เบื้องหลัง “Oppenheimer” สร้าง ระเบิดนิวเคลียร์ และ ประวัติศาสตร์ อีกครั้งอย่างไร

คริสโตเฟอร์ โนแลน ผู้กำกับชื่อดังแห่งวงการภาพยนตร์ได้ให้สัมภาษณ์กับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกว่าเขาตั้งใจที่จะไม่ใช้ CGI ในการถ่ายทำ และมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของออปเพนไฮเมอร์ออกมาให้ใกล้เคียงกับเรื่องที่เกิดขึ้นจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) มั่นใจว่าฉากการทดสอบทรินีตี (Trinity test) หรือการทดสอบระเบิดปรมาณูครั้งแรกในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่อง Oppenheimer จะเป็นหนึ่งในฉากที่ตราตรึงในใจของผู้ชม ฉากที่ผู้กำกับภูมิใจนำเสนอนี้อ้างอิงถึงการทดสอบแรงระเบิดของอาวุธปรมาณูลูกแรกซึ่งทั้งเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ นำโลกเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และแนะนำให้มนุษยชาติได้รู้จักกับภัยอันตรายจากอาวุธนิวเคลียร์ที่ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้

เช้าวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 1945 ระเบิดลูกที่ถูกใช้ในการทดสอบทรินีตีได้ระเบิดขึ้นไม่กี่วินาทีก่อนเวลาตีห้าครึ่ง แรงระเบิดของมันทำให้เกิดแสงสว่างวาบและคลื่นกระแทก (shockwave) แผ่กระจายออกไปหลายร้อยกิโลเมตร หลังจากนั้นเพียงเจ็ดนาที เมฆรูปเห็ดก็ก่อตัวสูงขึ้นไปบนฟ้ากว่า 11 กิโลเมตร ผลจากการทดลองในครั้งนั้นทำให้เกิดหลุมที่ลึกประมาณ 2 เมตรและกว้างมากกว่า 800 เมตร นอกจากนั้น ความร้อนขณะการระเบิดยังหลอมให้ทรายบริเวณรอบ ๆ ที่ตั้งระเบิดกลายเป็นผลึกแก้ว ซึ่งในเวลาต่อมาถูกตั้งชื่อตามชื่อการทดสอบว่าทรินิไทต์ (Trinitite) ผลลัพธ์แสนพรั่นพรึงของระเบิดลูกนี้เป็นสิ่งยืนยันว่าการทดสอบประสบความสำเร็จ และในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังจากนั้น สหรัฐอเมริกาก็ได้ปล่อยระเบิดปรมาณูอีกสองลูกลงที่เมืองฮิโรชิมะและนางาซากิเพื่อบังคับให้ญี่ปุ่นยอมแพ้และยุติสงครามโลกครั้งที่สอง

นักฟิสิกส์เชิงทฤษฎี เจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ ได้ไปบรรยายในหัวข้อ “ความคิดในวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม” ในกรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 1962 แม้ว่าเขาจะเป็นผู้คิดค้นระเบิดปรมาณู แต่ออปเพนไฮเมอร์ได้กลายมาเป็นคนที่ต่อต้านการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ที่รุนแรงกว่าเดิมอย่างยิ่ง อนุเคราะห์ภาพโดย STR, KEYSTONE/REDUX

ผลจากการกระทำและความขัดแย้งทางจริยธรรมที่เกิดจากการสร้างระเบิดพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งตามหลอกหลอน เจ โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) นักฟิสิกส์เชิงทฤษฎีผู้ทุ่มเทในการพัฒนาระเบิดร่วมกับทีมนักวิทยาศาสตร์ในโครงการแมนแฮตตัน (Manhattan Project) นั้นเป็นแก่นที่ภาพยนตร์เรื่อง Oppenheimer ตั้งใจจะนำเสนอ

การจำลองฉากการทดสอบทรินีตีขึ้นในการถ่ายทำ Oppenheimer  นั้น เป็นสิ่งที่แม้แต่โนแลน ผู้กำกับการแสดงและผู้เขียนบทชื่อดังที่สรรค์สร้างภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์มามากมายยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องท้าทาย ในการถ่ายทำ Tenet ซึ่งฉายเมื่อปี 2020 โนแลนเลือกที่จะนำเครื่องบินโบอิง 747 มาระเบิดจริง ๆ แทนการใช้ CGI หรือการใช้คอมพิวเตอร์จำลองภาพฉากนั้นขึ้น  ในครั้งนี้เขาจึงตัดสินใจที่จะไม่ใช้ CGI ในการสร้างฉากต่าง ๆ ใน Oppenheimer โดยเขาได้ให้เหตุผลผ่านการสัมภาษณ์กับทางเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกไว้ว่า “มันจะทำให้ผู้ชมไม่รู้สึกถึงอันตรายของระเบิดเท่าที่ควร”

ฉากการทดสอบทรินีตีในหนังเรื่องนี้ต้องสามารถถ่ายทอดสิ่งที่ออปเพนไฮเมอร์กระทำต่อโลกใบนี้ได้ และยังต้องสร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้ชมอีกด้วย มันจะต้องสื่อถึงความอันตรายของระเบิดที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย และต้องเป็นฉากที่ถ่ายทอดความงดงามน่าเกรงขาม แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกสะเทือนขวัญของการระเบิดได้”

ความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เพิ่มความท้าทายให้กับการผลิตภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่อง ซึ่งประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการวิจารณ์และการจับผิดข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์  ยกตัวอย่างเช่น ผู้ชมจำนวนหนึ่งชี้ให้เห็นว่าธงชาติสหรัฐฯ ที่ใช้ในเรื่อง Oppenheimer มีดาว 50 ดวงทั้ง ๆ ที่ในสมัยนั้นยังใช้ธงชาติแบบดาว 48 ดวงอยู่ อย่างไรก็ดี โนแลนได้กล่าวไว้ว่าเป้าหมายของเขาคือการสร้างภาพยนตร์ที่ใช้ทุนกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐเรื่องนี้ให้มีความถูกต้องแม่นยำตามประวัติศาสตร์ โดยปราศจากการล้อเลียนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต

 การค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพื่อนำมาสร้างเป็นเรื่องราว

นอกจาก Oppenheimer จะเล่าเรื่องเกี่ยวกับการแข่งขันเพื่อพัฒนาระเบิดปรมาณูลูกแรกขึ้นแล้ว ในภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเล่าถึงเส้นทางชีวิตของ เจ โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ ซึ่งรับบทโดยคิลเลียน เมอร์ฟี (Cillian Murphy) ความเจ็บปวดจากการเป็นผู้สร้างอาวุธที่สามารถทำลายล้างมนุษย์ชาติได้ ไปจนถึงการถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศที่สนับสนุนอุดมการณ์คอมมิวนิสต์

ออปเพนไฮเมอร์ขณะตรวจสอบส่วนฐานของหอคอยเหล็กที่ถูกใช้เพื่อทดสอบการระเบิดของระเบิดปรมาณูในรัฐนิวเม็กซิโก ภาพนี้ชี้ให้เห็นว่าการจำลองการทดสอบทรินิตีที่หลอมหอคอยจะละลายและเปลี่ยนทรายให้กลายเป็นขี้เถ้าสีเขียวลักษณะคล้ายแก้วขึ้นมาใหม่นั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งในการถ่ายทำ Oppenheimer อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดย BETTMANN, GETTY IMAGES

ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องนี้สร้างขึ้นโดยให้ความสำคัญกับความถูกต้องตามประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ เนื้อเรื่องจึงอ้างอิงจากหนังสือชีวประวัติ โพรมีธีอุสชาวอเมริกัน ชัยชนะและโศกนาฏกรรมของ เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (Prometheus: The Triumph and Tragedy of J. Robert Oppenheimer) โดยมาร์ติน เจ เชอร์วินและไค เบิร์ด (Martin J. Sherwin & Kai Bird) ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 2005 เป็นหลัก นอกจากนี้ Oppenheimer ยังถ่ายทำในสถานที่จริง ใช้นักแสดงบทบาทนักวิทยาศาสตร์ในโครงการแมนแฮตตันตามจำนวนจริง และใช้บทสนทนาที่นำมาจากการไต่สวนของวุฒิสภาสหรัฐฯ เอกสารลับจากสำนักงานสืบสวนกลางแห่งสหรัฐฯ (FBI) ที่ถูกเปิดเผย รวมไปถึงเอกสารจดหมายเหตุอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เบิร์ด ผู้ทำหน้าที่อ่านตรวจสอบบทภาพยนตร์ของโนแลนตั้งแต่เริ่มเขียนและเป็นที่ปรึกษาในการสร้าง Oppenheimer ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “ผมหาข้อผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ในหนังเรื่องนี้ไม่เจอเลยครับ” แม้แต่หมวกเฟโดราซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของออปเพนไฮเมอร์ก็ถูกทำขึ้นให้ใกล้เคียงกับหมวกเดิมที่เขาเคยใส่เท่าที่จะสามารถทำได้ เอลเลน ไมรอจนิก (Ellen Mirojnick) นักออกแบบเครื่องแต่งกายประจำกองถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ติดต่อบรรดาช่างทำหมวกในนิวยอร์กและอิตาลีเพื่อตามหาเครื่องแต่งกายที่ถูกต้องตามต้นฉบับ ท้ายที่สุดเธอก็พบหมวกที่มีลักษณะตรงตามแบบที่ตามหา ณ ร้านบาร์รอนแฮทส์ (Baron Hats) ร้านทำหมวกชื่อดังในเมืองลอสแอนเจลิส

ในส่วนของสถานที่ถ่ายทำนั้น ทีมงานได้ตระเวนไปทั่วฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ เพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสม แต่สุดท้ายพวกเขาก็ตัดสินใจกลับมาเลือกพื้นที่บริเวณตอนเหนือของรัฐนิวเม็กซิโกในการถ่ายทำเนื่องจากครั้งหนึ่งพื้นที่นี้เคยเป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการแห่งชาติลอสอาลาโมส (Los Alamos National Laboratory) ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการแมนแฮตตันหรือโครงการลับสุดยอดของกองทัพสหรัฐฯ

การสร้างโลกใน Oppenheimer ขึ้นตกเป็นหน้าที่ของรูธ เดอ จอง (Ruth De Jong) นักออกแบบงานสร้างภาพยนตร์ผู้วาดภาพจำลองของลอสอาลาโมสขึ้นมาใหม่อย่างประณีตและสร้างออกมาเป็นโมเดลสามมิติขนาดยักษ์ ทว่าหลังจากที่เธอตระหนักได้ว่าการสร้างแบบจำลองของสถานที่ปฏิบัติการณ์ลับแห่งนี้ในขนาดเท่าของจริงพร้อมการตกแต่งทั้งภายในและภายนอกนั้นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เธอจึงเสนอให้ทำการถ่ายทำฉากในอาคารส่วนใหญ่ภายในสถานที่จริงซึ่งยังหลงเหลือจากยุคนั้นแทน

มีหลายฉากที่ถ่ายทำขึ้นในบ้านหลังที่ออปเพนไฮเมอร์และคิตตี้หรือเอมิลี่ บลันต์ (Emily Blunt) เคยอาศัยอยู่จริง  นอกจากนี้ ยังมีฉากที่ถ่ายทำที่สถาบันวิทยาการขั้นสูงแห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Institute for Advanced Study) ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ สถานที่ซึ่งออปเพนไฮเมอร์และอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) เคยทำงานร่วมกันหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม ห้องทำงานจริงของออปเพนไฮเมอร์ได้ถูกปรับปรุงใหม่จนดูทันสมัยเกินไป ทางทีมถ่ายทำจึงเลือกใช้ห้องทำงานของไอน์สไตน์และจัดฉากขึ้นเป็นห้องของออปเพนไฮเมอร์แทน

“ฉากจำลองลอสอาลาโมสของเราเหมือนกับของจริงทั้งหมดไหม คำตอบคือไม่ค่ะ พวกเราวางแผนไว้ว่าจะพาผู้ชมย้อนเวลากลับไปในยุคและช่วงเวลานั้นด้วยการเลือกใช้องค์ประกอบในฉากและการเลือกใช้โทนสีแทน มันเลยออกมาเป็นเวอร์ชันของเรา” เดอ จองกล่าว

การจำลองการทดสอบทรินิตีขึ้นอีกครั้ง

            การจำลองการทดสอบทรินีตีขึ้นอีกครั้งเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งกว่าการหาสถานที่ถ่ายทำ เนื่องจากสถานที่ทดสอบจริงซึ่งอยู่ห่างจากลอสอาลาโมสหรือห้องปฏิบัติการลับของโครงการแมนแฮตตันไปราว 418 กิโลเมตร ถูกใช้ในการปฏิบัติการทางทหารอยู่ ทีมถ่ายทำจึงไม่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่นี้เพื่อถ่ายฉากสำคัญนี้ได้ ด้วยเหตุนี้เอง ทีมงานของ Oppenheimer จึงจำลองสถานที่ทดสอบระเบิดขึ้นใหม่ ณ ทุ่งปีศาจ (Ghost Ranch) หรือพื้นที่รกร้างขนาดใหญ่กลางทะเลทรายในเมืองเบเลน รัฐนิวเม็กซิโกที่มีความกว้างถึง 7 กิโลเมตร โดยสร้างหอคอยเหล็กที่สูงกว่า 30 เมตร และบังเกอร์คอนกรีตหรือกำแพงกันภัยขึ้น

– การทดสอบทรินิตีหรือการทดสอบแรงระเบิดระเบิดปรมาณูลูกแรกในเดือนกรกฎาคม ปี 1945 ก่อให้เกิดการระเบิดพร้อมแสงสว่างจ้าและเมฆรูปเห็ดที่ก่อตัวสูงขึ้นบนฟ้า เพื่อที่จะจำลองเกตุการณ์นี้ขึ้นโดยไม่ใช้ CGI โนแลนและทีมได้ทดลองทำการระเบิดในรูปแบบต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการใช้มุมกล้องที่หลากหลาย ภาพถ่ายโดย  FOTOSEARCH, GETTY IMAGES

ในที่สุด โนแลนและทีมงานก็ประสบความสำเร็จในการจำลองการเกิดระเบิดในการทดสอบทรินิตี พวกเขาจุดระเบิดที่คิดค้นขึ้นเองแล้วถ่ายโดยวางตำแหน่งกล้องให้ใกล้กับรัศมีของแรงระเบิดเพื่อให้ภาพออกมาดูใหญ่ขึ้น เบื้องหลังของความสำเร็จของฉากการทดสอบนี้คือการนำดินปืน แก๊ส ผงแมกนีเซียม และผงอะลูมิเนียมมารวมเข้ากับระเบิด TNT แล้วนำช็อตการระเบิดที่ถ่ายได้ไปรวมเข้ากับองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น เอฟเฟ็กต์คลื่นกระแทก เอฟเฟ็กต์แสง เอฟเฟ็กต์โลหะหลอมเหลว และเอฟเฟ็กต์พลุไฟอื่น ๆ ในการตัดต่อเพื่อทำให้การระเบิดจำลองในฉากนี้ดูยิ่งใหญ่ขึ้น

ในขณะเดียวกัน เดอ จองก็ได้ร่วมงานกับฝ่ายตกแต่งฉากและฝ่ายแปรรูปโลหะเพื่อสร้างแบบจำลองของระเบิดลูกที่ใช้ในการทดลองซึ่งมีชื่อเล่นว่า “แก็ดเจ็ต ” (Gadget)  ทั้งสามฝ่ายร่างแบบของลูกระเบิดนี้ขึ้นจากแผนภาพและภาพประกอบจากหนังสือเกี่ยวกับระเบิดปรมาณูที่ถูกตีพิมพ์ในยุคนั้น เดอ จองเสริมว่า “พวกเราสร้างแบบจำลองขึ้นตามวิธีการที่แก็ดเจ็ตลูกแรกถูกออกแบบและสร้างขึ้น และนั่นคือสิ่งที่คุณจะได้รับชมใน Oppenheimer

การเข้าถึงจิตใจของออปเพนไฮเมอร์

ขณะที่โนแลนเริ่มเขียนบทของภาพยนตร์เรื่องนี้ เขารู้เพียงเรื่องทั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับออปเพนไฮเมอร์และโครงการแมนแฮตตันเท่านั้น ทว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้โนแลนหันมาสนใจเบื้องหลังชีวิตของนักฟิสิกส์คนนี้มากขึ้นคือการที่โรเบิร์ต แพตทินสัน (Robert Pattinson) นักแสดงที่ร่วมงานกับเขาในผลงาน Tenet ที่ผ่านมามอบหนังสือรวบรวมสุนทรพจน์ของออปเพนไฮเมอร์ให้

นอกจากนี้ในระหว่างที่โนแลนเตรียมตัวสำหรับการเขียนบทอยู่นั้น เขาจดจ่ออยู่กับการศึกษาเนื้อหาของโพรมีธีอุสชาวอเมริกัน หนังสือชีวประวัติของออปเพนไฮเมอร์ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของบทภาพยนตร์และอ่านหนังสือเล่มอื่น ๆ ประกอบกันด้วย ต่อมาในปี 2021 โนแลนได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ลอสอาลาโมส  (Los Alamos History Museum) โดยไม่บอกใครและเทียวไปเทียวมาอยู่ที่นั่นเพื่อใช้เอกสารต่าง ๆ

ในขณะที่โนแลนศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับออปเพนไฮเมอร์ เขาก็เริ่มเล็งเห็นความลึกซึ้งของการทดสอบทรินิตี เขาคิดได้ว่าแม้การทดลองนี้จะถูกคำนวณโดยหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ปราดเปรื่องที่สุด แต่มันก็ยังมีความเป็นไปได้ว่าระเบิดลูกนี้จะทำให้ชั้นบรรยากาศโลกลุกเป็นไฟจนสามารถที่จะทำลายดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ เมื่อได้คิดผ่านมุมมองเช่นนี้แล้ว โนแลนก็เริ่มมองว่าออปเพนไฮเมอร์เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

เขาเสริมว่า “มันจะต้องถ่ายทอดความเชื่อมโยงอันแน่นแฟ้นระหว่างสภาพจิตใจของออปเพนไฮเมอร์และความตั้งใจที่จะทำให้งานของเขาสำเร็จออกมาให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ นอกจากนี้ ยังต้องถ่ายทอดปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำงานของเขา ซึ่งปัจจัยนั้นมีความเกี่ยวข้องกับความไม่มั่นคงทางอารมณ์ที่ออปเพนไฮเมอร์เผชิญในขณะที่อายุยังน้อย”

เทคนิคบางอย่างที่ฝ่ายเอฟเฟ็กต์พิเศษใช้ในการเน้นความยิ่งใหญ่ของระเบิด อย่างเช่น ภาพการระเบิด คลื่นรูปแบบต่าง ๆ อนุภาค และลักษณะการหมุนรอบตัวเองของอิเล็กตรอนก็ถูกนำมาใช้ในการถ่ายทอดความรู้สึกภายในจิตใจและกระบวนการคิดวิเคราะห์ของออปเพนไฮเมอร์เช่นกัน

ในทางหนึ่ง การสร้างภาพยนตร์เรื่อง Oppenheimer ขึ้นก็ถือเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ โนแลนกล่าวว่าตลอดกระบวนการการผลิตภาพยนตร์นับตั้งแต่การเขียนบทไปจนถึงการกำกับนั้นเขาไม่เคยกดดันให้ตัวเองต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์ควอนตัมเลยสักครั้ง แต่เขามองว่าบทบาทของตัวเองคือผู้สื่อเรื่องราวเกี่ยวกับออปเพนไฮเมอร์ให้ผู้ชมเข้าใจโดยใช้ภาพยนตร์เป็นตัวกลาง

เขากล่าวว่า “วิธีที่ผมใช้จัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ คือการพยายามเข้าใจความเป็นจริงและพยายามใช้องค์ประกอบอื่น ๆ ที่จำเป็นมาเสริมให้เนื้อหาในบางจุดชัดเจนและครอบคลุมสำหรับผู้ชมของผมครับ”

เรื่อง จีนน์ โดริน แม็กโดเวล 

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ

เบื้องหลังของแผ่นฟิล์ม

Oppenheimer ถ่ายทำโดยใช้ฟิล์ม IMAX ขนาด 70 มิลลิเมตรและกล้องพานาวิชันทั้งในส่วนของภาพสีและภาพขาวดำเพื่อมอบประสบการณ์ที่สมจริงกว่าผลงานอื่น ๆ ให้แก่ผู้ชม สำหรับฉากภาพสีซึ่งเป็นฉากส่วนใหญ่ในเรื่องทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของออปเพนไฮเมอร์ ซึ่งโนแลนได้เขียนบทขึ้นโดยยึดมุมมองของออปเพนไฮเมอร์เป็นมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ส่วนฉากที่เป็นภาพขาวดำถูกใช้เพื่อถ่ายทอดฉากเรื่องราวในประวัติศาสตร์จากมุมมองที่เป็นกลาง

การถ่ายทำภาพยนตร์ในสเกลใหญ่เช่นนี้ทำให้เกิดการผลิตฟิล์มขาวดำชนิดใหม่ขึ้น ในระยะแรกของการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ฮอยต์ ฟาน ฮอยเตมา (Hoyte Van Hoytema)  ผู้กำกับภาพของ Oppenheimer ได้ติดต่อไปยังบริษัทโกดัก (Kodak) ซึ่งไม่เคยผลิตฟิล์มภาพยนตร์ขาวดำขนาดใหญ่มาก่อน เขากล่าวว่า “ทางโกดักยินดีที่จะผลิตฟิล์มให้ พวกเราโชคดีมากที่บริษัทนี้พร้อมจะก้าวข้ามทุกความท้าทายไปพร้อมกับเรา ตอนที่ลองดูภาพจากฟิล์มที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษครั้งแรกพวกเราประทับใจมากจริง ๆ เพราะภาพออกมาพิเศษและสวยมาก”


อ่านเพิ่มเติม เจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ – ชายผู้อยู่เบื้องหลังการสร้าง ระเบิดปรมาณู

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.