ยุคใหม่วัยชรา – ถอดบทเรียน สังคมผู้สูงอายุ ญี่ปุ่น รับมือคนแก่เต็มประเทศ

ญี่ปุ่นเป็นผู้นำโลกด้านการปรับตัวรับ สังคมผู้สูงอายุ ประชากรที่กำลังสูงวัยและหดตัวลงอย่างรวดเร็ว

สังคมผู้สูงอายุ – เช้าวันเสาร์ที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝนในอิวาเสะ เมืองท่าอันเงียบสงบริมอ่าวโทยามะบนเกาะใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ถนนหนทางร้างไร้ผู้คน จวบจนใกล้ถึงเวลานัดหมาย

หญิงสูงวัยคนหนึ่งโผล่หน้าจากประตูบ้าน และมองไปตามถนนสายหลักที่มีอาคารไม้เตี้ยๆ แบบดั้งเดิม เรียงรายอยู่ อีกคนหนึ่งเดินกระย่องกระแย่งไปตามตรอกแคบๆ ไม่กี่นาทีต่อมา รถบรรทุกเล็กๆ สองคันก็แล่น เข้ามาจอด

บริเวณนั้นพลันมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที พนักงานสวมเสื้อกั๊กสีส้มห้าคนปรากฏตัวขึ้นและทำนั่นนี่ไม่หยุด ทั้งตั้งกรวยจราจร แจกตะกร้าใส่สินค้า และขอโทษขอโพยยกใหญ่ที่เปลี่ยนจุดจอดร้านชำเคลื่อนที่โทกุชิมารุห่างจาก จุดประจำไปหนึ่งหรือสองเมตร พวกเขาขนของชำจากรถคันแรกไปคันที่สอง ซึ่งแปลงร่างเป็นร้านค้าขนาดจิ๋วอย่าง มีประสิทธิภาพ โดยมีชั้นวางสินค้าที่กางออกได้พร้อมด้วยกันสาดสีแดง ทางซ้ายเป็นตู้แช่ปลาและเนื้อที่แบ่งเป็นชิ้นๆ โยเกิร์ต ไข่ และอาหารสดอื่นๆ พืชผักอยู่ทางขวา ขนมและขนมปังกรอบอยู่ด้านหลัง ลูกค้าราวห้าหกคนซึ่งเป็นหญิงสูงวัยทั้งหมดเดินเก้ๆ กังๆ ไปรอบรถ

มิวาโกะ คาวากามิ วัย 87 หลังค่อมและไว้ผมบ๊อบ ส่งไม้เท้าให้พนักงานคนหนึ่งและรับตะกร้าใบเล็กไป เธอซื้อกระเทียมต้น แคร์รอต หัวหอมสามหัว และนมหนึ่งกล่อง คาวากามิอาศัยอยู่ตามลำพังหลังวัดใกล้ๆ “ที่นี่เคยมีร้านรวงอยู่หลายร้านค่ะ แต่เลิกกิจการไปหมดแล้ว” เธอบอก “ทั้งแผงผัก แผงปลา ปิดกันไปหมดเมื่อสักห้าปีก่อน” เธอเดินยักแย่ยักยันข้ามถนนไปหาเพื่อนบ้านวัย 86 ที่มาช่วยหิ้วของให้

สังคมญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนแปลงไปในหลายแง่มุม เมื่อประชากรของประเทศอายุมากขึ้น ชิกาโยชิ กอนดะ วัย 97 ทำเกี๊ยวที่เรียกว่า โอยากิ ขณะที่ฮารูมิ โอคูโบะ วัย 80 บรรจงห่ออย่างประณีต อายุเฉลี่ยของพนักงานในร้านอาหาร ที่ทั้งคู่ทำงานอยู่ตอนนี้คือ 70 ปี
ที่เมืองอิบูซูกิริมทะเลทางตะวันตกเฉียงใต้ เหวียนถิงาและเจริ่นถิเมี่ยน ซึ่งมาจากเวียดนามทั้งคู่ ทำงานที่มิฟูกูซุยซัน บริษัทผลิตปลาโอแห้งขูด ซึ่งเป็นเครื่องปรุงรสพื้นฐานในการทำอาหารญี่ปุ่น ประธานบริษัทบอกว่า พนักงานฝึกหัดชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ญี่ปุ่นเป็นเวลาห้าปีเช่นพวกเธอ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในปัจจุบัน

อิวาเสะเหลือคนน้อยแล้ว หนุ่มสาวพากันจากไป คนที่ยังอยู่นับวันมีแต่จะแก่ตัวลง พลวัตเช่นนี้กำลังเกิดขึ้น ทั่วญี่ปุ่นเมื่ออัตราการเกิดยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดหลายสิบปี จำนวนประชากรญี่ปุ่นถึงจุดสูงสุดเมื่อปี 2010 ที่ 128 ล้านคน ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 125 ล้านคน และคาดว่าจะหดตัวลงต่อไปตลอดสี่ทศวรรษข้างหน้า ในเวลาเดียวกัน ประชากรญี่ปุ่นก็มีอายุยืนยาวขึ้น เฉลี่ย 87.6 ปีสำหรับผู้หญิง และ 81.5 ปีสำหรับผู้ชาย หากไม่นับดินแดนเล็กๆ อย่างโมนาโก ต้องถือว่าประชากรญี่ปุ่นในปัจจุบันสูงอายุที่สุดในโลก

ตัวเลขเหล่านี้แม้จะเห็นชัดเจนทนโท่ กลับไม่สะท้อนความลึกล้ำของการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรดังกล่าว ที่กำลังดำเนินไปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ส่วนผสมที่มีสัดส่วนผิดปกติมากขึ้นทุกทีของการมีผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ และมีคนหนุ่มสาวน้อยลงเรื่อยๆ ได้เปลี่ยนชีวิตในญี่ปุ่นไปแล้วทุกมิติ ตั้งแต่สิ่งที่เห็นได้ทางกายภาพไปจนถึงนโยบายทางสังคมต่างๆ กลยุทธ์การทำธุรกิจถึงตลาดแรงงาน พื้นที่สาธารณะถึงบ้านส่วนตัว ญี่ปุ่นกำลังกลายเป็นประเทศที่ออกแบบ มาเพื่อผู้สูงอายุและเป็นของผู้สูงอายุ

สิ่งที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญคือลางบอกเหตุถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก แนวโน้มเดียวกันกำลังดำเนินไป ในจีน เกาหลีใต้ อิตาลี และเยอรมนี เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา แม้จะในอัตราที่ช้ากว่าก็ตาม โลกมาถึงหมุดหมาย อันน่ากังวลนี้ตั้งแต่ห้าปีที่แล้ว เมื่อผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไปมีจำนวนมากกว่าเด็กอายุต่ำกว่าห้าขวบเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์

ฮิโรมุ อินาดะ วัย 89 ฝึกซ้อมที่โรงยิมในชิบะ เขาลงแข่งไตรกรีฑา 66 ครั้งตั้งแต่อายุ 70 เมื่อปี 2018 อินาดะกลายเป็นนักไตรกรีฑาอายุมากที่สุดที่เข้าร่วมการแข่งขันรายการคนเหล็กโลก (Ironman World Championship)
ฟูมิเอะ ทากิโนะ (คนหน้าสุด) คือผู้ก่อตั้งและด้วยวัย 90 ปี จึงเป็นสมาชิกสูงอายุที่สุดของทีมเชียร์ลีดเดอร์อาวุโส เจแปนปอมปอมในโตเกียว เธอฝึกซ้อมสัปดาห์ละครั้งมาตลอด 26 ปี “สิ่งสำคัญคือการเป็นตัวของตัวเองและทำสิ่ง ที่เราอยากทำค่ะ” เธอบอก “อายุไม่เกี่ยวเลย”

หากดูจากญี่ปุ่น ความชราจะเปลี่ยนโครงสร้างสังคมในแบบที่ทั้งชัดเจนและค่อยเป็นค่อยไป โดยจะสร้างภาระมหาศาลที่รัฐบาลต่างๆ ต้องดิ้นรนหางบประมาณมาจ่าย การรับมือกับความท้าทายดังกล่าวจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อนาคตใช่จะต้องดิ่งลงเหวเสมอไป ประสบการณ์ของญี่ปุ่น เมื่อผสานกับความใส่ใจในรายละเอียดและการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชี้ว่า ความชราชนิดสุดขั้ว หรือโลกที่ประชากรสูงอายุมีสัดส่วนสูงขึ้นเรื่อยๆ อาจบันดาล ให้เกิดยุคแห่งนวัตกรรมขึ้นก็ได้

เมื่อปี 2020 รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นเปิด “ห้องปฏิบัติการมีชีวิต” แปดแห่งที่มุ่งพัฒนาหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ ทว่าในบางแง่มุม ญี่ปุ่นทั้งประเทศก็เป็นห้องปฏิบัติการมีชีวิตขนาดใหญ่ห้องหนึ่งที่กำลังดิ้นรนกับ ผลกระทบจากการกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วอยู่แล้ว การทดลองนับไม่ถ้วนกำลังเกิดขึ้นในภาคธุรกิจ แวดวงวิชาการ และชุมชนต่างๆทั่วญี่ปุ่น โดยทั้งหมดมุ่งทำให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพดีนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และแบ่งเบาภาระในการดูแลกลุ่มคนที่อ่อนแอที่สุดในสังคมไปพร้อมกัน

โอซามุ ยามานากะ มีภารกิจป้องกันการเสียชีวิตตามลำพัง นายแพทย์วัย 67 ผู้นี้ออกจากคลินิกในโยโกฮามะ ของตนสัปดาห์ละหลายครั้ง เพื่อออกตรวจคนไข้วัยบำนาญที่อยู่ตามลำพังในห้องเช่าเดี่ยวคร่ำคร่าในโคโตบุกิโจะ ย่านหาเช้ากินค่ำที่เกิดขึ้นในช่วงกระแสนิยมก่อสร้างยุคหลังสงครามเพื่อเป็นที่พักของแรงงานรายวัน และปัจจุบันเป็น ที่พักพิงของผู้สูงอายุที่กินบำนาญ และ “ผู้หลบหนีจากพันธะทางสังคมด้วยเหตุผลบางประการ” ตามที่ยามานากะบอก อาจเป็นผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยจิตเวช หรืออดีตนักโทษ

ในหมู่บ้านที่ประชากรหดหายอย่างนาโกโระบนเกาะชิโกกุ ชิโนบุ โอกูระ วัย 79 ทำความสะอาดโรงเรียนประถมที่ว่างเปล่า นักเรียนกลุ่มสุดท้ายเย็บตุ๊กตาเป็นตัวแทนของพวกเขา สึกิมิ อายาโนะ ชาวเมืองวัย 72 เย็บตุ๊กตาครูใหญ่ เธอเพิ่มจำนวนประชากรให้นาโกโระ ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 25 คน ด้วยตุ๊กตาหลายร้อยตัว
ที่บ้านพักคนชราแอ็กตีวาบิวะในเมืองอตซุซึ่งอยู่ใกล้เกียวโต ตกค่ำ หุ่นยนต์จะเปิดประตูห้องแต่ละห้องเบาๆ เพื่อตรวจสอบผู้พักอาศัย หากพบสิ่งผิดปกติ มันจะส่งภาพไปแจ้งผู้ดูแล บ้านพักคนชราจำนวนมากกำลังทดลองใช้เทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อลดความต้องการพนักงานลง

ที่จุดแวะหนึ่งซึ่งยามานากะเยี่ยมเยียนเป็นบ้านของเซจิ ยามาซากิ อดีตคนงานก่อสร้างวัย 83 ยามานากะ ไม่ขึ้นลิฟต์ตามนิสัยส่วนตัว เขาหอบกระเป๋าสีดำเก่าๆที่เคยเป็นของบิดาผู้เป็นแพทย์ เดินอย่างมุ่งมั่นขึ้นบันไดเจ็ดช่วงโดยไม่หยุดพัก คนไข้ของเขานอนอยู่บนเตียงพยาบาล มือข้างหนึ่งกำแน่นถาวร ในห้องแคบๆนั้น นอกจากเตียง ตู้เย็นใบจิ๋ว ไมโครเวฟ และตุ๊กตาสะสมชุดวินนีเดอะพูห์แล้ว ก็แทบไม่มีอะไรอีก

“ผมหน้ามืดครับ” เขาบอกหมอ “ความดันโลหิตผมเป็นไงบ้างครับ” ยามานากะวัดสัญญาณชีพของผู้ป่วยติดเตียงรายนี้และรับรองว่าจะตรวจยาที่จ่ายให้อีกครั้ง และอ่านสมุดเยี่ยม มีเจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพแวะมาทุกวัน เพื่อส่งอาหาร ดูแลเรื่องยา และเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ด้วย

ระบบประกันสุขภาพระยะยาวของญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในระบบที่ใจกว้างที่สุดในโลก และครอบคลุมสิ่งที่ยามาซากิต้องการครบถ้วน เมื่อเทียบกับคนในประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ คนญี่ปุ่นได้รับสิทธิประโยชน์ดีกว่าที่จ่ายภาษีและ เบี้ยประกันมาก โครงการให้เงินอุดหนุนค่าดูแลสุขภาพวัยชราร้อยละ 70 ถึง 100 ขึ้นอยู่กับรายได้ ก่อนนำระบบดังกล่าวมาใช้เมื่อปี 2000 ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลและอยู่ที่นั่นจนเสียชีวิต ตอนนี้พวกเขามีแนวโน้มจะตายที่บ้าน “ไม่มากก็น้อยนะครับ” ยามานากะบอก “เราน่าจะเป็นประเทศสังคมนิยมที่ก้าวหน้าที่สุดในแง่สวัสดิการ ทางการแพทย์ครับ”

แต่ระบบดังกล่าวกำลังเผชิญแรงกดดัน ตอนนี้ ผู้บริบาลหรือคนดูแลผู้สูงวัยขาดแคลนอยู่แล้ว รัฐบาลประมาณการว่าญี่ปุ่นจะต้องการบุคลากรด้านนี้เพิ่มอีก 700,000 คนภายในปี 2040 ทางออกที่เสนอมีอาทิเพิ่มค่าตอบแทน การจ้างคนวัยเกษียณและอาสาสมัคร ส่งเสริมการบริบาลให้เป็นอาชีพ การพึ่งพาหุ่นยนต์ และประการสุดท้ายที่มีแนวโน้มจะเป็นหนทางสุดท้ายจริงๆ คือการนำเข้าแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น ผู้อพยพจากประเทศต่างๆ เช่น เวียดนามและฟิลิปปินส์ ทำงานในบ้านพักคนชราอยู่แล้ว แต่มีข้อจำกัดด้านจำนวนวีซ่าที่ออกให้แรงงานมีทักษะ ความโดดเดี่ยวแบบชาวเกาะของญี่ปุ่นผนวกกับความยากลำบากของการเรียนภาษา ทำให้การเติมเต็มช่องว่างด้านแรงงานบริบาลจากต่างชาติไม่ใช่เรื่องง่าย

คาซูโกะ โคริ วัย 89 คุยกับเทเลนอยด์ที่ยูเมะพาราทิส บ้านพักคนชราในอามางาซากิ เมืองใกล้โอซากะ ผู้ดูแลจะพูดผ่านหุ่นนี้จากระยะไกล แอนดรอยด์หรือหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อใช้กระตุ้นการสนทนากับผู้มีภาวะความจำเสื่อม
เกนยู ไดโตะ วัย 64 หัวหน้าสงฆ์แห่งบันโชจิ วัดพุทธในนาโงยะ สวดมนต์ในสถานเก็บอัฐิซึ่งไฟจะสว่างรอบช่องเก็บอัฐิที่ถูกเลือกด้วยบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์ ทางเลือกใหม่ๆ ในการทำศพได้รับความนิยมมากขึ้น สวนทางกับธรรมเนียมฝังศพในสุสานของครอบครัว

ขณะเดียวกัน ต้นทุนของสิทธิประโยชน์ต่างๆก็สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายประกันสังคม ซึ่งรวมถึงการสาธารณสุข การดูแลสุขภาพระยะยาว และบำนาญ ซึ่งเพิ่มขึ้นสามเท่าจากปี 1990 ถึง 2022 เป็นภาระทางการเงินที่ทำให้รัฐบาลต้องก่อหนี้ “ระบบสากลที่เรานำมาใช้ให้สิทธิประโยชน์มากมาย และคนก็เคยชินแล้วครับ” ฮิโรตากะ อูนามิ ผู้ช่วยอาวุโสของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ บอกและเสริมว่า “เพื่อรักษาสิ่งนี้ เราต้องฟื้นฟูสมดุลระหว่างผลประโยชน์กับภาระ ไม่อย่างนั้นมันจะไม่ยั่งยืนหรอกครับ”

เขาบอกว่าทางออกมีสี่ทาง นั่นคือ เร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างแรงจูงใจให้ผู้หญิงและผู้สูงอายุทำงาน มากขึ้น ขึ้นภาษีการบริโภค [consumption tax เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม] และคุมค่าใช้จ่ายด้านประกันสังคม “เป้าหมายคือการทำให้ผู้สูงอายุเป็นผู้ให้แก่สังคมมากกว่าเป็นผู้รับครับ” อูนามิบอก

วิธีการเหล่านี้ล้วนเป็นงานยาก การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่อาจควบคุมให้เป็นไปได้อย่างใจนึก การขึ้นภาษีไม่ได้รับความนิยม ญี่ปุ่นต้องใช้เวลาถึงห้าปีจึงขึ้นภาษีการบริโภคจากร้อยละแปดเป็นร้อยละ 10 ได้ ผู้หญิงญี่ปุ่นอายุต่ำกว่า 64 ปีกว่าร้อยละ 70 ก็ทำงานอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นงานพาร์ตไทม์ เพราะมีทางเลือกในการดูแลบุตรน้อย และขาดแรงจูงใจทางการเงิน รวมถึงยังได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชายด้วย

รัฐบาลกำลังพยายามขยายเวลาเกษียณอายุจาก 65 ปีออกไป และคนก็กำลังมีชีวิตการทำงานที่ยาวนานขึ้น เมื่อปี 2021 บริษัทญี่ปุ่นกว่าหนึ่งในสามอนุญาตให้คนทำงานได้จนอายุเกิน 70 ปี เทียบกับปี 2016 มีเพียงร้อยละ 21 ที่ยินยอม ข้อมูลด้านประชากรไม่เปิดให้มีทางเลือกอื่น ภายในปี 2050 คาดว่าประชากรญี่ปุ่นเกือบร้อยละ 38 จะมี อายุ 65 ปีขึ้นไป สร้างแรงกดดันมหาศาลต่อภาคแรงงานที่ต้องดูแลประชากรเหล่านั้น

“ฉันไม่คิดว่าเราได้คำตอบที่ดีนะคะ” ซากิริ คิตาโอะ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว บอกและเสริมว่า “พูดตามตรง มันสายเกินไปแล้ว พวกนักการเมืองไม่อยากพูดเรื่องการลดผลประโยชน์ค่ะ”

เรื่อง ซาราห์ ลับแมน
ภาพถ่าย โนริโกะ ฮายาชิ
แปล ศรรวริศา เมฆไพบูลย์

ติดตามสารคดี ยุคใหม่วัยชรา ฉบับสมบูรณ์ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2566

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/579020


อ่านเพิ่มเติม ทำไมคนเราต้อง “แก่” – คำตอบมีรายละเอียดมากมาย อย่างไรก็ตาม เราลดความแก่ได้ด้วยวิธีการใช้ชีวิตของเรา

ความแก่
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.