ผู้ลี้ภัยเด็กนับพันตกค้างอยู่ที่ชายแดนยุโรป

ผู้ลี้ภัยเด็กนับพันตกค้างอยู่ที่ชายแดนยุโรป

เสียงของพวกเขาบ่งบอกตำแหน่งที่อยู่ ผู้ลี้ภัยเด็กจากอัฟกานิสถานกลุ่มนี้เอาชีวิตรอดจากสถานที่ที่พวกเขาเรียกมันว่าป่าดงดิบ แต่แท้จริงแล้วมันคือแนวป่าที่ไม่ทึบมากนักตามชายแดนของเซอร์เบียและโครเอเชีย เด็กๆ เหล่านี้มีอายุ 12 – 16 ปี พวกเขาอาศัยอยู่ในป่านี้มานานหลายสัปดาห์แล้ว หลับนอนในเต็นท์ที่สร้างขึ้นจากพุ่มไม้ กิ่งของมันโค้งเหนือศีรษะและโอบล้อมพวกเขาไว้ราวกับกำลังสวมกอด

สถานที่ใช้ซ่อนตัวของพวกเขาอยู่ติดกับเส้นทางที่พวกเขาคาดหวังว่าจะใช้เดิน มันคือการเดินไปตามทางรถไฟเก่าขึ้นสนิมจากเซอร์เบีย ประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ในขณะที่โครเอเชียเป็นสมาชิก จริงๆ พวกเขาพยายามข้ามชายแดนมาแล้วหลายครั้ง แต่จำต้องหันหลังกลับเพราะเจ้าหน้าที่รักษาชายแดนชาวโครเอเชียพร้อมที่จะทุบตี และยึดเอาสมบัติติดตัวอันน้อยนิดที่พวกเขามีไป โดยหนึ่งในสิ่งที่เจ้าหน้าที่พวกนั้นต้องการมากที่สุดคือรองเท้า

ในบริเวณที่ใกล้กับฝั่งโครเอเชีย แสงไฟสีแดงถูกสาดส่อง สิ่งนี้เป็นเหมือนข้อความย้ำเตือนว่า: จงหยุดข้ามพรมแดนซะ เพราะยุโรปไม่ต้องการคุณ

Liaqat วัย 12 ปี เดินทางมาจากอัฟกานิสถานเพียงลำพัง และได้รับความช่วยเหลือจากนายหน้า
เด็กชายชาวอัฟกานิสถานใช้ผ้าห่มสร้างสถานที่ส่วนตัวเล็กๆ ขึ้นมาในคลังสินค้าที่ถูกทิ้งร้าง สถานที่ที่พวกเขาใช้เพื่อผ่านฤดูหนาวไปให้ได้
เด็กหนุ่มชาวปากีสถานวัย 14 ปี รับความอบอุ่นจากกองไฟ “ส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากอยู่ที่นี่ พวกเขารู้สึกเหมือนติดกับ” Michel Saint-Lot ผู้แทนจากยูนิเซฟในเซอร์เบียกล่าว ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยเด็กในเซอร์เบียจำนวนหลายพันคน

ซัดดัม อีมาล เด็กชายวัย 12 ปี ผู้มีดวงตาสีเขียว ยังคงมุ่งมั่นที่จะข้ามพรมแดน ในขณะนั้นเป็นต้นฤดูใบไม้ผลิ ตัวเขาเดินทางรอนแรมมาแล้วนาน 7 เดือน เป็นระยะทางกว่า 3,500 ไมล์ โดยปราศจากความช่วยเหลือจากครอบครัวหรือนายหน้าที่อาสาจะพาเข้ายุโรป

ในช่วงวัยที่หลายคนยังถูกห้ามไม่ให้ข้ามถนนเองด้วยซ้ำ อีมาลหลบหนีสงครามจากจังหวัดนานกาฮาร์ ในอัฟกานิสถานบ้านเกิด ผ่านปากีสถาน, อิหร่าน, และตุรกี เข้าสู่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างบัลแกเรีย ตัวเขาและผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ที่ฉันได้พบบอกเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาถูกขับไล่อย่างรุนแรงให้ออกจากเซอร์เบียไป

อีมาลคือหนึ่งในผู้ลี้ภัยเด็กจำนวน 300,000 คนที่ใช้เส้นทางเดียวกันในการอพยพ เมื่อปี 2015 และ 2016 ที่ผ่านมา จำนวนนี้เพิ่มสูงเป็นห้าเท่าจากเดิมในเวลาเพียงไม่กี่ปี พวกเขากลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤติผู้ลี้ภัยทั่วโลกที่หลบหนีจากความรุนแรงหรือความยากลำบาก ในจำนวนนี้ผู้ลี้ภัยเด็กอย่างน้อย 170,000 คนยื่นคำร้องขอลี้ภัยในยุโรป ส่วนอีมาลเองวาดฝันว่าจะได้เดินทางไปเยอรมนี

แต่ ณ ตอนนี้ เช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ นับพัน เขาติดแหงกอยู่ที่ชายแดนเซอร์เบีย ตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2016 หลังยุโรปมีมาตรการคุมเข้มหลายเส้นทางในคาบสมุทรบอลข่านมากขึ้น เพื่อป้องกันการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัย

เด็กหนุ่มกำลังหุงข้าว เขาเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยเด็กอย่างน้อย 300,000 คน ที่ออกเดินทางตัวคนเดียวในช่วงปี 2015 ถึง 2016
ในการเดินทางที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก พวกเขาต้องเผชิญกับหัวขโมยหรือกลุ่มค้ามนุษย์ หรืออาจตกเป็นเหยื่อของการค้าบริการทางเพศ
เด็กหนุ่มวัย 16 ปี นอนหลับในรถที่ถูกทิ้งร้าง ในกรุงเบลเกรด ชายแดนถูกปิดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2016 รวมไปถึงเส้นทางอพยพในภูมิภาคบอลข่านก็ถูกคุมเข้มเพื่อป้องกันการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัย

รายงานจาก Michel Saint-Lot ผู้แทนจากยูนิเซฟในเซอร์เบีย กล่าว 46% จากผู้ลี้ภัยจำนวน 7,000 คนในเซอร์เบียเป็นเด็ก ส่วนใหญ่พวกเขามาจากอัฟกานิสถาน และในจำนวนนี้ 1 ใน 3 ไม่มีผู้ใหญ่เดินทางมาด้วย เด็กๆ อย่างอีมาลต้องเสี่ยงชีวิตในการเดินทางเอง พวกเขาต้องเผชิญกับการตกเป็นเหยื่อของหัวขโมย, พวกลักลอบค้ามนุษย์ หรือค้าบริการทางเพศ

“ผมบอกพวกเขาว่า อย่างน้อยที่นี่ก็ดีกว่าที่ที่เราจากมาไม่ใช่หรือ?” พวกเขาเห็นด้วย อีมาลกล่าว แต่เป้าหมายคือไปในยุโรป ไม่ใช่เซอร์เบีย ขณะนี้ตัวเขาค่อนข้างกังวลว่าข้อมูลจำนวนผู้ลี้ภัยเด็กที่หลั่งไหลเข้าไปในยุโรปมากขึ้นจะยิ่งทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการถูกจับกุม กักขัง หรือส่งกลับบ้านมากขึ้น ข้อมูลจาก Saint-Lot เด็กๆ ส่วนใหญ่ไม่ต้องการอยู่ในเซอร์เบีย และบางคนเมื่อทราบข่าวว่าชายแดนถูกปิดก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อ พวกเขามองไม่เห็นอนาคตที่นี่

อีมาลพยายามและล้มเหลวมาแล้ว 18 ครั้ง กับสิ่งที่เขาและผู้ลี้ภัยเด็กคนอื่นๆ เรียกมันว่าเกม – การข้ามผ่านเจ้าหน้าที่รักษาพรมแดนจำนวนมากของเซอร์เบีย เพื่อเข้าสู่ฮังการีหรือโครเอเชียเพื่อนบ้าน ด้วยความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่ารออยู่ อีมาลเล่าว่าเขาพร้อมสำหรับการเล่นเกมรอบใหม่ แต่ต้องเป็นหลังจากที่เขาสามารถหารองเท้าคู่ใหม่ได้ก่อน “เบอร์ 42” เขากล่าวพร้อมชี้นิ้วไปยังถุงเท้าดำสกปรกที่เท้า

แสงสลัวสุดท้ายของวันสาดผ่านใบไม้ที่เปรียบเสมือนเป็นหลังคาผ้าใบสำหรับเขา อีมาลและไฟซาล ซาลีม เพื่อนวัย 16 ปี กำลังเตรียมอาหารเย็น ตัวเขาใช้คูปองมูลค่า 3,000 ดีนาร์ (ประมาณ 27 ดอลล่าร์สหรัฐ) ซึ่งเอ็นจีโอเข้ามาแจกจ่ายให้แก่บรรดาผู้ลี้ภัยขณะพำนักอยู่ในค่ายพักของเซอร์เบียไปกับการซื้อหาวัตถุดิบและอุปกรณ์ ในจำนวนนี้ข้าวของ 2 ใน 3 จากถุงพลาสติกรอบๆ ตัวเขาถูกใช้ไปแล้ว ที่เหลืออยู่ก็ประกอบด้วยเนื้อไก่จำนวนเล็กน้อย, น้ำมันปรุงอาหาร, ผัก และขนมปังอีก 3 ก้อน

ซัดดัม อีมาลวัย 12 ปี ปรุงอาหารเย็นและเล่าถึงความหลังให้ฟังว่าเขาคิดถึงแม่ และแม่เป็นคนที่ทำเมนูไก่ได้อร่อยมาก

“ผมเหน็ดเหนื่อยกับความยากลำบากนี้” เขากล่าว ขณะหย่อนเนื้อไก่ดิบลงในหม้อดำเขรอะที่ตั้งอยู่บนไฟ “หนีการปราบปรามในบัลแกเรีย, หนีในอิหร่าน แล้วมาติดแหงกในเซอร์เบีย สามอาทิตย์ที่ผ่านมาผมได้อาบน้ำไปครั้งเดียว ตอนอยู่บ้านปกติผมอาบน้ำทุกวัน”

เด็กๆ เหล่านี้ต้องหากินและปกป้องตนเอง, โยกย้ายถิ่นฐานไปตามเส้นทาง, เอาชีวิตรอดจากสงครามและความขัดแย้ง พวกเขากำลังแบกความหวังของครอบครัวไว้บนบ่า ที่ซึ่งในวัยของพวกเขาแล้วภาระอันหนักอึ้งบนบ่านี้ไม่ควรที่จะมีอะไรมากไปกว่ากระเป๋าเรียน แม้ว่ารัฐบาลเซอร์เบียจะจัดหาอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อผู้ลี้ภัย แต่อีมาลและเพื่อนๆ ของเขาพึงใจมากกว่าที่จะได้อยู่ใกล้กับชายแดนให้มากที่สุด เพื่อรอโอกาสเหมาะสมที่พวกเขาจะได้ชนะเกมนี้

เด็กชายเหล่านี้ตระหนักดีถึงอันตรายรอบตัว พวกเขาเล่าเรื่องของเพื่อนคนหนึ่งที่ถูกชาวเซอร์เบียแทงและปล้นเอาของมีค่าไป ในขณะที่เด็กหนุ่มชาวปากีสถานวัย 16 ปีรายหนึ่งถูกฆ่าตายระหว่างที่เขากำลังเดินทางมายังชายแดนด้วยรถไฟ นอกจากนั้นในแต่ละวันพวกเขาต้องอดทนกับความหิวโหย “ในวันนี้พระเจ้ามอบอาหารให้เรา” อีมาลกล่าว “ส่วนในวันข้างหน้า…”

อีมาลโรยเครื่องปรุงใส่ไก่ ตัวเขาเป็นลูกชายคนโตของครอบครัว เขายังไม่มีโอกาสได้คุยกับแม่ของเขาผู้เป็นม่ายอีกเลย นับตั้งแต่โทรศัพท์มือถือของเขาถูกขโมยไปเมื่อ 3 เดือนก่อน ซาลีมเพื่อนของเขามีน้ำใจให้ยืมโทรศัพท์ แต่อีมาลจำเบอร์ติดต่อในอัฟกานิสถานไม่ได้ เขาฝืนยิ้ม “ผมสวดภาวนาให้แม่ ผมคิดถึงท่าน” เขากล่าว “แม่ทำไก่ได้อร่อยที่สุด”

ในฤดูใบไม้ผลิ พวกเขาออกมาสวดมนต์ที่ด้านนอกของคลังสินค้าเก่า หลังผ่านพ้นฤดูหนาวมาได้
เดิมทีคลังสินค้าเก่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของพวกเขา ก่อนที่มันจะถูกรื้อถอนเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทำให้พวกเขาต้องย้ายไปอยู่ในที่พักที่รัฐบาลจัดหาไว้ให้แทน
เด็กชายวัย 14 ปี จากอัฟกานิสถานอาบน้ำในวันศุกร์ ข้อมูลจากยูนิเซฟมีผู้ลี้ภัยเด็กที่เป็นเด็กผู้หญิงเพียงน้อยนิด

 

เติบโตเป็นชายชาตรีอย่างโดดเดี่ยว

ในสนามหญ้าสีเขียวกลางกรุงเบลเกรดที่บรรดาเจ้าหน้าที่เรียกเล่นๆ ว่า สวนอัฟกัน อินามุลเห์ โมฮัมหมัด วัย 15 ปี นั่งอยู่บนม้านั่งใกล้กับผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ด้วยความหวังที่ว่าจะมีโอกาสได้เดินทางเข้ายุโรป

“ผมมาที่นี่สองสามครั้งต่อสัปดาห์ เพราะหากผมไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับการข้ามพรมแดนเลย ผมจะไปได้ยังไง” เขากล่าว “ผมอยู่ที่นี่ไม่ได้จริงๆ”

เช่นเดียวกับอีมาล โมฮัมหมัดมาจากจังหวัดนานกาฮาร์  ในอัฟกานิสถาน และเป็นลูกชายคนโตเหมือนกัน เขาจากบ้านเกิดมาเมื่อ 18 เดือนก่อนเพราะว่า “พวกตาลิบันต้องการให้ผมไปเข้าร่วมด้วย” และแม้ว่าขณะนี้เขาจะใช้เวลาไปแล้ว 9 เดือนในเซอร์เบีย ตัวเขายังคงเชื่อว่า นี่จะเป็นแค่สถานที่ชั่วคราวเท่านั้น

ปัจจุบันโมฮัมหมัดอาศัยอยู่ในศูนย์ผู้ลี้ภัยของรัฐบาล แต่ในฤดูหนาวที่สภาพอากาศโหดร้าย เขาใช้เวลาอยู่ในคลังสินค้าร้างซึ่งอยู่ติดกับสถานีรถไฟของกรุงเบลเกรด ซึ่งใช้เวลาสั้นๆ ในการเดินไปจากสวนอัฟกัน เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นร่วมกับเด็กผู้ชายและชายอีกหลายคน ในพื้นที่จำกัดที่สกปรก ไม่มีฮีตเตอร์และไฟฟ้าให้ใช้

Saint-Lot เจ้าหน้าที่ยูนิเซฟเล่าให้ฟัว่าบางครั้งเด็กผู้ลี้ภัยก็จมอยู่กับความเศร้า เพราะพวกเขามองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง
ในตอนที่อินามุลเห์ โมฮัมหมัด ออกจากบ้านในอัฟกานิสถานมา เขายังไม่มีหนวด “พวกตาลิบันต้องการให้ผมเข้าร่วมด้วย” เขากล่าว
เด็กหนุ่มผู้ลี้ภัยโยนลูกบาส บ้างก็เล่นโทรศัพท์อยู่ในศูนย์ผู้ลี้ภัย ในเขต Obrenovac ซึ่งเคยเป็นค่ายทหารมาก่อน

ในเดือนพฤษภาคม คลังสินค้าแห่งนี้ถูกรื้อทำลาย สภาพของมันกลายเป็นซากไม่ต่างจากเขตสงครามที่เด็กๆ จากมา อาคารเก่าเหล่านี้เป็นสิ่งไร้ค่าเมื่ออสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ต้องการพื้นที่คืน ข้าวของที่บ่งชี้การมีตัวตนของบรรดาผู้ลี้ภัยกระจัดกระจายไปทั่ว ผ้าห่มเก่าๆ, แปรงสีฟัน, กระป๋องทูน่าที่ว่างเปล่า และรอยพ่นสเปรย์ภาษาอังกฤษตามผนังใกล้กับสถานีรถไฟ อ่านได้ว่า “ช่วยพวกเราด้วย โปรดเปิดพรมแดน” อีกกำแพงหนึ่งมีข้อความเขียนว่า “ฉันก็เป็นคนเหมือนกับคุณ”

ที่คลังสินค้านั้น โมฮัมหมัดเรียนรู้วิธีที่จะโกนหนวดด้วยตนเอง โดยปราศจากคำแนะนำของพ่อ ญาติผู้ใหญ่หรือแม้แต้เพื่อน ในตอนที่เขาจากบ้านมาหนวดของโมฮัมหมัดยังไม่ขึ้น แต่ตอนนี้เขาเริ่มเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว “ผมอยู่ตัวคนเดียว” เขากล่าว “ผมไม่มีใครที่พอจะแบ่งปันเรื่องราวด้วยได้” โมฮัมหมัดติดต่อสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์กับคนเพียงคนเดียวนั่นคือนายหน้าที่พาเขามาที่นี่ ชาวอัฟกันที่เขาไม่เคยเห็นหน้า

ตัวเขาเป็นลูกเกษตรกร ไม่เคยเข้าโรงเรียน พ่อของเขาขายที่ดินในราคา 8,000 ดอลล่าร์สหรัฐเพื่อช่วยให้ลูกชายได้มีโอกาสเดินทางออกนอกประเทศ ความรู้สึกผิดและภาระหนักอึ้งวางค้างเติ่งอยู่บนสองบ่าของเขา โมฮัมหมัดต้องการที่จะหาเงินมาคืนพ่อเขาให้ได้ และจะดีที่สุดถ้าเขาสามารถซื้อที่ดินของครอบครัวกลับมา ณ ตอนนี้เขากำลังรอเงินที่จะส่งมาจากทางบ้านเพื่อเอาไปซื้อรองเท้าสักคู่ เช่นเดียวกับอีมาล รองเท้าของเขาถูกยึดไปโดยเจ้าหน้าที่ชายแดน

โมฮัมหมัดอุลลาห์ อาฟรีดี วัย 10 ขวบ กินข้าวเพียงลำพังท่ามกลางผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ในศูนย์ผู้ลี้ภัยของเขต Obrenovac เขาไม่รู้ว่าตอนนี้ครอบครัวของเขาในอัฟกานิสถานมีชะตากรรมเป็นอย่างไร ลุงของเขาเล่าว่าพวกตาลิบันวางระเบิดบ้านเขา

ในขณะที่กำลังพูดคุย เขาเล่าเรื่องที่ตัวเองต้องพยายามตื่นอยู่ตลอดคืน ในช่วงของการเดินทาง 18 เดือนที่ผ่านมา “ผมกลัวว่าจะไม่ได้เจอพ่อแมอีก กลัวว่าจะถูกสัตว์กิน กลัวจะถูกรถชน หรือใครบางคนอาจยิงผม ฆ่าผม ถ้าเป็นเช่นนั้นอะไรจะเกิดขึ้นต่อกับครอบครัวผม พวกตาลิบันจะทำอะไรพวกเขา?” “ผมเห็นความตายมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง” เขากล่าว ก่อนหน้านี้โมฮัมหมัดถูกปล้นเอานาฬิกาและเงินไป และเคยถูกกักขังอยู่ในบัลแกเรียนานถึง 7 เดือน

หนึ่งสิ่งที่เขารู้แน่คือ เขาไม่ต้องการอยู่ในเซอร์เบีย “ผมจะทำอะไรที่นี่?” เขากล่าว ดูจากท่าทางของชาวเซอร์เบียที่เขาพบในสวน “คนพวกนี้ยากจนกว่าผมด้วยซ้ำ อัฟกานิสถานยังร่ำรวยกว่า” (จริงๆ แล้วจีดีพีของเซอร์เบียสูงกว่าอัฟกานิสถาน 10 เท่า แต่สำหรับโมฮัมหมัดแล้ว เขามองไม่เห็นอนาคตที่นี่)

โมฮัมหมัดมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะเดินทางเข้าไปยังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปให้ได้ “ผมพยายามมาแล้วมากกว่า 27 ครั้ง และถูกเนรเทศจากสโลวาเนียมาแล้ว 4 รอบ ผมอยากจะเป็นคนที่ดีกว่านี้ อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ หากพรมแดนยังไม่เปิด สุดท้ายผมต้องกลับอัฟกานิสถาน และถูกบังคับให้เข้าร่วมกับกลุ่มตาลิบัน”

กิจกรรมฆ่าเวลาว่าง อับดุลราห์มัน ฮัสเซน วัย 13 ปี เล่นการ์ดเกมกับเพื่อนๆ ผู้ลี้ภัย ในศูนย์ผู้ลี้ภัย Adasevci ใกล้ชายแดนโครเอเชีย
ช่วยเหลือกัน : เด็กหนุ่มผู้ลี้ภัยวัย 16 ปี ให้เพื่อนช่วยตัดผมให้
กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถาน ในจำนวนนี้รวมถึงเด็กๆ ด้วย เล่นบางสิ่งที่พวกเขาเรียกมันว่าเกม นั่นคือการพยายามฝ่าเจ้าหน้าที่ชายแดนข้ามไปยังโครเอเชียและฮังการี ด้วยความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่า

 

เติบโตขึ้นเพราะประสบการณ์

เดลาการ์ คันดาการ์ เด็กชายขี้อายวัย 8 ขวบกำลังเดินไปรอบๆ อย่างไร้จุดหมาย เมื่อฉันพบกับเขาครั้งแรกในศูนย์ผู้ลี้ภัย Adasevci โรงแรมที่ถูกดัดแปลงให้เป็นสถานที่รองรับผู้ลี้ภัย สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่ตั้งอยู่ใกล้กับชายแดนเซอร์เบียและโครเอเชียมากที่สุด ขับรถจาก “ป่า” ของซัดดัม อีมาลเพียงไม่นาน ผู้ลี้ภัยที่มาเป็นครอบครัวถูกอัดให้อาศัยในห้องแคบๆ ในขณะที่ชายโสดและเด็กผู้ชายต้องอาศัยอยู่รวมกันอย่างแออัด

กลุ่มวัยรุ่นและเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอเล่นวอลเลย์บอลด้วยกันที่ด้านนอก พวกผู้ชายเบียดเสียดกันอยู่ตรงจุดที่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตไวไฟ เด็กผู้หญิงหอบผ้าใส่ตะกร้าพลาสติกเดินผ่าน เช่นเดียวกับเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ ในเซอร์เบีย เธอเดินทางมากับครอบครัว Saint-Lot เจ้าหน้าที่จากยูนิเซฟเล่าว่า จำนวนเด็กผู้หญิงมีเพียงน้อยนิด เนื่องจากหากปราศจากผู้ดูแล พวกเธอจะเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศและการทำร้ายร่างกาย รวมถึงจำนวนที่น้อยนิดนี้ยังเป็นผลสะท้อนจากสังคมวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกลาง สถานที่ที่พวกเธอจากมา

คันดาการ์เดินกลับมายังโรงรถซึ่งเป็นบ้านของเขา “ที่นี่ไม่มีอะไรเลย” เขากล่าว ตัวเขาเดินทางมาจากจังหวัดนานกาฮาร์ เมื่อปีก่อน พร้อมกับลูกพี่ลูกน้องวัย 10 ขวบและลุงของเขาวัย 15 ปี ความทรงจำที่เขามีเกี่ยวกับบ้านไม่มีสิ่งอื่นนอกจาก กองเพลิง การต่อสู้ และพวกตาลิบัน  อย่างไรก็ตามยังพอมีความทรงจำดีๆ อยู่บ้างเช่นช่วงเวลาที่เขาเล่นคริกเก็ตกับเพื่อน หรือทานอาหารกันพร้อมหน้ากับพ่อแม่และพี่น้องอีก 4 คน “ผมจำวันที่มีความสุขเหล่านั้นได้ครับ” เขากล่าว “อยู่ที่นี่ผมเศร้า”

ซาลีม ข่าน วัย 12 ปี จากอัฟกานิสถานพักผ่อนบนเตียง 2 ชั้น ของศูนย์ผู้ลี้ภัย Adasevci ใกล้ชายแดนโครเอเชีย 1 ใน ศูนย์ผู้ลี้ภัยจำนวน 18 แห่งของเซอร์เบียที่ได้รับความช่วยเหลือด้านอาหารและข้าวของอื่นๆ จากรัฐบาล

เด็กน้อยอยากเดินทางไปยังฝรั่งเศส เพราะได้ยินมาว่าที่นั่นมีชาวอัฟกันเยอะและเพราะว่า “ที่ฝรั่งเศสเป็นดินแดนสงบ” จริงๆ แล้ว ที่เซอร์เบียเองก็สงบเช่นกัน แต่ไม่ใช่ความสงบในแบบที่เด็กน้อยใฝ่ฝันถึงประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป

ตัวเขาไม่รู้จักยุโรปมาก่อนด้วยซ้ำ เมื่อการผจญภัยเริ่มต้นขึ้น คันดาการ์และญาติขึ้นเครื่องบินมายังอิหร่าน เดินทางต่อมายังตุรกี เข้าบัลแกเรีย จนมาจบที่เซอร์เบีย ประสบการณ์ใหม่สำหรับเด็กน้อย ผู้ที่เคยเดินทางไกลสุดคือไปปากีสถานเพื่อขายผ้าห่มกับพ่อ

คันดาการ์ไม่ได้เล่าให้พ่อแม่ฟังว่าตัวเขาและญาติถูกทุบตี กักขัง และถูกปล้นในอิหร่านโดย “ผู้คนที่ถือปืนกลเหมือนพวกตาลิบัน” และไม่ได้เล่าว่าลุงวัย 15 ปีของเขาซ่อนเงินจำนวนหนึ่งไว้ในกางเกงในของคันดาการ์ เพราะหวังว่าพวกนั้นจะไม่ค้นตัวเขา

ในกรุงเบลเกรด คันดาการ์อาศัยอยู่ในคลังสินค้าที่สกปรกเช่นเดียวกับโมฮัมหมัด พวกเขาจุดไฟเพื่อความอบอุ่นและพบว่า “ใบหน้าของพวกเขาดำจากเขม่าควัน เมื่อตื่นขึ้นมาในตอนเช้า”

แตกต่างจากซัดดัม อีมาล ตรงที่คันดาการ์ไม่อยากที่จะเล่นเกมนี้ “ถนนปิดแล้ว ไม่มีใครข้ามพรมแดนไปได้” เขากล่าว บางครั้งเด็กน้อยวาดหวังว่าจะได้กลับบ้าน เขาไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ เขาไม่มีแผนใดๆ “ว่างเปล่า” เขากล่าว “ทุกวันนี้ผมไม่มีอะไรทำเลย”

เรื่อง Rania Abouzeid

ภาพถ่าย Muhammed Muheisen

เดลาการ์ คันดาการ์ วัย 8 ขวบ ไม่เล่าให้พ่อแม่ของเขาฟังเกี่ยวกับสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางมายุโรป “พวกเขาถามว่ามีอะไรลำบากหรือเปล่า แต่ผมตอบว่าไม่” “ผมไม่อยากให้พวกเขาต้องเป็นกังวล”
คันดาการ์เดินทางจากบ้านในอัฟกานิสถานมาไกลกว่า 4,000 ไมล์ เขาวาดฝันว่าจะได้ไปฝรั่งเศสเพราะเชื่อว่าที่นั่นสงบ หรือไม่ก็จะได้กลับบ้าน

 

อ่านเพิ่มเติม

สิ่งที่ผู้ลี้ภัยนำติดตัวไปด้วย

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.