บันทึกประวัติศาสตร์ “โชคดีที่ได้เกิดในรัชกาลที่ 9”

เรื่อง วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์

ภาพถ่าย จันทร์กลาง กันทอง

หลังมีประกาศให้ประชาชนที่จะเข้าร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 สามารถเข้าพื้นที่รอบมณฑลพิธีท้องสนามหลวงได้ตั้งแต่เวลา 05.00น. ของวันที่ 25 ตุลาคม สิ่งที่ฉันเห็นผ่านภาพข่าวและจากการตระเวนสำรวจรอบพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม คือภาพประชาชนทุกเพศทุกวัยจากทั่วทุกสารทิศหอบหิ้วเสื้อผ้าสัมภาระที่จำเป็นเข้ามาจับจองพื้นที่ใกล้เคียงจุดคัดกรองทั้งเก้าจุดเพื่อหวังจะมีโอกาสเข้าไปกราบถวายสักการะเป็นครั้งสุดท้าย บางคนตั้งใจมารอตั้งแต่ช่วงดึกของวันที่ 22 ก็มี ไม่นานนัก ตลอดแนวบาทวิถีและหน้าอาคารพาณิชย์บริเวณนั้นก็คลาคล่ำไปด้วยผู้คนในชุดสีดำ…ที่มีหัวใจดวงเดียวกัน

นอกจากต้องลดขั้นตอนการใช้ชีวิตให้ง่ายที่สุด กินน้อย นอนน้อย เข้าห้องน้ำน้อยแล้ว พวกเขายังต้องเผชิญกับบททดสอบจากธรรมชาติมากมาย ตั้งแต่อากาศร้อนอบอ้าว แสงแดดที่แผดเผาจนผิวแทบไหม้และสายฝนที่กระหน่ำเป็นระยะๆไปจนถึงอาการอ่อนเพลียลมแดด และไข้หวัดที่เริ่มเล่นงานหลายคน แต่ทุกคนก็ยัง “ยิ้มสู้” และยืนหยัดรอต่อไป ภาพเหล่านั้นทำให้ฉันคิดในใจว่าจะต้องใช้ความรักมากแค่ไหนกันกว่าที่คนคนหนึ่งจะยอมเสียสละตัวเองได้ถึงเพียงนี้แต่คำถามเดียวกันนี้ก็ทำให้ฉันอดคิดถึงสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำเพื่อปวงชนชาวไทยตลอด 70 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ เพราะความรักที่ทรงมีต่อบ้านเมืองและประชาชนของพระองค์นั่นเอง

จุดเริ่มต้นของการมีทุกอย่างทีดีในวันนี้คือการต่อสู้กับความยากจนอันเป็นศัตรูตัวฉกาจของคนไทยเมื่อหลายทศวรรษก่อน ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปยังถิ่นทุรกันดารต่างๆตั้งแต่ดอยสูงเสียดฟ้าจรดชายเลนปากทะเลเพื่อทรงรับฟังปัญหาตรวจตราพื้นที่ และเก็บข้อมูลด้วยพระองค์เอง แม้ข้าราชบริพารหลายคนจะเคยกราบทูลว่าพระองค์ไม่จำเป็นต้องลำบากพระวรกายเช่นนั้น แต่ก็ทรงทำเพราะต้องการให้ประชาชนได้รู้ว่าพวกเขาไม่ได้ถูกทอดทิ้งและอยู่ในสายพระเนตรของพระองค์เสมอ  จนมีคำกล่าวในเวลาต่อมาว่า “ไม่มีที่ใดในผืนแผ่นดินไทยที่พระองค์เสด็จฯไปไม่ถึง”

พลฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถและเจ้าพนักงานภูษามาลาถวายบังคมพร้อมกัน เมื่ออัญเชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ ก่อนเคลื่อนริ้วขวบนพระบรมราชอิสริยยศไปยังพระเมรุมาศ

เช้ามืดวันแห่งประวัติศาสตร์  26 ตุลาคม 2560 ดวงจันทร์ยังไม่ตกลับขอบฟ้า แต่พื้นที่รอบมณฑลพิธีท้องสนามหลวงในเวลานี้ก็แน่นขนัดไปด้วยผู้คนเรือนแสน ส่วนบริเวณใกล้เคียงอย่างถนนราชดำเนินกลาง สะพานพระปิ่นเกล้าท่าพระอาทิตย์ สะพานมอญ ฯลฯ ก็เนืองแน่นไปด้วยคลื่นมหาชนที่บ้างมารอโอกาสเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ บ้างขอแค่ได้มาอยู่ใกล้ๆ มณฑลพิธีให้มากที่สุดก็พอใจแล้ว

ทันทีที่เสียงดนตรีดังขึ้นเป็นสัญญาณบอกให้ประชาชนข้างนอกพระบรมมหาราชวังรู้ว่าการอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ได้เริ่มขึ้นแล้ว หลายคนน้ำตารื้นพร้อมกับชูพระบรมฉายาลักษณ์ไว้เหนือศีรษะบ้างก็ชูธนบัตรขึ้นสูง บ้างนั่งสวดมนต์ถวายเป็นครั้งสุดท้าย

เมื่อริ้วขบวนที่หนึ่งอัญเชิญพระโกศทองใหญ่โดยพระยานมาศสามลำคานจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทผ่านออกไปทางประตูเทวาภิรมย์เสียงร่ำไห้ก็ดังขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ผู้ร่วมริ้วขบวน กำลังพลในริ้วขบวนก็ไม่อาจกลั้นน้ำตาแห่งความอาดูรไว้ได้  ขณะเดียวกัน พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) และคณะพราหมณ์ราชสำนักที่อยู่ในริ้วขบวนก็เริ่มแกะมุ่นมวยซึ่งถือว่าเป็นที่สถิตของเทวดาออกปล่อยให้ผมยาวสยายตามธรรมเนียมการไว้ทุกข์ของพราหมณ์ในขบวนแห่พระบรมศพออกพระเมรุ

ริ้วขบวนที่หนึ่งใช้เวลาเคลื่อนขบวนราว 30 นาทีก็มาถึงริ้วขบวนที่สองหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งที่นั่นพระมหาพิชัยราชรถจอดเทียบรอเพื่อเตรียมอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ไปยังพระเมรุมาศ พระมหาพิชัยราชรถสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมา โดยเฉพาะในครั้งนี้ที่มีการเปลี่ยนกระจก ล้างรักที่งานซ้อนไม้เพื่อแกะคัดลายใหม่ให้คมชัด ทั้งยังปิดทองใหม่ทั้งหมดให้งามสง่าสมดังความหมาย “มหาราชรถแห่งผู้ชนะ”

แม้ฝนจะกระหน่ำลงมาอย่างหนัก แต่ประชาชนบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ยังยืนหยัดไม่ยอมหลบฝน เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพและแสดงความอาลัยแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย

เมื่อถึงเวลา กำลังพล 216 นาย เริ่มฉุดชักราชรถให้เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างช้าๆ เส้นสายที่พลิ้วไหวตลอดองค์ราชรถนั้นกลับทำให้ฉันคิดจินตนาการว่า ปวงเทพเทวากำลังอัญเชิญราชรถไปในห้วงอากาศ น่าแปลกที่ว่าเมื่อพระมหาพิชัยราชรถเคลื่อนผ่าน จู่ๆ ความร้อนก็พลันหายไปมีแต่ความเงียบสงัดและเสียงสะอื้นไห้มาแทนที่จนกระทั่งขบวนพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จผ่านไป ความร้อนจึงเริ่มกลับมาแผดเผาอีกครั้ง

ริ้วขบวนที่สองซึ่งเป็นขบวนที่ใหญ่ที่สุดใช้เวลาเคลื่อนขบวนราวสองชั่วโมงก็มาถึงบริเวณพระเมรุมาศ จากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของริ้วขบวนที่สามอัญเชิญพระโกศทองใหญ่โดยราชรถปืนใหญ่เพื่อเทิดพระเกียรติสูงสุด ทั้งนี้ธรรมเนียมดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างราชรถปืนใหญ่ขึ้นเพื่ออัญเชิญพระโกศพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ที่ทรงรับราชการทหารเมื่อครั้งดำรงพระชนม์ชีพ

เมื่อราชรถปืนใหญ่เวียนรอบพระเมรุมาศโดยอุตราวัฏ (เวียนซ้าย) สามรอบแล้วจึงเชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธานทางเกรินบันไดนาคพระเมรุมาศด้านทิศเหนือ ครั้นถึงที่แล้วเจ้าพนักงานปิดพระฉากและพระวิสูตรลงเพื่อประกอบพระโกศจันทน์ นับเป็นอันแล้วเสร็จการอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ไปยังพระเมรุมาศ

ภาพพระเมรุมาศสีทองอร่ามมีความงดงามราวกลับสรวงสวรรค์บนพื้นดินทำให้ฉันอดย้อนคิดไปถึงสารพันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขวบปีที่ผ่านมาไม่ได้

ทหารปืนใหญ่ยิงสลุตเพื่อถวายพระเกียรตินาทีละหนึ่งนัด ขณะอัญเชิญพระโกศทองใหญ่ออกจากพระบรมมหาราชวังไปเทียบยังพระมหาพิชัยราชรถหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และเริ่มยิงปืนใหญ่ต่อเนื่องนาทีละหนึ่งนัดอีกครั้ง เมื่อริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศเคลื่อนไปยับงพระเมรุมาศท้องสนามหลวง จนกระทั่งพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธานในพระเมรุมาศแล้วจึงหยุดยิง

ตลอดทั้งวันนั้น รัฐบาลเปิดโอกาสให้คนไทยทั้งในและต่างประเทศถวายดอกไม้จันทน์แสดงความอาลัยแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย

แม้ว่าสภาพอากาศแทบทุกภาคของประเทศจะค่อนข้างแปรปรวนเพราะมีทั้งร้อนแดด ฝนพรำ หรือบางพื้นที่ก็มีฝนตกหนักจนมีน้ำท่วมขัง แต่นั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความตั้งใจของปวงชนชาวไทย จุดวางดอกไม้จันทน์เกือบพันแห่งทั่วประเทศแทบไม่เพียงพอต่อคลื่นมหาชนในชุดสีดำที่หลั่งไหลมาอย่างต่อเนื่อง บางแห่งประชาชนต้องรอคอยนานถึงสิบสองชั่วโมงก็มี แต่ทุกคนก็เต็มใจไม่ย่อท้อ แม้ต้องยืนกลางสายฝนที่กระหน่ำลงมา ฉันเองก็เช่นกัน

22.00 น. มีประกาศให้คนไทยทั้งแผ่นดินได้ร่วมกันหันหน้าเบื้องพระเมรุมาศเพื่อถวายความเคารพสูงสุดแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผ่านไปราวชั่วโมงเศษ ควันที่ลอยขึ้นเหนือพระเมรุมาศก็เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่ามีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ประชาชนก้มกราบและเสียงสะอื้นร่ำไห้ดังทั่วแผ่นดินอีกครั้ง

ที่หอประติมากรรมต้นแบบ กรมศิลปากร ศิลปินจิตอาสากำลังลงสีเก็บรายละเอียดครุฑ ซึ่งเป็นเทพพาหนะของ พระนารายณ์ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

รุ่งขึ้น 27 ตุลาคม 2560 เป็นพิธีเก็บพระบรมอัฐิ เชิญพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคารไปยังพระบรมมหาราชวังเพื่อประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิในวันถัดไป และในวันที่ 28 ตุลาคม 2560 มีพระราชพิธีอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ตามลำดับ

ถึงวันนี้ แม้พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตรผ่านไปแล้ว แต่ฉันกลับรู้สึกว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 จะยังคงสถิตอยู่ในหัวใจคนไทยทุกคนตราบจนชีวิตหาไม่ สมดังพระราชดำรัสที่ก้องอยู่ในใจฉันตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยินและคงอยู่ในใจทุกคนเช่นกันว่า “…ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้คือการได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวง…” อันเป็นส่วนหนึ่งจากพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรที่ทรงมีไปถึงพระสหายในต่างประเทศ ภายหลังเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ

หลังเสร็จพิธีบวงสรวงตัดต้นจันทน์หอมที่ยืนต้นตายตามธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อนำมาจัดสร้างพระโกศจันทน์ ประชาชนพากันเข้าไปสัมผัสเปลือกไม้จันทน์เพื่อความเป็นสิริมงคล

 

อ่านเพิ่มเติม : วันที่ท้องฟ้ามืดมิด๙ ช่างภาพสารคดีกับในหลวงรัชกาลที่ ๙

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.