เรื่อง กูลนาซ ข่าน
แม้ศิลปะการร่ายรำจะถือเป็นภาษาเก่าแก่ที่สุดภาษาหนึ่งในโลก ทว่าหลายครั้งความสำคัญเชิงวัฒนธรรมของมันกลับเลือนหายไป กระนั้น ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกคือ ศิลปะการร่ายรำหรือนาฏศิลป์บางอย่างกำลังฟื้นคืนชีพ ขณะที่บางอย่างได้รับดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัย ตัวอย่างเช่นเมื่อปี 2011 บียอนเซนำระบำพื้นเมือง ของเอธิโอเปียที่เรียกว่า เอสคิสตา (Eskista) มาใช้ ในมิวสิกวิดีโอเพลง “Run the World (Girls)”
บางครั้งการกลับมาของการร่ายรำเก่าแก่บางอย่างก็เปลี่ยนแนวทางปฏิบัติเรื่องเพศไปอย่างกลับตาลปัตร เช่น ระบำมอร์ริส (morris dance) อายุเก่าแก่ 500 ปีของอังกฤษที่เคยเป็นการละเล่นในหมู่ผู้ชาย กลับกลายเป็นที่นิยมในหมู่หญิงล้วน ขณะที่ผู้ชายในตุรกีสามารถโชว์ลีลาระบำหน้าท้อง เช่นที่เคยทำในยุคจักรวรรดิออตโตมัน
ในอดีต ศิลปะการร่ายรำเคยกลับมารุ่งเรือง เช่นในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา การเต้นรำได้รับความนิยมขึ้นอีกครั้ง เมื่ออำนาจในการควบคุมชีวิตทางโลกของศาสนจักรอ่อนแรงลง แม้แต่การเต้นรำจังหวะวอลต์ซซึ่งทุกวันนี้ถือว่าเป็นการ เต้นรำแบบคลาสสิก ก็เคยถูกสั่งห้ามมาแล้ว เพราะ ถูกมองว่าส่งเสริมการถูกเนื้อต้องตัวระหว่างเพศ
อ่านเพิ่มเติม : ศิลปะเกาหลีเหนือที่เป็นมากกว่าโฆษณาชวนเชื่อ, นาฏยโนรา จิตวิญญาณแห่งแดนใต้