เจมส์ นาคท์เวย์ James Nachtwey : Memoria 126 ภาพสงคราม เพื่อความหวังสู่สันติภาพ

“ในขณะที่ช่างภาพสงครามคนอื่นต่างคุยโอ้อวดเรื่องราวเสี่ยงตายของตัวเอง แต่กับ เจมส์ นาคท์เวย์ ( James Nachtwey ) คุณแทบต้องรีดความจริงจากเขา”

คือประโยคหนึ่งที่เพื่อนร่วมงานกล่าวถึง เจมส์ นาคท์เวย์ ในการสัมภาษณ์ของภาพยนตร์ War Photographer ซึ่งออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 2002 ที่เผยให้เห็นบุคลิก และการทำงานในฐานะ “ช่างภาพสงคราม” ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ณ ขณะนั้น แม้เวลาจะล่วงเลยมาถึงปี 2023 ก็ไม่ได้ทำให้ความสำเร็จและชื่อเสียงของเขาลดน้อยถอยลง แต่กลับเพิ่มความเป็นตำนาน เพราะยิ่งนานวัน ยิ่งไม่มีช่างภาพสงครามคนใดเทียบเคียงเขาได้

ตามความเข้าใจของคนทั่วไป “ช่างภาพสงคราม” อาจเป็นผู้ที่กระหายภาพถ่าย ในขณะที่คนอื่นวิ่งหนีความตาย เขาคือผู้วิ่งหาความตาย เพื่อถ่ายภาพปฏิบัติการทางทหารอันเร้าใจ เป็นช่างภาพผู้บ้าระห่ำ ใช้ชีวิตฉูดฉาดเสี่ยงตาย เพื่อได้ภาพสุดดราม่าเขย่าอารมณ์ สร้างมาจากเรื่องราวโชคชะตาอันเลวร้ายของการเข่นฆ่ากันเอง

หากมองกลับมาในชีวิตจริง ก็มีช่างภาพมากมายที่ต้องสังเวยชีวิตไปในสงคราม พร้อมคำอธิบายในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวว่า “ช่างภาพสงครามที่ตายในหน้าที่มีสองประเภท หนึ่งคือมือใหม่ที่ยังไม่รู้วิธีหลบกระสุน กับมือเก่าที่คิดว่าตัวเองรู้ดีมากเกินไป”


แต่กับเจมส์ นาคท์เวย์ไม่เป็นเช่นนั้น

แม้เขาจะเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในโลกแห่งสื่อมวลชนและช่างภาพ แต่ในพื้นที่ปฏิบัติงานของเขา นั่นคือพื้นที่แห่งการสู้รบ สงคราม และโศกนาฎกรรมแห่งชีวิตหลายแห่งทั่วมุมโลก กลับไม่รู้ใครรู้จักเขา

สิ่งที่ผู้คน ณ ที่เหล่านั้นพบเห็น คือชายฝรั่งผิวขาวผู้ดูแปลกแยกจากทุกสิ่ง เดินไปพร้อมกล้องที่ห้อยคอไปหาผู้คน หรือสิ่งที่เขาต้องการถ่ายอย่างช้าๆ – ใช้งานเครื่องวัดแสงอย่างใจเย็น – แล้วค่อยๆ บรรจงลั่นชัตเตอร์ด้วยใจสงบ แม้ว่าภาพตรงหน้าคือห่ากระสุนที่ซัดสาด, ชีวิตผู้คนที่ปลิดปลิวไปภายในเสี้ยววินาที, ผู้หญิงที่ร่ำไห้เพราะได้รู้ หรือเห็นศพของสามีหรือลูกชายที่จากไปไม่มีวันกลับ หรือผู้คนที่เราอาจกล่าวได้ว่า “ตายทั้งเป็นไปแล้ว” จากความยากจน ความหิวโหย และหายนะภัย

ท่ามกลางสถานการณ์อันวุ่นวายและความตาย เขาคือช่างภาพที่ปฏิบัติงานอย่างสงบ เรียบง่าย และถ่อมตน

ฉีกภาพของ ช่างภาพสงคราม ที่เราทุกคนเคยเข้าใจอย่างสิ้นเชิง

เว้นเพียงแต่คุณสมบัติที่ว่า ในขณะที่ผู้คนวิ่งหนี เขาคือคนที่วิ่งตามสถานการณ์ หวังที่จะบอกเล่าเรื่องราวโศกนาฏกรรมเหล่านี้ไปยังผู้คนที่ห่างออกไปนับหมื่นกิโลเมตรได้รับรู้เรื่องราว เพื่อสร้างความเห็นอกเห็นใจให้กับผู้คนบนโลก อันจะนำมาซึ่งสันติภาพ ที่แม้ตัวเขาเองยังไม่รู้ว่าจะได้มีโอกาสได้พบเห็นในช่วงชีวิตนี้หรือไม่ เพราะในขณะนี้ สงครามเต็มรูปแบบในสมรภูมิ รัสเซีย-ยูเครน ก็ยังคงดำเนินต่อไป

และแน่นอนว่า เขาก็ได้ไปพาตัวเองไปอยู่ ณ ที่แห่งนั้นมาแล้ว ด้วยความสื่อสัตย์ต่ออาชีพและอุดมการณ์

*************************

ผมได้เรียนรู้เรื่องราวของเจมส์ นาคท์เวย์ จาก นิทรรศการ James Natchtwey: Memoria ที่กำลังจัดแสดงอยู่ ณ ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่จัดขึ้นโดย สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ด้วยการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

นิทรรศการ James Nachtwey: Memoria ได้รวบรวมผลงานภาพถ่ายสงครามและภัยพิบัติตลอดชีวิตการทำงานเป็นช่างภาพข่าวและสงครามกว่า 42 ปี จำนวน 126 ภาพ ซึ่งแต่ละภาพบอกเล่าเรื่องราว สื่ออารมณ์ และแสดงภาพสะท้อนของชีวิตที่ยังคงได้รับผลกระทบจากร่องรอยของสงครามและภัยพิบัติ ซึ่งว่ากันว่าภาพถ่าย ของเจมส์สามารถเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่างบนโลกใบนี้ได้ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจแห่งสันติภาพให้มวลมนุษยชาติ

โดยนิทรรศการครั้งนี้ ได้รวบรวมผลงานภาพถ่ายที่มีชื่อเสียงระดับโลกของ เจมส์ นาคท์เวย์ จำนวน 126 ภาพ ที่ถ่ายในสงครามและภัยพิบัติต่างๆ ทุกภูมิภาคทั่วโลก ทั้งเวสต์แบงก์, ยูกันดา, เอลซัลวาดอร์, เฮติ, เลบานอน, นิการากัว, เชชเนีย, โคโซโว, บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา, อัลบาเนีย, ซูดาน, โซมาเลีย, รวันดา, ชายแดนรวันดา-แทนซาเนีย, ซาอีร์, อัฟกานิสถาน, สหรัฐอเมริกา, กรีซ, โครเอเชีย, เนปาล, อิรัก, ปากีสถาน, โรมาเนีย, อินโดนีเซีย, กัมพูชา, แซมเบีย, ซิมบับเว, เวียดนาม, แอฟริกาใต้ และโปแลนด์ ซึ่งเป็นผลงานที่นำไปจัดแสดงในเมืองใหญ่มาแล้วทั่วโลก ได้แก่ มิลาน ประเทศอิตาลี, ปารีส ประเทศฝรั่งเศส, สต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน, นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และล่าสุดที่จะจัดขึ้นที่ กรุงเทพฯ ประเทศไทย และเป็นครั้งแรกของโลกกับการเปิดเผยภาพถ่ายชุดสงครามยูเครนสู่สายตาชาวโลก

นิทรรศการ James Nachtwey: Memoria แสดงถึงความทรงจำในการทำงานกว่า 4 ทศวรรษ ในฐานะช่างภาพสงคราม อุทิศชีวิตเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของผู้อื่น เป็นพยานถึงความวิกลจริตของสงคราม การจับภาพความงามและความโหดร้าย ในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดและในสถานที่อันตรายที่สุด ภาพถ่ายของเขาแสดงให้เห็นช่วงเวลาแห่งความเกลียดชัง การทำลายล้างอย่างไร้เหตุผล ความกล้าหาญและการแสดงความเมตตาระหว่างมนุษย์อย่างเงียบๆ

ในระหว่างที่รับชม นอกจากภาพถ่ายที่สื่อถึงเรื่องราว อารมณ์ และความโหดร้ายของสถานการณ์ต่างๆ ที่ถ่ายทอดในภาพแล้ว สิ่งที่ทรงพลังไม่แพ้กันก็คือคำบรรยายภาพเล็กๆ ตรงด้านล่างของทุกภาพที่ขยายเรื่องราวและบริบทให้กระจ่างชัดกับผู้ชม ทั้งภาพถ่ายและคำบรรยายภาพสามารถเชื่อมต่อผู้ชมที่อยู่คนละห้วงประวัติศาสตร์ คนละห้วงเวลา และคนละสถานที่ แม้จะห่างกันจนละสุดขอบโลกให้รับรู้ และจมจ่อมไปกับความเศร้าโศก เช่นเดียวกับบุคคลที่อยู่ในภาพถ่ายของเจมส์ นาคท์เวย์

แม้จะเป็นช่างภาพสงคราม แต่ภาพถ่ายในนิทรรศการของเขาไม่ได้มีเพียงแต่เรื่องของสงคราม การฆ่าฟัน และความรุนแรงเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องราวของประชาชนที่ทนทุกข์ไปต่างกรรมต่างวาระ ทั้งความเวทนาจากความหิวโหยในบ้านพักคนชราและเด็กกำพร้า, ความดิ้นรนของผู้อพยพ, วิกฤตความหิวโหยจนผู้คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วงในแอฟริกา, ความอยุติธรรมในสังคม, ร่องรอยแห่งความเจ็บป่วย หรือความตาย ผ่านโรคร้าย หรืออาวุธสงคราม และความทุกข์ทนของผู้คนอื่นๆ ที่ล้วนเกิดจากการละเลย ไม่ใส่ใจ ซึ่งอาจจะเกิดโดยผู้มีอิทธิพลในสังคมนั้นๆ หรือแม้กระทั่งประชาชนด้วยกันเองในยุคโลกที่ทั้งใบเชื่อมต่อกันได้ แต่ไม่อาจรับรู้หรือเลือกที่จะไม่รับรู้

แต่เจมส์ นาคท์เวย์ ยังเป็นผู้คนที่เชื่อมต่อ และส่งเสียงความทุกข์ระทมแห่งมนุษยชาตินี้ออกมาให้โลกได้รับรู้

*************************

สำหรับผม ในบรรดาชุดภาพถ่ายหลากหลายเหตุการณ์ ชุดภาพที่สะเทือนใจที่สุดคือ “สงครามในยูเครน” (War in Ukraine) ที่เปิดฉากเริ่มต้นขึ้นเมื่อปีที่แล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง ณ ตอนนี้ และเป็นครั้งแรกที่ภาพถ่ายของเจมส์ในสงครามในยูเครนเผยแพร่เป็นครั้งแรกของโลกในนิทรรศการนี้

เพราะมันยังเป็นสงครามที่ยังไม่จบ

เพราะมันเป็นความทุกข์ระทมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ในอีกซีกหนึ่งของโลก

เพราะมันโหดร้ายและรุนแรงไม่แพ้สงครามครั้งใหญ่หลายครั้งในอดีต

และที่สำคัญ ความตาย และความโหดร้าย ที่บอกเล่าผ่านภาพถ่ายของเจมส์ในนิทรรศการนี้ กว่าครึ่งหนึ่ง ล้วนเกิดขึ้นกับคนธรรมดา

เจมส์ได้กล่าวถึงการทำงานในฐานะช่างภาพสงครามของตัวเองว่าเขาต้องการสื่อสารเรื่องราวแห่งสงครามและความทุกข์ยากของผู้คน ให้อีกหลายๆ คนบนโลกได้รับรู้ เพื่อเป็นเครื่องเจรจาต่อรองสันติภาพ และผมเชื่อว่าอย่างน้อย เจมส์ได้บรรลุเป้าหมายนี้ของตัวเอง ไปยังบรรดาผู้คนที่ได้มาชมภาพถ่ายในนิทรรศการแห่งนี้

แม้ภาพถ่ายจะเต็มไปด้วยความโศกเศร้าและความรุนแรงจนด้านหน้าทางเข้าได้ติดป้ายเตือนและให้ใช้วิจารณญาณในการรับชม แต่ความรู้สึกหลังได้รับชม อาจจะไม่ใช่ความเศร้าสลด เพราะนั่นคงไม่ใช่สิ่งที่นิทรรศการนี้คาดหวัง

แต่มันสื่อให้เห็นได้ถึงคุณค่าของสันติภาพ และการมีชีวิตอยู่

ดังมุมหนึ่งของนิทรรศการที่นำเสนอคำกล่าวของเจมส์ที่ว่า

“If people are afraid, it does not mean they lack courage. If people are suffering, it does not mean they lack dignity. Overcoming fear is the definition of courage. The struggle to live, in the face of tragedy and suffering, is an expression of hope.

If our most basic instinct is for survival, then on the most elemental level, survival and hope are inseparable.

I’ve seen people with absolutely nothing left but their will to live. They have not given up hope. Why should anyone else give up hope for them?”

“คนเรารู้สึกกลัว ไม้ได้หมายความว่าเราไม่มีความกล้า คนเราทนทุกข์ ไม่ได้แปลว่าเราสิ้นศักดิ์ศรี แม้จะกลัวแต่กลับเอาชนะความรู้สึกนั้นได้ต่างหากคือนิยามของความกล้า และการดิ้นรนเอาชีวิตรอดเมื่อต้องเผชิญกับความเศร้า และความทุกข์ คือการแสดงออกว่ายังมีหวัง

ถ้าหากสัญชาตญาณขั้นพื้นฐานที่สุดของเราคือการอยู่รอด เช่นนั้นแล้ว การอยู่รอดและความหวังย่อมเป็นสองสิ่ง ที่แยกจากกันไม่ได้แม้ในระดับพื้นฐานที่สุด

ผมเองเคยเห็นคนที่ทั้งชีวิตไม่เหลืออะไรเลยนอกจากความต้องการที่จะมีชีวิตอยู่รอด ถ้าหากคนเหล่านี้ยังไม่สูญสิ้นความหวัง เพราะอะไรคนอื่นจึงต้องไปสิ้นหวังแทนพวกเขาด้วย”

เจมส์ นาคท์เวย์ พร้อมด้วยตัวแทนคณะผู้จัดงานจาก สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, มูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ถ่ายภาพร่วมกัน ณ นิทรรศการ ในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566
เจมส์ นาคท์เวย์ กล่าวถึงนิทรรศการของตนที่ได้มาจัดแสดงครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

*************************

ผู้สนใจสามารถชมงานนิทรรศการ James Nachtwey: Memoria ที่รวมผลงานภาพถ่ายสงครามและภัยพิบัติของ เจมส์ นาคท์เวย์ ได้ระหว่างวันที่ 5 กันยายน 2566 – 26 พฤศจิกายน 2566 (ยกเว้นวันจันทร์) เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เข้าชมฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

เรื่อง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ

ภาพ กรานต์ชนก บุญบำรุง

#RPST #rpstmasterseries #JamesNachtwey #RPSTMemoria

[Media Partner]


อ่านเพิ่มเติม สักครั้งในชีวิต! ชมภาพถ่ายสงครามของ เจมส์ นาคท์เวย์ (James Nachtwey)

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.