ค่ำคืนวันหนึ่ง เอลิซาเบท รันเต ดึงม่านสีทองให้พ้นจากประตูทางเข้า เราทุกคนก้าวเข้าไปในห้อง เธอกระซิบบอกสามีว่า “พ่อ..พ่อ เรามีแขกจากแดนไกลจ้ะ” ด้านหลังเรา เจมีผู้เป็นลูกชายคนรอง ถือถาดเข้ามาแล้วเดินเงียบกริบเข้าไปหาพ่อ “พ่อครับ นี่ข้าว ปลา และพริกนะครับ” เขาบอก
ขณะที่เราเดินกลับออกมาจากห้องอย่างเงียบๆ เอลิซาเบทพูดเบาๆ ว่า “ตื่นเถอะจ้ะพ่อ ได้เวลามื้อเย็นแล้ว” ฉันเหลียวหลังกลับไป เมื่อได้ยินยอกเก ลูกชายคนโตอธิบายให้ผู้เป็นพ่อฟังว่า “เธอมาขอถ่ายรูปพ่อนะครับ”
นี่เป็นภาพกินใจของครอบครัวที่จะเกิดขึ้น ณ ที่ใดก็ได้บนโลก เว้นเสียแต่ว่า สามีของเอลิซาเบท อดีตเสมียนสำนักทะเบียนสมรสของเมือง เสียชีวิตมาแล้วเกือบสองสัปดาห์แล้ว ภายในบ้านคอนกรีตของครอบครัวผู้เป็นที่นับหน้าถือตาและมั่งคั่งนี้ เปตรุส ซัมเป นอนนิ่งอยู่บนเตียงไม้ มีผ้าห่มคลุมร่างจนถึงคาง
ภายในบ้านย่านชานเมืองรันเตปาโอบนที่ราบสูงอันห่างไกลของเกาะซูลาเวซี ประเทศอินโดนีเซีย เปตรุสจะนอนอยู่บนเตียงนี้ไปอีกหลายวัน ภรรยาและลูกๆ จะพูดกับเขาขณะนำอาหารมาให้วันละสี่มื้อ ยอกเกบอกว่า “เราทำอย่างนี้เพราะเรารักและเคารพพ่อมากครับ” การฉีดฟอร์มาลิน (ฟอร์มาลดีไฮด์ผสมน้ำ) หลังคนผู้นั้นเสียชีวิตไม่นานจะช่วยรักษาร่างไม่ให้เน่าเปื่อย ไม่นานศพจะแห้งและคงรูป
สี่วันต่อมา หลังการบรรเลงดนตรีแสดงความเคารพต่อผู้วายชนม์ การประกอบพิธีทางศาสนาคริสต์ และการเลี้ยงอาหารเย็นแขกเหรื่อกว่าร้อยคน สมาชิกในครอบครัวช่วยกันยกร่างเปตรุสบรรจุในโลง ช่างภาพวิดีโอบันทึกภาพไว้ หลังจากนั้น เปตรุสจะยังอยู่ที่บ้านไปจนกว่าจะถึงพิธีศพในเดือนธันวาคมหรืออีกสี่เดือนข้างหน้า ภรรยากับลูกๆ จะเรียกเขาว่า โตมากูลา ซึ่งแปลว่าผู้ป่วย จนถึงวันฝัง “เราเชื่อว่าแม้พ่อจะเป็นโตมากูลา แต่วิญญาณของพ่อยังอยู่ในบ้านครับ” ยอกเกบอก
ชาวโตราจันซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในแถบนี้มองว่า การตายไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เป็นจุดสิ้นสุด และรุนแรงเหมือนทรรศนะของชาวตะวันตก หากเป็นเพียงอีกก้าวหนึ่งของกระบวนการอันยาวนานและค่อยเป็นค่อยไป จะมีการดูแลผู้เป็นที่รักที่จากไปอยู่ที่บ้านนานหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรืออาจหลายปีหลังเสียชีวิตลง พิธีศพมักเลื่อนออกไปจนกว่าญาติที่อยู่ห่างไกลจะมากันครบ พิธีศพอันยิ่งใหญ่ที่สุดกินเวลานับสัปดาห์ และชักนำชาวโตราจันให้พร้อมใจกันกลับบ้าน ไม่ว่าพวกเขาจะจากไปอยู่ ณ แห่งหนใดในโลกก็ตาม เมื่อขบวนจักรยานยนต์และรถยนต์นับร้อยคันหรือมากกว่านั้นแล่นผ่ากลางเมืองเพื่อนำศพจากแดนไกลกลับบ้าน การจราจรจะหยุดนิ่ง ณ ที่นี้ความตายยิ่งใหญ่กว่าชีวิต
ใช่ว่าชาวโตราจันจะปฏิเสธการรักษาทางการแพทย์เมื่อตกอยู่ในสภาพหมิ่นเหม่ต่อชีวิต และใช่ว่าพวกเขาจะไม่เศร้าโศกเมื่อสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รัก แต่แทนที่จะผลักไสความตายออกห่างตัว เกือบทุกคนที่นี่กลับเชื่อว่า ความตายเป็นศูนย์กลางของชีวิต ชาวโตราจันเชื่อว่า คนเราไม่ได้สิ้นชีวิตลงจริงๆ เมื่อตายไป ความผูกพันลึกซึ้งระหว่างกันยังคงอยู่ต่อไปอีกนานหลังจากนั้น ความตายไม่ได้เป็นการตัดขาด แต่เป็นเพียงความเชื่อมโยงอีกรูปแบบหนึ่ง ชาวโตราจันทางเหนือบางคนยังนำร่างของญาติขึ้นจากหลุมมาเปลี่ยนเสื้อผ้าและผ้าห่อศพให้ใหม่เป็นครั้งคราวด้วยซ้ำไป
ฉันเดินทางอย่างทุลักทุเลมาถึงโตราจา ดินแดนซึ่งปัจจุบันคือจังหวัดโตราจาอูตาราและตานาโตราจา หลังจากเขียนและพูดถึงความตายในวิถีอเมริกันอยู่หลายปี วิถีที่ว่านี้ยกย่องชื่นชมยารักษาโรค แต่เกรงกลัวความตาย ทั้งยังถือว่าความตายคือความล้มเหลวทางเทคโนโลยีหรือไม่ก็การยอมแพ้ ความคิดเช่นนี้ทำให้ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เสียชีวิตตามสถานพยาบาลทั้งๆ ที่ส่วนมากอยากจากไปอย่างสงบที่บ้าน หลังจากเทอเรนซ์ สามีของฉัน เสียชีวิต ฉันจึงเริ่มมองหาทางเลือกอื่นๆ และมาที่นี่เพื่อศึกษาวัฒนธรรมที่สุดโต่ง ทว่าเป็นไปในทางตรงข้าม
การแสวงหาของฉันมีข้อจำกัดอย่างเห็นได้ชัด พวกเราในตะวันตกคงไม่นำวิถีปฏิบัติอย่างการนำอาหารมาให้ผู้ตาย การเก็บร่างผู้ตายไว้ในบ้าน และการเปิดโลงศพมาใช้ กระนั้น ฉันอดคิดไม่ได้ว่า จังหวะเวลาที่ค่อยเป็นค่อยไปในการปฏิบัติต่อความตายของชาวโตราจันสอดคล้องกับความทุกข์โศกของคนเรา มากกว่าพิธีกรรมที่รวบรัดกว่าของเราหรือไม่
เรื่อง อะแมนดา เบนเนตต์
ภาพถ่าย ไบรอัน เลห์มานน์
อ่านเพิ่มเติม