สำรวจความสุข : ผู้ลี้ภัย

เรื่องและภาพ ธนเสฏฐ์ ศิริวัฒนาดิเรก

หากเป็นไปตามแผน คุณผู้อ่านจะได้อ่านบทความนี้ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับธีมสำรวจความสุขของสารคดี “ความลับของดินแดนแห่งความสุข” ในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ที่สำรวจความสุขของผู้คนจากในหลายประเทศ ในขณะที่บนโลกออนไลน์ที่แฟนเพจของเราก็มีการเผยแพร่ “นิยามความสุข” จากผู้คนในออฟฟิศอมรินทร์ว่าความสุขของพวกเขาคืออะไรกันบ้าง หลายคนกล่าวว่าการได้ทำงานที่ตนรัก, การมีสุขภาพดี หรือการได้อยู่กับครอบครัวคือความสุขของพวกเขา แต่ถ้าหากเราต้องกลายเป็นคนที่ไม่เหลืออะไรเลยอย่างผู้ลี้ภัยล่ะ ความสุขจะยังคืออะไร? คำตอบที่ได้น่าจะแตกต่างและเปิดมุมมองใหม่ให้แก่เรา แต่โชคไม่ดีที่สถานการณ์ของผู้ลี้ภัยในเดือนพฤศจิกายนนั้นค่อนข้างสุ่มเสี่ยงเอามากๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจลงตรวจและจับกุมผู้ลี้ภัยที่เข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครจำนวนมาก แม้ว่าพวกเขาจะมีบัตรและเป็นสมาชิกของ UNHCR ก็ตามที แต่หากวัดด้วยบรรทัดฐานของกฎหมายแล้ว ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ยังคงมีสถานะเป็นบุคคลผิดกฎหมาย เนื่องด้วยประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ยอมรับการเข้ามาของผู้ขอลี้ภัย ดังนั้นภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ผู้ลี้ภัยเหล่านี้จึงสามารถถูกจับกุม กักกัน และเนรเทศออกนอกประเทศได้

หลังสถานการณ์กวาดล้างผู้ลี้ภัยค่อนข้างสงบขึ้น The Perspective พาคุณผู้อ่านไปสำรวจนิยามความสุขของคนอีกกลุ่มกันบ้าง พวกเขาเหล่านี้เคยเป็นนักเรียน นักศึกษา พนักงานออฟฟิศ และนักธุรกิจในบ้านเกิดของตนเอง แต่แล้วในวันหนึ่งพวกเขาต้องหนีออกจากบ้าน มาอาศัยอยู่ในประเทศใหม่ด้วยสถานะผิดกฎหมาย หลบซ่อนจากการจับกุม ปราศจากรายได้ พวกเขายอมทนกับความยากลำบากเหล่านี้เพียงเพื่อชีวิตที่ปลอดภัยกว่าการมีชีวิตในบ้านเกิดของตนเองและเมื่อเราถามพวกเขาว่าความสุขที่สุดชีวิตของคุณคืออะไร? นี่คือคำตอบจากบรรดาผู้ลี้ภัยในกรุงเทพมหานคร

*หมายเหตุ ทุกชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ

 

เวือง 23 ปี จากเวียดนาม

“ผมเป็นชนกลุ่มน้อยในเวียดนามครับ ภาพที่ผมวาดคือโรงเรียนในบ้านเกิด ผมคิดถึงตอนที่ตัวเองยังเป็นเด็ก ผมตื่นเช้า จัดกระเป๋า บอกลาคุณย่าก่อนไปโรงเรียน ตัวผม, น้องสาวอีกสองคน และเพื่อนๆ หลายคน เราจะเดินไปโรงเรียนด้วยกัน นั่นคือช่วงเวลาที่ดีที่สุด เพราะว่าเราไม่ได้อาศัยอยู่ในเมือง พวกเราอยู่ในชนบทดังนั้นจึงมีโรงเรียนเพียงที่เดียว อันที่จริงโรงเรียนก็ไกลจากบ้านเหมือนกันประมาณ 2 – 3 กิโลเมตรได้ ผมจากประเทศตัวเองมาตอนอายุได้ 17 ปี ตอนนั้นกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยม เพราะว่ามีปัญหาเกิดขึ้นกับพ่อของผมทำให้เขาไม่สามารถอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านต่อได้ ชีวิตในเมืองไทยก็ไม่ได้แย่ไม่ได้ดี ที่ไม่ดีก็คือเราต้องคอยหลบซ่อนตำรวจ ไม่เช่นนั้นเราจะถูกจับกุมได้ ผมคิดถึงเพื่อนๆ และสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ที่ยังอยู่ในเวียดนาม”

 

อัสมา 24 ปี จากปากีสถาน

“ฉันนับถือศาสนาคริสต์ค่ะ นี่คือภาพวาดบ้านของฉัน ฉันรักช่วงเวลาที่ได้อยู่บ้านมาก เพราะตอนออกไปข้างนอกคุณไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และจะได้กลับมาหรือเปล่า แต่ตอนอยู่บ้านฉันรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่สงบและปลอดภัยอย่างแท้จริง ปัญหาของฉันก็เหมือนกับคนอื่นๆ คือเราเป็นชนกลุ่มน้อยในปากีสถานค่ะ ที่นั่นเป็นประเทศมุสลิม คุณจะถูกบอกให้เปลี่ยนศาสนา ถูกข่มขู่ ในมหาวิทยาลัย ถ้าเพื่อนนักศึกษารู้ว่าฉันเป็นคนคริสต์ พวกเขาจะสร้างกำแพงบางอย่างขึ้น ในภาพนี้มีสระน้ำเล็กๆ ที่หน้าบ้านด้วย เพราะว่าฉันชอบน้ำค่ะ ดีที่เมืองไทยมีประเพณีปีใหม่ที่ผู้คนออกมาเล่นน้ำกัน ในปีแรกของฉันที่นี่ฉันไม่กล้าออกไปไหนเลย ใครๆ พากันพูดว่าออกไปข้างนอกมันอันตราย แต่พอในปีต่อๆ มาเราก็กล้าออกไปไหนต่อไหนกันมากขึ้น ฉันจึงได้ไปร่วมฉลองปีใหม่กับคนไทย”

 

นพ 23 ปี จากกัมพูชา

“ความสุขที่สุดของผมคือการได้ผจญภัย เพราะว่าเวลาได้ออกเดินทางคุณจะได้เป็นตัวของตนเอง ได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่าง มันจึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด เพราะคุณไม่ต้องคิดมากว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ต้องคิดถึงงานหรือการเรียน แค่สนุกไปกับมัน ภาพวาดนี้มาจากความทรงจำแทนบรรยากาศของบ้านผม ผมอาจจะวาดได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นะ แต่มันเป็นภาพแทนสิ่งที่ผมรักและความทรงจำที่ผมมีต่อบ้านเกิด ก็ถ้ามีโอกาสผมก็ยังอยากจะออกไปท่องเที่ยว ผมเดินทางมายังประเทศไทยพร้อมกับครอบครัวตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นเด็ก พ่อของผมเผชิญกับปัญหาทางการเมือง เราติดสอยห้อยตามเขามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย”

 

คอลิด 23 ปี จากโซมาเลีย

“ภาพวาดของผมมีสองภาพ ภาพแรกเป็นกระถางดอกไม้แทนวันที่ผมแต่งงานกับภรรยาแสนสวย นั่นเป็นวันที่ผมมีความสุขมาก ส่วนวันที่สองที่ผมมีความสุขก็คือวันที่ลูกทั้งสองคนของผมเกิด นี่คือความสุขที่สุดสำหรับผม ส่วนภาพที่สองเป็นโลโก้ของมหาวิทยาลัย เรื่องของเรื่องคือตอนที่ผมยังอยู่ในโซมาเลียผมเกือบจะได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยแล้ว แต่เพราะสถานการณ์ในประเทศและปัญหาส่วนตัวผมเลยต้องจากประเทศมา ผมได้รับทุนการศึกษามหาวิทยาลัยนี้ เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดคอร์สเรียนผ่านออนไลน์และมีฐานที่ตั้งในสหรัฐอเมริกา นั่นจึงเป็นความสุขของผมอีกอย่างหนึ่งที่ผมจะมีโอกาสพัฒนาชีวิตตัวเองให้ดีขึ้นได้ด้วยการเรียนต่อ โชคดีที่ผมได้โอกาสจากมหาวิทยาลัยนี้ คุณก็รู้ว่าสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเรานั้นมันยากแค่ไหนที่จะได้เรียน”

 

อาบุล 60 ปี จากปากีสถาน

“ผมและครอบครัวมาจากปากีสถาน เราเป็นชาวมุสลิมชนกลุ่มน้อยในประเทศ พวกเรานับถือศาสนาอิสลามนิกายอามาห์ดียะห์ หนึ่งในนิกายของศาสนาอิสลาม (ปัจจุบันมีสัดส่วนผู้นับถือนิกายนี้ในปากีสถานราว 0.22%-2.2%) ที่ปากีสถานเราไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเราเป็นชาวมุลิมอามาห์ดียะห์ ไม่เช่นนั้นเราจะเป็นอันตราย เราอาจถูกตำรวจจับ ถูกชาวมุสลิมนิกายอื่นฆ่าตาย บนกระดาษนี่คือสัญลักษณ์ของความหวาดกลัว ตลอด 4 ปี ที่เราอาศัยอยู่ในไทย มีหลายครั้งที่เราถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับขังคุก ที่ด้านล่างคือช่วงเวลาที่มีความสุขเมื่อเราได้สถานะเป็นผู้ลี้ภัยของ UNHCR (และได้รับการประกันตัว)”

 

ฟาราห์ 27 ปี จากปากีสถาน

“ฉันเป็นมุสลิมนิกายอามาห์ดียะห์เหมือนกัน ฉันรักภูเขาในบ้านเกิดของฉันค่ะก็เลยวาดมาด้วย ช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดคือตอนที่ได้ไปเที่ยวทะเลกับเพื่อนๆ คนไทย ฉันวาดผู้คนในนี้ให้มีหลากสีสันเพราะเชื่อในความหลากหลาย พวกเรามีเชื้อชาติ ศาสนาที่แตกต่างกัน ฉันหวังว่าประเด็นปัญหาของผู้ลี้ภัยจะเป็นที่พูดถึง และอยากให้ผู้ลี้ภัยมีอิสระเสรีเช่นเดียวกันกับที่ฉันวาดให้ผู้คนบนชายหาดมีอิสระและสนุกสนานไปกับกิจกรรมที่พวกเขาทำ เพราะว่าในความเป็นจริงบรรดาผู้ลี้ภัยต้องขังตัวเองในห้องเนื่องจากไม่มีกฎหมายปกป้อง ฉันอยากให้ชีวิตของผู้ลี้ภัยมีความสุขแทนที่จะต้องมีชีวิตด้วยความหวาดกลัวค่ะ ถ้าหากในวันหนึ่งสถานการณ์ในปากีสถานดีขึ้น ฉันก็ยังอยากที่จะกลับบ้าน”

 

ขอขอบคุณ : คุณวันรบ วราราษฎร์ เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานการสื่อสารจาก Asylum Access Thailand และผู้ลี้ภัยทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรม

 

อ่านเพิ่มเติม : วาด ต้นไม้ จากความทรงจำเด็กๆ ผู้ลี้ภัยนับพันตกค้างอยู่ที่ชายแดนยุโรปในเนเธอร์แลนด์ คุกที่ว่างเปล่า กลายเป็นบ้านสำหรับผู้ลี้ภัย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.