นักมวยเด็ก เส้นทางสู่สังเวียนผืนผ้าใบนี้เพื่อใคร

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นนักมวยอาชีพ ที่ต้องแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ด้วยการหารายได้จุนเจือครอบครัวและเลี้ยงดูตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย แต่โดยเนื้อแท้แล้ว พวกเขาก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเด็กผู้ชายธรรมดาทั่วไป ผลงานสารคดีไทยในนิตยสาร National Geographic พิมพ์ครั้งแรกฉบับพฤศจิกายน 2547

ความต้องการเป็นผู้ชนะ คือคุณสมบัติสำคัญที่สุดประการหนึ่งของนักมวยเด็กทุกคน ดังสะท้อนให้เห็นในแววตาอันมุ่งมั่นและดุดันของนักสู้รุ่นเยาว์บนสังเวียนผ้าใบ แม้กระทั่งเวลาลงนวมฝึกซ้อม

 “โอ๊ย ตีๆ เอ๊ย ตี โอ้โหย ถีบๆ แทงๆ โอ๊ย อย่างนั้นแหละ” ฉลอง วิชาเกวียน อดีตนักมวยซึ่งผันตัวเองมาเป็นหัวหน้าเทรนเนอร์ประจำค่ายเพชรศิริยิมส์ ตะโกนตามจังหวะที่สองนักสู้รุ่นจิ๋วโยนเข่าและแข้งใส่กันอย่างดุเดือดระหว่างการประกบคู่ซ้อม แต่น่าแปลกใจที่เพื่อนๆ และเจ้าของค่ายต่างส่งเสียงเชียร์เด็กทั้งสองอย่างสนุกสนาน “มันต้องเอาจริงเอาจังขนาดนี้เชียวหรือ” ผมตั้งคำถามกับตัวเองด้วยความสงสัย

ระหว่างที่ผมสังเกตบรรยากาศรอบตัวอย่างไม่สู้จะเข้าใจในความขัดแย้งระหว่างการต่อสู้อย่างดุเดือดกับเสียงหัวเราะ พลันนักมวยเด็กคนหนึ่งก็ทุ่มเพื่อนลงกับพื้นสังเวียนดังโครม เสียงเฮจากทุกคนดังตามมาทันทีเทรนเนอร์แยกทั้งสองคนออกจากกัน ก่อนที่ทั้งคู่จะยกมือไหว้ขอโทษกันและกัน แล้วเดินกลับไปนั่งดูเพื่อนแลกอาวุธกันบ้าง ชาลี โพธิ์ศิริ หรือ “ป๋า” เจ้าของค่ายเพชรศิริยิมส์ อธิบายว่า “เวลาซ้อมห้ามทะเลาะกันเด็ดขาด ถึงจะซ้อมแรงก็ห้ามมีเรื่อง เพราะต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา” ป๋าพูดพลางสูบบุหรี่และกระดกเหล้าแดง 40 ดีกรีตาม “บางครั้งก็มีเอาจริงบ้าง ถึงขนาดเลือดตกยางออกก็มี แต่ปกติแล้วถ้าเรารู้ว่าหนักเกินก็จะรีบแยกแล้วบอกว่าไม่เอานะลูก แบบนี้ไม่ดี” อาจารย์ฉลองเล่าถึงการซ้อมของนักมวยเด็กในสังกัด

ป๋าชาลีเปิดค่ายมวยมา 3 ปีแล้ว มีนักมวยอยู่รวมกันกว่า 20 คน อายุไล่ตั้งแต่ 8 ไปจนถึง 14 ขวบ ร่างกายแต่ละคนเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อไม่ต่างจากนักมวยรุ่นใหญ่ที่ผมเห็นทางจอโทรทัศน์ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาจะมีโครงสร้างทางร่างกายเช่นนี้ เพราะโปรแกรมการฝึกจะเริ่มตั้งแต่เช้ามืดด้วยการวิ่งร่วม 10 กิโลเมตรและซ้อมเบาๆ ก่อนไปโรงเรียน และจะเริ่มอีกครั้งในช่วงบ่าย โดยต้องวิ่งเป็นระยะทางไกลกว่าเดิม เมื่อกลับมาถึงจะเตะกระสอบทราย วิดพื้น ล่อเป้า ปล้ำคลุกวงใน โยนเข่า ขี่คอ โหนบาร์ ยกบาร์เบลล์ ยกลูกตุ้มด้วยปาก “ทั้งหมดนี้เป็นการฝึกความแข็งแกร่งและความอึดของร่างกาย” ป๋าให้เหตุผลถึงโปรแกรมฝึกที่หนักเอาการ

การคัดเลือกเด็กมาสังกัดในค่ายก็มีความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากการฝึกซ้อมของที่นี่ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะทำได้ “เด็กที่นี่ต้องมีใจรักที่จะเป็นนักมวยด้วยเหมือนกัน ดูไม่ยากหรอก เอามาอยู่สองสามสัปดาห์ก็รู้แล้ว ถ้าใจรักมันก็จะขยันซ้อม ถ้าโดนบังคับให้มาอยู่ พอพ่อแม่กลับไปมันก็เลิกซ้อมแล้ว” ป๋ากล่าวและยืนยันว่า “สำหรับที่นี่เด็กขี้เกียจหมดสิทธิ์ ใครไม่ซ้อมเราก็ไม่เอา”

สองทุ่มตรง… อาจารย์ฉลองสั่งให้ทุกคนหยุดซ้อมพร้อมกับหยิบซองผงเกลือแร่ร่อนให้กับเด็กๆ บนเวทีจนครบทุกคน หลังจากอาบน้ำเสร็จ นักมวยเด็กจะทยอยมากินอาหารเย็นร่วมกัน ผมว่าอาหารที่ค่ายจัดให้น่าจะดีกว่าบางมื้อของที่บ้านพวกเขาเสียอีก เพราะมีทั้งซี่โครงไก่ต้ม ปลาทูทอด และน้ำพริกผักลวกกินกับข้าวสวยร้อนๆ  เมื่ออิ่มแล้วก็แยกย้ายกันไปทำการบ้านและกิจวัตรส่วนตัวต่างๆ ให้เสร็จก่อน 4 ทุ่ม เพราะทางค่ายจะปิดไฟให้ทุกคนเข้านอนเพื่อให้ร่างกายมีความพร้อมเต็มที่สำหรับการฝึกซ้อมตั้งแต่ตีสี่ครึ่งในวันรุ่งขึ้น

วันนี้ผมสังเกตเห็นเด็กบางคนซ้อมไม่หนักเท่าคนอื่นๆ โดยจะเน้นที่การทวนเชิงหรือเทคนิคการชก ป๋าชาลีเล่าว่า “คนที่ไปแข่งจะให้ซ้อมเบาๆ และควบคุมน้ำหนัก” ผมถามต่อว่าใครจะขึ้นชกบ้าง ป๋าบอกว่า “วันพุธนี้ เพชรยุพา สลาตัน แท็กซี่เล็ก และอาวุธเล็กไปต่อยที่นางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ถ้าคุณสนใจจะตามไปดูก็ได้นะ” ประโยคเชิญชวนนี้เข้าทางผมพอดี

 การเดินทางไปนางรองไม่ราบรื่นอย่างที่คิด เพราะนอกจากจะใช้เวลาค่อนข้างนานแล้ว เพชรยุพายังเมารถจนอาเจียนออกมาแบบไม่บอกกล่าว ทีมงานเริ่มกระวนกระวาย เนื่องจากเขาอาจไม่พร้อมขึ้นชกคืนนี้ “โอ๊ย…แพ้ตั้งแต่ยังไม่ชกเล้ย” ฉลองบ่นพลางอุ้มลูกชายแท้ๆ คนนี้ลงไปชำระร่างกายริมคูข้างถนน หลังจากทำความสะอาดเรียบร้อยแล้วจึงออกเดินทางต่อ ผมสังเกตเห็นสีหน้าที่อิดโรยของเพชรยุพาแล้วอดคิดไม่ได้ว่า เขาคงไม่ไหวแน่นอน ระหว่างที่คิดอยู่นั้น อาวุธเล็กที่รู้สึกพะอืดพะอมมาตลอดทางก็ถึงที่สุด โชคดีที่เทรนเนอร์รู้ทันว่าจะเกิดอะไรขึ้นจึงเตรียมถุงพลาสติกรอไว้อยู่แล้วเราจึงไม่ต้องแวะจอดข้างทางอีกครั้ง

 ทีมงานเพชรศิริมส์ไปถึงเวทีมวยชั่วคราวภายในตลาดโต้รุ่งสถานีขนส่งนางรองก่อนเวลาชกเล็กน้อยท่าทางของเด็กทั้งสองยังดูไม่ดีขึ้นเท่าไรนัก ดวงตาที่ใครๆ เชื่อว่าไม่สามารถซุกซ่อนอารมณ์ภายในไว้ได้บ่งบอกชัดเจนถึงความไม่มั่นใจ ขณะที่ทีมงานเริ่มลังเลว่าจะสู้ไหวหรือไม่ ป๋าก็ส่งโทรศัพท์มือถือให้อาวุธเล็กคุยกับพ่อ ผมถามว่าพ่อว่าอย่างไร เขาตอบสั้นๆ ว่า “พ่อให้ชก” ผมถามต่อว่าอยากชกหรือเปล่า เด็กน้อยพยักหน้าแทนคำพูด แต่เมื่อถามว่าไหวหรือเปล่า เขากลับส่ายหน้าช้าๆ ราวกับหมดแรง

เส้นทางสู่อาชีพ ของนักมวยเด็กต้องใช้เวลาในการพัฒนาฝีมือและฝึกฝนร่างกายวันละไม่ต่ำกว่า 7 ชั่วโมง นานเป็นแรมเดือนหรือจนกว่าผู้ฝึกสอนจะพิจารณาว่ามีความพร้อมเต็มที่แล้ว จึงจะมีโอกาสเดินขึ้นสู่สังเวียนผ้าใบเพื่อพิสูจน์ฝีมือเป็นครั้งแรก

ตอนนี้สนามมวยชั่วคราวที่มีฉากสังกะสีล้อมรอบยังมีผู้ชมบางตา นักมวยของป๋าเริ่มเปลี่ยนเสื้อผ้าและนอนให้พี่เลี้ยงนวดน้ำมัน โฆษกสนามป่าวประกาศเรียกชาวบ้านที่อยู่รอบนอกให้เร่งเข้ามาภายในสนาม มวยคู่แรกเริ่มชกแล้ว แต่เพชรยุพากับอาวุธเล็กยังคงนอนหลับเอาแรงโดยไม่สนเสียงกลองแขกปี่ชวาที่สอดประสานกับเสียงพากย์และราคาเดิมพันระหว่างค่ายมวยที่ดังกึกก้องตลอดเวลา

ยิ่งดึกแฟนมวยยิ่งหนาตาขึ้น เกือบทั้งหมดยืนบนเก้าอี้รอบๆ สังเวียนเพื่อลุ้นได้เสียอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงต่างส่งเสียงโห่ร้องและชูไม้ชูมือส่งสัญญาณราคาต่อรอง เสียงตะโกนเชิญชวนให้ลงเดิมพันระหว่างแฟนมวยดังโหวกเหวกจนกลายเป็นบรรยากาศการพนันมากกว่าบรรยากาศการชมกีพาโปรโมเตอร์มวยเด็กอย่างเปเล่ เกียรติทรงฤทธิ์ ยอมรับว่า “มวยต่างจังหวัดจะเน้นให้ค่ายมวยเดิมพันกัน เพราะถ้ามวยไม่มีเดิมพันคนดูจะไม่ค่อยเล่นกัน” ส่วนป๋าชาลีให้เหตุผลที่ต้องลงเดิมพันคราวละเกือบแสนบาทว่า เพราะมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูและการนำเด็กออกไปชกตามต่างจังหวัดเดือนละหลายหมื่นบาท ลำพังรายได้จากโปรโมเตอร์นั้นไม่เพียงพอกับรายจ่ายเหล่านี้

ขณะที่ฝ่ายปกป้องสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยของเด็กมองมุมกลับว่า การพนันในสนามมวยเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เปิดเผยว่า “คนที่จัดมวยเด็กล้วนมีผลประโยชน์ซ่อนอยู่ คือเพื่อขยายรูปแบบการพนัน” นอกจากนี้ ส.ว. มนตรี สินทวิชัย หรือครูยุ่น ผู้ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิคุ้มครองเด็กและดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชนและผู้สูงอายุ วุฒิสภา เสริมว่า “สนามมวยไม่ได้ต่างอะไรจากบ่อนพนัน ถ้าจะพนันก็พนันไป แต่อย่าเอาเด็กไปอยู่ตรงนั้น เพราะถือว่าผิดพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ยิ่งการนำเด็กไปชกให้เขาพนัน ยิ่งผิดใหญ่เลย”

 กลับมาที่สนามมวยชั่วคราว อำเภอนางรองอีกครั้ง โฆษกสนามประกาศให้เพชรยุพา เพชรศิริยิมส์ เตรียมตัวมารอที่มุมเวที เด็กน้อยในชุดนักมวยยืนอยู่ข้างเวทีด้วยแววตากังวลในศึกที่กำลังคืบคลานเข้ามาแม้ท่าทางของเพชรยุพาจะดูพร้อม แต่สีหน้ากลับตื่นกลัวไม่น้อย เพราะคู่ชกของเขาตัวสูงและหนากว่า ทั้งยังมีประสบการณ์ในการชกมากกว่าเขาที่เพิ่งผ่านมาเพียง 3 ครั้ง เมื่อระฆังยกแรกดังขึ้นก็เป็นอย่างที่คาดไว้ เพชรยุพาโดนคู่แข่งไล่เตะต่อยอยู่ข้างเดียว เขาได้แต่เหวี่ยงหมัดสู้อย่างสะเปะสะปะและยกขาป้องกันตัวไปเรื่อยๆ จนราคาต่อรองข้างสนามไหลไปอยู่ฝั่งตรงข้ามแบบขาดลอย ในที่สุดอาจารย์ฉลองต้องโยนผ้าขอยอมแพ้ก่อนที่ลูกชายจะโดนหมัด เท้า เข่า ศอกมากไปกว่านี้

ยุพา วิชาเกวียน มารดาของเพชรยุพาเล่าถึงความรู้สึกเวลาที่ลูกชายต้องขึ้นไปบนเวทีว่า “ทุกครั้งจะคิดว่าคู่ต่อสู้เขาเก่งกว่าเพราะลูกเราชกมาน้อย ถ้าแพ้เราก็ไม่ดุด่าแต่จะบอกให้เขาตั้งใจซ้อมมากๆ แล้วค่อยเอาใหม่คราวหน้า พี่กลัวลูกเจ็บเหมือนกันนะ แต่คิดว่ามันเป็นกีฬา ต้องมีเจ็บบ้าง” สำหรับเป้าหมายในอนาคต ยุพามองว่า “ไม่รู้ว่าโตขึ้นเขาจะอยากเป็นนักมวยหรือเปล่าตอนนี้ให้เขาต่อยสนุกๆ ไม่ได้คาดหวังให้เป็นนักมวยชื่อดัง” แต่อาจารย์ฉลองกลับมีความหวังลึกๆ ว่า สักวันหนึ่งลูกชายคนนี้จะมีโอกาสไปชกมวยโอลิมปิกบ้าง แต่ถ้าไม่ได้ก็ถือว่าให้ลูกมีวิชามวยไทยไว้ป้องกันตัว

จากพ่อแม่ของนักมวยเด็กหลายๆ คนที่ผมได้พูดคุยด้วย ดูเหมือนว่าเงินทองและเกียรติยศจะเป็นเครื่องจูงใจให้พวกเขาส่งลูกชายขึ้นสังเวียน แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีทั้งกรณีที่เด็กเต็มใจไล่ล่าความฝันเองและถูกบีบบังคับ แล้วอะไรคือความเหมาะสมกันแน่

สมชาติ เจริญวัชรวิทย์ นายกสมาคมมวยอาชีพแห่งประเทศไทยบอกกับผมว่า “เราต้องมองสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน อย่างบ้านเรา เด็กฝึกมวยถูกต้องแล้ว เพราะรัฐบาลดูแลไม่ทั่วถึง ฐานะครอบครัวก็ปากกัดตีนถีบ ต้องต่อสู้เพื่อครอบครัวทั้งนั้น ขืนรอรัฐบาลดูแลก็อดตายกันพอดี การที่เด็กไปชกมวยจึงเป็นการหาเงินมาจุนเจือครอบครัวทางหนึ่ง”

สมรักษ์ คำสิงห์ วีรบุรุษเหรียญทองโอลิมปิกคนแรกของประเทศไทย และเคยผ่านประสบการณ์การเป็นนักมวยเด็กตั้งแต่อายุ 7 ขวบ สนับสนุนว่า “นักมวยไม่ใช่ลูกคนรวย เกือบ 99.99% เป็นลูกคนจน เพราะฉะนั้นเขาจึงต้องชกมวยเพื่อสร้างฐานะให้ครอบครัว ผมคิดว่านักมวยทุกคนสามารถหาเงินช่วยเหลือครอบครัวได้ เผลอๆ ถ้าไปได้ดี อาจมีเงินซื้อรถ บ้าน ที่ดิน หรือแม้แต่ส่งตัวเองเรียน” ส่วนสาเหตุที่เขาลุกขึ้นมาทำค่ายมวย ส.สมรักษ์ นั้น สมรักษ์เผยว่า “มวยมีบุญคุณกับผม ที่ผมมีชื่อเสียงอย่างทุกวันนี้ก็เพราะมวย เพราะฉะนั้นผมจึงสนับสนุนเด็กด้วยการตั้งค่ายมวยขึ้นมา ลงทุนเลี้ยงดูส่งเสียให้เรียน ผมไม่ได้หวังว่าจะให้เขามาแทนที่เพียงแต่เห็นเขาซ้อมและเอาเงินให้พ่อแม่ทีละหมื่นสองหมื่น ผมก็มีความสุขทางใจไปด้วย ผมไม่ได้ทำเหมือนเจ้าของค่ายบางคนที่มองทุกอย่างเป็นธุรกิจ ใครชกแบ่งห้าสิบๆ ใครแพ้เอามือหรือรองเท้าตบหัว”

สรรพสิทธิ์ตอบโต้ในประเด็นการนำเด็กมาชกมวยอาชีพเพื่อหาเงินว่า “ผู้ปกครองส่วนมากรู้อยู่แล้วว่าลูกไปต่อยมวยก็ต้องเจ็บตัว แต่ยังยอมเพราะว่าต่อยแล้วได้เงิน และที่วงการมวยอ้างว่าเพื่อช่วยเหลือเด็กยากจนทำไมไม่เอาเงินไปให้เขาเฉยๆ ล่ะ นี่ไม่ใช่การสงเคราะห์ เห็นกันชัดๆ ว่าจะเอาประโยชน์จากเด็ก เหมือนกับการตกเขียวแล้วอ้างว่าหาทุนการศึกษาให้เด็กนั่นแหละ”

ส่วน ส.ว.มนตรี มองต่างมุมในเรื่องความสำเร็จของอาชีพนักมวยว่า “พ่อแม่ที่มีความฝันว่าให้ลูกต่อยมวยเพื่อไปแข่งโอลิมปิกหรือเพื่อหนีชนชั้นขึ้นมา มันไปถึงตรงนั้นไม่กี่คนหรอก แล้วถ้าไม่ถึงล่ะ มันจะเป็นการกดดันเด็กหรือเปล่า มันเป็นการตอบสนองเด็กหรือผู้ใหญ่กันแน่ กรณีนี้ไม่ต่างอะไรกับคนที่อยากให้ลูกเรียนเก่งจนเป็นหมอหรือวิศวกรหรอก… ยังไงเด็กก็เป็นเหยื่อรายต่อไปของผู้ใหญ่อยู่ดี”

“ดูมวยเด็กแล้วมันทันใจดี ชกกันเร็วดี ไม่เหมือนมวยใหญ่ที่มัวแต่จดๆ จ้องๆ พอกรรมการสั่งให้ชก มันก็เอากันเลย” คำพูดประโยคนี้ของแฟนมวยวัย 67 ปี น่าจะเป็นเหตุผลที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้มวยเด็กยังเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาแฟนมวยตามต่างจังหวัด แม้หลายคนจะมองว่าดูมวยผู้ใหญ่ตื่นเต้นและสะใจกว่า เพราะผู้ใหญ่ออกอาวุธได้หนักหน่วง รุนแรงและแม่นยำ ทำให้ได้เห็นรายการชนะน็อคบ่อยครั้งกว่าก็ตามที

นอกจากนี้ สรรพสิทธิ์ยังมองว่าพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 เอื้อประโยชน์ให้กับวงการมวยอย่างมากและมีที่มาไม่โปร่งใส เขาถึงกับประณามว่าเป็น “กฎหมายอัปรีย์” โดยให้เหตุผลอย่างเผ็ดร้อนว่า “พวกโปรโมเตอร์มวยอาชีพเป็นพวกมีอิทธิพล วงการนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพนันและสิ่งผิดกฎหมาย และยังมีเส้นสายอยู่ในรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ไปจนถึงนักข่าว แม้ว่าตอนนั้น ผมรวบรวมรายชื่อกุมารแพทย์ไทยทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศสี่ร้อยกว่าคน ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการเอาเด็กมาชกมวย ยังต่อต้านไม่สำเร็จเลย” ในที่สุดกฎหมายก็ผ่านสภา พ.ร.บ. ฉบับนี้อนุญาตให้ผู้เยาว์สามารถขึ้นชกได้โดยความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม ซึ่งในทางปฏิบัติก็ไม่ต่างกับการอนุญาตให้เด็กชกมวยได้อย่างเต็มที่

แม้ว่าฝ่ายคุ้มครองเด็กจะไม่เห็นด้วยกับการนำเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีขึ้นชกจริง แต่กลับสนับสนุนการหัดมวยตั้งแต่เด็กเพื่ออนุรักษ์ศิลปะแม่ไม้มวยไทย ส.ว..มนตรีถึงกับเสนอว่า “ผมสนับสนุนให้มีการฝึกซ้อมตั้งแต่ระดับโรงเรียน โดยมีอุปกรณ์ป้องกัน การดูแลความปลอดภัยที่ดี ครูมีความสามารถ และเน้นในเชิงศิลปะ เพราะเด็กอาจชอบชกมวยโดยไม่จำเป็นว่าเขาอยากชกเป็นอาชีพได้ แต่การฝึกในค่ายเป็นการฝึกเพื่อแข่ง ดังนั้นเด็กจะถูกบังคับให้ซ้อมอย่างหนัก”

สำหรับผลกระทบทางร่างกายนั้น รศ.คร.นัยพินิจ คชภักดี หัวหน้าโครงการวิจัยชีววิทยาระบบประสาทและพฤติกรรม แห่งสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่า “การชกมวยอาจทำให้ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง และระยะเวลาที่นักมวยอาชีพได้รับผลกระทบนั้นมันตลอดชีวิตเขาเลย”

หัวหน้าโครงการวิจัยชีววิทยาฯ อธิบายผลกระทบเฉียบพลันที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการชกมวยว่า “การเตะก้านคอทำให้สลบหรือถึงตายได้ เพราะถ้าก้านสมองถูกกระทบกระเทือนเราจะหยุดหายใจและสมองอาจตายในที่สุด” นอกจากนี้ อาการบาดเจ็บรุนแรงบริเวณศีรษะอาจทำให้เกิดอาการเลือดออกในสมองจนพิการหรือเสียชีวิต หรือการศอกลงกลางกระหม่อมจะทำให้ไขสันหลังได้รับความกระทบกระเทือนจนเป็นอัมพาตได้เช่นกัน

ส่วนผลกระทบทางสมองในระยะยาวก็น่ากลัวไม่แพ้กัน รศ.ดร.นัยพินิจอธิบายว่า “ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 25 ปี สมองยังมีการเจริญเติบโตอยู่ โดยเฉพาะช่วงก่อนอายุ 18 ปี สมองจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และส่วนที่สำคัญคือสมองส่วนหน้า เพราะทำหน้าที่ควบคุมสมองส่วนอื่นๆ ทั้งหมด นอกจากนี้ยังควบคุมบุคลิกภาพและควบคุมจิตใจให้รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักใช้สมาธิในการทำงาน ถ้าสมองส่วนนี้ได้รับความกระทบกระเทือนจะทำให้สมาธิสั้นและขาดสำนึกความรับผิดชอบ”

รางวัลตอบแทนสำหรับผู้ชนะ คือผลลัพธ์อันแตกต่างหลังการต่อสู้บนสังเวียนปิดฉากลง ทว่าสิ่งที่นักมวยทั้งสองฝ่ายได้รับไม่ต่างกัน คืออาการบาดเจ็บทางร่างกายซึ่งรวมถึงความกระทบกระเทือนทางสมองที่สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่พวกเขาเดินขึ้นเวทีนั่นเอง

สำหรับอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นเฉพาะกับนักมวยเด็กนั้น รศ.ดร.นัยพินิจ ชี้แจงว่า “ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากเนื้อสมองช้ำ ในระยะแรกจะไม่มีอาการชัดเจน แต่จะเริ่มซึมอ่อนเพลีย และค่อยๆ สะสมทุกครั้งที่ต่อย อาการบาดเจ็บซ้ำแล้วซ้ำเล่าอาจนำไปสู่การเสื่อมของสมอง ไม่เกินวัยกลางคน สมองจะเริ่มสูญเสียความสามารถด้านความทรงจำ ทำให้หลงๆ ลืมๆ คล้ายๆ อาการของโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) หรืออาจนำไปสู่อาการสมองเสื่อมที่ทำให้เกิดความพิการด้านการเคลื่อนไหวหรือพาร์กินสัน (Parkinson)”

สิ่งที่นักวิชาการท่านนี้เป็นห่วงสอดคล้องกับผลการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติหรือ สยช. เมื่อปี พ.ศ. 2542 โดยพบว่านักมวยส่วนใหญ่ขึ้นชกมวยครั้งแรกตั้งแต่อายุต่ำกว่า 12 ปี ถึงร้อยละ 45.9 รองลงมาคือ 12 ถึง 15 ปี ร้อยละ 39.5 ขณะที่อายุ 16 ถึง 18 ปี มีอยู่ร้อยละ 6.8 และมากกว่า 18 ปี มีเพียงร้อยละ 1.4 จุดนี้เองที่แสดงให้เห็นว่านักมวยเด็กเกือบทุกคนมีโอกาสได้รับความกระทบกระเทือนทางสมองตั้งแต่อายุยังน้อย

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นนักมวยอาชีพ ที่ต้องแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ด้วยการหารายได้จุนเจือครอบครัวและเลี้ยงดูตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย แต่โดยเนื้อแท้แล้ว พวกเขาก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเด็กผู้ชายธรรมดาทั่วไป

ผมครุ่นคิดไม่ตกว่า เราควรให้มีมวยเด็กต่อไปหรือไม่ และคงไม่อยู่ในฐานะที่จะชี้ชัดลงไปได้ ผมกลับไปเยี่ยมน้องๆ ที่ค่ายเพชรศิริยิมส์อีกครั้ง และแอบหวังลึกๆ ว่าจะพบคำตอบจากเด็กๆ เหล่านี้ “จริงนะพี่ พี่จะซื้อให้ผมจริงๆ เหรอ” จ็อกกี้เล็กถามผมด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นเมื่อผมบอกว่าจะซื้อกางเกงมวยตัวใหม่ให้ ผมรู้สึกได้ถึงความมุ่งมั่นและแรงจูงใจในการไล่ล่าความฝันจากสีหน้าและแววตาของนักสู้รุ่นเยาว์คนนี้ จ็อกกี้เล็กอาจเป็นตัวแทนของนักมวยเด็กอีกหลายคนที่พร้อมจะเอาร่างกายและความเจ็บปวดเข้าแลก เพื่อไขว่คว้าชื่อเสียงและรายได้ โดยไม่สนใจว่าเหตุผลและข้อมูลของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะเป็นอย่างไร หรือแม้แต่บรรดานักพนันทั้งหลายจะใช้เขาเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์และสร้างความบันเทิงไปวันๆ เท่านั้นก็ตาม

เนื้อหาจากนิตยสาร National Geographic ภาษาไทย พิมพ์ครั้งแรกฉบับพฤศจิกายน 2547

เรื่อง : กษิดิศ รัตนโอภาส

ภาพถ่าย : ยุทธนา อัจฉริยวิญญู

ผลงานภาพถ่ายสารคดีเรื่อง นักมวยเด็ก เส้นทางสู่สังเวียนผืนผ้าใบนี้เพื่อใคร เป็นหนึ่งในนิทรรศการ National Geographic ภาษาไทย ซึ่งจัดแสดงในบ้านและสวนแฟร์ Select 2024

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.