เมืองเล็กๆ ในเม็กซิโกนี้ นับถืออิสลาม

เมืองเล็กๆ ในเม็กซิโกนี้ นับถืออิสลาม

ในทรรศนะของ Giulia Iacolutti ช่างภาพจากอิตาลี บทสนทนาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามในประเทศบ้านเกิดของเธอ มีแต่ความหวาดกลัวและการก่อการร้าย แต่เมื่อเธอเดินทางมาถึงเม็กซิโก เธอกลับพบว่าที่นี่แตกต่างโดยสิ้นเชิง

ในปี 2014 ศาสตราจารย์ท่านหนึ่งแนะนำเธอให้รู้จักกับหนึ่งในอิหม่าม ที่ดูแลมัสยิดรอบๆ กรุงเม็กซิโกซิตี้ โปรเจคภาพถ่ายชุดนี้ เป็นผลงานหลังจากเธอใช้เวลา 1 ปีไปกับการฝังตัวเองลงในวัฒนธรรมและความเชื่อของพวกเขา โดยเธอตั้งชื่อมันว่า “Jannah” เป็นคำที่มาจากภาษาอารบิกแปลว่าสรวงสวรรค์ ตามความเชื่อของศาสนาอิสลาม

ในไร่ข้าวโพด ของรัฐเชียปัส Salma Palamo Diaz สวมชุดกระโปรงพื้นเมืองที่เรียกว่า tzotzil ที่เม็กซิโก ชาวมุสลิมผสมผสานวัฒนธรรมของพวกเขาเข้ากันกับวิถีชีวิตแบบอิสลาม
กลุ่มชาวมุสลิมจากสเปนร่วมกันสร้างโบสถ์แห่งนี้ขึ้นในเมือง San Cristobal de las Casas ปัจจุบันจำนวนชาวเม็กซิกันที่นับถือศาสนาอิสลามกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ศาสนาอิสลามเดินทางมาถึงเม็กซิโกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมกับผู้อพยพจากเลบานอนและซีเรีย รวมไปถึงกลุ่มชาวมุสลิมจากสเปนที่เดินทางมาเผยแพร่ศาสนาในช่วงปี 90 หลังจากนั้นอิสลามก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันประเทศนี้มีผู้นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 5,270 คน จำนวนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าเมื่อเทียบกับ 15 ปีก่อน ครูสอนภาษาอารบิกช่วยให้ชาวเม็กซิโกที่สนใจสามารถอ่านอัลกุรอ่านได้ และมีทุนการศึกษาให้สำหรับการศึกษาเพิ่มเติมที่กรุงเมดินา ในเยเมน

เม็กซิโกเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ Iacolutti พบว่าความเชื่อยังคงเป็นเรื่องสำคัญของชาวเม็กซิโก เธอมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณแม่ชาวคริสต์ท่านหนึ่งที่ไม่ต้องการให้ลูกสาวเปลี่ยนไปนับถืออิสลาม แต่ในที่สุดเธอก็ยินยอมเมื่อพบว่าชีวิตของลูกสาวเธอดีขึ้น เมื่อกลายมาเป็นคนเคร่งศาสนา “ในเม็กซิโกการจะเปลี่ยนไปนับถืออิสลาม ทำได้ง่ายกว่าในยุโรป” เธอกล่าว “ผู้คนไม่ได้คิดถึงประเด็นการก่อการร้าย”

“พวกเขาต้องการสร้างอัตลักษณ์” Iacolutti กล่าวถึงชุมชนอิสลามที่ถือเป็นเรื่องใหม่ในเม็กซิโก “สิ่งที่น่ารื่นรมย์เมื่อคุณเป็นมุสลิมก็คือ มันช่วยปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา คุณต้องละหมาด 5 ครั้งต่อวัน คุณทานหมูไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ก็ไม่ได้”

หลังอาศัยอยู่กับชุมชนอิสลามในเม็กซิโกซิตี้มาเป็นเวลา 1 ปี ช่างภาพหญิงขอคำแนะนำกับอิหม่ามในการไปเยี่ยมชมชุมชนมุสลิม ในรัฐเชียปัส ซึ่งพวกเขาผสมผสานความเชื่อทางศาสนาเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น ชาวมุสลิมราว 400 คนนี้มีความแตกต่างที่ชัดเจนจากชาวมุสลิมในกรุงเม็กซิโกซิตี้ เช่น ผู้หญิงชาวพื้นเมืองจำนวนมากเลือกที่จะคลุมศีรษะด้วยผ้าพันคอทั่วไป  “ฉันต้องการพูดภาษาของฉัน ใส่ชุดพื้นเมือง ในขณะเดียวกันฉันก็ยังคงเชื่อในอัลลอฮ์” พวกเธอกล่าวกับ Iacolutti

แต่ความห่างไกลทำให้การรักษากฎของศาสนาเป็นเรื่องยาก รัฐเชียปัสเป็นรัฐยากจนเมื่อเทียบกับรัฐอื่นๆ นั่นทำให้อาหารที่ถูกระบุว่าเป็นอาหารฮาลาลนั้นหาได้ยาก ดังนั้นในระหว่างช่วงของการเฉลิมฉลองวันหยุด เธอจึงได้เห็นชาวมุสลิมในชุมชนล้มวัว 2 ตัวและนำเนื้อที่ได้ไปแบ่งให้ชุมชนชาวคริสต์ “หนึ่งในหลักสำคัญของอิสลามก็คือคุณต้องช่วยเหลือผู้ที่ลำบากกว่า” เธอกล่าว “มันไม่สำคัญว่าคุณนับถือพระเจ้าองค์ใด แต่คุณคือเพื่อนบ้านเรา คุณจึงทานอาหารร่วมกับเราได้”

สำหรับ Iacolutti เอง เธอไม่เชื่อในพระเจ้า แต่เธอไม่เคยถูกขอหรือโน้มน้าวให้เปลี่ยนความเชื่อนี้ แม้จะอาศัยอยู่ในประเทศที่มีศรัทธาอันแรงกล้า ในการสนทนากับหญิงชาวมุสลิมคนหนึ่ง เธอเคยบอกว่าหญิงคนนั้นมีชีวิตที่รุ่มรวยเพราะเธอเชื่อและมีศรัทธา “ตัวฉันไม่ได้เชื่อ แต่ฉันเห็นเลยว่าคุณมีชีวิตที่ดีขึ้น”

แต่หญิงคนนั้นกลับตำหนิเธอ “คุณถ่ายรูปหนิ” เธอตอบ “พระเจ้าของคุณอยู่นี่แล้วไง ผ่านภาพถ่ายและเรื่องราวอันสวยงาม คุณเชื่อในสิ่งนี้ ฉันก็เชื่อในอัลลอฮ์”

เรื่อง Nina Strochlic

ภาพถ่าย Giulia Iacolutti

Domingo López Ángel หัวหน้าสภาผู้แทนชนพื้นเมืองในเชียปัส ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิของชนพื้นเมือง ตัวเขาเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่นำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่
Ramka เด็กหญิงวัย 11 ขวบ นั่งดูภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระนางมารีอา ในระหว่างวันหยุดเทศกาลอีด
ชาวมุสลิมนิกายอามาห์ดียะห์กำลังละหมาด นิกายนี้เกิดขึ้นในอินเดีย พวกเขาเชื่อว่าศาสดาโมฮัมหมัดไม่ใช่ศาสดาองค์สุดท้าย สำหรับชาวมุสลิมหัวเก่าแล้วมองว่านิกายนี้อยู่นอกศาสนาอิสลาม
Anastasio Gomez เปลี่ยนชื่อเป็น Ibrahim Chechev เมื่อเข้าศาสนาอิสลาม ปัจจุบันตัวเขาเป็นอิหม่ามของชุมชนมุสลิมในเมือง San Cristobal de las Casas
Baraka (คนที่สองจากซ้าย) เป็นแม่ของลูกสามคน และเป็นอิหม่ามของมัสยิด Al-Kausar ในรัฐเชียปัส หลังเข้ารับศาสนาอิสลาม เธอเปลี่ยนชื่อจาก Dominga เป็นชื่อใหม่
ฮิญาบสีสันสดใสของ Salama Palamo Diaz เป็นฮิญาบผืนโปรด เธอได้มันมาในฐานะของขวัญจากชาวมุสลิมต่างชาติที่เดินทางมาเยี่ยมยังชุมชนของเธอ
หญิงสาวชาวมุสลิมอุ้มลูกสาวของเธอไว้
ชายชาวมุสลิมล้มวัว 2 ตัว เพื่อใช้สำหรับงานพิธีที่จะจัดขึ้นในรัฐเชียปัส เนื้อที่ได้จะถูกแบ่งเป็น 3 ส่วนคือสำหรับครอบครัวเขา ญาติๆ และบรรดาผู้ที่ยากจน
หุ่นสตัฟฟ์ของลูกวัวแฝดสยามถูกตั้งโชว์ในร้านขายเนื้อ ของเมือง San Cristobal de las Casas ปกติแล้วอาหารฮาลาลเป็นสิ่งหายาก ดังนั้นชาวมุสลิมที่เคร่งมากๆ จึงเลือกที่จะเชือดสัตว์ด้วยตนเอง
เทศกาลอีดเป็นเทศกาลสำคัญของชาวมุสลิมที่เฉลิมฉลองกันในทุกปี ตามธรรมเนียมแล้วพวกเขาจะเชือดแพะหรือวัว
ย้อนกลับไปในอดีต บรรพบรุษของพวกเขา ชาวมายันก็มีธรรมเนียมการบูชายัญที่คล้ายวันอีดด้วยการสังหารมนุษย์และมอบหัวใจแก่เทพเจ้า

 

อ่านเพิ่มเติม

วิถีชีวิตนักล่าหมีแห่งฮอนชูกำลังสั่นคลอน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.