฟัง ส่วนเพจ Hear & Found จะช่วยให้คุณเห็นเสียงในวัฒนธรรมที่หลากหลาย ในแง่ของธุรกิจ ทีมงานของ Hear & Found มีเว็บไซต์ที่ขายเสียงในชุมชนต่างๆ ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะเสียงเพลงหรือดนตรี แต่ยังมี เสียงธรรมชาติ เสียงในสถานที่ต่างๆ(ระฆังวัด) เสียงทำอาหาร ฯ ขณะเดียวกันพวกเขาก็มีส่วนร่วมในการนำเสียงไปจัดแสดงในงานอีเวนท์ต่างๆ ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศให้น่าสนใจขึ้น และยังคงจัดงานดนตรีของชนเผ่าในพื้นที่ต่างๆอยู่เสมอ

“หูของเรามีความสามารถมาก หากเราใช้เวลากับหูในการฟังสิ่งต่างๆ ไม่ใช่แค่การได้ยิน ถ้าตั้งใจฟัง หูของเราจะใหญ่ขึ้น และฟังอะไรได้ลึกซึ้งมากขึ้น” เม ศิรษา บุญมา ผู้ก่อตั้ง Hear & Found

เรื่อง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

 

อ่านเพิ่มเติม โลกไม่อาจแบกรับไปกว่านี้ เข้าใจเรื่อง Nature-based Solution กับ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ การฟื้นฟูธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหาโลกสู่เรา

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.