สำรวจอาชีพแปลก : คนเล่นงิ้ว

สำรวจอาชีพแปลก : คนเล่นงิ้ว

ที่ไหนมีศาลเจ้า ที่นั่นมีงิ้ว อุปรากรนี้เป็นมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของชาวจีนที่สืบทอดกันมานานหลายพันปี  มีจุดเริ่มต้นจากการแสดงในราชสำนักของจีนที่ต่อยอดพัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นหนึ่งในภาพแทนวัฒนธรรมหลัก ปัจจุบันงิ้วไม่ได้เล่นให้คนในราชสำนักดูอีกต่อไป หากเป็นการแสดง การละเล่นสำคัญที่เชื่อกันว่าจะทำให้เทพเจ้าที่สถิติอยู่ในศาลเจ้านั้นๆ ได้รับความเพลิดเพลิน พร้อมคาดหวังว่าเทพเจ้าจะนำพาซึ่งความสุขความเจริญกลับมาให้

การแสดงงิ้วเข้ามาสู่ประเทศไทยพร้อมๆ กับการหลั่งไหลเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวจีน งิ้วกลายเป็นเครื่องแสดงถึงซึ่งการเฉลิมฉลองในงานเทศกาลตามศาลเจ้าต่างๆ  ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 5 ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เฟื่องฟูที่สุดของงิ้ว มีนักแสดงงิ้วชาวจีนเดินทางเข้ามาเปิดการแสดงในไทยจำนวนมาก

ธัชชัย อบทอง ผู้จัดการและนักแสดงจากคณะงิ้วไซ้ ย่ง ฮง เล่าให้ฟังว่า ในสมัยก่อนจะมี “เด็กงิ้ว” คือเด็กที่พ่อแม่นำมาฝากไว้กับโรงงิ้วด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ฐานะยากจน  เด็กๆ เหล่านี้จะกินอยู่หลับนอนที่โรงงิ้ว พร้อมฝึกฝนวิชาไปในตัวจากบรรดาอาจารย์ และเมื่อมีความสามารถพอที่จะแสดงหน้าโรงได้แล้วก็จะได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน  ปัจจุบันในประเทศไทยไม่มีอาจารย์สอนงิ้วรุ่นใหม่ๆ แล้ว สร้างความกังวลว่าศิลปะการแสดงงิ้วอันเป็นมรดกตกทอดของชาวจีนนี้กำลังเสี่ยงต่อการเลือนหายไปด้วยหลายปัจจัย ทั้งการขาดนักแสดงและผู้ชมรุ่นใหม่ๆ ไปจนถึงการไม่มีโรงเรียนสอนศาสตร์วิชางิ้วอย่างเป็นทางการอย่างที่นาฏศิลป์ไทยมีหลักสูตรการเรียนรู้ระบุไว้ให้เด็กๆ ได้เรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย  ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่คนไทยมองว่าการแสดงงิ้วนั้นไม่ใช่มรดกทางวัฒนธรรมของไทยเอง คนเล่นงิ้วรุ่นเก่าหวังอยากให้คนไทยเชื้อสายจีนรุ่นใหม่ๆ ช่วยกันสืบทอดวัฒนธรรมนี้ให้ยังคงอยู่ต่อไป ในขณะเดียวกันคณะงิ้วเองก็จำต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามกาลเวลาด้วยเช่นกัน

มองไปที่เวที ผู้ชมจะเห็นท่าทางอันแสนพลิ้วไหว ได้ยินเสียงก้องดังกังวานไพเราะ  แต่กว่าจะมาเป็นนักแสดงงิ้วไม่ใช่เรื่องง่าย  ศาสตร์การเล่นงิ้วจำต้องใช้พลังในร่างกายอย่างมหาศาล ทั้งยังต้องฝึกร้อง ฝึกพูดและฝึกท่าทางอยู่หลายปีกว่าจะได้โอกาสแสดงจริง แต่ในมุมของนักแสดงแล้วสิ่งเหล่านี้คุ้มค่าเมื่อแลกกับการมีสถานะเป็นดั่งดาราโทรทัศน์ในสายตาของแฟนๆ งิ้ว และยังได้เดินทางไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ–หากคณะที่เขาหรือเธออยู่นั้นโด่งดังและมีงานทั้งปี

นักแสดงงิ้วเหล่านี้เป็นใคร? มีจุดเริ่มต้นอย่างไรจึงมาทำอาชีพคนเล่นงิ้วได้? The Perspective พาคุณผู้อ่านไปพูดคุยกับนักแสดงจากคณะงิ้วไซ้ ย่ง ฮง เมื่อพวกเขาปราศจากเครื่องสำอางจัดจ้าน อาภรณ์แวววาวหลากสีและไม่ได้สวมบทบาทอยู่บนเวที

ศิริฝัน ตามสมัคร

“เล่นงิ้วมาสิบกว่าปีแล้วค่ะ ตอนนั้นตามแฟนมา ก่อนหน้านี้ทำงานทั่วไปนี่แหละ แฟนเราเล่นงิ้ว เราไม่ได้เล่น พอมาที่โรงงิ้วเพื่อนๆ ก็ชวนให้ลองเล่นดู จากนั้นก็เลยเล่นมาตลอด ชอบที่งิ้วมีหลายบทบาทให้เราเลือกเล่น มันสนุกดี พี่ไม่เคยปิดใครนะว่าเราเล่นงิ้ว เราภูมิใจในอาชีพเรา งิ้วมันมีเสน่ห์ชวนให้หลงใหล ส่วนจะเล่นไปอีกนานแค่ไหน? พี่ว่าอนาคตของงิ้วมันเอาแน่เอานอนไม่ได้ ทุกวันนี้คณะเราก็เล่นไปเรื่อย แล้วแต่ว่าจะมีคนจ้างไหม มันไม่เหมือนลิเกอันนั้นเขาได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกประเทศ แต่งิ้วไม่มีแบบนั้น ถ้าวันข้างหน้าเราอายุมากขึ้นเล่นไม่ไหวแล้วก็คงต้องเลิก อาจจะไปทำงานค้าขายแทน”

ฐิติรัตน์ พงศ์สุขเวชกุล

“เล่นงิ้วมาตั้งแต่อายุ 11 ค่ะ รวมตอนนี้ก็ประมาณสามสิบกว่าปีแล้ว เราไปดูงิ้วแล้วก็เห็นเพื่อนๆ รุ่นพี่เขาได้เล่นงิ้ว อยากเล่นบ้างก็เลยตามเพื่อนมาเล่น ตอนนั้นก็เลยเลิกไปโรงเรียนมาแสดงงิ้ว เรียกได้ว่าเล่นงิ้วมาทั้งชีวิตก็ได้ งิ้วมันเป็นอมตะนะคะ มีข้อคิดสอนคน เสื้อผ้าก็สวยแถมมีความเป็นศิลปะ แต่ยากนะกว่าจะมาถึงจุดนี้ ต้องฝึกพูดฝึกร้องฝึกจำบท อย่างพี่นี่ก็ฝึกหลายปีเลยกว่าจะได้มาเป็นตัวชูโรง เมื่อก่อนไม่มีไฟแอลอีดีแบบนี้นะ เขาใช้แสงเทียน คนดูก็น้อยลง แต่รูปแบบการเล่นเราเองก็ต้องพัฒนาเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ต้องไม่หยุดนิ่ง พัฒนาให้ดีกว่าเดิม จริงๆ ทุกวันนี้ก็มีเด็กรุ่นใหม่สนใจมาดูงิ้วกันเยอะนะ”

น้ำฝน ผิวเณร

“พ่อกับแม่อยู่โรงงิ้วค่ะ แม่ทำกับข้าว พ่อเล่นขิม สีซอ ตีกลอง ก็เลยตามมาอยู่ด้วย เราเรียนจบแค่ปอหกเอง ตอนนั้นคิดเอาว่าเล่นงิ้วมันเหมือนได้ไปเที่ยว เพราะได้ไปหลายจังหวัด ก็เลยได้มาเล่นงิ้วค่ะ ตอนนี้ก็เล่นมาได้ 7 – 8 ปีแล้ว เล่นงิ้วมันดีนะพี่ทำงานกลางคืนไม่ร้อน ถ้าเราไปทำงานโรงงานก็ต้องตื่นแต่เช้า กว่าจะเลิกงานก็เย็นละ ที่ยากสุดก็คือต้องจำบทพูดเยอะๆ นี่แหละ แต่ว่าไม่รู้เหมือนกันว่าจะเล่นไปอีกนานแค่ไหน เพราะลูกใกล้จะ 4 ขวบแล้ว ต้องพาไปเข้าโรงเรียน ชีวิตก็คงเปลี่ยน แต่เดิมเราอยู่กับโรงงิ้ว มีข้าวสามมื้อให้กิน ถ้าออกไปอยู่เองก็คงต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ อยู่โรงงิ้วประหยัดกว่าค่ะ”

นวรัตน์ ขวัญอุบล

“ผมเป็นนักดนตรีครับ เล่นล้อ (หน้าตาคล้ายฆ้องวง) ในโรงงิ้ว เล่นมา 7 ปีแล้ว ตามพ่อกับแม่มา เพราะว่าพวกเขาเล่นงิ้วที่คณะนี้ พอเรียนจบผมก็มาทำที่นี่เลย มันง่ายดี ดนตรีของจีนมันมีเอกลักษณ์นะ วิธีการเล่น จังหวะมันก็ไม่เหมือนดนตรีอื่น ซึ่งทั้งหมดนี้เราเรียนมาจากอาจารย์อีกที นอกเหนือจากเล่นดนตรีแล้วก็เล่นงิ้วเปิดโรงบ้าง ช่วยพ่อแม่ครับทำอะไรได้ก็ทำ ผมว่าจะทำงานกับงิ้วไปอีกสักสิบปีนะ แล้วค่อยเปิดกิจการของตัวเอง”

กุ้ยเซิน เหอ

“เริ่มเล่นงิ้วตั้งแต่ 15 ครับ เล่นที่จีนก็สิบกว่าปี ที่ไทยอีกสิบกว่าปี พ่อแม่เป็นคนพาไปโรงงิ้ว ทำสัญญาเป็นเด็กงิ้ว เพราะบ้านเรายากจน ส่วนที่เลือกมาไทยเพราะเราอยากมาเที่ยว คนดูที่นี่ชอบนะเวลามีนักแสดงจากจีนมาเล่น เขาว่าคนจีนเล่นเก่ง ตีบทแตก เวลามีงานศาลเจ้าที บรรดาอากงอาม่าที่อยู่ในไทยเขาก็จะมากัน เพราะงิ้วมันทำให้เขาคิดถึงสมัยใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองจีน เราเองก็ชอบที่มีส่วนช่วยให้พวกเขามีความสุข เดี๋ยวนี้มีนักแสดงจากจีนมาเล่นที่ไทยเยอะ เขามองว่าได้ประสบการณ์การทำงาน ได้ท่องเที่ยวไปในตัว เล่นงิ้วก็เหมือนสอนคน ให้ข้อคิด ให้คนทำดี คนที่เขาดูงิ้วเป็นแค่ได้ยินเสียงก็รู้เลยว่าคนไหนเล่นดี เล่นไม่ดี เพราะมันสดไม่เหมือนภาพยนตร์”

อาเฮียง แซ่ตั้ง

“เล่นงิ้วมาตั้งแต่อายุ 11 ตอนนี้ก็ 65 แล้ว ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้ทำงานอย่างอื่น อยู่กับงิ้วมาทั้งชีวิต ชอบงิ้วมาตั้งแต่เล็กๆ เลย เห็นเพื่อนเล่นแล้วเราก็อยากเล่นบ้าง ก็ไปสิงอยู่ที่โรงงิ้วไม่ยอมกลับบ้าน จริงๆ พ่อไม่ยอมนะมาตามถึงโรงงิ้วให้กลับบ้าน แต่เราไม่ยอม พ่อก็ต้องทำใจ เพราะมีลูกสาวคนเดียว อีกอย่างเล่นงิ้วก็ไม่เสียหายอะไร เราอ่านหนังสือไม่ออกแต่ฝึกฝนเองจากการฟังเทป อาศัยจำจากที่ครูบอก อายุ 18 ก็ได้เล่นเป็นพระเอก แล้วก็เปลี่ยนไปเป็นนางเอก พอมีอายุมากขึ้นก็เล่นแต่บทแม่แทน งิ้วไม่มีเกษียณอายุ ก็จะเล่นไปเรื่อยๆ เท่าที่ไหว เล่นงิ้วสบายนะ เล่นเสร็จก็กลับบ้าน ไม่ต้องคิดอะไร”

ทิวา นาเหลากลาง

“ผมเล่นงิ้วมาตั้งแต่อายุ 15 ครับ ตอนนี้เล่นมา 18 ปีแล้ว เริ่มต้นจากการเป็นจับกังมาช่วยเขาแบกของขนของหลังเวที พอมาเห็นเขาเล่นแล้วก็รู้สึกอยากเป็นแบบเขาบ้าง เล่นงิ้วต้องฝึกเสียง ฝึกท่าทาง ทุกวันนี้ก็ยังฝึกฝนอยู่ตลอด ความสนุกของอาชีพนี้คือบทบาทที่เราได้รับมันหลากหลาย มันเปลี่ยนไปตามเรื่องราว โศกเศร้า เฮฮา เราได้แสดงหมด สมัยก่อนคนดูเยอะกว่านี้ครับ ทุกวันนี้วิชางิ้วถอยลงเรื่อยๆ ศาสตร์ของความเป็นงิ้ว หลักวิชาของมันค่อยๆ จางหายไป เด็กรุ่นใหม่เองที่เข้ามาฝึกก็ไม่ได้ตั้งใจฝึกหัดจริงๆ เพราะไม่ได้มองคุณค่าของงิ้วเท่าคนรุ่นก่อน”

เมศวราณี เหมือนจันทร์เพ็ญ

“ก่อนหน้านั้นเป็นพนักงานขายของอยู่ที่มาบุญครองค่ะ เราดูงิ้วแล้วชอบมาก เขาแต่งหน้าแต่งตัวสวย อยากเล่นบ้าง พอดีมีเพื่อนแถวบ้านที่เล่นงิ้ว ก็เลยตามเพื่อนไปที่นครสวรรค์ ทีนี้ก็ยาวเลยเล่นมาได้ยี่สิบกว่าปีแล้วค่ะ ตั้งแต่อายุ 19 พอได้มาลองจริงๆ เล่นงิ้วมันก็ลำบากนะ ต้องย้ายที่ไปมา ที่หลับที่นอนก็ไม่สบาย แต่ทุกวันนี้ที่ยังเล่นงิ้วอยู่นอกเหนือจากความชอบแล้ว เราเชื่อว่าเพราะเจ้าท่านกำหนดมาแล้ว เคยลองไปทำอาชีพอื่น ลองไปขายของแต่ไม่สำเร็จ ก็ต้องกลับมาเล่นงิ้วเหมือนเดิม ดังนั้นก็จะเล่นงิ้วต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าเถ้าแก่จะเลิกจ้าง หรือจนกว่าเจ้าจะไม่เอานั่นแหละค่ะ”

ง้วง แซ่แต้

“เล่นงิ้วมา 53 ปี ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ พ่อแม่เรายากจน เราเห็นพี่สาวเข้าโรงงิ้วแล้วมีเงินช่วยพ่อแม่ได้ ตัวเราเองก็ไม่ได้เรียนหนังสือก็เลยตามมาบ้าง สมัยก่อนจะมีเด็กงิ้วที่ครอบครัวพามาฝากไว้ให้ฝึกฝน พอเล่นได้ก็จะมีรายได้เป็นเงินเดือน อาจารย์เป็นคนสอนทุกอย่างตั้งแต่ตีลังกา ยันท่าทาง การร้อง สมัยนี้ไม่มีแล้ว อาจารย์ที่เคยสอนงิ้วตายกันไปหมด สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องดูแลร่างกาย เสียง เล่นงิ้วต้องใช้พลัง เดี๋ยวนี้วิชางิ้วแบบดั้งเดิมจริงๆ มันสูญหายไปแล้ว อนาคตก็คงจะยิ่งแย่ เพราะในไทยไม่มีใครส่งเสริมงิ้ว เราไม่เป็นไรเพราะอายุเยอะแล้ว ถ้าไม่ได้เล่นก็มีลูกหลานดูแล แต่ก็ไม่อยากให้งิ้วมันสูญหายไป ยิ่งถ้าคนรุ่นเราไม่อยู่แล้วคุณค่าของงิ้วจะยิ่งลดน้อยถอยลง”

เรื่องและภาพ ธนเสฏฐ์ ศิริวัฒนาดิเรก

ขอขอบคุณ คณะงิ้ว ไซ้ ย่ง ฮง และ นิทรรศการ งิ้ว กล้า ก้าว มิวเซียมสยาม

 

อ่านเพิ่มเติม : สินค้าที่ “ผลิตในจีน” จริงๆแล้วผลิตที่ไหนเปิดภาพเก่าความน่าขนลุกของตัวตลกตั้งแต่อดีตจากกรุ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.