จากท้องฟ้าจนถึงพื้นดินกรุงนิวเดลีเต็มไปด้วยมลพิษ เมืองหลวงของประเทศอินเดียนี้มีขนาดเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของรัฐโรดไอแลนด์ และเป็นบ้านของประชากรที่มีจำนวนมากกว่าผู้คนในมหานครนิวยอร์กถึง 2 เท่า
ปกติแล้วเมื่อพูดถึงมลพิษทางอากาศ กรุงปักกิ่ง ของจีนจะถูกนึกถึงขึ้นมาเป็นอันดับแรก แต่ผลการศึกษาเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศระดับโลก เมื่อปี 2014 โดยองค์การอนามัยโลกพบว่า กรุงนิวเดลีมีปริมาณฝุ่นละอองมากกว่ากรุงปักกิ่งหลายเท่า และด้วยปริมาณของมันทำให้มหานครแห่นี้กลายเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก
เพื่อจะเข้าใจว่าชาวอินเดียมีชีวิตความเป็นอยู่กันอย่างไร กับมลพิษเหล่านี้ Matthieu Paley ช่างภาพ ใช้เวลา 5 วันในการเดินตะลอนไปในนิวเลี ด้วยภาพถ่ายของเขาช่วยให้เรามองเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปริมาณรถยนต์อันหนาแน่นและการเผาขยะ หมอกควันสีเหลืองหนาทึบลอยปกคลุมตัวเมือง แม้แต่แม่น้ำยมุนา แม่น้ำอันศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่รอดพ้นจากปัญหานี้ แม่น้ำที่มีความสำคัญเป็นลำดับที่สองรองจากแม่น้ำคงคานี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู ตัวแม่น้ำมีความยาว 1,376 กิโลเมตร ไหลผ่านหลายรัฐในอินเดียและเป็นสายธารหล่อเลี้ยงผู้คนกว่า 57 ล้านคน 80% ของมลพิษในน้ำไหลผ่านนิวเดลีเป็นระยะทาง 22.5 กิโลเมตร การพังทลายของหน้าดิน, กระบวนการกำจัดของเสียและสารเคมีที่ถูกปล่อยลงน้ำส่งผลให้น้ำในแม่น้ำกลายเป็นสีดำ และเกิดแผ่นฟิล์มสีขาวลอยปกคลุมผิวน้ำ
สุนิตา นาเรน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม (CSE) ซึ่งตั้งอยู่นกรุงนิวเดลี และเธอยังติดอันดับ 1 ใน 100 คนที่มีอิทธิพลต่อโลกจากการดำเนินงานนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อม ในปี 2010 ระบุว่า “จากการตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมีของน้ำ ในพื้นที่ที่ตรวจสอบแม่น้ำเน่าเสียหมดแล้ว แม้ข้อมูลจะไม่ได้ถูกเปิดเผยอย่างเป็นทางการก็ตาม”
แม่น้ำยมุนาเป็นหัวใจสำคัญของผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณรอบๆ เด็กๆ กระโจนลงเล่นน้ำ พวกผู้ชายซักเสื้อผ้า ผู้คนทุกช่วงวัยอาบและดื่มน้ำด้วยความเชื่อว่าจะช่วยชำระบาปของพวกเขา
อย่างไรก็ตามสำหรับบางคน ของเสียและขยะเหล่านี้คือแหล่งรายได้เลี้ยงชีพ Paley บันทึกภาพของผู้คนมากมายว่าพวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างไร เขาพบกับชาย หญิง และเด็กๆ ที่ลุยฝ่ากองขยะและแม่น้ำทุกวันเพื่อเก็บเองเศษเหล็ก, พลาสติก หรือกระดาษที่พวกเขาพอจะเอาไปรีไซเคิลได้ ในวันที่โชคดี พวกเขาอาจหาเงินได้ 1,000 รูปี ซึ่งเทียบเท่ากับ 500 บาท และเป็นค่าแรง 3 เท่าของการทำงานในเมือง
ในเดือนตุลาคม ปี 2014 นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ประกาศแคมเปญระดับชาติชื่อ Swachh Bharat Abhiyan ซึ่งแปลได้ว่า “ภารกิจทำความสะอาดอินเดีย” ภารกิจดังกล่าวถูกประกาศหลังการประกาศแคมเปญ “ผลิตในอินเดีย” ได้ 1 สัปดาห์ แคมเปญที่กระตุ้นให้บริษัทต่างชาติหันมาลงทุนในอินเดียมากขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะใช้สิ่งแวดล้อมที่สะอาดขึ้นของอินเดียมาช่วยโปรโมท
CSE ออกมาวิจารณ์แคมเปญดังกล่าว ในปี 2015 พวกเขาออกมารายงานว่างบประมาณของรัฐบาลไม่ได้ถูกใช้ไปกับการสร้างกลยุทธิ์เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม Chandra Bhushan รองผู้อำนวยการศูนย์ระบุ “ผลลัพธ์ทางธุรกิจมันอยู่ที่การแก้ไขปัหามลพิษทางอากาศ มลพิษในน้ำ หรือการแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม ด้วยการลงทุนกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน”
ในขณะที่กรุงนิวเดลีมีโรงบำบัดน้ำเสีย แต่กลับขาดโครงสร้างพื้นฐานอย่างท่อน้ำที่จะพาน้ำเสียมา แต่อย่าว่าแต่ท่อน้ำเลย Paley สังเกตเห็นว่าแม้กระทั่งบนพื้นดินเขาก็แทบไม่เห็นถังขยะสาธารณะเลยด้วยซ้ำ “มันมีบางครั้งที่ผมถือขยะในมือและพยายามมองหาที่ทิ้ง แต่ปรากฏว่าผมต้องถืออยู่แบบนั้นเกือบตลอดวัน เพราะไม่มีถังขยะเลย” เขากล่าวถึงประสบการณ์ในอินเดีย
เรื่อง Melody Rowell
ภาพถ่าย Matthieu Paley
อ่านเพิ่มเติม