ตลอดระยะเวลากว่า 1,300 ปี โดมแห่งศิลา (Dome of the Rock) คือเพชรยอดมงกุฎแห่งอะโครโพลิส สักการสถานของเยรูซาเลม บริเวณอันไพศาลที่ชาวยิวและชาวคริสต์รู้จักในชื่อเนินพระวิหาร (Temple Mount) ส่วนชาวมุสลิมรู้จักในชื่อฮารัมอัลชารีฟ (Haram al Sharif) หรือสถานศักดิ์สิทธิ์สูงส่ง โดมแห่งศิลาซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่ที่สุดของอิสลาม มีความสำคัญทางจิตวิญญาณทัดเทียมกับโบสถ์พระคูหาศักดิ์สิทธิ์ (Church of the Holy Sepulchre) ที่อยู่ติดกัน และงามสง่าไม่ต่างจากทัชมาฮาล ลายเรขาคณิตเรียบง่ายที่ตกแต่งด้วยวัสดุชั้นเลิศทำให้สถานที่แห่งนี้เปี่ยมเสน่ห์ไร้กาลเวลา
เช้าเย็นเยียบวันหนึ่งในฤดูหนาว เหล่าสตรีสวมชุดยาวคลุมฮิญาบทยอยเข้ามาเต็มสักการสถานแห่งนี้ พวกเธอนั่ง บนพรมสีแดงทองอันตระการตา ทำละหมาดตามลำพังหรือจับกลุ่มเล็กๆศึกษาคัมภีร์อัลกุรอาน ขณะที่พวกบุรุษรวมตัวกันในมัสยิดอัลอักซอหลังใหญ่กว่ามากที่อยู่ถัดไปทางใต้ราวหนึ่งร้อยเมตร พื้นที่สงบเงียบนี้แทบจะกันไว้สำหรับเด็กและสตรีมุสลิมเป็นส่วนใหญ่
ซีรีน คาริม ครูอนุบาลวัยกลางคนซึ่งสวมชุดดำ บุ้ยใบ้ไปยังมหาศิลาที่ตั้งเด่นเป็นสง่าใจกลางอาคาร
“นี่คือจุดที่ท่านนบีมุฮัมมัด ขอสันติสุขจงมีแด่ท่าน ขึ้นสวรรค์เพื่อเยือนนบีท่านอื่นๆ และกลับมาพร้อมบัญญัติให้ ทำละหมาดวันละห้าเวลาค่ะ” เธอบอก “ที่นี่ยังเยียวยาความโศกเศร้าของท่าน และเป็นสถานที่ที่เรามาบำบัดความโศกเศร้าและผ่อนคลายจิตใจอันหมองหม่นด้วย”
ศิลาศักดิ์สิทธิ์มีสีเหมือนหินบนดวงจันทร์ พื้นผิวที่หยาบกร้านขรุขระนั้นตัดกันอย่างยิ่งกับความประณีตงดงามโดยรอบ จรมุข (ambulatory) ที่มีเสาและเสารับน้ำหนักรวมซึ่งเป็นหินเนื้อดอกและหินอ่อนซ้อนชั้นสองวงล้อมรอบมหาศิลา รองรับโดมรูปทรงวิจิตรอลังการ ผนังประดับประดาด้วยอักขระจารึกภาษาอาหรับ และแหล่งรวมของงานโมเสกยุคกลาง ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มองจากด้านล่าง โมเสกชิ้นเล็กจ้อยเหล่านี้กอปรกันเป็นทิวต้นปาล์มเขียวชอุ่ม เถาองุ่นสุก และโภคทรัพย์ในรูปรัดเกล้าและสร้อยคอ นานๆครั้งจะมีนกพิราบบินหลงเข้าประตูหนึ่งในสี่บานและวนเป็นวงในเวิ้งทรงกลมกว้างใหญ่แห่งนี้
บันไดหินอ่อนที่แคบและสึกกร่อนทอดลงใต้มหาศิลาสู่โพรงถ้ำขรุขระชื่อ บ่อวิญญาณ (Well of Souls) ขนบมุสลิม เชื่อว่าน้ำจากสวรรค์ไหลผ่านใต้ถ้ำนี้ ขณะที่ชาวยิวและชาวคริสต์บางส่วนเชื่อกันมานานว่า ที่นี่ซุกซ่อนเส้นทางลับ ที่เต็มไปด้วยศิลปวัตถุล้ำค่า
โดมแห่งศิลารอดพ้นเงื้อมมือโจรปล้นสมบัติ แผ่นดินไหว การต่อสู้ทางศาสนา การรุกรานอันนองเลือด และภัยคุกคามธรรมดาสามัญกว่าอย่างมูลนกพิราบอุดรางระบายน้ำจนทำให้น้ำฝนรั่วซึมผนัง มาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ภาพตระการตา ของอาคารนี้ประดับอยู่บนถ้วยกาแฟ ผ้าเช็ดจาน และจอภาพต่างๆ ทั้งยังใส่กรอบประดับในมัสยิด ห้องรับแขก และอาคารสาธารณะต่างๆ ทั่วโลก
ทุกวันนี้ โดมแห่งศิลายังตั้งอยู่ใจกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยุ่งยากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วย และบ่อยครั้งที่โดมทองกลายเป็นฉากหลังแห่งการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างศรัทธาชนชาวปาเลสไตน์กับตำรวจอิสราเอล
“โบสถ์คริสต์หรือสุเหร่ายิวใดๆในดินแดนศักดิ์สิทธิ์คือพื้นที่สงบสันติ” คิสวานีบอกพลางถอนใจ “มีเพียงที่นี่ที่เป็น เขตสงคราม”
ชาวมุสลิมถือว่าที่นี่คือสักการสถานสำคัญรองจากนครเมกกะและเมดีนา ส่วนชาวปาเลสไตน์มองว่านี่คือสัญลักษณ์ อันเป็นที่รักและหวงแหนของชาติ ทว่าในสายตาชาวยิวเคร่งศาสนาจำนวนมาก สิ่งก่อสร้างนี้คือสิ่งเลวร้ายที่ต้องทำลาย เพื่อสร้างวิหารยิวแห่งใหม่ ขณะที่ชาวคริสต์ผู้เชื่อในพระคัมภีร์บางส่วนยืนยันว่า ต้องสร้างวิหารใหม่ขึ้นที่นี่เพื่อรอรับ การเสด็จกลับมาของพระเยซูคริสต์ ความเชื่อที่ไปกันคนละทางนี้ทำให้บรรดานักการเมืองทั่วภูมิภาคหวั่นเกรงว่า ความพยายามทำลายอาคารใดๆอาจจุดชนวนให้เกิดสงครามทำลายล้างได้
กระนั้น เหตุผลในการก่อสร้างโดมแห่งศิลากลับทำให้เกิดข้อถกเถียงและความไม่ชัดเจน
“เราต้องลอกเปลือกการเมืองที่อยู่รอบอาคารนี้ออก เหมือนปอกหัวหอมน่ะค่ะ เพื่อทำความเข้าใจว่ามันสร้างขึ้นได้อย่างไรและเพราะเหตุใด” เบียทริซ แซงโลรอง นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวอเมริกันผู้ศึกษาอาคารนี้มาตลอด 30 ปีร่วมกับ ไอซาม อาววาด เพื่อนร่วมงานชาวปาเลสไตน์ที่เสียชีวิตเมื่อปี 2018 บอก ผลการศึกษาของทั้งคู่เปิดมุมมองใหม่ที่น่าสนใจว่าด้วยสักการสถานเก่าแก่ที่เป็นปริศนาแห่งนี้ และผู้ปกครองชาวมุสลิมผู้มีวิสัยทัศน์ซึ่งอาจเป็นผู้สร้างที่นี่ขึ้น
หกร้อยปีหลังจากชาวโรมันทำลายเยรูซาเลมและวิหารยิว อะโครโพลิสก็กลายเป็นซากปรัก สำหรับชาวคริสต์ ยุคไบแซนไทน์ การทำลายล้างนี้พิสูจน์ว่า ศรัทธาของตนมีชัยเหนือศาสนายูดาห์ (หรือศาสนายิว) กองทัพมุสลิมบุกเข้าควบคุมนครศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวคริสต์ได้โดยปราศจากการต่อสู้ ไม่กี่ปีหลังนบีมุฮัมมัดเสียชีวิตที่เมืองเมดีนาใน ค.ศ. 632 เมื่อผู้ปกครองใหม่คิดสร้างสักการสถานของตนในเยรูซาเลม ตัวเลือกย่อมชัดเจนอยู่แล้ว
จากแหล่งข้อมูลยุคแรกๆ สถาปนิกคือชาวเมืองเยรูซาเลมสองคน ได้แก่ ราจา อิบิน ไฮย์วา นักเทววิทยาชาวมุสลิม กับชาวคริสต์ชื่อ ยาซิด อิบิน ซาลาม
พวกเขาไม่ต้องมองหาแรงบันดาลใจที่ไหนไกล โบสถ์พระคูหาศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีห้องโถงกลมขนาดใหญ่ที่ชาวคริสต์เชื่อว่าเป็นสุสานของพระเยซูและสร้างขึ้นในศตวรรษที่สี่ ตั้งอยู่ไม่ไกลนัก และบรรดาโบสถ์ทรงแปดเหลี่ยมซึ่งมีที่มาจากยุคโรมโบราณ ตั้งอยู่ที่ซีซารียา ริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่อยู่ใกล้ๆ และตามแนวชายทะเลแกลิลี
เมื่อปี 1992 คนงานก่อสร้างที่ขยายทางหลวงจากเยรูซาเลมไปยังเบทลิเฮมพบซากปรักอาคารแปดเหลี่ยมอีกหลังหนึ่ง รีนา อาฟเนอร์ จากสำนักงานโบราณคดีแห่งอิสราเอล เป็นผู้นำการขุดค้นที่ตามมาในป่ามะกอกติดกับปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง
เธอมั่นใจว่านี่คือโบสถ์คาทิสมา หรือที่ประทับแห่งพระแม่มารีย์ ที่สาบสูญไปนาน ในโบสถ์ที่สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 456 นี้ จรมุขชั้นในและชั้นนอกล้อมรอบหินขนาดเท่าโซฟาที่เชื่อว่า พระนางมารีย์ผู้ทรงครรภ์พระกุมารเยซูหยุดพักระหว่างทางไปเบทลิเฮม อาฟเนอร์เชื่อว่าโบสถ์นี้คือต้นแบบโดมแห่งศิลาซึ่งอยู่ห่างไปทางเหนือราวห้ากิโลเมตร เธอบอกว่า “นี่คือยุคที่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสต์ยังคงใช้ร่วมกันค่ะ และทั้งตำนานและความเชื่อต่างๆก็เลื่องลือทั่วโลกอิสลาม”
ทว่าโดมแห่งศิลาไม่ใช่แค่การลอกเลียนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสต์ที่อลังการกว่าเท่านั้น แทนที่จะมีเปลือกอาคารแข็งแกร่งแบบโบสถ์ในยุคไบแซนไทน์ส่วนใหญ่ เปลือกดั้งเดิมของโดมแห่งศิลากลับบุโมเสกแก้วซึ่งเจิดจ้าท่ามกลางแสงอาทิตย์ในเยรูซาเลม ประตูอาคารสี่บานที่ตรงกับทิศหลักทั้งสี่ก็เป็นลักษณะที่ไม่เคยพบในภูมิภาคนี้มาก่อน
พระราชวังทรงโดมที่มีประตูสี่ทิศและโบสถ์บุโมเสกภายนอกนั้นมีอยู่ ทว่าห่างออกไปทางใต้กว่า 1,500 กิโลเมตร ในอาณาจักรซาบาอันมั่งคั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรอาหรับ ตามข้อมูลของแซงโลรอง นักประวัติศาสตร์ศิลปะจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กับอาววาด หัวหน้าสถาปนิกและนักอนุรักษ์ประจำฮารัมอัลชารีฟที่ดำรงตำแหน่งมายาวนาน ทั้งคู่ยังชี้ด้วยว่า โมเสกที่ละเอียดประณีตนี้แสดงอิทธิพลของจักรวรรดิซาเซเนียนทางตะวันออก หรืออิรักและอิหร่านในปัจจุบัน
อิทธิพลเหล่านี้ชี้ว่า ผู้ปกครองชาวมุสลิมขนช่างฝีมือจากแดนไกลมายังเยรูซาเลม ผู้สร้างอาคารยังรวบรวมหินและเสาจากซากปรักของยิว โรมัน และไบแซนไทน์ ในเยรูซาเลมมารวมไว้ในโครงสร้างใหม่ ส่งผลให้เกิดการผสมผสานขนบ วัฒนธรรมอันน่าทึ่งจากชายขอบอันไกลโพ้นของจักรวรรดิอิสลาม ซึ่งแผ่ขยายออกไปอย่างรวดเร็ว
ทันทีที่แล้วเสร็จ โดมแห่งนี้ได้กลายเป็นสถานประกอบพิธีกรรมอันอลังการ จดหมายเหตุยุคแรกๆบันทึกว่า ผู้ร่วมพิธีสวมเสื้อคลุมราคาแพง เจิมมหาศิลาด้วยน้ำมันสีทองที่ทำจากหญ้าฝรั่น ชะมดเชียง และอำพันขี้ปลา
แต่เพราะเหตุใดเล่า ผู้นำชาวมุสลิมจึงทุ่มเทเวลา ความวิริยอุตสาหะ และเงินมหาศาลกับสักการสถานที่ประดับอย่างวิจิตรนี้ สำหรับศรัทธาชนยุคใหม่อย่างคาริมและคิสวานี นี่คืออนุสรณ์แห่งการขึ้นสู่ฟากฟ้าในตำนานของท่านนบีมุฮัมมัด ทว่าบันทึกจำนวนน้อยนิดจากยุคที่มีการสร้างอาคารไม่ได้ระบุถึงความเชื่อมโยงดังกล่าว
บางคนเห็นว่าราชวงศ์ใหม่อย่างอุมัยยะห์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 661 มุ่งยกระดับความสำคัญของเยรูซาเลมให้เหนือกว่าเมกกะ ศูนย์กลางอำนาจของคู่แข่งทางการเมือง ตามความเชื่อนี้ โดมแห่งศิลาออกแบบมาให้เป็นคู่แข่งกับ กะอ์บะฮ์ สักการสถานที่สร้างครอบหินดำศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้แสวงบุญชาวมุสลิมเดินเวียนรอบ คนอื่นๆเชื่อว่าโดมแห่งศิลาคือเครื่องยืนยันการปรากฏและดำรงอยู่ของศาสนาอิสลามในเมืองที่มีคริสต์ศาสนิกชนอาศัยอยู่หนาแน่น ณ เวลานั้น โดยตั้งข้อสังเกตว่า หลังคาโดมนี้มีขนาดเกือบเท่าโดมใหญ่ที่สุดของโบสถ์พระคูหาศักดิ์สิทธิ์ด้วย
สิ่งที่แน่ชัดก็คือ อาคารนี้สร้างเพื่อสักการะหินดานที่อยู่ใจกลาง นอกจากการขึ้นสวรรค์อันเป็นตำนานของท่าน นบีมุฮัมมัดแล้ว ยังมีคำกล่าวอ้างว่านี่คือจุดที่อาดัมถูกสร้างขึ้น คือจุดที่อับราฮัมเกือบบูชายัญบุตรชายนามอิสอัค และจุดที่ ผู้วายชนม์จะถูกพิพากษาในวันสิ้นโลก
เรื่อง แอนดรูว์ ลอว์เลอร์
ภาพถ่าย ซียาห์ กาฟิช
แปล ศรรวริศา เมฆไพบูลย์
ติดตามสารคดี ใต้โดมแห่งศิลา ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2566
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/587166