Soft Power ไทย! สงกรานต์ ขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” โดยองค์การยูเนสโก

Soft Power ไทยแท้! สงกรานต์ ขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” โดยองค์การยูเนสโก

เมื่อวานนี้ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘ยูเนสโก’ (UNESCO, United Nations Education Scientific and Cultural Organization) ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า“ประเพณี สงกรานต์ ของประเทศไทย” คือวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งจัดขึ้นที่สาธารณรัฐบอตสวานา 

ทางเว็บไซต์ของยูเนสโกบรรยายไว้ว่า “ในประเทศไทย สงกรานต์หมายถึงการที่ดวงอาทิตย์ดาวราศีเมษ (Aries constellation) ซึ่งเป็นสัญญาณเริ่มต้นปีใหม่ตามประเพณี โดยเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนเมษายนหลังฤดูเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนกลับมาอยู่รวมกันกับครอบครัว และสักการะผู้สูงอายุ บรรพบุรุษ และพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์” 

อีกทั้งยังระบุไว้อีกว่า ประเพณีสงกรานต์นี้มีกิจกรรมมากมายเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น การสรงน้ำพระ การเล่นน้ำกันในครอบครัวและเพื่อนฝูง มีการละเล่น ดนตรี และงานเลี้ยง โดยประเพณีนี้สืบทอดมาอย่างยาวนานจากปฏิสัมพันธ์ทางสังคม สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ หรือสื่อมวลชน ต่างก็มีบทบาทในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และถ่ายทอดความรู้ประเพณีนี้ให้สืบต่อไป 

“สงกรานต์ส่งเสริมความร่วมมือในชุมชนให้เกิดความสามัคคีและการให้อภัย (การเล่นน้ำ) มักถูกมองว่าเป็นเวลาที่จะล้างความโชคร้ายออกไป อธิษฐานขอให้มีความเจริญรุ่งเรืองในปีที่จะมาถึง ให้ครอบครัวกลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้ง และให้เกียรติบรรพบุรุษและผู้สูงอายุ” เว็บไซต์ขององค์การยูเนสโกระบุ

ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมี ‘วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ’ เพิ่มขึ้นเป็น 4 รายการได้แก่ โขน ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปีพ.ศ. 2561, นวดไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนในปีพ.ศ. 2562, โนรา ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปีพ.ศ. 2564 และครั้งล่าสุดนี้คือ สงกรานต์ 

หลังจากการประกาศอย่างเป็นทางการ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีส่งเสริมวัฒนธรรม จากกระทรวงวัฒนธรรมได้เตรียมจัดงานเฉลิมฉลองถึงการขึ้นทะเบียนครั้งนี้ในเย็นวันนี้ วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลา 18:00 น. ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และวัดสุทัศนเทพวราราม โดยมีนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานเปิดงาน 

มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้คืออะไร? ทางยูเนสโกให้คำนิยามไว้ว่า มรดกทางวัฒนธรรมนั้นไม่ใช่แค่เพียงอนุสรณ์สถานหรือของสะสม แต่ยังรวมถึงประเพณีหรือการแสดงออกถึงการดำรงอยู่ของบางสิ่งที่สืบสอดมาจากบรรพบุรุษของเรา และส่งต่อไปยังลูกหลานของเรา

ด้วยเหตุนี้ประเพณีเช่น ศิลปะการแสดง การปฎิบัติทางสังคม พิธีกรรม งานรื่นเริง ความรู้ และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล หรือแม้แต่ความรู้และทักษะงานฝีมือดั้งเดิม ก็สามารถเป็นมรดกทางวัฒนธรรมได้เช่นกัน ทางยูเนสโกจึงเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ 

โดยมีหลักเกณฑ์คร่าว ๆ ดังนี้คือ เป็นประเพณีร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์ และเป็นการใช้ชีวิตในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ต้องเป็นสิ่งที่ยังมีการปฏิบัติร่วมสมัยกันทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงทั้งในชนบทและในเมือง ผู้คนต่างมีส่วนร่วมกับประเพณี หรือวัฒนธรรมนี้ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด

ต่อมาเป็น ความครอบคลุม เช่นเดียวกับข้อแรก ผู้คนที่ไม่ว่าจะมาจากหมู่บ้านใกล้เคียง หรือแม้จะมาจากอีกซีกโลก ต่างก็สามารถเข้ามามีบทบาทหรือร่วมกิจกรรมนี้ได้ เป็นวัฒนธรรมที่สามารถสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้บุคคลนั้นรู้สึกว่าได้เป็นส่วนร่วมของชุมชนหรือประเพณีนั้นได้อย่างครอบคลุม 

นอกจากนี้ทางไทยพีบีเอส (ThaiPBS) ได้แนะนำเกณฑ์เพิ่มเติมว่าทำไมสงกรานต์ของประเทศไทยถึงได้รับการขึ้นทะเบียน โดยให้เหตุผลหลัก ๆ ไว้ 5 ประการคือ

  1. สงกรานต์เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นโดยชุมชนชาวพุทธที่หลากหลายและชุมชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ไม่ว่าใครก็สามารถมีส่วนร่วมในประเพณีได้ 
  2. การขึ้นทะเบียนจะเป็นคุณประโยชน์ต่อสงกรานต์ให้เป็นที่ประจักษ์และตระหนักรู้ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ
  3. ความมีชีวิตของสงกรานต์ โดยมีการอนุรักษ์ผ่านการปฏิบัติและสืบทอดภายกันภายในครอบครัว วัด โรงเรียน และสังคม อีกทั้งภาครัฐยังมีส่วนร่วมในการส่งเสริมวัฒนธรรมนี้ด้วยเช่นกัน
  1. มีการจัดทำข้อมูลมาอย่างยาวนาน โดยมีการสอบถาม สัมภาษณ์ เอกสาร และพูดคุยกับชุมชน ศิลปิน ผู้อาวุโส ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำทางจิตวิญญาณ ครู อาจารย์ นักวิชาการ และอื่น ๆ อีกมากมาย ส่งผลให้ประเทศไทยมีข้อมูลครบถ้วน ซึ่งทางคณะกรรมการผู้ประเมินการขึ้นทะเบียนได้กล่าวเสริมว่า เอกสารของไทยเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับรายการตัวแทยมรดกวัฒธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (อ้างอิงจากประชาชาติ)
  2. ทางไทยพีบีเอสกล่าวไว้ว่า สงกรานต์เป็นส่วนหนึ่งของบัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแห่งชาติมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2554 ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ส่งเสริมกัน ทำให้ประเทศไทยมีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติเป็นลำดับที่ 4

“จึงขอเชิญชวนพี่น้อง ประชาชนไทย ชาวต่างชาติ ร่วมแสดงความยินดี และมีส่วนร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์อันทรงคุณค่าของไทย ให้เกิดการสืบทอดอย่างยั่งยืน และใช้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft power) ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศต่อไป” นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าว

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://ich.unesco.org/en/RL/songkran-in-thailand-traditional-thai-new-year-festival-01719

https://ich.unesco.org/en/what-is-intangible-heritage-00003

https://www.thaipbs.or.th/news/content/334648

https://www.unesco.org/en/intangible-cultural-heritage/committee-2023

https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/thailand-calls-for-unique-songkran-celebration-in-anticipation-of-unesco-status

https://www.prachachat.net/spinoff/culture/news-1454188


อ่านเพิ่มเติม สงกรานต์ ได้รับพิจารณาขึ้นทะเบียน ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ ที่จับต้องไม่ได้โดยยูเนสโก – เพื่อนบ้านค้าน ‘มันคือวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.