ในที่สุดผู้ลี้ภัยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกคนหนึ่งก็มีบ้านอาศัยแล้ว เมื่อ ค.ศ. 1984 ชาร์บาต กูลา ขณะอายุ 12 ปี เป็นผู้ลี้ภัยอยู่ในปากีสถาน กลายเป็นไอคอน “สาวน้อยอัฟกัน” ในทันทีเมื่อเธอขึ้นปก เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เดือนมิถุนายน ปัจจุบันกูลาเป็นเจ้าของบ้านขนาดเกือบ 280 ตารางเมตรตกแต่งตามที่เธอประสงค์ในเมืองหลวงของอัฟกานิสถาน บ้านเกิดเมืองนอนของเธอ
บ้านหลังนี้เป็นของขวัญจากรัฐบาลอัฟกันให้ชาร์บาต ซึ่งปัจจุบันอายุ 45 ปี พร้อมกับเงินจำนวน 700 เหรียญสหรัฐต่อเดือนสำหรับเป็นค่ายังชีพและค่ารักษาพยาบาล นาจีป นางยัล โฆษกกระทรวงการสื่อสารของอัฟกานิสถานกล่าว
ชาร์บาต กูลา เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในนาม “สาวน้อยอัฟกัน” (Afghan girl) ได้รับกุญแจบ้านเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2560 หลังจากที่เธอต้องลี้ภัยในปากีสถานนานถึงสามทศวรรษและหนึ่งปีอันแสนวุ่นวายที่เพิ่งผ่านมาในอัฟกานิสถาน ดวงตาสีเขียวคมของเธอทำให้เธอกลายเป็นไอคอนทันที ชาร์บาตเป็นกำพร้าเมื่ออายุ 6 ขวบในช่วงที่สหภาพโซเวียตรุกรานอัฟานิสถาน เธอต้องเดินเท้าไปยังปากีสถานกับพี่น้องและคุณยาย ภาพถ่ายของ สตีฟ แม็กเคอร์รี ทำให้เธอกลายเป็นตัวแทนความยากลำบากของผู้ลี้ภัยในอัฟกานิสถานนับพันๆ คน โดยไม่ตั้งใจ เธอได้รับการขนานนามว่า “อัฟกันโมนาลิซา” ในบ้านเกิดเมืองนอนของเธอ ปัจจุบันเธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของการกลับสู่อัฟกานิสถานของผู้ลี้ภัยนับแสนๆ คนในประเทศต่างๆ หลังต้องจากบ้านเกิดไปหลายทศวรรษ
ชาร์บาต กูลา ถูกจับกุมเมื่อปลายปีที่แล้วเนื่องจากใช้บัตรประชาชนปากีสถานปลอม อันเป็นสิ่งที่ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันหนึ่งล้านคนกระทำกันโดยทั่วไปเมื่อต้องอยู่อย่างผิดกฎหมาย เธออาจต้องติดคุกนาน 14 ปีและถูกปรับ 5 พันเหรียญสหรัฐ ในขณะนั้นเธอยังต้องเลี้ยงดูลูกสี่คน ทั้งที่ตัวเองป่วยเป็นโรคตับอักเสบซี ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของสามีเธอเมื่อปีก่อนหน้านั้นด้วย โฆษกนางยัลกล่าวว่า “เมื่อปากีสถานจับกุมเธอและกล่าวหาว่าเธอครอบครองบัตรประชาชนปลอม มันก็กลายเป็นเรื่องระดับชาติของชาวอัฟกันและรัฐบาลอัฟกานิสถาน”
หลังจากถูกควบคุมตัวอยู่สองสัปดาห์ ชาร์บาต ก็ถูกปล่อยตัวและเดินทางกลับอัฟกานิสถานกับลูกๆ ของเธอ “อัฟกานิสถานเป็นเพียงสถานที่เกิดของฉัน แต่ปากีสถานเป็นบ้าน ซึ่งฉันคิดเสมอว่าเป็นประเทศของฉัน” เธอกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟีก่อนจากมา “ในเมื่อถูกปฏิเสธ (จากประเทศปากีสถาน) ฉันไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องกลับมา”
ปี 2016 ปีเดียว ผู้ลี้ภัยจำนวน 370,000 คนลงทะเบียนเพื่อเดินทางจากปากีสถานกลับอัฟกานิสถาน และอีกนับแสนคนที่จะถูกส่งตัวจากอิหร่านและยุโรปกลับบ้านภายในไม่กี่ปีถัดจากนี้ ด้วยการบังคับให้ออกนอกประเทศ ซึ่งก็รวมทั้งผู้ไม่ได้ลงทะเบียนอย่างชาร์กาตด้วย
“สตรีผู้นี้เป็นสัญลักษณ์ของชาวอัฟกันและยังเป็นสัญลักษณ์ของปากีสถานด้วย” ฮีเทอร์ บาร์ นักวิจัยจากฮิวแมนไรต์วอช (HRW) ผู้ทำงานในอัฟกานิสถานมานาน 10 ปีกล่าว ภาพของเธอที่ปรากฏบนสื่อของปากีสถานทำให้รัฐบาลอัฟกันรู้สึกอัปยัศอดสูในฐานะที่ปล่อยให้พลเมืองของตนหนีไปอยู่ประเทศอื่น รัฐบาลอัฟกันโต้ตอบด้วยการต้อนรับเธอกลับอย่างโอ้อวด ส่งสารว่า “เราก็ดูแลประชาชนของเราได้”
ชาร์บาต กูลา ได้รับการต้อนรับจากประธานาธิบดีอัชราฟ กานี ผู้ซึ่งมอบกุญแจอพาร์ตเมนต์ให้เธอและสัญญาว่าลูกๆ ของเธอจะได้รับการศึกษาและการดูแลสุขภาพ “ผมยินดีต้อนรับเธอสู่อ้อมอกแผ่นดินแม่” เขากล่าวในพิธีเล็กๆ “ผมเคยบอกหลายครั้งหลายหนแล้ว และอยากพูดซ้ำอีกว่า ประเทศของเราย่อมไม่สมบูรณ์ จนกว่าจะรับผู้ลี้ภัยกลับมาหมดทุกคน”
แต่ในเดือนกันยายน เนียหมัด กูล หลานของสามีผู้ล่วงลับของชาร์บาต ร้องเรียนกับสื่ออัฟกันว่ารัฐบาลยังไม่ได้จ่ายเงินค่าเช่าอพาร์ตเมนต์เลย แต่ นางกัล กล่าวว่ารัฐบาลจ่ายค่าเช่าบ้านและค่ายังชีพให้แล้วตั้งแต่เธอกลับมายังอัฟกานิสถาน และเมื่อเธอร้องขอบ้านแบบดั้งเดิม เธอก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในห้องเช่าขนาด 10 ห้องใกล้ทำเนียบประธานาธิบดี จนกว่าจะหาซื้อบ้านถาวรได้ บ้านใหม่นี้มีระบบรักษาความปลอดภัย เนื่องจากการขึ้นปกของ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ทำให้เธอเสี่ยงอันตรายจากชาวอัฟกันอนุรักษ์นิยมที่ไม่คิดว่าสตรีควรปรากฏตัวในสื่อ ชื่อเธอในเอกสารเจ้าของบ้านทำให้เธอกลายเป็นสตรีอัฟกันร้อยละ 17 ที่มีบ้านเป็นของตนเอง
หลังจากชาร์บาต กูลา ขึ้นปกนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ครั้งแรกเมื่อปี 1984 ขณะที่เธออยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ไม่มีใครรู้ว่าเธอเป็นใครจนกระทั่งปี 2002 เมื่อ สตีฟ แม็กเคอร์รี ช่างภาพผู้ถ่ายรูปเธอเสาะหาเธอที่ชายแดนอัฟกานิสถาน-ปากีสถาน นักวิเคราะห์ของเอฟบีไอ ประติมากรพิสูจน์หลักฐาน และผู้คิดค้นเครื่องจดจำม่านตาต่างยืนยันอัตลักษณ์ของเธอ เธอขึ้นปก เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก อีกครั้งห่างจากครั้งแรก 19 ปี ซึ่งน้อยคนนักจะได้ขึ้นปกนิตยสารถึงสองครั้ง ชาร์บาตไม่ใส่ใจว่าเธอจะโด่งดังไปทั่วโลกหรือไม่ เพียงหวังว่าลูกๆ จะได้รับการศึกษาที่เธอไม่เคยได้รับ ซึ่งลูกสาวของเธอได้สมัครเข้าโรงเรียนในปีการศึกษาหน้าแล้ว
รัฐบาลอัฟกันกำลังผลักดันให้ชาร์บาตขยายความฝันของเธอออกไป โดยแนะนำให้เธอก่อตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษาและสร้างศักยภาพให้กับผู้หญิงและเด็กๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกส่งตัวกลับมายังอัฟกานิสถาน และชาร์บาตกำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ เธอกล่าวกับบีบีซีเปอร์เซียว่า “ฉันอยากบอกกับพี่สาวน้องสาวของฉันว่าอย่าให้ลูกสาวแต่งงานตั้งแต่ยังเล็ก จนกว่าจะได้รับการศึกษาสูงเท่ากับที่ลูกชายได้รับ”
แต่บรรดาลูกสาวของชาร์บาตที่กำลังกลับอัฟกานิสถานอาจต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ลำบากกว่าแม่พวกเธอเมื่อ 30 ปีก่อน ปัจจุบันนี้ครึ่งหนึ่งของเด็กผู้หญิงอัฟกันได้เข้าโรงเรียนก็จริง แต่ส่วนใหญ่ที่เข้าโรงเรียนก็ต้องเลิกเรียนระหว่างอายุ 12-15 ในเขตชนบท จำนวนของเด็กผู้หญิงในโรงเรียนกำลังลดลงเรื่อยๆ ฮิวแมนไรต์วอชกล่าวว่าความเท่าเทียมกันทางเพศในอัฟกานิสถานยังล้าหลังปากีสถานและอิหร่าน ซึ่งรับผู้ลี้ภัยอัฟกันระหว่างสงครามสหภาพโซเวียตรวมกันทั้งสิ้น 6 ล้านคน สตรีและเด็กผู้หญิงที่กำลังจะกลับอัฟกานิสถานต้องปรับตัวให้พวกผู้ชายตัดสินใจให้หรือต้องเป็นเพื่อนร่วมทางเมื่อออกนอกบ้าน บางครั้งผู้ลี้ภัยที่เดินทางกลับบ้านก็ถูกมองว่าละเมิดศีลธรรมเพียงเพราะเติบโตจากต่างประเทศ
มานิชา นาเดรี ผู้อำนวยการขององค์กรสตรีเพื่อสตรีอัฟกัน กล่าวว่า อัฟกานิสถานต้องรองรับผู้ลี้ภัยทั้งในประเทศและที่กำลังจะกลับมาถึง 3 ล้านคน พลวัตเช่นนี้ทำให้สตรีและเด็กที่กำลังกลับบ้านมีความเสี่ยงด้านความรุนแรงทางเพศและเพศสภาพเพิ่มขึ้น “ในขณะที่ สาวน้อยอัฟกัน อย่างชาร์บาตได้รับการต้อนรับกลับอัฟกานิสถานอย่างอบอุ่น ผู้หญิงอัฟกันเป็นพันๆ คน ก็กำลังถูกบังคับให้กลับบ้านโดยปราศจากครอบครัว บ้าน งาน หรือความเป็นไปได้ที่จะมีชีวิตที่มั่นคงและเสถียรภาพเลย
เรื่อง นีนา สเตรชลิก
อ่านเพิ่มเติม