กัญชา : ความจริงที่คุณต้องรู้

 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ กัญชา

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ประเทศไทยได้ถอดพืช กัญชา -กัญชง จากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 และให้ทุกบ้านปลูกได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ให้เป็นการใช้เพื่อการแพทย์และการดูแลสุขภาพเท่านั้น

แม้ กัญชา ยังถือเป็นพืชเสพติดในหลายประเทศทั่วโลก แต่การนำกัญชาไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เรามีเกร็ดความรู้ว่าด้วยกัญชามาฝากกัน

ลิลี โรว์แลนด์ รับนํ้ามันที่สกัดจากแคนนา-บิไดออล (ซีบีดี) เป็นหลัก สารนี้ได้จากกัญชาและไม่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท หนูน้อยเคยทรมานจากอาการลมชักนับร้อยๆ ครั้งทุกวันครอบครัวของลิลีตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่รัฐโคโลราโดซึ่งพลเมืองออกเสียงประชามติให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายเมื่อปี 2012 เพื่อที่เธอจะได้รับยาทุกวัน ยานี้อาจใช้ไม่ได้ผลกับทุกคน แต่ทุกวันนี้ ลิลีวัยเก้าขวบแทบไม่มีอาการชักอีกเลย

1. ในไซบีเรียมีผู้พบเมล็ดกัญชาที่ไหม้เป็นเถ้าถ่านอยู่ภายในเนินฝังศพอายุ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวจีนเองก็ใช้กัญชาเป็นยามานานหลายพันปี

2. ข้อมูล ณ ปี 2015 พบว่า 23 รัฐของสหรัฐฯ และดิสตริกต์ออฟโคลัมเบีย กัญชาสามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์เป็นบางกรณีอย่างถูกกฎหมาย และชาวอเมริกันส่วนใหญ่สนับสนุนให้การเสพกัญชาเพื่อการหย่อนใจเป็นสิ่งถูกกฎหมาย (สถานะทางกฎหมายของกัญชาแตกต่างกันไปในรัฐต่างๆ ของสหรัฐฯ) โดยปัจจุบันมีจำนวน 9 รัฐที่สามารถสูบกัญชาเพื่อการหย่อนใจได้ โดยไม่ต้องมีเหตุผลทางการแพทย์ ได้แก่ รัฐอะแลสกา, แคลิฟอร์เนีย, โคโลราโด, เมน, แมสซาชูเซตส์, เนวาดา, ออริกอน, วอชิงตัน และวอชิงตัน ดี.ซี.

ฟิลลิป เฮก หัวหน้านักพืชสวนของบริษัทไมนด์ฟูล (Mindful) ผู้ผลิตกัญชาในเดนเวอร์ดมกลิ่นรากกัญชาต้นหนึ่งเพื่อตรวจสอบสุขภาพ เขาปลูกกัญชามาเกือบทั้งชีวิตและเดินทางไปทั่วโลกเพื่อศึกษาสายพันธุ์กัญชาต่างๆ เฮกสนใจการพัฒนาสายพันธุ์กัญชาใหม่ๆ ซึ่งจะเพิ่มความเข้มข้นของสารประกอบที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ “กัญชาพูดกับผมครับ” เขาบอก

3. หลายประเทศกำลังทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา เช่น ในอุรุกวัยมีการลงคะแนนเสียงให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ขณะที่ในอิสราเอล แคนาดา และเนเธอร์แลนด์มีโครงการใช้กัญชาในทางการแพทย์ และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศยังออกฎหมายอนุญาตให้ครอบครองกัญชาได้

4. การสูบหรือเสพกัญชาอาจทำให้คนหัวเราะโดยไม่มีสาเหตุชั่วขณะ หลงลืมสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสองสามวินาทีก่อน และอยากกินขนมขบเคี้ยว (รวมทั้งของหวาน) แม้ว่ายังไม่เคยมีรายงานการเสียชีวิตจากการเสพเกินขนาด แต่กัญชาโดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ออกฤทธิ์แรงในปัจจุบัน ยังถือเป็นยาแรงและในบางกรณีอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้เช่นกัน (เช่น ก่อให้เกิดอันตรายเกี่ยวเนื่องจากอุบัติเหตุ เป็นต้น)

5. แต่ในทางกลับกัน กัญชาอาจเป็นเหมือนยาบรรเทาความเจ็บปวด ช่วยให้นอนหลับ กระตุ้นความอยากอาหาร อีกทั้งช่วยทุเลาเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต เชื่อกันว่า กัญชายังมีสรรพคุณอีกหลายอย่าง เช่น เป็นยาระงับปวด แก้อาเจียน ขยายหลอดลม และแก้อักเสบ

ที่สถานจ่ายกัญชาโนโฮส์ฟายเนสต์ในลอสแอนเจลิส ดามาริส ดิแอซ ตรวจสอบกลิ่นและความเหนียวของผลิตภัณฑ์ การผสมข้ามพันธุ์ทำให้เกิดสายพันธุ์ลูกผสมทรงพลังซึ่งมีสารทีเอชซีที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทปริมาณสูงกว่าเมื่อหลายสิบปีก่อนมาก เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขพากันวิตกกังวลเพราะมีหลักฐานที่แสดงว่า การสูบกัญชาสายพันธุ์ที่มีทีเอชซีสูงเป็นเวลานานจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมอง

6. ราฟาเอล เมคูลัม นักเคมีอินทรีย์ชาวอิสราเอล เป็นผู้นำในการศึกษาสารออกฤทธิ์ในกัญชาในทศวรรษ 1960 จนนำไปสู่การค้นพบสิ่งที่โลกรู้จักดีในปัจจุบันคือ สารออกฤทธิ์หลักในกัญชาที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ เป็นสิ่งที่ทำให้ใครต่อใครเคลิบเคลิ้ม นั่นคือ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือ ทีเอชซี (Tetrahydrocannabinol: THC) และยังเผยโครงสร้างทางเคมีของแคนนาบิไดออลหรือซีบีดี (Cannabidiol: CBD) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกอย่างในกัญชาซึ่งอาจนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพย์ได้หลายอย่างโดยไม่มีผลทางจิตประสาทต่อมนุษย์ งานของเมคูลัม (ปัจจุบันอยู่ในวัยใกล้ 90) กระตุ้นให้เกิดการศึกษากัญชาทั่วโลก

7. อิสราเอลเป็นประเทศที่ก้าวหน้าเรื่องการศึกษากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ผู้ป่วยมากกว่า 20,000 รายได้รับใบอนุญาตใช้กัญชาเพื่อการรักษาภาวะบางอย่าง เช่น ต้อหิน โรคโครห์น (Crohn’s disease) หรือลำไส้เล็กอุดตันบางส่วน การอักเสบ อาการเบื่ออาหาร และโรคหืด เป็นต้น

8. แม้จะมีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่เมคูลัมไม่สู้จะเห็นด้วยกับการทำให้การเสพกัญชาเพื่อการหย่อนใจกลายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย เขาไม่คิดว่าคนที่มีกัญชาในครอบครองควรติดคุก แต่ก็ยืนยันว่า กัญชา “ไม่ใช่สารที่ไร้อันตราย” โดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาว สิ่งที่เมคูลัมอยากเห็นคือ การเสพกัญชาเพื่อการหย่อนใจยอมหลีกทางให้กับการใช้กัญชาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในทางการแพทย์ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดและการวิจัยอย่างต่อเนื่อง “ตอนนี้คนที่ใช้กัญชายังไม่รู้ว่า พวกเขาได้รับสารอะไรเข้าไปบ้าง ถ้าจะให้การใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้ผลอย่างที่ต้องการ เราต้องกำหนดปริมาณที่เหมาะสม ถ้าคุณวัดไม่ได้ ก็ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ครับ”

คิม คลาร์ก บอกว่า นํ้ามันซีบีดีใช้รักษาอาการชักของเคเดน ลูกชายวัย 11 ปีของเธอได้

9. กัญชากับมะเร็ง: เราอาจเคยได้ยินมาบ้างว่า กัญชาสามารถนำมาใช้บำบัดอาการของผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากโรคมะเร็ง โดยเฉพาะในการบรรเทาผลข้างเคียงรุนแรงบางอย่างจากการทำเคมีบำบัด เป็นที่แน่ชัดว่า กัญชาช่วยขจัดอาการคลื่นไส้ กระตุ้นความอยากอาหาร บรรเทาความเจ็บปวดและช่วยให้นอนหลับ แต่การบรรเทาอาการหรือผลข้างเคียงเหล่านั้นอาจเป็นคนละเรื่องกับการรักษามะเร็ง ให้หาย ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทดลองทั้งในสัตว์ทดลอง (งานวิจัยชิ้นหนึ่งในสเปนใช้สารทีเอชซีกับหนูทดลองที่ได้รับการฉีดเซลล์มะเร็งในสมองมนุษย์) และในมนุษย์ (การทดลองทางคลินิกรุ่นบุกเบิกเกิดขึ้นในอังกฤษ)

10. นักพันธุศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคโลราโดโบลเดอร์ทำการศึกษาต้นกัญชงซึ่งมีระดับทีเอชซีต่ำมาก “กัญชงให้เส้นใยคุณภาพยอดเยี่ยมชนิดพืชอื่นเทียบไม่ติด เป็นพืชที่ให้มวลชีวภาพสูงมากซึ่งทำให้ดินอุดมสมบูรณ์และไม่ต้องการการดูแลเท่าไรนัก” ทว่าแม้แต่ในสหรัฐฯ การปลูกกัญชงในหลายพื้นที่ก็ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย สิ่งที่นักวิจัยกำลังทำอยู่ที่นี่คือ การศึกษาดีเอ็นเอของกัญชา เมื่อแผนที่จีโนมกัญชาเสร็จสมบูรณ์ แผนที่ดังกล่าวจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น การปรับปรุงพันธุ์เพื่อเพิ่มปริมาณสารประกอบหายากบางชนิดที่มีคุณสมบัติทางการแพทย์

*เรียบเรียงจากสารคดี สรรพคุณกัญชาแรงฤทธิ์ ตีพิมพ์ในเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย มิถุนายน 2558

ออร์ริน เดวินสกี ประสาทแพทย์ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ยังกังขาในเรื่องนี้ เขาศึกษาทางคลินิกเพื่อเปรียบเทียบกัญชากับยาหลอกในการรักษาอาการชักแบบต่างๆ และบอกว่า “ศักยภาพของกัญชามีอยู่จริงครับ แต่เราต้องการข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างเร่งด่วน”

อ่านเพิ่มเติม วิทยาศาสตร์ว่าด้วยความดีกับความชั่ว

คีห์ล นักประสาทวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก พบความผิดปกติที่โดดเด่นในสมองของพวกจิตใจอันธพาล เขาทำการสแกนสมองของนักโทษกว่า 4,000 คน เพื่อวัดกิจกรรมในสมองและขนาดของสมองในบริเวณต่างๆ เขากล่าวว่า พวกจิตใจอันธพาลมีความบกพร่องในการเชื่อมต่อของโครงสร้างต่างๆภายในสมองซึ่งช่วยในการประมวลผลด้านอารมณ์ ตัดสินใจ ควบคุมแรงกระตุ้น และตั้งเป้าหมาย
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.