เรื่อง ฮีทเลอร์ บราดี้
ภาพถ่าย ชาร์ลี คอร์เดอโร
เมื่อชาร์ลี คอร์เดอโร ได้รู้จักกับเกาะที่ชื่อ Santa Cruz del Islote นี้เป็นครั้งแรก ตัวเขารู้สึกตกหลุมรักความมีสเน่ห์ของสถานที่แห่งนี้ เกาะเล็กๆ ที่หนาแน่นไปด้วยประชากรมากมาย และต้องใช้เวลาในการเดินทางด้วยเรือจากเมืองท่าการ์ตาเคนา ในโคลอมเบีย
ผู้คนบนเกาะที่พยายามใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันยากลำบากล้วนทำให้เขาประทับใจ บนเกาะนี้มีอาหาร น้ำดื่มและไฟฟ้าที่จำกัด แต่ครอบครัวจำนวน 45 ครอบครัวก็ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านเรือนจำนวน 97 หลังบนพื้นที่ขนาดเพียง 1,200 ตารางเมตร ส่งผลให้เกาะแห่งนี้มีความหนาแน่นมากกว่าเกาะแมนแฮตตันถึง 4 เท่า
“ทั้งหมดที่เรารู้เกี่ยวกับเกาะแห่งนี้ก็คือ มันเป็นเกาะนอกชายฝั่ง ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและตั้งอยู่ห่างไกลมีผู้คนอาศัยอยู่ที่นี่นานแล้วและดูเหมือนว่าพวกเขาเองก็ไม่ได้มีแผนจะย้ายออกไป” เขากล่าว โดยระบุว่าต้องการสำรวจความสัมพันธ์ของผู้คนที่อาศัยอยู่ร่วมกันบนเกาะเล็กๆ อันห่างไกลนี้ ผ่านการเรียนรู้ชีวิตประจำวันของพวกเขา เสื้อผ้า ไปจนถึงประเพณีวัฒนธรรม “มันเป็นสถานที่ที่สมควรเป็นที่รู้จักครับ” เขากล่าว
ภาพถ่ายแรกในโปรเจคของเขาถูกเผยแพร่เคียงกับบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ลงใน New York Times แสดงให้เห็นบ้านเรือนขนาดคับแคบเรียงชิดกันอย่างหนาแน่น ซึ่งคอร์เดอโรเองระบุว่าเรื่องราวความเป็นมาของเกาะนี้ไม่ต่างจากเทพนิยายเลยทีเดียว
“เมื่อ 150 ปีที่แล้ว เกาะ Santa Cruz del Islote เป็นเพียงเกาะเล็กๆ ที่มีผู้อยู่อาศัยไม่เกิน 1 เฮกตาร์เท่านั้น เกาะนี้ลอยอยู่อย่างโดดเดี่ยวกลางทะเลแคริบเบียน” เขากล่าว “บรรดาชาวประมงจากเมืองการ์ตาเคนาและเมือง Tolu ใช้สถานที่แห่งนี้สำหรับการพักผ่อนระหว่างการหาปลารวมไปถึงปกป้องตนเองจากพายุ”
เกาะแห่งนี้บังเอิญตั้งอยู่บนแนวปะการังมากมายจึงเหมาะสำหรับการหาปลา และดึงดูดผู้คนให้มาสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยครอบครัวหนึ่งสร้างบ้านหลังใหม่ถัดจากบ้านตัวเองเมื่อพวกเขาแต่งงานและมีลูก
ปู่ย่าตายายกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน หรือปู่ทวดยายทวดของคนในรุ่นปัจจุบัน พวกเขาตระเวนเสาะหาวัสดุไปทั่วเกาะและท้องทะเลเพื่อสร้างบ้าน คอร์เดอโรกล่าว “เปลือกหอย, กาบมะพร้าว, ท่อนซุงจากเกาะข้างเคียง, ทราย หรือแม้แต่ขยะล้วนถูกนำมาใช้ในการก่อสร้าง”
วันเวลาผ่านไปจำนวนผู้คนก็เพิ่มมากขึ้น พวกเขาพาญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงของตนเข้ามาเพื่อหาปลาหรือทำงานอื่น “อยู่มาวันหนึ่งน้ำพัดพาเอาแท่งปูนรูปไม้กางเขน หรือที่เรียกว่า ‘Cruz’ ในภาษาสเปน มายังเกาะ” เขาเล่า “ผู้ตั้งถิ่นฐานรุ่นแรกนำมันขึ้นมาและใช้เป็นจุดศูนย์กลางของเกาะ ในตอนนั้นเกาะแห่งนี้ยังไม่มีชื่อ แต่หลังจากนั้นมันก็ถูกเรียกว่า Santa Cruz del Islote”
แม้ว่าจำนวนประชากรของเกาะจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ชีวิตก็เป็นไปอย่างยากลำบาก อาหารทะเลมีมากมายก็จริงแต่อาหารและของใช้อื่นๆ นั้นต้องจัดส่งมาทางเรือ ไม่มีวิธีที่จะผลิตน้ำดื่มขึ้นได้ในเกาะ น้ำดื่มที่ใช้กันจะถูกจัดส่งมาโดยกองทัพเรือโคลอมเบีย แต่ก็ใช่ว่าจะสม่ำเสมอทุกเดือน ดังนั้นบรรดาชาวเกาะจึงต้องตั้งถังรองน้ำฝนเพื่อใช้สำหรับการดื่มกินและชำระล้างร่างกาย โรงเรียนเดียวบนเกาะนี้มีสอนถึงระดับเกรดสิบ เด็กคนใดที่ต้องการเรียนสูงกว่านี้ต้องออกไปเรียนต่อเองนอกเกาะ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเด็กผู้ชายมักเลือกที่จะอยู่บ้านกับครอบครัวต่อไปและทำมาหากินด้วยการจับปลา
คอร์เดอโรวางแผนไว้ว่าโปรเจคของเขาจะสิ้นสุดลงในสิ้นปีนี้ เขากล่าวว่ายังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เขาเฝ้ารอจะได้บันทึก เช่น ชาวเกาะเหล่านี้ฉลองคริสต์มาสและวันเกิดกันอย่างไร ไปจนถึงพวกเขาจัดการกับพิธีศพอย่างไร
ที่เกาะ Santa Cruz del Islote ไม่มีที่สำหรับฝังศพ คอร์เดอโรเล่าว่าผู้คนต้องฝังร่างของผู้เสียชีวิตบนเกาะเพื่อนบ้านแทน “ผมว่าชีวิตบนเกาะนี้จะทำให้ผมประหลาดใจต่อไปอีกเรื่อยๆ” เขากล่าว “มันเหมือนกับสถานที่ที่หลุดออกมาจากหนังสือของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (นักเขียนชาวโคลอมเบีย)”
อ่านเพิ่มเติม : บังเกอร์ทหารจากยุคเผด็จการ กลายเป็นสารพัดประโยชน์, ฤาษีประหลาดแห่งหน้าผาศักดิ์สิทธิ์