แม้ขณะนี้ ผู้หญิง จำนวนมากเริ่มพยายามกลับมาให้ น้ำนมแม่ กับลูก มากขึ้น แต่ในขณะที่วิทยาศาสตร์รู้จักน้ำนมมนุษย์น้อยกว่านมวัว ก็ยังมีงานวิจัยใหม่ ๆ ที่เชื่อว่าการศึกษารายละเอียดของนมแม่มากพอจะช่วยเปเปลี่ยนชีวิต ‘คุณแม่’ และ ‘ลูก’ นับล้านๆ คนได้
– ผู้หญิงส่วนมากให้นมบุตรแค่ 3 เดือนแรก
ตามข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ผู้หญิงกว่าร้อยละ 80 จะเริ่มให้นมลูกเพียงอย่างเดียวหลังคลอด ทว่า หลังจากผ่านไป 3 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ใช้ได้ในการลาคลอดบุตร พบว่าน้อยคุณแม่น้อยกว่าครึ่งที่ยังให้นมแม่กับลูก และหลังจากผ่านไป 6 เดือนก็มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่ยังคงให้นมลูก
คุณแม่ที่เหลือส่วนใหญ่จะเปลี่ยนไปใช้นมสูตรเสริมต่าง ๆ แม้มนุษย์จะคุ้นเคยกับการให้นมลูกมาอย่างยาวนาน และเป็นสิ่งที่เราทำมาโดยตลอด แต่นักวิทยาศาสตร์ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับน้ำนมแม่อยู่น้อยมาก อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาเท่าที่เรามียังยืนยันว่า น้ำนมแม่ให้ประโยชน์ทางโภชนาการและสุขภาพที่สำคัญแก่ทารก
ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันโรคต่าง ๆ เช่นเบาหวาน และป้องกันจากอาการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของทารก รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้นมบุตร เช่น พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และอาหาร โดยนักวิจัยหวังจะให้คำตอบและความรู้กับแม่ในรุ่นต่อ ๆ ไป
– ผู้หญิงร้อยละ 5-10 มีปัญหาเรื่องให้นมลูก และผู้หญิงหลายคน “น้ำนมไม่พอ”
ผู้หญิงหลายคนยังมีปัญหาเกี่ยวกับการให้นมลูก แม้จะมีเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้นที่มีปัญหาด้านสรีรวิทยาซึ่งทำให้ไม่สามารถให้นมลูกได้ แต่ผู้หญิงหลายคนระบุว่ามีน้ำนมไม่เพียงพอ อย่างเช่น แชนดรา เบิร์นไซด์ (Chandra Burnside) ที่เธอพยายามให้นมลูกอย่างถูกต้อง แต่น้ำนมของเธอกลับผลิตออกมาได้น้อย “ฉันยังคงพยายามอยู่จริง ๆ” เบิร์นไซด์กล่าว
มันอาจดูเป็นขั้นตอนที่ง่ายสำหรับบุคคลภายที่มองเข้ามา แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การให้นมลูกนั้นเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ซึ่งอาจเกิดความผิดพลาดได้ในทุกขั้นตอนและจากหลายปัจจัย โดยส่วนใหญ่แล้วอยู่ในขอบเขตของชีววิทยา
“มันเป็นการจัดเรียงฮอร์โมนต่าง ๆ ที่ได้รับการปรับแต่งอย่างละเอียด ซึ่งจับกับตัวรับที่จำเพาะของฮอร์โมน และกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาที่เฉพาะเจาะจงมาก” แชนนอน เคลเลเฮอร์ (Shannon Kelleher) นักวิจัยด้านวิยาศาสตร์ชีวการแพทย์และโภชนาการกล่าว
เคลเลเฮอร์เปรียบ ‘เต้านม’ เป็นเหมือน ‘พวงองุ่น’ ท่อน้ำนมคือลำต้น และช่องว่างกลวงนั้นมีนมสะสมอยู่ ขณะที่องุ่นแต่ละลูกนั้นคือกลุ่มเซลล์ที่อยู่ในเต้านม เซลล์เหล่านี้จะผลิตน้ำนมและดันนมเข้าไปในท่อ ต้องใช้เหตุการณ์ที่อันซับซ้อนจึงจะปล่อยน้ำนมออกมา กล่าวคือทารก ซึ่งจะต้องดูดนมอย่างสม่ำเสมอ มิฉะนั้นต่อมน้ำนมจะกลับสู่ภาวะก่อนตั้งครรภ์
– กระบวนการ “ขัดขวาง” การให้นมบุตร
มีสาเหตุหลายประการที่ขัดขวางกระบวนการผลิตน้ำนม มันอาจเป็นสภาวะทางการแพทย์เช่น การผ่าตัดเต้านม ไม่ว่าจะนำออกไป หรือขยายขนาด สิ่งเหล่านี้สามารถทำลายโครงสร้างต่อมน้ำนมได้ นอกจากนี้ แม่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ เบาหวาน หรือกลุ่มอาหารถุงน้ำในรังไข่ ช่วงวัยรุ่น หรือแม้แต่ความเครียดเรื้อรังก็สร้างปัญหาให้กับการผลิตน้ำนมได้
รวมไปถึงปัจจัยเกี่ยวกับอาหารอย่างโรคอ้วนและภาวะทุพโภชนาการก็ส่งผลต่อระดับไขมันและวิตามินในนมด้วยเช่นกัน เคลเลเฮอร์ เชื่อว่าการวิจัยใหม่ ๆ เกี่ยวกับน้ำนมแม่เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้น และจะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้หญิงหลายล้านคน และลูก ๆ ของพวกเขาให้ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่อยู่ในพื้นที่รายได้น้อย ซึ่งมีภาวะทุพโภชนาการเป็นเรื่องปกติ
“มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ถูกต้องและผิดพลาด (เกี่ยวกับนมแม่) ซึ่งเรายังไม่เข้าใจด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งทางสังคม การเมือง และการเงิน” เคลเลเฮอร์ กล่าว
นักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะรู้จักอาหารชนิดนี้ที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตลอด ซึ่งไม่เพียงแต่อุดมไปด้วยสารอาหารเท่านั้น แต่ยังมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพทั้งหมดที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพของทารก การเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกตัวน้อย ผู้เป็นอนาคตของมนุษยชาติ
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.nationalgeographic.com/premium/article/many-women-struggle-to-breastfeed-scientists-are-starting-to-ask-why