เมื่อชีวิตติด ” แอปหาคู่ ” เสพติด “ปัดขวา” จะเสี่ยงต่อ “สมอง” อย่างไร

สำหรับความรักยุคใหม่ ฟีเจอร์ ‘ปัดขวา’ ใน แอปหาคู่ ซึ่งกลายเป็นคำสั้นๆ ที่ใช้กันทั่วไป เพื่อสื่อถืงความดึงดูดใจและการแสวงหาความรัก แต่จงระวังไว้เพราะ “สมองพร้อมที่จะมีอาการเสพติด โดยเฉพาะในเรื่องความรัก” ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งกล่าว

ในวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา มีการฟ้องร้องจากคน 6 คน ไปยัง แอปหาคู่ ยอดนิยม โดยคำฟ้องระบุว่า ทางแอปฯ ได้ออกแบบการใช้งานที่ ‘น่าดึงดูดและเหมือนเกม’ เพื่อ ‘ล็อคผู้ใช้ให้เข้าสู่วงจรการจ่าย (เงิน) เพื่อเล่นตลอดไป’

อย่างไรก็ตาม ‘Match Group’ เจ้าของบริหารหาคู่ออนไลน์ยอดนิยมหลายแห่ง ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้กล่าวปฏิเสธคำวิพากษ์วิจารณ์นี้โดยสิ้นเชิง โดยกล่าวว่าคดีนี้ “ไร้สาระและไม่มีประโยชน์ใด ๆ”

กระนั้น ข่าวดังกล่าวก็ทำให้เกิดความสนใจและมีการอภิปรายอย่างต่อเนื่องว่า: ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทำให้เรามีอาการเสพติดรุนแรงจริงหรือไม่? และพฤติกรรมของผู้ใช้ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพนั้นเป็นความผิดของแอปพลิเคชั่น หรือเป็นความยุ่งยากในการสร้างนิสัยด้านการใช้เทคโนโลยีที่ดีต่อชีวิตในโลกดิจิทัลที่กำลังเพิ่มมากขึ้นหรือไม่?

เกิดอะไรขึ้นเมื่อเราปัด แอปหาคู่ ?

การรับรู้ว่าอาจมีการจับคู่ที่สมบูรณ์แบบเกิดขึ้นได้โดยเพียงแค่กวาดนิ้วเพียงนิ้วเดียวนั้นเป็นสิ่งที่ต้านทานได้ยาก

“สมองพร้อมที่จะเสพติด โดยเฉพาะในเรื่องของความรัก” เฮเลน ฟิชเชอร์ (Helen Fisher) นักมานุษยวิทยาทางชีววิทยา และนักวิจัยอาวุโสของสถาบันคินซีย์แห่งมหาวิทยาลัยอินเดียนา กล่าว แอปเหล่านี้กำลัง “ขายรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิต” นั่นคือความรัก

ทางศาสตราจารย์ อีเลียส อบัวจาโอดว์ (Elias Aboujaoude) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชคลินิกที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า แอปหาคู่เหล่านี้ทำให้ผู้ใช้ “เร่งรีบ” ซึ่งมาจากการได้รับสิ่งที่ชอบหรือตรงกัน แม้ว่ากลไกในการเล่นที่แน่นอนจะยังไม่ชัดเจน แต่เขาเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับการให้รางวัลด้วย “โดปามีน”

“เรารู้ว่าโดปามีนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเสพติดมากมาย และมีข้อมูลบางอย่างที่แนะนำว่าโดปามีนเกี่ยวข้องกับการเสพติดหน้าจอ” อบัวจาโอดว์ บอก

ส่วนหนึ่งของปัญหานี้คือยังมีสิ่งที่ไม่รู้อีกมากเกี่ยวกับโลกแห่งการหาคู่ออนไลน์ เนื่องจากอัลกอริธึมของบริษัทนั้นไม่เพียงแต่เป็นกรรมสิทธิ์และเป็น “กล่องดำ” ของการจับคู่เท่านั้น แต่ยังขาดการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อผู้ใช้อีกด้วย “นี่คือสิ่งที่มีการพยายามศึกษาอย่างหนัก” อบัวจาโอดว์ เสริม

ในขณะที่ เอมี กอร์ดอน (Amie Gordon) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน เห็นด้วยว่าการทำนายความเข้ากันได้นั้นเป็น “ปริศนาที่รู้กันดี” ในหมู่นักวิจัยด้านความสัมพันธ์ “เราไม่รู้ว่าทำไมคนบางคนถึงมารวมตัวกัน”

ทว่า ‘Match Group’ ปฏิเสธที่จะให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการพิจารณาถึงความเข้ากันได้ในการจับคู่ อย่างไรก็ตามในการสัมภาษณ์ล่าสุดกับทางนิตยสาร ‘Fortune’ ของ จัสติน แมคเลียด (Justin McLeod) ซีอีโอของ Hinge ปฏิเสธว่าแอปนี้ใช้ “คะแนนความน่าดึงดูด” และสร้าง “รสนิยมโปรไฟล์” แทนความสนใจของผู้ใช้แต่ละคน รวมถึงรูปแบบที่ชอบและไม่ชอบ

ในโพสต์ของบริษัท Hinge กล่าวว่าพวกเขาใช้อัลกอริธึมชื่อ ‘Gale-Shapley’ ในการเลือกคู่ที่น่าจะตรงกันมากที่สุด

แอปหาคู่ เหล่านี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้เราเสพติดหรือไม่?

เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ มีเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ว่าแอปหาคู่ต้องการให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมอยู่เสมอ “แอปหาคู่คือบริษัท” แคทธรีน โคดุโต (Kathryn Coduto) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สื่อที่มหาวิทยาลัยบอสตัน กล่าว “คนเหล่านี้่คือคนที่พยายามหาเงิน และวิธีสร้างรายได้ด้วยการให้ผู้ใช้อยู่ในแอปพลิเคชั่นของพวกเขา”

แน่นอนว่า ‘Match Group’ ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวที่ว่าแอปของพวกเขาได้รับการออกแบบมาเพื่อส่งเสริมและสร้างผลกำไรจากการมีส่วนร่วมมากกว่าการเชื่อมต่อผู้คน “เรามุ่งมั่นที่จะให้ผู้คนออกเดททุกวันและ (ออกเดท) นอกแอปของเรา” โฆษกของบริษัทกล่าว “ใครก็ตามที่กล่าวถึงสิ่งอื่น ไม่ได้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์และภารกิจของอุตสาหกรรมทั้งหมดของเรา” ในการสัมภาษณ์กับ Fortune แมคเลียดยังคงเน้นย้ำไว้ว่าอัลกอริธึมของ Hinge นั้นไม่ได้พยายามชักจูงผู้ใช้ให้ชำระค่าสมาชิก

ฟิชเชอร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของ ‘Match.com’ มาอย่างยาวนานเห็นด้วยว่า สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจคือ การที่ผู้ใช้ได้รับกับความรักและบอกเพื่อน ๆ ให้สมัครด้วยเช่นกัน

เชง “คริส” เชน (Cheng “Chris” Chen) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการออกแบบการสื่อสารที่มหาวิทยาลัยอีลอน กล่าวว่า แม้อัลกอริธึมเฉพาะจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ แต่วิธีการออกแบบนั้น “ไม่เป็นกลางเลย การปัดนิ้วนั้นสนุกกว่าการแตะ ทำให้กระบวนการทั้งหมดรู้สึกเหมือนเป็นเกม” เธอกล่าว

แอปหาคู่ยังใช้กลยุทธ์ที่ชาญฉลาดเพื่อให้เรียกให้ผู้ใช้กลับมาอีกเช่น การแจ้งเตือนแบบเน้น และ “รางวัลแบบสุ่มที่พวกเขาเสนอ ซึ่งทำให้สมองของเราตื่นเต้นมากเพราะเราจะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเราจะได้จับคู่เมื่อใด”

ในขณะที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียดำเนินไป ไมเคิล โรเซนฟิลด์ (Michael Rosenfeld) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดมองว่า แอปหาคู่ค่อนข้างมีประโยชน์และตรงตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

“ความจริงก็คือผู้คนกำลังสร้างความสัมพันธ์และถอนการติดตั้งแอปเป็นจำนวนนับล้านทุกปี” เขากล่าว “ท้ายที่สุดแล้ว แอปนี้จะไม่มีผู้ใช้เลย หากพวกเขาไม่ได้เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน”

แอปหาคู่ โซเชียลมีเดีย หรือสุขภาพจิต เป็นปัญหาไหม?

นักวิทยาศาสตร์ได้สังเกตเห็นผู้คนแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพในแอปหาคู่ เช่นเดียวกับที่เห็นบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ

“สำหรับฉัน มันเป็นเส้นแบ่งที่คลุมเครือมาก ระหว่างสิ่งที่แอปหาคู่ทำ กับสิ่งที่โซเชียลมีเดียทำ” อบัวจาโอดว์ บอก ผู้คน “เริ่มเพิ่งพาแอปหาคู่เพื่อจุดประสงค์ในการเห็นคุณค่าในตนเอง เพื่อการเชื่อมต่อแบบผิวเผิน และเพื่ออารมณ์ของพวกเขาแบบชั่วคราว”

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมนี้ถือเป็นการเสพติดจริง ๆ หรือไม่? ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป

โคดุโต กล่าวว่าเธอลังเลที่จะให้คำวินิจฉัยทางการแพทย์ว่านี่เป็นการใช้แอปหาคู่แบบบีบบังคับ ไม่มีคำจำกัดความที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางสำหรับการเสพติดในบริบทของโซเชียลมีเดีย และที่สำคัญ คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตฉบับล่าสุด ก็ไม่ยอมรับว่าการติดอินเตอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียถือเป็นความผิดปกติทางการแพทย์

กระนั้น เธอกล่าวว่า มีคุณสมบัติบางประการของการเสพติดอยู่ เช่น การบังคับให้ตรวจสอบแอปหาคู่หรือแม้กระทั่งประสบการณ์การเลิก

พฤติกรรมนี้เด่นชัดที่สุดในหมู่ผู้ที่ประสบปัญหาความวิตกกังวลทางสังคมและความเหงา ตามข้อมูล โคดุโต ชี้ว่างานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างสภาวะทางอารมณ์ทั้งสองนั้นนำไปสู่การใช้แอปหาคู่แบบบังคับ อบัวจาโอดว์ เองก็สังเกตเห็นว่าผู้คนใช้เวลาหลายชั่วโมงไปกับแอปหาคู่เพื่อเป็นกลไกในการรับมือกับภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล

ซึ่งทำให้ผู้ใช้พึงพอใจน้อยลงอย่างมาก แม้ว่าจะไม่เป็นไปตามกฏเกณฑ์แบบเดียวกับการติดยา แต่ “ความจริงก็คือมันมีเครื่องหมายของพฤติกรรมด้านพยาธิวิทยา (pathological) อยู่”

อย่างไรก็ตาม ความคิดที่ว่าแอปหาคู่ทำให้ผู้คนกลายเป็นซอมบี้ที่อ้างว้างและโดดเดี่ยวอาจเป็นเรื่องตื่นตระหนกทางศีลธรรมมากกว่าความเป็นจริง โรเซนฟิลด์ กล่าวว่า ในแต่ละปีจะมีความสัมพันธ์ทางเพศหรือโรแมนติกใหม่ ๆ เกิดขึ้นประมาณ 15 ล้านครั้งในสหรัฐอเมริกา การที่ทุกคนไม่ได้พบคู่ที่สมบูรณ์แบบในกรอบเวลาที่ต้องการ ก็ไม่ได้หมายความว่าแอปจะไม่ทำงาน

“ผมไม่เห็นด้วยกับคดีที่ Match Group (ถูกกล่าวหาว่า) กำลังล่าผู้คน” โรเซนฟิลด์ บอก “ผมคิดว่าพวกเขากำลังทำการจับคู่ที่มีประสิทธิภาพจริง ๆ”

ด้วยตัวเลือกที่ไม่มีที่สิ้นสุดเพียงแค่ปัดนิ้วเพียงนิ้วเดียว โรเซนฟิลด์เสริมว่า “มันยากสำหรับคนที่ต้องการหาคนที่ใช่ตามที่พวกเขาต้องการจริง ๆ และนั่นก็น่าหงุดหงิด”

แม้ว่าผู้ใช้จะได้รับประโยชน์จากการเสริมแรงจูงใจในการปัดนิ้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า แอปหาคู่ควรมีความโปร่งใสมากขึ้นเกี่ยวกับอัลกอริธีม และสร้างอินเทอร์เฟซที่เน้นการเชื่อมต่อที่แท้จริง มากกว่าสร้างความพึงพอใจในทันที

“ลองนึกภาพแอปที่เตือนคุณว่า ‘คุณปัดมา 50 ครั้งแล้วในช่วง 5 นาทีที่ผ่านมา พักสักหน่อยไหม?’” เชน กล่าว “ฟีเจอร์ประเภทนี้สนับสนุนให้ผู้ใช้ไตร่ตรองพฤติกรรมของตนเอง และจัดการเวลาในแอปอย่างมีสติมากขึ้น”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
.
https://www.nationalgeographic.com/science/article/dating-apps-psychology-addiction-lawsuit


อ่านเพิ่มเติม ผลกระทบสุขภาพจิตจาก TikTok กระตุ้นเครียด ซึมเศร้า ปลุกพฤติกรรมท้าทายสุดโต่ง

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.