ยูเนสโก มอบใบประกาศฯ ขึ้นทะเบียน ‘สงกรานต์ไทย’ เป็นมรดกโลก เรียบร้อย

สงกรานต์ไทย ยูเนสโก มอบใบประกาศนียบัตรขึ้นทะเบียน ‘สงกรานต์’ เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ตามที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็น รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ไปเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ยูเนสโกได้มอบประกาศนียบัตร (Certificate) เพื่อรับรองประกาศขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการให้แก่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“จากนี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเตรียมการขับเคลื่อนกิจกรรมสงกรานต์ในประเทศไทยไปพร้อมกัน เนื่องด้วยสงกรานต์เป็นประเพณีปีใหม่ไทยที่เฉลิมฉลองในช่วงกลางเดือนเมษายนของทุกภูมิภาคในประเทศไทย ซึ่งได้รับการถือปฏิบัติและสืบทอดอย่างยาวนาน ประเพณีอันงดงามและมีความหมายสะท้อนให้เห็นถึงความกตัญญูของคนไทย ที่มีต่อบรรพบุรุษ ความเอื้ออาทรและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น” เว็บไซต์รัฐบาลไทยระบุ

พร้อมทั้งเสริมว่า การได้รับประกาศขึ้นทะเบียนครั้งนี้ นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมี ‘วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ’ เพิ่มขึ้นเป็น 4 รายการได้แก่ โขน ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปีพ.ศ. 2561, นวดไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนในปีพ.ศ. 2562, โนรา ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปีพ.ศ. 2564 และครั้งล่าสุดนี้คือ สงกรานต์

ทางอธิบดีฯ สวธ กล่าวต่อว่าในปีพ.ศ. 2567 นี้ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะมีการจัดกิจกรรมมหาสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่ โดยจะมีเนื้อหาหลักในการเผยแพร่สาระคุณค่า สร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และให้ตระหนักถึงความสำคัญตามขนบประเพณีของชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ในชื่อโครงการ “World Songkran Festival : ประเพณีสงกรานต์ไทย หมุดหมายนักท่องเที่ยวทั่วโลก” โดยดำเนินงานผ่านเครือข่ายวัฒนธรรม 76 จังหวัดทั่วประเทศ และ 50 เขต ในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1 – 21 เมษายน 2567 นี้

“โอกาสนี้ ขอเชิญชวนชวนพี่น้องประชาชนไทย ชาวต่างชาติ ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์อันทรงคุณค่าของไทย ให้เกิดการสืบทอดอย่างยั่งยืนและใช้เป็นพลัง Soft power ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศต่อไป” เว็บไซต์รัฐบาลไทยเขียน

มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้คืออะไร? ทางยูเนสโกให้คำนิยามไว้ว่า มรดกทางวัฒนธรรมนั้นไม่ใช่แค่เพียงอนุสรณ์สถานหรือของสะสม แต่ยังรวมถึงประเพณีหรือการแสดงออกถึงการดำรงอยู่ของบางสิ่งที่สืบสอดมาจากบรรพบุรุษของเรา และส่งต่อไปยังลูกหลานของเรา

ด้วยเหตุนี้ประเพณีเช่น ศิลปะการแสดง การปฎิบัติทางสังคม พิธีกรรม งานรื่นเริง ความรู้ และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล หรือแม้แต่ความรู้และทักษะงานฝีมือดั้งเดิม ก็สามารถเป็นมรดกทางวัฒนธรรมได้เช่นกัน ทางยูเนสโกจึงเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

โดยมีหลักเกณฑ์คร่าว ๆ ดังนี้คือ เป็นประเพณีร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์ และเป็นการใช้ชีวิตในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ต้องเป็นสิ่งที่ยังมีการปฏิบัติร่วมสมัยกันทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงทั้งในชนบทและในเมือง ผู้คนต่างมีส่วนร่วมกับประเพณี หรือวัฒนธรรมนี้ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด

ต่อมาเป็น ความครอบคลุม เช่นเดียวกับข้อแรก ผู้คนที่ไม่ว่าจะมาจากหมู่บ้านใกล้เคียง หรือแม้จะมาจากอีกซีกโลก ต่างก็สามารถเข้ามามีบทบาทหรือร่วมกิจกรรมนี้ได้ เป็นวัฒนธรรมที่สามารถสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้บุคคลนั้นรู้สึกว่าได้เป็นส่วนร่วมของชุมชนหรือประเพณีนั้นได้อย่างครอบคลุม

Photo by maddog99 via iStockPhoto

นอกจากนี้ทางไทยพีบีเอส (ThaiPBS) ได้แนะนำเกณฑ์เพิ่มเติมว่าทำไมสงกรานต์ของประเทศไทยถึงได้รับการขึ้นทะเบียน โดยให้เหตุผลหลัก ๆ ไว้ 5 ประการคือ 1. สงกรานต์เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นโดยชุมชนชาวพุทธที่หลากหลายและชุมชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ไม่ว่าใครก็สามารถมีส่วนร่วมในประเพณีได้

2. การขึ้นทะเบียนจะเป็นคุณประโยชน์ต่อสงกรานต์ให้เป็นที่ประจักษ์และตระหนักรู้ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ 3. ความมีชีวิตของสงกรานต์ โดยมีการอนุรักษ์ผ่านการปฏิบัติและสืบทอดภายกันภายในครอบครัว วัด โรงเรียน และสังคม อีกทั้งภาครัฐยังมีส่วนร่วมในการส่งเสริมวัฒนธรรมนี้ด้วยเช่นกัน

4. มีการจัดทำข้อมูลมาอย่างยาวนาน โดยมีการสอบถาม สัมภาษณ์ เอกสาร และพูดคุยกับชุมชน ศิลปิน ผู้อาวุโส ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำทางจิตวิญญาณ ครู อาจารย์ นักวิชาการ และอื่น ๆ อีกมากมาย ส่งผลให้ประเทศไทยมีข้อมูลครบถ้วน ซึ่งทางคณะกรรมการผู้ประเมินการขึ้นทะเบียนได้กล่าวเสริมว่า เอกสารของไทยเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับรายการตัวแทยมรดกวัฒธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (อ้างอิงจากประชาชาติ)

และข้อที่ 5. ทางไทยพีบีเอสกล่าวไว้ว่า สงกรานต์เป็นส่วนหนึ่งของบัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแห่งชาติมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2554 ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ส่งเสริมกัน ทำให้ประเทศไทยมีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติเป็นลำดับที่ 4

“จึงขอเชิญชวนพี่น้อง ประชาชนไทย ชาวต่างชาติ ร่วมแสดงความยินดี และมีส่วนร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์อันทรงคุณค่าของไทย ให้เกิดการสืบทอดอย่างยั่งยืน และใช้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft power) ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศต่อไป” นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าว

ที่มา
.
https://ich.unesco.org/en/RL/songkran-in-thailand-traditional-thai-new-year-festival-01719
.
https://ich.unesco.org/en/what-is-intangible-heritage-00003
.
https://www.thaipbs.or.th/news/content/334648
.
https://www.unesco.org/en/intangible-cultural-heritage/committee-2023
.
https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/thailand-calls-for-unique-songkran-celebration-in-anticipation-of-unesco-status
.
https://www.prachachat.net/spinoff/culture/news-1454188
.
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/78344

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.