งานอันตรายที่สุดในโลก ” ช่างเชื่อมใต้น้ำ ” สำคัญต่อธุรกิจน้ำมัน-ท่อก๊าซ

ช่างเชื่อมใต้น้ำ งานนี้มีความสำคัญยิ่งต่ออุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ แต่คุณอาจสูญเสียนิ้วสองนิ้วได้เป็นเรื่องปกติ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้งานนี้อันตรายอย่างยิ่ง

ช่างเชื่อมใต้น้ำ – ทุกครั้งที่เราส่วนใหญ่จินตนาการถึงทะเล เรามักจะนึกถึงสวรรค์เขตร้อนที่งดงามและสัตว์ทะเลที่มีชีวิตชีวาในธรรมชาติ ทว่า ท่ามกลางแสงแดดที่สะท้อนผิวน้ำให้ระยิบระยับราวกับเครื่องประดับที่มีมูลค่า ลึกลงไปหลายร้อยเมตรใต้ผืนน้ำที่ส่องประกายนั้น กลับเป็นอีกดินแดนหนึ่งที่อันตรายยิ่งกว่า นั่นคือ ‘โลกแห่งการเชื่อมใต้น้ำ’

“เราทำให้โลกเหนือน้ำหมุนไป และทำงานหนักอยู่ใต้น้ำ” โจเซฟ เพอร์วิส (Joseph Purvis) นักดำน้ำใต้ทะเลลึกและช่างเชื่อมใต้น้ำที่มีประสบการณ์ กล่าว “ผมภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกที่น่าตื่นเต้นตลอด 6 ปีที่ท้าทายอย่างยิ่ง”

แม้ว่าอันตรายของงานเชื่อมใต้น้ำจะดึงดูดความสนใจของสื่อต่าง ๆ มานานหลายปีแล้ว แต่กระแสล่าสุดก็ได้เกิดขึ้นทางออนไลน์ เมื่อเด็ก ๆ แกล้งคนที่พวกเขารักว่าได้รับงานเป็นช่างเชื่อมใต้น้ำ ซึ่งเป็นสาขาที่มีความเสี่ยงสูงและต้องมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ทำให้หลายคน (ที่ถูกแกล้ง) รู้สึกประหลาดใจและไม่เชื่อสิ่งที่พวกเขาได้ยิน

แต่งานเชื่อมใต้น้ำนั้นมีความอันตรายแน่นอน ซึ่งมาจากปัจจัยที่ซับซ้อนและอันตรายหลายประการ

ช่างเชื่อมใต้น้ำ – พวกเขาทำงานกันอย่างไร?

นักดำน้ำจะดำดิ่งสู่มหาสมุทรพร้อมกับอุปกรณ์พิเศษที่ออกแบบมาเพื่อให้ทนต่อสภาพแวดล้อมใต้ทะเลลึกที่ท้าทาย พวกเขาจะสวมชุดดำน้ำ หรือชุดดรายสูทหนา พร้อมกับสวมหมวกคลุมหัวที่มีระบบสื่อสารในตัวเพื่อติดต่อกับทีมเหนือพื้นน้ำได้ตลอดเวลา ทั้งนี้อุปกรณ์หรือวิธีการทำงานจะแตกต่างกันไปตามระดับความลึกและระยะเวลาของงาน

“สำหรับงานในแท่นขุดเจาะน้ำมัน นักดำน้ำคนแรกจะต้องปีนลงไปตามแท่นใต้น้ำด้วยตัวเองจริง ๆ”เพอร์วิส กล่าว “และสร้างสิ่งที่เรียกกันว่า ‘ดาวน์ไลน์’ (Downline) ซึ่งเป็นเส้นเชือกขนาดครึ่งนิ้วที่ลากยาวไปจนถึงเรือ”

จากนั้นนักดำน้ำก็จะเอานิ้วโอบรอบเส้นแล้วตกลงไปด้านล่างใต้น้ำอย่างอิสระ “แม้แต่นักกีฬาดำน้ำที่เก่งที่สุดก็อาจจมหายลงไปใต้น้ำได้เลย” เพอร์วิส กล่าว “ถ้าเลี้ยวผิดแล้วลีมทางว่าจะต้องไปไหน ก็จะมองไม่เห็นทางซ้ายหรือขวา หรือขึ้นหรือลง”

Photograph by Photo by Alexis Rosenfeld, Getty Images

แหล่งออกซิเจนของนักดำน้ำนั้นจะแตกต่างจากถังดำน้ำทั่วไป มันมีลักษณะเหมือนสายสะดือมากกว่า โดยเป็นท่อส่งก๊าซหายใจจากพื้นผิวไปยังตำแหน่งทำงานของนักดำน้ำ เหมือนกับนักบินอวกาศที่กำลังเดินอยู่บนดวงจันทร์โดยมีสายผูกติดกับยานอวกาศอยู่ ซึ่งจะมีอุปกรณ์พิเศษที่ออกแบบมาเพื่อตรวจสอบและซ่อมแซมใต้น้ำโดยเฉพาะ

นอกจากนี้การทำงานใต้น้ำก็ยังมีความท้าทายอื่น ๆ อีกมาที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่นเดียวกับงานด้านการดำน้ำอื่น ๆ แรงดันน้ำที่เพิ่มขึ้นมา หากไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านร่างกายร้ายแรงได้ เช่น ภาวะเมาไนโตรเจน (nitrogen narcosis) หรือโรคน้ำหนีบ (decompression sickness – โรคที่เกิดจากการลดความดันบรรยากาศ)

ไม่เพียงเท่านั้นปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นก็ทำให้งานด้านนี้ท้าทายมากขึ้นไปอีก เนื่องจากนักดำน้ำต้องทำงานใต้ผืนน้ำที่ขุ่นมัวและมีแสงจำกัด ระยะมองเห็นที่ลดลงนี้ทำให้ยากต่อการระบุปัญหาและระบุสิ่งที่เกิดขึ้น นักดำน้ำบางคนถึงกับต้องหลับตาขณะทำงานเพื่อทำจิตใจให้สงบ พร้อมปล่อยให้การซ่อมแซมเกิดขึ้นจากความรู้สึกสหรือสัญชาตญาณเพียงอย่างเดียว

“ถ้ามันมืดครึ้ม แสดงว่าคุณกำลังเสียพลังงานไปเปล่า ๆ กับการพยายามมองดู” เพอร์วิส กล่าว “ส่วนใหญ่แล้วที่นั่น (ณ จุดทำงาน) มันมืดไปหมด และงานทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับความรู้สึกอยู่ดี”

ไฟฟ้าช็อตก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งเมื่ออยู่ใต้น้ำ เพราะกระแสไฟฟ้าสามารถส่งวิ่งไปยังบริเวณรอบข้างได้ และงานเชื่อมมักสร้างอุณหภูมิที่สูงมาก (สูงกว่า 10,000 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 5,537 องศาเซลเซียสขึ้นไป) ซึ่งจะทำให้โมเลกุลของน้ำที่มีไฮโดรเจนและออกซิเจนแยกตัวออกจากกัน และหากสัดส่วนของไฮโดรเจนต่อออกซิเจนขึ้นสูงไปถึงระดับหนึ่ง ก็อาจเกิดการระเบิดที่รุนแรงได้

เพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้ ช่างเชื่อมใต้น้ำจะต้องอาศัยการฝึกอบรบแบบเฉพาะทางในหลายด้าน อุปกรณ์พิเศษ การสื่อสารกับทีมที่อยู่บนผิวน้ำอย่างต่อเนื่อง และเครื่องมือเชื่อมที่พร้อม กระนั้นถึงแม้จะมีอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยจำนวนมาก การทำงานก็ยังสร้างความกลัวได้อยู่เสมอท่ามกลางการทำงานประมาณ 10 ชั่วโมงต่อครั้ง ซึ่งทางเพอร์วิสเองก็ได้สูญเสียนิ้วก้อยไประหว่างการดำน้ำ

“ความกลัวเป็นเรื่องปกติ และถ้านักดำน้ำคนใดบอกว่าพวกเขาไม่ได้กลัว แสดงว่าพวกเขากำลังโกหก” เขากล่าว “คุณต้องต่อสู่กับกระแสน้ำในตอนที่ทำงาน และนักดำน้ำส่วนใหญ่มักจะมีนิ้วหายไป 1-2 นิ้วจากอุปกรณ์ที่ทุบมือของพวกเขา”

อาชีพที่มีการพัฒนา

การเชื่อมใต้น้ำอาจเป็นงานที่ยังคงต้องใช้มนุษย์ทำอยู่ แทนที่จะเป็นเครื่องจักรทำ เนื่องจากเป็นงานที่ซับซ้อนมากเกินไป ตามที่ผู้เชี่ยวชาญระบุ

“มันเป็นงานฝีมือ” เควิน ปีเตอร์ (Kevin Peters) ช่างเชื่อมใต้น้ำและผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านสิ่งแวดล้อมของ ซับซีโกลบอลโซลูชั่น (Subsea Global Solution) กล่าว “คุณต้องปรับตัวให้เข้ากับมัน ทั้งทักษะและการฝึกฝน ในลักษณะเดียวกับที่จิตรกรหรือนักดนตรีต้องใช้เวลา 10,000 ชั่วโมง”

และแต่ละงานก็แตกต่างกันไป

“งานเชื่อมใต้น้ำส่วนใหญ่มีไว้สำหรับการซ่อมแซม และหากใช้หุ่นยนต์ในกรณีส่วนใหญ่งานเชื่อมนั้นก็จะต้องเป็นกระบวนการแบบกึ่งอัตโนมัติ” ยูวี เอสชีไมเออร์ (Uwe Aschemeier) วิศวกรการเชื่อมที่ได้รับรางวัล กล่าว “งานซ่อมแซมในการเชื่อมนั้นไม่เป็นเส้นตรงหรือคงที่ คุณจำเป็นจะต้องมีมนุษย์ในการประเมินและดำเนินการซ่อม”

อุตสาหกรรมหลายภาคส่วนมักใช้บริการอาชีพเหล่านี้ ตั้งแต่บริษัทน้ำมันที่สร้างแท่นขุดเจาะนอกชายฝั่ง ไปจนถึงช่างต่อเรือที่ทำงานซ่อมแซมใต้น้ำซึ่งเป็นวิธีที่ดีกว่าการซ่อมบนพื้นดิน เนื่องจากลดเวลาและทรัพยากรอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ช่วยรับประกันการซ่อมแซมที่มีประสิทธิภาพ และมีความสำคัญยิ่งต่ออุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ

การเชื่อมใต้น้ำช่วยรักษาโครงสร้างพื้นฐานของเรือขนาดใหญ่ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ท่อส่งต่าง ๆ และแท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งไว้ได้ แม้บริษัทพลังงานหลายแห่งจะถูกกดดันให้เลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทว่าหากไม่มีแท่นขุดเจาะน้ำมัน หรือเรือบรรทุกน้ำมัน ช่างเชื่อมใต้น้ำก็ยังคงมีงานทำต่อไปในภาคพลังงานหมุนเวียน

“ผมมีลูก 3 คน และผมอยากให้พวกเขาเห็นว่าผมย้ายไปยังอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน” เพอร์วิส กล่าว “เพื่อไม่ใช่แค่เพียงดึงเอาจากโลกและทรัพยากรที่มีอยู่บนโลกของเราเท่านั้น แต่เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสร้างพลังงานอีกด้วย”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
.
https://www.nationalgeographic.com/environment/article/underwater-welding-dangerous-job


อ่านเพิ่มเติม บันทึกวิชา EIA นอกห้องเรียน ประสบการณ์จริงสู่อาชีพด้านสิ่งแวดล้อม

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.