น้ำที่จืด สะอาด ดื่มได้ คือสิ่งที่ผมดิ้นรนด้นดั้นค้นหามากว่าสามปี ผมกำลังเดินเท้ารอบโลก ย้อนรอยเส้นทางที่สาบสูญของมนุษย์กลุ่มแรกผู้ออกสำรวจโลกในยุคหิน ณ จุดเริ่มต้นการเดินทางในเอธิโอเปีย ผมเดินจากตาน้ำสำหรับอูฐไปยังบ่อซับน้ำเค็มขุ่นโคลน ผมย่ำย่างจากโอเอซิสหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่งในทะเลทรายฮีญาซแห่งอาระเบีย บนยอดเขาช่วงฤดูหนาวในเทือกเขาคอเคซัส ผมคอแห้งผากท่ามกลางอ้อมกอดของน้ำหลายร้อยตัน ของเหลวที่จำเป็นต่อชีวิตจับตัวแข็งดุจหิน
แต่ไม่เคยเลยที่ผมจะพานพบเหตุการณ์เช่นนี้ มีคนมาขุดและขโมยน้ำสำรองในไหของผม หลุมตื้นๆที่เคยบรรจุน้ำ 60 ลิตรอันล้ำค่า น้ำของผม ผมไม่อาจละสายตาจากไหว่างเปล่าเหล่านั้นได้ ขณะโยกตัวช้าๆ ท่ามกลางสายลมแผดผ่าว
จินน์ขโมยน้ำของผมในทะเลทรายคีซิลคุม
จินน์คืออะไร?
ตามความเชื่อของชนเผ่าเร่ร่อนในทุ่งหญ้าสเตปป์ จินน์คือวิญญาณพเนจรที่สิงสู่ในความเวิ้งว้างไร้สิ้นสุดของเอเชียกลาง ถ้าไม่สร้างความเดือดร้อน ก็มอบความช่วยเหลือให้แก่นักเดินทาง คนเลี้ยงสัตว์ในภูมิภาคเล่าขานกันว่า จินน์หรือยักษ์จีนีในโลกตะวันตก สามารถเหาะได้ไกลหลายร้อยกิโลเมตรยามกลางคืน หรือไม่ก็แปลงร่างเป็นงูและหมาป่าได้ ตอนที่มาร์โก โปโล เดินทางข้ามทะเลทรายล็อปทางตะวันตกของจีน เขาเล่าถึงการปรากฏตัวของจินน์เจ้าเล่ห์ตนหนึ่งที่เรียกคนในกองคาราวานออกไป “บ่อยครั้งที่นักเดินทางถูกลวงให้หลงหายจนไม่มีวันพบพวกพ้องของตนอีกและหลายคนก็สิ้นชีพด้วยเหตุนี้”
แล้วทะเลทรายคีซิลคุมอยู่ที่ไหน?
ทะเลทรายซึ่งทอดตัวจากบางส่วนของคาซัคสถานไปจรดทางใต้ของอุซเบกิสถานแห่งนี้ขึ้นชื่ออื้อฉาว เพราะตลอดหลายพันปีได้กลืนกินสมาชิกกองคาราวานที่เดินทางผ่านไปมาบนเส้นทางสายไหม หรือเส้นทางการค้าที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์อายุกว่า 2,200 ปี กระทั่งทุกวันนี้ แดนลงทัณฑ์อันไพศาลที่มีเพียงแสงแดดแผดเผากับพุ่มไม้หนามนี้ก็ยังเป็นอุปสรรคชวนครั่นคร้ามของนักเดินทาง แน่นอนว่ามันหยุดผมได้เช่นกัน
“อย่าโทษพวก โชบัน เลยครับ” อาซิซ คาลมูราดอฟ มัคคุเทศก์ของผม บอก เขาหมายถึงคนเลี้ยงแกะพื้นเมือง คาลมูราดอฟเป็นชาวอุซเบกผู้ภาคภูมิ “การขโมยน้ำเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่นี่” เขาอธิบายขณะคุกเข่าอย่างหมดแรงข้างจุดเก็บน้ำที่โดนปล้นของเรา “ไม่มีใครกล้าหรอกครับ”
แต่ถ้าไม่ใช่คนเลี้ยงแกะ จะเป็นใครไปได้ล่ะ…
ผมกับคาลมูราดอฟปีนขึ้นเนินทรายสีชมพูร้อนผะผ่าว เราโทรศัพท์ดาวเทียมไปขอความช่วยเหลือจากบุกโซโร เมืองโอเอซิสในตำนานซึ่งอยู่ห่างออกไปเป็นระยะทางเดินสองวัน เรานั่งลง มองเส้นขอบฟ้าอันร้อนระอุ เรารอคอย ในศตวรรษที่แปด พ่อค้าคนหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากเราไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ใกล้เมืองถูลู่ฟานของจีน ซื้อเด็กหญิงทาสวัย 11 ขวบ ด้วยไหมดิบ 40 พับ หนึ่งพันปีก่อนหน้านั้น ลงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราชทรงยกทัพข้ามแม่น้ำอ็อกซุสเข้าสู่เอเชีย โดยอาศัยแพกระจอกที่ใช้เต็นท์หนังสัตว์ของเหล่าทหารเย็บต่อกัน และทุกวันนี้ รอบตัวเรา รัฐบาลจีนทุ่มเงินหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อรื้อฟื้นเครือข่ายเส้นทางสายไหมยุคใหม่ทั่วยูเรเชีย ผมจะยอมทุ่มเงินเท่าไร เพื่อแลกกับน้ำหนึ่งอึก ความโหยกระหายบนเส้นทางสายนี้ดำเนินมากี่พันปีแล้ว
ดวงอาทิตย์เลื่อนลับจากผืนฟ้าสีเงิน เที่ยงคืนผ่านไปนานแล้ว เมื่อจุดสว่างเล็กจ้อยวูบขึ้นในความทึบทะมึนของทะเลทรายคีซิลคุม แสงนั้นเริ่มวนรอบๆเรา เดี๋ยวใกล้ เดี๋ยวไกล สลับกัน “รถกู้ภัยของเราหลงทาง” คาลมูราดอฟบอกเสียงแหบพร่า เขาลนลานโบกไฟฉายคาดศีรษะไปยังแสงนั้น แต่ผมรู้ดีกว่านั้น ผมหุบปากแห้งผากของตัวเองไว้สนิท มันคือจินน์
หมายเหตุเพิ่มเติมสำหรับความเชื่อผิดๆทั่วไปเกี่ยวกับเส้นทางสายไหม
เส้นทางสายไหมไม่ใช่ถนน ไม่ต้องพูดถึงทางหลวง เส้นทางสายไหมคือโครงข่ายใยแมงมุมที่แผ่กระจาย กระจุกด้ายที่แปรผันไปมาของเส้นทางอูฐนับพันๆเส้น เส้นทางคอคอดผ่านช่องเขา ค่ายพักแรมสำหรับกองคาราวานที่มีหอคอยเล็กๆ ตลาดริมแม่น้ำ ท่าเรือเดินทะเล และกองหินซ้อนเดียวดายกลางทะเลทราย (ที่อยู่ห่างกันชั่วตาแลเห็นเพื่อเป็นหมุดนำทาง) เชื่อมศูนย์กลางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่สองแห่งในโลกคลาสสิก นั่นคือจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นและภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนยุคโรมัน และที่จุดตัดทางภูมิศาสตร์ในเอเชียกลาง ซึ่งอาณาจักรของพ่อค้าคนกลางรุ่งเรืองเฟื่องฟูขึ้น สินค้าต่างๆของเส้นทางสายไหมก็แผ่ออกไปทุกทิศทางดุจรัศมี ทางเหนือสู่แคว้นอิสระของรัสเซีย ทางใต้สู่เปอร์เซียและลุ่มน้ำสินธุ ทางตะวันตกสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิล ทางตะวันออกสู่ซีอาน เครือข่ายการค้านี้เชื่อมโยงหลายสิบล้านชีวิตที่อยู่ไกลถึงแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เส้นทางสายไหมไม่ใช่รอยทางอูฐที่ย่ำเหยียบจนเป็นร่องในทุ่งหญ้าสเตปป์ หากเป็นแนวความคิด นี่คือต้นแบบของโลกาภิวัตน์
ไหมเป็นแค่ตราสินค้าเท่านั้น
ผลิตภัณฑ์อีกนับพันส่ายโยกบนหลังอูฐไปตามระบบกระจายสินค้าอันไพศาลของเส้นทางสายไหม ดินปืนจีน แก้วเวนิส กระดาษซามาร์คันด์ หนังเสือดาวหิมะ เครื่องกระเบื้อง ทองคำจากเลแวนต์ สัตว์แปลกๆ (ข่านแห่งคีวาองค์หนึ่งเคยสั่งให้ต้อนกระบือสองตัวจากเปอร์เซียข้ามทะเลทรายในเอเชียกลางไปยังเมืองในกำแพงล้อมของตน) และศาสนศรัทธา ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม ล้วนท่องผ่านเส้นทางสายนี้ เช่นเดียวกับนวัตกรรมพลิกโลกอย่างพีชคณิต และกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง ถึงกระนั้น ไหมคือสินค้าส่วนใหญ่ที่เรานึกถึง ผ้าเนื้อเบาที่พลิ้วไหวดุจแสงจันทร์บนผิวน้ำ ชนชั้นสูงชาวโรมันหลงใหลผลิตภัณฑ์จากจีนนี้มาก และยอมทุ่มทุนซื้อหามาเป็นสมบัติจนเกือบทำให้จักรวรรดิของตนล่มสลาย หลายสิ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลง
เส้นทางสายไหมโบราณแทบไม่มีอะไร “เก่า” จริงๆเลย
เรื่อง พอล ซาโลเพก
ภาพถ่าย จอห์น สแตนเมเยอร์
อ่านเพิ่มเติม : เหตุใดแผนที่เก่าจึงเติมสิ่งแปลกๆ ลงในช่องว่าง, ผจญภัยไปบนเส้นทางสายไหม