ในอาคารสงเคราะห์เหล่านี้ ทุกพื้นที่คือเวทีสร้างสรรค์

เรื่อง เจเรมี เบอร์ลิน

ภาพถ่าย มาริอุช ยานิสเซฟสกี

สีที่ผนังหลุดลอก พื้นเต็มไปด้วยคราบสกปรก ตาข่ายห่วงบาสเกตบอลขาดรุ่ย และดูเหมือนว่าไม่มีใครสนใจ เด็กๆ ยังคงหัวเราะสนุกสนานระหว่างเล่นเกม พวกผู้ชายงีบกลางวัน ส่วนบางคนส่งเสียงเจื้อยแจ้วอยู่ที่ห้องโถง ในเมืองที่มีขึ้นชื่อว่ามีประชากรหนาแน่นที่สุดเมืองหนึ่ง ทุกชั้นของอาคารสงเคราะห์แห่งนี้เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา

นี่คือสิ่งที่ มาริอุช ยานิสเซฟสกี ช่างภาพชาวโปแลนด์ค้นพบเมื่อเขาเดินทางมาเยี่ยมชมโครงการอาคารสงเคราะห์ของรัฐบาล ใน Barangay 128 ของเขตทอนโด ในกรุงมะนิลา เมื่อปีที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวก่อสร้างขึ้นในปี ช่วงทศวรรษ 1990 ใกล้กับภูเขาสโมกกี้ ที่ซึ่งครั้งหนึ่งสถานที่แห่งนี้เคยเป็นแหล่งทิ้งขยะปริมาณมากกว่า 2 ล้านตัน ปัจจุบันอาคารสงเคราะห์เหล่านี้ยังคงเป็นบ้านของบรรดาอดีตคนงาน

เด็กผู้ชายคนหนึ่งสูบบุหรี่บนรถจักรยานที่ถูกดัดแปลงเป็นรถโดยสาร Bernardita Churchill นักประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์กล่าวว่า เป็นภาพหายากที่จะเห็นเด็กๆ สูบบุหรี่ในฟิลิปปินส์

ยานิสเซฟสกีเคยถ่ายสารคดีทั่วๆ ไป ในฟิลิปปินส์มาก่อน แต่คราวนี้เขามีเรื่องบางอย่างที่ค้างอยู่ในใจ “ผมอยากจะแสดงให้เห็นว่าชีวิตประจำวันในเมืองที่มีประชากรมหาศาลอย่างกรุงมะนิลา มันเป็นอย่างไร” เขากล่าว “และพวกเขาอยู่อาศัยกันอย่างไรในพื้นที่เปิดและตามบันได” ดังนั้นช่างภาพจึงไม่เลือกที่จะถ่ายภาพในหลากหลายมุม แต่เขากลับใช้วิธีการเฝ้ารออยู่ในมุมเดียวแทน เพื่อดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นเบื้องหน้า

แต่ละชั้นเหมือน “เวทีที่ถูกออกแบบมาเหมือนกัน” เขากล่าว แต่เพียงไม่นานแต่ละเวทีก็เปิดเผยเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป : ผู้หญิงลุกขึ้นมาทำอาหาร, ผู้ชายเล่นพนัน, เด็กๆ เล่นการ์ดเกม ยานิสเซฟสกีเดินทางไปยังสถานที่แห่งนี้ในแต่ละสัปดาห์เพื่อบันทึกฉากของครอบครัว, เพื่อนฝูง และเพื่อนบ้านเหล่านี้เอาไว้

เด็กๆ เล่นการ์ดเกม โดยใช้เส้นพาสต้าแห้งแทนเงิน ช่างภาพกล่าวว่าการเล่นพนันเป็นกิจกรรมปกติที่พบได้ทั่วไปในกรุงมะนิลา

Mary Racelis นักมานุษยวิทยาสังคมจากมหาวิทยาลัยอเทนิโอ เดอ มะนิลา กล่าว ความเป็นชุมชนคือกุญแจสำคัญของสถานที่อย่างเขตทอนโด ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่อาศัยเพียงแค่ชั่วคราว พวกเขาถูกเรียกว่า ผู้เร่ร่อนในเมืองใหญ่ พวกเขาคือพลเมืองชั้นสองที่มักจะถูกปฏิเสธจากการจ้างงาน ไม่มีบ้านและไม่สามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานได้

“เป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ที่ผู้คนเหล่านี้พยายามจัดตั้งเครือข่ายเพื่อช่วยให้พวกเขาเอาชีวิตรอดและแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ได้” เธอกล่าว ด้วยความช่วยเหลือจาก NGO และพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย ที่ช่วยให้เสียงของพวกเขาในการเรียกร้องสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นดังให้ได้ยิน

อะไรคือสิ่งสำคัญ เธอกล่าวเสริม สิ่งนั้นคือสถานที่ตั้ง, ที่ตั้ง และที่ตั้ง เมืองเป็นศูนย์รวมของการจ้างงาน ดังนั้นแล้วใครก็ตามที่ถูกย้ายที่อยู่ไปตามนโยบายของรัฐบาล จะพบว่าพวกเขาไม่สามารถเอาตัวรอดในที่ใหม่ได้ มีงานหลายงานในปัจจุบันที่อยู่นอกระบบ ในจำนวนนี้รวมถึงการค้ายาเสพติดซึ่งเป็นปัญหารุนแรงของกรุงมะนิลา ดังนั้นแล้วสำหรับบุคคลทั่วๆ ไป การมีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมหรือวิทยาลัยจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

หากตัดเรื่องวุฒิการศึกษาออกไป ผู้อยู่อาศัยใน Barangay 128 ไม่ได้ขาดแคลนคุณสมบัติที่มีคุณค่าอย่างความหวังและความยืดหยุ่นในจิตใจ

สิ่งสำคัญเหล่านี้ถูกแสดงออกมาผ่านภาพถ่าย ซึ่งยานิสเซฟสกีกล่าวว่า “แม้ชีวิตจะไม่สมบูรณ์ แต่ผู้คนเหล่านี้สนุกสนานไปกับชีวิต พวกเขามีรอยยิ้มประดับอยู่บนใบหน้าเสมอ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผมชื่นชมพวกเขามาก”

บนบันไดที่มืดสลัว เด็กชายและเด็กหญิงเกาะกลุ่มกันเล่นเกมจากตู้เกมเครื่องเก่า “ตู้เกมเก่าตู้นั้นหาได้ยากมาก” ยานิสเซฟสกีกล่าว “ไม่แปลกใจเลยที่มันดึงดูดเด็กๆ จำนวนมาก”
Jomal Sulam นั่งอยู่บนรถวีลแชร์ เด็กชายอายุ 15 ปีรายนี้เป็นอัมพาตในสมอง เพื่อนๆ รายล้อมรอบตัวเขา Jomal อยากเป็นนักกีฬาบาสเกตบอล ดังนั้นแล้วทุกๆ วัน พ่อของเขาจะพาไปที่สนามยาสเกตบอลเพื่อดูผู้คนเล่นบาสและฝึกบาสให้แก่เขา
ที่ร้านเย็บปะผ้า หญิงคนหนึ่งกำลังปะผ้าให้กับลูกค้าของเธอที่กำลังยืนรออยู่ “บางคนอยู่ที่นี่มา 30 – 40 ปี” Mary Racelis นักมานุษยวิทยาสังคมกล่าว “พวกเขาผูกพันกับสถานที่แห่งนี้ และเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายในชุมชน”
ผู้คนใน Barangay 128 มีรอยยิ้มอยู่เสมอ ยานิสเซฟสกีกล่าว โถงหน้าบันไดคือพื้นที่สำหรับเล่นและจอดจักรยาน เด็กหญิงคนหนึ่งนั่งอยู่บนเก้าอี้ ตรวจเช็คเส้นผมของตนเองก่อนตัดแต่งทรงใหม่
ผู้คนจำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่ที่นี่ทำงานในตอนกลางคืน ดังนั้นแล้วระหว่างวันพวกเขาจะงีบหลับ ซึ่ง Churchill กล่าวว่า การงีบหลับในตอนกลางวันเป็นเรื่องทั่วไปที่พบได้ในฟิลิปปินส์
กิจกรรมชนไก่กลางโถงทางเดิน กีฬาชนไก่เนกีฬายอดนิยมในฟิลิปปินส์ แต่จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ วันหยุด หรือช่วงเทศกาลเท่านั้น

 

อ่านเพิ่มเติม : สินค้าที่ “ผลิตในจีน” จริงๆแล้วผลิตที่ไหนวิถีชีวิตของชนเผ่าที่เปลี่ยนไปเพราะเขื่อน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.