หลังอุทิศเวลา 10 ปีที่ผ่านมาของชีวิตให้การเดินข้ามโลก บางครั้งผมถูกถามว่า “ถ้ามองจากระดับพื้นดินที่คุณ ก้าวเดิน เรื่องใหญ่ๆ ในยุคสมัยของเราดูเป็นอย่างไรบ้าง” หรือ “การเดินทำให้คุณประเมินเหตุการณ์ปัจจุบันเปลี่ยน ไปไหม” หรือ ชีวิตเรียบง่าย กว่านั้น ซึ่งมักเป็นพวกเด็กนักเรียนที่ถาม ก็คือ “มีอะไรนึกไม่ถึงบ้างไหม”
บางคำถามผมตอบได้ง่ายๆ คำตอบพวกนั้นเต้นตุบๆอยู่ในเนื้อตัวผม ตลอดการเดินมากกว่า 25 ล้านก้าว ที่ผ่านมา หรือกว่า 19,000 กิโลเมตรบนเส้นทางข้ามโลก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมองจากย่างก้าวความเร็วในการเดิน ห้ากิโลเมตรต่อชั่วโมง ผมยืนยันได้ว่า โฮโม เซเปียนส์ เปลี่ยนระบบนิเวศของโลกไปอย่างสุดขั้วถึงขนาดที่ว่าเราน่าจะต้องทนทุกข์เพราะนอนไม่หลับกันถ้วนหน้า ใช่เพียงเพราะความสำนึกผิดทั้งหลาย แต่เพราะหวาดกลัวอย่างแท้จริงด้วย ส่วนความอยุติธรรมซึ่งกัดกินใจที่สุดที่ผมพบพานอย่างใกล้ชิดในทุกวัฒนธรรมมนุษย์ที่ผมย่ำผ่านนะหรือ ตอบได้ง่ายมาก นั่นก็คือโซ่ตรวนที่พวกผู้ชายใช้พันธนาการศักยภาพของผู้หญิงอย่างโหดร้ายตามอำเภอใจ (ใครเล่าที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าที่ควร ใครที่มักด้อยการศึกษา ตื่นมาทำงานหนักแต่เช้าก่อนใคร และได้นอนเป็นคนสุดท้าย) ขณะเดียวกัน ความกังวลเรื่องสภาพภูมิอากาศก็คอยหลอกหลอนอยู่ในการสนทนาริมทางกับผู้คน ตั้งแต่ชาวไร่ชาวคาซัครุ่นย่ายายไปจนถึงกองโจรติดอาวุธชาวเคิร์ด
แต่ยังมีการพัฒนาที่คาดไม่ถึงอีกอย่างของมนุษย์ซึ่งอาจสะเทือนใจไม่แพ้กันที่ผมพานพบในโครงการนี้ นั่นคือการเดินทางอย่างเนิบช้าเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เรียกว่า เดินเท้าท่องโลกออกจากอีเดน (Out of Eden Walk) มีเป้าหมายเพื่อตามรอยเส้นทางอพยพออกจากแอฟริกาของบรรพบุรุษของเราในยุคหิน นั่นก็คือการสาบสูญไปของบรรดาภูมิทัศน์ที่ก่อร่างสร้างจากน้ำพักน้ำแรงของมนุษย์ หลังดำรงอยู่มาหลายพันปี
ในที่นี้ผมหมายถึงบรรดาซอกมุมต่างๆ ที่กำลังเลือนรางไปของโลกที่มีมนุษย์อาศัยและยังไม่ถูกพิชิตหรือเปลี่ยนโฉมไปตามความต้องการของจักรกลต่างๆ ของพวกเรา ซึ่งผมขอเรียกว่า โลกที่สร้างด้วยมือ ความย้อนแย้งของเรื่องนี้มีอยู่ว่า ภูมิทัศน์เก่าแก่ที่มนุษย์สร้างมากับมือเช่นนี้มักไม่สะดุดตา แม้เมื่ออยู่ตรงหน้า กว่าผมจะประจักษ์ถึงการมีอยู่ของมันจริงๆ ก็เมื่อตระหนักได้ว่า มันไม่มีให้เห็นแล้ว ดินแดนสุดพิเศษเหล่านี้เพียงผุดขึ้นรางๆ ในสำนึก ของผม ทันทีที่ย่างก้าวเข้าสู่สังคมที่พัฒนาเป็นอุตสาหกรรมอันบ้าคลั่งที่สุดในโลก นั่นคือประเทศจีน ชาติที่ 18 ในเส้นทางของผม หรือโรงงานของโลก อย่างที่เรียกกัน
ผมไม่เคยเหยียบย่างเข้าไปในจีนมาก่อน เช่นเดียวกับผู้มาเยือนจำนวนมาก ในหัวผมมีแต่ภาพจำชุดเดิมๆ ของอภิมหานครพลุกพล่านวุ่นวาย รถไฟหัวกระสุนที่ตรงเวลา ห้างร้านสว่างจ้า และเมืองท่าหุ่นยนต์ รวมๆเป็นสังคมขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรกลอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทุ่มสุดตัวเพื่อสนองความหิวกระหายขั้นมโหฬารของมนุษยชาติ ที่จะมีโทรศัพท์มือถือ ของเล่นพลาสติก แผงโซลาร์ เสื้อผ้า และสิ่งของอื่นๆ จากอุตสาหกรรมการผลิตจำนวนมาก
ภาพเหมารวมส่วนใหญ่ของรังผึ้งคอนกรีตนี้เป็นเรื่องจริง ธรรมชาติและใครที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ ย่อมเป็นผู้ปราชัยในยุคเฟื่องฟูของจีน ซึ่งเป็นสาเหตุว่าทำไม ระหว่างที่ผมแบกเป้อยู่ในมณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2021 ขณะมุ่งหน้าขึ้นเหนือจากชายแดนติดกับเมียนมา เพื่อตั้งต้นออกเดินในเส้นทาง 5,950 กิโลเมตร ผ่านราชอาณาจักรกลาง หรือจีนอย่างที่รู้จักกันในยุคโบราณ ไปยังรัสเซียนั้น ผมจึงถึงกับงงงัน เมื่อพบว่าตัวเองพเนจรเข้าสู่ภูมิประเทศที่ดูราวกับลอยออกมาจากม้วนหนังสือจีนยุคกลาง
ถนนหนทางเล็กแคบในยูนนานทอดตัวเหมือนเส้นบรรทัดของโน้ตดนตรี ตัดผ่านภูมิทัศน์ที่ก่อรูปโดยแรงงาน ที่มีชีวิต บรรดาบ่อน้ำที่ตกแต่งด้วยหิน สวนแอปเปิ้ล ทิวเขาสีน้ำเงินไกลโพ้น ทุกก้าวย่างให้ความรู้สึกคุ้นเคยอย่าง ไม่น่าเป็นไปได้ ราวกับผมกำลังก้าวเท้าเข้าสู่บ้านที่น่าจะเก่าแก่ที่สุดหลังแล้วหลังเล่า
ถนนสายแรกที่ผมย่ำเดินในยูนนานเป็นถนนที่ปูด้วยมือ และสร้างขึ้นมาเพราะสงครามใกล้กับชายแดนยูนนาน- เมียนมา ในหมู่บ้านหยูส่าน ผมเดินหลบหลีกเหล่าหญิงชายที่แต่งกายเหมือนพนักงานโรงพยาบาลสวมผ้ากันเปื้อน พวกเขากำลังเก็บดอกดาวเรืองสีเหลืองในทุ่งกว้างหลายไร่ ดอกไม้พวกนี้ใช้ทำน้ำมันหอมระเหย กลีบร่วงหล่นนับล้านล้านกลีบปกคลุมถนนจนเป็นสีทอง ถนนเส้นนี้เป็นส่วนที่อยู่ในฝั่งจีนของทางลัดสายเก่าชื่อถนนเถิงชง ซึ่งเป็นสาขาของถนนพม่า (Burma Road) อันอื้อฉาวที่ชายหญิงและเด็กๆชาวยูนนาน 200,000 คนสร้างขึ้นด้วยความทุกข์ยาก
แปดสิบหกปีก่อน กองทัพพลเรือนที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำตลอดเจ็ดวันต่อสัปดาห์เพื่อแผ้วถางเส้นทางยาว 1,154 กิโลเมตรสำหรับรถบรรทุก ทอดผ่านภูมิประเทศฉ่ำฝน เต็มไปด้วยชะง่อนหิน และมาลาเรียชุกที่สุดในโลกเพื่อใช้ลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ อาหาร และเวชภัณฑ์ที่ขาดแคลนอย่างสาหัส เข้าไปในจีนที่อยู่ในสภาพง่อยเปลี้ยเเพราะสงคราม ผ่านทางประเทศพม่าที่อังกฤษปกครอง
ปัจจุบัน ถนนพม่าในพื้นที่ส่วนใหญ่ราดยางแล้ว เส้นทางสมัยสงครามเส้นนี้จมอยู่ใต้ทางหลวงคอนกรีตที่สั่นสะเทือนด้วยกระแสจราจร แต่ในแถบเนินภูเขาไฟรอบๆ เมืองเถิงชง มันยังส่ายสะบัดเหนือผืนดินเหมือนนางรำ ตัดผ่านบรรดาหมู่บ้านหลังคามุงกระเบื้อง ผืนนาข้าวที่เขียวยิ่งกว่าเขียว เมื่อเดินเลาะไปจนจดชุมทางสุดท้าย ถนนเหล่านี้ขาดลงเหมือนเส้นบนฝ่ามือเหี่ยวย่นของมนุษย์ เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นทั้งปวงในยูนนาน
ลองพินิจฝ่ามือของชาวนายูนนานดูเถิด มันกระด้างด้านหนา แข็งแกร่งดังค้อนดังคีม มองดูจอบของเธอที่เหวี่ยงขึ้นและสับลงบนยอดสันเขาสูงทางเหนือของเมืองต้าหลี่เก่า (ต้าหลี่กู่เฉิง) มืออันทรงพลังคู่นั้นกิจวัตรนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่ากี่ครั้งแล้ว เป็นหมื่นหรือเป็นแสน กระนั้น การเหวี่ยงจอบของหวังลิ่วซุ่ยแต่ละครั้ง ก็มีความเฉพาะตัวที่ไม่อาจลอกเลียนได้ เธอไม่ใช่เครื่องจักร ตลอดระยะเวลา 50 ปี เธอไม่เคยใช้เครื่องมือของเธอด้วยท่วงท่าซ้ำกันสักครั้ง ไร่นาแบบพอเพียงของเธอไม่สมบูรณ์ ใช้สายตากะเอา ดัดแปลงเครื่องมือจากสิ่งรอบตัว ตามวิถีดั้งเดิม และทำกันเองในครอบครัว
เหตุใดวิถีชีวิตเหล่านี้จึงยังเหลือรอดอยู่ในยูนนานเป็นเรื่องซับซ้อน ธรณีวิทยาช่วยอธิบายได้เพียงเศษเสี้ยวหนึ่ง แผ่นเปลือกโลกอินเดียกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียเคลื่อนมาชนกันทางตะวันตกฉียงใต้ของจีน แรงปะทะดันให้เกิดทิวเขาผุดขึ้นมาเป็นปราการกีดขวาง ช่วยชะลอคลื่นสึนามิแห่งการพัฒนาที่เปลี่ยนโฉมหน้าส่วนที่เหลือของประเทศให้เป็นอุตสาหกรรม ในทำนองเดียวกัน ภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยขุนเขาน้อยใหญ่ของยูนนานตะวันตกก็ช่วยฟูมฟักวัฒนธรรมที่หลากหลาย เกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ 56 กลุ่มของจีนยังคง ยืนหยัดอยู่ในยูนนาน
ผมพบเจอช่างซ่อมหม้อเร่ร่อนใกล้เทือกเขาเกาหลีก้ง คนหีบน้ำมันวอลนัตเปลือยอกในหุบเขาลู่เจียง คนกลั่นน้ำมันยูคาลิปตัสหยีตา [เพราะไอน้ำและควันไฟ] ตามแนวแม่น้ำนู่ และคนบดพริกแขนบึกบึนในเมืองเก่าต้าหลี่ ผมทักทายคนสานตะกร้าธรรมดาๆ คนคุมล่อบรรทุกสัมภาระ คนเก็บเห็ดป่า คนทอผ้าในลานบ้าน มือขวานผู้ชำนาญการฟันรังผึ้งจากต้นไม้อายุมากที่เป็นโพรง งานทำมือปรากฏอยู่ทุกแห่งหนบนเส้นทางคดเคี้ยวของผม
เรื่อง พอล ซาโลเพก
ภาพถ่าย โจวน่า และจีล ซาบรี
แปล อัครมุนี วรรณประไพ
ติดตามสารคดี โลกที่สร้างด้วยมือ ฉบับสมบูรณ์ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกรกฎาคม 2566
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/581775