คู่รัก มักมีอะไรเหมือนกัน! ต่างจากคำกล่าว ‘สิ่งที่แตกต่าง มักดึงดูดกัน’ – เพราะคนกลุ่มเดียวกันมักจับคู่กันเสมอ

พลังอำนาจของสิ่งที่เรียกว่า ‘ความรัก’ ได้พาคนหนุ่มสาวมากมายให้มาอยู่ด้วยกันเป็น คู่รัก

และเมื่อพูดถึงสิ่งที่ทำให้เราตกหลุมรักกัน งานวิจัยใหม่ล่าสุดได้ชี้ให้เห็นว่า ‘คนที่ตรงข้ามกัน มักดึงดูดกัน’ นั้นแทบไม่มีความจริงอยู่เลย

จากการศึกษารายงานทางวิทยาศาสตร์ 199 ชิ้นที่เกี่ยวข้องกับคู่รักหลายล้านคู่ตั้งแต่ปี 1903 ใน 22 ลักษณะ และข้อมูลของคู่รักที่ลงทะเบียนไว้ในธนาคารชีวภาพของสหราชอาณาจักร (UK Biobank) อีกกว่า 80,000 คู่ใน 133 ลักษณะ ซึ่งยังไม่รวมคู่รักที่เป็นเพศเดียวกัน ที่แยกไว้เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง

พวกเขาพบว่าคู่รักเกือบทั้งหมดมีลักษณะร่วมกันมากถึงร้อยละ 82-89 จากทั้งหมด 133 รายการ ตั้งแต่ทัศนคดิทางการเมือง ระดับการศึกษา การใช้สารเสพติดอย่างสูบหรี่ ไปจนถึงลักษณะทางร่างกายอย่างส่วนสูง และลักษณะทางบุคลิกภาพ มีเพียงคู่รักร้อยละ 3 เท่านั้นที่มีความแตกต่างกัน

“การค้นพบของเราแสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนแนวเดียวกันมีแนวโน้มที่รวมตัวกันมากกว่า” ทันยา ฮอร์วิทซ์ (Tanya Horwitz) นักวิจัยระดับปริญญาเอกจากภาควิชาจิตวิทยา ประสาทวิทยาศาสตร์ และสถาบันพันธุศาสตร์พฤติกรรม จากมหาวิทยาลัยโคโรลาโดกล่าว

รายงานระบุว่า คนที่มีลักษณะเดียวกันมักจับคู่กัน ง่าย ๆ เช่น คนดื่มหนักก็มักจะชอบคนดื่มหนัก คนที่ชอบเที่ยวก็มักถูกใจคนชอบเที่ยวแบบเดียวกัน อีกหนึ่งความสัมพันธ์ที่ทำให้พวกเขาประหลาดใจคือ “ปีเกิด” เป็นหนึ่งปัจจัยที่คู่รักมีแนวโน้มที่จะคล้ายกัน

“ความจริงของเรื่องนี้ก็คือ มันเหมือนกับการโยนเหรียญ คนชื่นชอบการออกไปข้างนอกก็มีแนวโน้มที่จะร่วมกับคนที่ชอบออกไปข้างนอกเช่นเดียวกัน” ฮอร์วิทซ์ กล่าว

ขณะที่สิ่งตรงข้ามกันดูเหมือนจะดึงดูดกันในการศึกษานี้ เช่น คนที่ตื่นเช้าจับคู่กับคนชอบเที่ยวกลางคืน คนถนัดซ้ายจับคู่กับคนถนัดขวา ความสัมพันธ์ของคู่รักเหล่านี้มักไม่ค่อยแข็งแรงและมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งต้องการการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต

ทีมวิจัยระบุว่าสาเหตุการจับคู่ที่มีลักษณะคล้ายกันนั้นอาจเกิดจากเหตุผลหลายประการ เช่น โตมาในสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ระดับการศึกษาที่เท่ากัน รวมถึง คู่รักบางคู่มีความคล้ายกันมากขึ้นเมื่ออยู่ในความสัมพันธ์ที่นานขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น การจับคู่เหล่านี้อาจทำให้การศึกษาทางพันธุกรรมถูกบิดเบือนไป ฮอร์วิทซ์อธิบายว่า หากคนตัวเตี้ยจับคู่กับคนตัวเตี้ย ก็มีแนวโน้มจะกำเนิดลูกหลานที่เตี้ยเช่นเดียว กลับกัน คนตัวสูงที่มักจับคู่กับคนตัวสูง ก็อาจมีลูกที่สูงขึ้นไปอีก สิ่งเหล่านั้นมีผลต่อการศึกษาพันธุกรรมในหมู่ประชากร

หรือไม่ การจับคู่ของคนที่มีฐานะเศรษฐกิจเดียวกัน หรือการศึกษาระดับเดียวกัน ก็มีแนวโน้มอาจทำให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมกว้างขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยได้ย้ำเตือนว่าการศึกษาไม่ควรนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่นการคัดเลือกคน หรือแม้แต่การเหยียดเชื้อชาติ

พวกเขาหวังว่ารายงานนี้จะช่วยจุดประกายให้มีการวิจัยเพิ่มเติมในสาขาอื่น ๆ ตั้งแต่เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษวิทยา และจิตวิทยา เกี่ยวกับความสัมพันธ์และความรัก

“เราหวังว่าผู้คนจะสามารถใช้ข้อมูลนี้เพื่อทำการวิเคราะห์ตนเอง และเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการกับสาเหตุที่ผู้คนลงเอยในความสัมพันธ์ของพวกเขา” ฮอร์วิทซ์กล่าว

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

Photo by Vino Li on Unsplash

ที่มา

https://www.nature.com/articles/s41562-023-01672-z.epdf

https://www.popsci.com/science/dating- similar-traits/

 

อ่านเพิ่มเติม ผู้หญิง ทั่วโลกยุคใหม่ ให้นมลูกยากขึ้น! เหตุเครียด-ร่างกายเปลี่ยน-นมไม่พอ ซ้ำเรายังรู้จัก “นมคน” น้อยกว่า “นมวัว”

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.