ในงานบ้านและสวน select ช่วงเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา นอกจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย มีนิทรรศการ “The Journey of National Geographic Thailand” แล้ว เรายังได้จัดเสวนาเล่าเรื่องการทำสารคดี “การอนุรักษ์มิติใหม่ที่วัดไชยวัฒนาราม” สารคดีขึ้นปกฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเชื่อมโยงกับนิทรรศการ อีกทั้งนี่เป็นสารคดีที่มีองค์ประกอบหลากหลาย มีเนื้อหาชวนให้มอง “วัดไชยวัฒนาราม” ในมุมการอนุรักษ์ที่มีมากกว่าการรักษาโบราณสถานให้คงอยู่
และการชวนคุยครั้งนี้ ก็น่าจะช่วยทำให้ผู้อ่านได้เห็นการทำสารคดีของเราไปด้วย ซึ่งในฐานะกองบรรณาธิการแล้ว เป็นกระบวนการที่สนุกและน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อย
งานนี้เราจึงเชิญทั้งบรรณาธิการบริหาร บรรณาธิการอาวุโส ช่างภาพอาวุโส นักเขียน และนักวาดภาพประกอบที่ทำงานร่วมกันในสารคดีนี้มาล้อมวงเล่าสู่กันฟัง
เริ่มจากคำถามสำคัญที่ คุณโกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ บรรณาธิการบริหาร National Geographic ฉบับภาษาไทย ตอบว่า วัดไชยวัฒนาราม เป็นโบราณสถานสำคัญที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ Pop Culture จากละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” เป็นสถานที่ที่หลายคนอาจมองเป็นฉากหลังของการท่องเที่ยว แต่เมื่อมองลึกลงไปยังมีมิติให้ค้นหาอีกมาก การเลือกเรื่องในการทำสารคดีหนึ่งเรื่องเกิดจากการที่พูดคุยกันในกองบรรณาธิการ การหาผู้ร่วมเดินทางไปกับกระบวนการนี้
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ การทำสารคดีเกี่ยวกับโบราณสถาน เกี่ยวกับสิ่งที่ผ่านกาลเวลาจนไม่เหลือภาพเมื่อครั้งยังรุ่งเรือง เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่แล้ว ทำให้การนำเสนออาจมีความแห้งด้านภาพ จึงต้องมีองค์ประกอบด้านภาพที่หลากหลาย ทั้งภาพถ่ายที่ต้องหาแง่มุมถ่ายทอด และภาพประกอบ ซึ่งเป็นภาพสันนิษฐานว่าครั้งหนึ่ง วัดไชยวัฒนารามอาจเคยมีหน้าตาอย่างไร
เหมือนอย่างที่เราเคยทำสารคดีเรื่อง “บ้านวิชาเยนทร์ ก่อนวาระสุดท้ายของฟอลคอน” ในฉบับเดือนกันยายน 2565 เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ เป็นบุคคลที่ไม่อยู่แล้วมานานนับ 300 กว่าปี การทำสิ่งที่มันไม่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยหลักฐานจริง เพื่อสร้างภาพคาดคะเนขึ้นมา เช่น โทนสีของโบราณสถาน ในสมัยก่อนสีเป็นอย่างไร ซึ่งก็ต้องเกิดจากการสันนิษฐานขึ้นมา
สารคดีทั้งสองเรื่องนี้จึงได้รวมองค์ประกอบทั้งงานเขียน ภาพถ่าย และภาพสันนิษฐาน ซึ่งคุณโกวิทย์แบ่งปันว่า การทำสารคดีไทยที่มีภาพประกอบที่สวยงาม ละเอียด มีคุณภาพสูง เป็นความฝันของเขาตลอดมาในการทำงานกับสารคดีต่างประเทศ ซึ่งมีสิ่งนั้นอยู่ และเมื่อมาพบกับงานของ คุณพัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน นักวิจัยอิสระ นักวาดภาพประกอบ จากกลุ่ม ‘คิดอย่าง’ กลุ่มสถาปนิกและนักวิจัยสถาปัตยกรรมไทย เขาก็รู้สึกว่า นี่แหละ ภาพประกอบที่เขาตามหา
พวกเขาจึงช่วยกันเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวัดไชยวัฒนาราม ที่เป็นมากกว่าโบราณสถาน แต่ยังมีความน่าพิศวงของสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา และเป็นเสมือนห้องทดลองที่สามารถแลกเปลี่ยนความรู้สู่มิติใหม่ ๆ
งานนี้ได้คุณวราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล นักเขียน ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์ วัดไชยวัฒนาราม กองทุนโบราณสถานโลก (World Monument Fund – WMF) มาเป็นนักเขียน ในฐานะผู้จัดการโครงการ ฯ ย่อมต้องมีข้อมูลมากมายในทุกแง่มุมเกี่ยวกับวัดไชยฯ แล้วจะมีทิศทางในการนำเสนออย่างไร
คุณนิรมล มูลจินดา บรรณาธิการอาวุโส National Geographic ฉบับภาษาไทย ซึ่งรับหน้าที่บรรณาธิการของสารคดีเรื่องนี้ เล่าถึงการตามหาเส้นเรื่องที่จะเล่า
“พอมีแผนที่จะทำเรื่องนี้ เราก็ไปเยี่ยมดูสถานที่เพื่อให้มีความเข้าใจในเบื้องต้น และเราสนใจเรื่องการซ่อมแซมตามแนวทางของกองทุนโบราณสถานโลก เราก็ไปดูว่าเขาซ่อมอย่างไร การซ่อมมีความเสี่ยงหรือมีปัญหาอย่างไร”
เธอพูดคุยกับคุณเจฟฟ์ อัลเลน ผู้อำนวยการโครงการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กองทุนโบราณสถาน (WMF)
“คุณเจฟฟ์ได้เล่าเรื่องหลักการวิธีการซ่อมแบบ WMF ให้ฟัง ว่ามีข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ มีวิธีคิดเกี่ยวกับการซ่อมที่ไม่ได้ซ่อมให้เป็นวัดไชยฯ เมื่อกี่ร้อยปีก่อน และถ้าเราพูดเรื่องการซ่อมแซมมันจะสนุกสำหรับคนทั่วไปหรือเปล่า” แล้วทำอย่างไรให้การเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการอนุรักษ์สามารถเข้าถึงบุคคลทั่วไปได้
ตามที่คุณวราภรณ์ นักเขียน ได้เขียนไว้ในสารคดีว่า การอนุรักษ์ที่ทาง WMF เลือกใช้กับวัดไชยวัฒนารามนั้นไม่ใช่ “การบูรณะปฏิสังขรณ์” (restorstion) ที่เราคุ้นเคยกัน ซึ่งหมายถึงการคืนสู่สภาพอย่างที่เคยเป็นมา แต่เป็นการอนุรักษ์ (preservation / conservation) คือการดูแลรักษาตามสภาพเดิมเท่าที่เป็น และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายมากขึ้น แนวคิดนี้คือมิติใหม่ของการอนุรักษ์ตามชื่อของสารคดี ที่ยอมรับสภาพอันไม่สมบูรณ์ของโบราณสถาน
การเขียนสารคดี นอกจากนำเสนอความจริงว่าจะเขียนอย่างไรให้ผู้อ่านได้รับรู้และเข้าใจในสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารแล้ว อรรถรสของการอ่านก็เป็นสิ่งสำคัญ
“สมัยนี้เราหานักเขียนที่เขียนให้ National Geographic แบบ National Geographic นั้นยาก แทบไม่มีใครเขียนแบบนี้ หรือแทบจะไม่มีใครสนใจ ยากก็ยาก ยาวก็ยาว และจะทำอย่างไรให้เขาเขียนหนังสือแนวเราได้ เหมือนการตีปิงปองไปมาแบบนี้” คุณนิรมลเล่า
เธอให้คุณวราภรณ์เขียนโครงเรื่องมาก่อนเพื่อให้เธอได้เห็นมุมมองของนักเขียน และคุณวราภรณ์เลือกที่จะเขียนทุกอย่างแบบพรั่งพรูเป็นความยาวถึง 18 หน้า งานนี้จึงเหมือนเแบบทดสอบที่เป็นอัตนัย ที่ให้บรรณาธิการได้คัดเลือก “หัวใจ” ออกมา เหลือคำตอบที่มีเพียงหนึ่ง ให้เป็นเส้นเรื่องของสารคดีเรื่องนี้
การเขียนที่ถูกตรวจแก้ แนะนำ และตีกลับในแบบของ National Geographic คุณวราภรณ์เล่าว่า “จุดเด่นของ National Geographic มีกลวิธีการเล่าที่สนุก ไม่น่าเบื่อจนเกินไป ข้อมูลไม่ได้เจาะลึกจนคนเข้าไม่ถึง แต่ไม่ได้น้อยจนเรารู้สึกว่าไม่ได้อะไรจากเนื้อหา”
“เราอยากเขียนถึงวัดไชยฯ ให้เป็นการเล่าเรื่องแบบมีน้ำเสียง ให้คนอ่านสามารถเข้าถึงได้ง่าย” ไม่ใช่เพียงเท่านี้ แต่เรื่องราวที่ถ่ายทอดผ่านการอนุรักษ์ การซ่อมแซมของวัดไชยฯ ที่ผู้อ่านอาจจะไม่เคยได้อ่านจากที่ไหน ทั้งยังมีการเขียนร้อยเรียงเรื่องราวที่จะสื่อสารแก่ผู้อ่านโดยผ่านตัวหนังสือ
สารคดีเรื่องนี้วางศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่การอนุรักษ์ตามแนวทางกองทุนโบราณสถานโลก ซึ่งแตกต่างจากในกระแสหลัก
“หลัก ๆ คือต้องมองว่าโบราณสถานจัดเป็นประเภทไหน WMF ไม่ได้ทำงานเฉพาะโบราณสถาน วัดไชยฯ เรียกว่าโบราณสถาน ลักษณะการใช้งานไม่ใช่แต่การมีโครงสร้าง หรือให้เข้าไปกราบไหว้เยี่ยมชมเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่เหลืออื่น ๆ ก็สำคัญมากเช่นกัน อย่างช่างโบราณ ผู้เป็นเสมือนครู”
วัดไชยวัฒนารามจึงเป็นครูผู้ถ่ายทอดวิชาให้ผู้คนได้เรียนรู้ผ่านสถานที่ และเป็นเหมือนห้องทดลอง คุณวราภรณ์ขยายความว่า “มีทริปที่ทางอาจารย์มหาวิทยาลัย พานักศึกษามาชม เราจึงมีการทำเวิร์กช็อป รวมถึงโจทย์ให้นักศึกษาลองคิดว่า สามารถที่จะเอาความรู้ของตัวเองในคณะมาประยุกต์ใช้กับวัดได้อย่างบ้าง เช่น ตอนนี้เราใช้ปูนหมัก ปูนตำ ถ้าในอนาคตปูนเหล่านี้หายากขึ้นมา น้อง ๆ มีไอเดียอย่างไร น้องบางคนบอกว่าสามารถใช้เปลือกไข่ป่นได้ จะลองทำดู ดังนั้น ไม่ใช่แค่วัดไชยฯ ให้อะไรกับน้อง ๆ แต่น้อง ๆ ก็ให้อะไรกลับมาด้วย” วัดไชยฯ ไม่ใช่วัดโบราณสถานเพียงอย่างเดียว ยังเสมือนเป็นห้องที่ให้เรียนรู้และมีกลุ่มนักทดลองได้มาศึกษาเก็บข้อมูล และการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านห้องทดลองแห่งนี้
องค์ประกอบหลักของสารคดีคืองานด้านภาพ สำหรับ National Geographic แล้ว ภาพถ่ายไม่ได้เป็นภาพประกอบบทความ แต่เป็นสารคดีในตัวเอง และมีวิธีตีความในแบบของตัวเอง
คุณเอกรัตน์บอกว่า “การทำงานรูปแบบหนึ่งของ National Geographic ในหลายครั้ง นักเขียนกับช่างภาพไม่ได้ถูกสนับสนุนให้ไปด้วยกัน เพราะต้องการให้ทั้งสองมีอิสระในการเล่าเรื่องผ่านเครื่องมือของตนเอง” แม้จะมีอิสระของการทำงานโดยใช้เครื่องมือของตนเอง แต่จุดที่สำคัญของการดำเนินเรื่องราว คือเป้าหมายในการนำเสนอเรื่องราวที่ตรงกัน
สำหรับการเรื่องเล่าของวัดไชยฯ ที่ผ่านภาพถ่าย คุณเอกรัตน์ ปัญญะธารา ช่างภาพอาวุโส National Geographic ฉบับภาษาไทย เขาเห็นว่า “การทำสิ่งที่ไม่มีอยู่แล้ว ไม่ได้แห้งเสมอไป มันน่าตื่นเต้น อย่างการเล่าเรื่องด้วยภาพแบบฉบับ National Geographic การแตกประเด็นในแง่ภาพถ่าย ต้องมองให้รอบว่า ‘ภูมิศาสตร์’ เรื่องนี้มีอะไรบ้าง แล้วเราสำรวจประเด็นไหนบ้าง และสามารถแตกประเด็นต่อไปได้อีก”
หากเป็นภาพโบราณสถานจะมีความแห้งของภาพ คือ หิน อิฐ ปูน โทนสี แต่ ณ ที่นี้มีสภาพแวดล้อมและผู้คนที่เข้ามาดำเนินเรื่องราวให้ภาพเล่าเรื่องในแบบตัวมันเองออกมา เขายังขยายความถึง “ภูมิศาสตร์ด้านภาพ” ว่า “การเล่าเรื่องวัดไชยฯ บริบทคือการเรื่องของพื้นที่ ผู้คน ธุรกิจร้านค้า ความโด่งดัง และสิ่งที่สำคัญนั้นคือช่วงเวลา โดยเรื่องเวลานั้นเพิ่มเติมในเชิงประวัติศาสตร์ได้”
นอกจากภาพถ่ายยังมี “ภาพสันนิษฐาน” จากหลักฐานอ้างอิงมากมาย บวกกับจินตนาการและทักษะการสร้างสรรค์ของคุณพัชรพงศ์ ที่ช่วยส่งเสริมการเล่าเรื่องวัดไชยฯ ใหัชัดเจนและแตกต่างขึ้นมา
สำหรับนักวาดภาพสันนิษฐาน ภาพถ่ายเก่าๆ เอกสารเก่าโบราณ งานวิจัย ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญคือวัตถุดิบของการเขียนภาพสันนิษฐานที่มีความถูกต้องมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
คุณพัชรพงศ์ ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่ม “คิดอย่าง” กลุ่มที่ตั้งโดยอาจารย์และนักศึกษา ที่มีความสนใจในเรื่องโบราณคดีและเอกสารเก่า หลายคนอาจจะมองว่าการที่เอกสารเก่า ภาพถ่ายเก่า ๆ นั้นเข้าถึงได้ยาก หากมีการรวบรวมนำให้เผยแพร่ มันจะง่ายขึ้น ชัดเจนมากขึ้น และยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานในด้านอื่น ๆ ได้เช่นกัน
ชมภาพสันนิษฐานได้ที่นี่
คุณพัชรพงศ์เล่าวิธีคิดในการทำงานว่า “เราจะสามารถใช้การทำกราฟิกดันการเล่าเรื่องให้มันไปได้ไกลกว่านี้ไหม ผมจึงเกิดความคิดเรื่องการทำภาพที่ผ่าพระปรางค์ แยกชั้นในแต่ละชั้นออกมา งานนี้ผมได้อิสระในการเล่าเรื่องพอสมควร คุณวราภรณ์อยากให้ทำกราฟิก โดยใช้ข้อมูลที่ค้นพบจากการอนุรักษ์ทุกอย่าง เช่น การพบจิตรกรรม การค้นพบไม้สลัก มาจำลองเป็นภาพ ๆ หนึ่ง ผ่าให้เห็นโครงสร้าง ใส่รายละเอียดต่างๆ ที่ค้นพบ นำข้อมูลที่มีอยู่แล้วมาดันให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น”
จากการที่เคยเป็นฉากหลังสำคัญในละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ที่ผ่านมาจึงมีการจำลองภาพสันนิษฐานของวัดไชยวัฒนารามมาแล้ว คุณพัชรพงศ์จึงอยากที่จะทำในสิ่งที่ต่างออกไป
“สิ่งที่แตกต่างคือการอนุรักษ์และการซ่อม เราเลยจำลองช่วงเวลาของการสร้างวัดขึ้นมา การเอาภาพอ้างอิงขึ้นมาหลาย ๆ อย่าง เหมือนจะง่าย แต่นึกถึงนั่งร้าน เวลาก่อสร้าง ของสมัยก่อนเขาขึ้นโครงกันอย่างไร ในทีมคิดอย่างหลายคนแนะนำว่านั่งร้านตั้งโครงอย่างไร เพื่อให้ได้ทรงของตัวอาคาร ภาพถ่ายเก่า การเลือกมุมสเก็ต มุมที่ต่างจากที่เราเคยทำ สุดท้ายเลยมาเป็นรูปนี้ (หน้า 48-53)” ความยากที่ควบคู่มาคือเวลา นอกจากที่จะวาดภาพประกอบ ในสมัยก่อนเขาทำกันอย่างไร มีความยากที่เพิ่มทวีคูณขึ้นไปอีก กว่าจะเป็นภาพหนึ่งภาพนั้นไม่ง่ายเลย รายละเอียดและความประณีตที่ออกมาดังรูป
สารคดีเรื่องนี้เป็นหนึ่งในสารคดีที่คุณโกวิทย์บอกว่า เหมือนได้ทำความฝันให้เป็นจริง เพราะถูกออกแบบขึ้นมาให้ประสานการเล่าเรื่องราวผ่านงานเขียน ผ่านมุมมองของช่างภาพ และการสร้างสรรค์ของนักวาดภาพสันนิษฐาน เป็นเหมือนการตามหาจิ๊กซอว์ส่วนที่หายไป เขาบอกว่า “การทำภาพสันนิษฐานนั้นไม่ง่าย มันต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ต้องมีการไปศึกษาค้นหางานวิจัยมารองรับ” เพื่อให้ได้ภาพที่ผู้อ่านจะสามารถมองเห็นใกล้ความเป็นจริงได้มากที่สุด ผ่านกระบวนการหลากหลายขั้นตอนจนเป็นผลงานหนึ่งชิ้นขึ้นมา
คุณนิรมลเสริมว่า “คุณโกวิทย์ มีความฝันอยากนำเสนอด้วยภาพกราฟิก ซึ่งเป็นการทำงานที่ซับซ้อน พยายามตามหาคนทำงานด้านนี้ แต่ไม่สำเร็จ จนได้มาเจอคุณพัชรพงศ์” ซึ่งการเจอคุณพัชรพงศ์นั้นเหมือนการตามหาจิ๊กซอว์ที่ขาดหายไป ถูกตามหาคนที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งให้สารคดีภาพให้เป็นรูปร่างดั่งสารคดีเรื่องนี้
การทำสารคดีบางเรื่องสามารถจบได้ในตัวคนเดียว แต่อีกมากมายที่ต้องการองค์ประกอบจากผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะหลากหลาย ทั้งการร้อยเรียงถ้อยคำของนักเขียน ควบคู่บรรณาธิการที่ควบคุมเนื้อหาให้เข้าที่ สายตาที่จับภาพคมชัดแต่มีชีวิตของช่างภาพ การจินตนาการที่เสมือนจริงของนักวาดภาพสันนิษฐาน และแน่นอนว่าคนเหล่านี้เดินทางไปจุดมุ่งหมายเดียวกันการสร้างสรรค์ผลงานที่ลงตัว พร้อมกับบรรณาธิการบริหารที่เป็นผู้ควบคุมการผลิตผลงานตั้งแต่ต้นจนจบ ออกมาเป็นสารคดีที่ราวกับเป็นจิ๊กซอว์ที่ต่อเต็มภาพให้สมบูรณ์
รับชมและฟังเสวนาได้ที่
เรื่อง กัญญารัตน์ นามแย้ม
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
เรียบเรียง อาศิรา พนาราม
ภาพ อภิรักษ์ สุขสัย