ศาสนาโซโรอัสเตอร์ – เช้าตรู่วันหนึ่ง เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว อารียา บูมลา ลุกออกจากที่นอนแข็งๆ ในเกสต์เฮาส์ ที่อุดวาดา เมืองเล็กๆ ริมชายฝั่งของประเทศอินเดีย
ไม่มีอะไรเทียบกับเตียงนุ่ม ๆ ที่บ้านของเธอในปูเน ซึ่งอยู่ห่างออกไปเจ็ดชั่วโมง ได้ อารียาแต่งตัวและแปรงฟันอย่างพิถี พิถัน บริเวณช่องว่างตรงฟันหน้าสองซี่ที่หลอไปแล้ว พลางทบทวนข้อความในคัมภีร์ที่เธอท่องจำมาหลายเดือนอยู่ ในใจ พี่สาวคนโตวัยเจ็ดขวบจากครอบครัวที่มีพี่น้องสองคนกำลังจะเข้าพิธี เป็นศาสนิกชนในศาสนาเก่าแก่ที่สุดศาสนาหนึ่งของโลกตามอย่างครอบครัว
ดวงอาทิตย์แผดร้อนและฟ้าหลัว ขณะที่อารียากับครอบครัวและเพื่อน ๆ เดินตามถนนดินไปยังวิหารไฟอิหร่านชาห์อตาชบาห์ราม ซึ่งเป็นหมู่อาคารไม้ และหินสีขาวขนาดใหญ่หลังกำแพงสูง หน้าประตูซึ่งมีรูปปั้นวัวมีปีก หัวเป็นคนขนาดมหึมาขนาบอยู่สองข้าง ผู้ดูแลคนหนึ่งคอยตรวจตราเพื่อให้แน่ใจว่า มีเพียงผู้ที่ผ่านพิธีชำระความบริสุทธิ์ดีแล้วเท่านั้นที่เข้าไปในเขตวิหารได้
ตามขนบดั้งเดิม บรรพบุรุษผู้นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ของอารียาลี้ภัยจากการเบียดเบียนบีฑาทางศาสนาของผู้รุกรานชาวอาหรับที่เป็นมุสลิมมาถึง ชายฝั่งคุชราตเมื่อ 1,300 ปีก่อน ณ ริมฝั่งทะเลอาหรับแห่งนี้ พวกเขาฟื้นฟูหลักความเชื่อและพิธีกรรมตามศรัทธาของตนขึ้นใหม่ รวมถึงไฟกองหนึ่ง จากต้นกำเนิดต่างกัน 16 แหล่งที่จุดขึ้นจากทุกสิ่ง ตั้งแต่เตาเผาของช่างตีเหล็ก ไปจนถึงอสนีบาต ไฟนั้นลุกโชนต่อเนื่องไม่เคยขาดตอนนับแต่นั้นมา โดยมี มอเบ็ด หรือนักบวชสวมผ้าคลุมหน้าสีขาว เฝ้าปกปักรักษา ทุกวันนี้ ไฟนั้น มีไว้เพื่อชุมชนของผู้ศรัทธาที่ลดจำนวนลงทุกที
ในเขตวิหาร อารียาอาบนํ้าศักดิ์สิทธิ์และจิบปัสสาวะวัวที่ผ่านพิธีทำให้บริสุทธิ์แล้วสามครั้ง สวมชุดใหม่สีขาว ก่อนไปรวมตัวกับเหล่านักบวช พวกเขายืนล้อมรอบไฟ ที่ลุกไหม้ในหม้อเงิน บทสวดอธิษฐานลอยขึ้นสู่อากาศ เป็นถ้อยคำจากภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันเมื่อ 3,500 ปีก่อน “ฟราวาราเน มาสดายัสโน ซาราธุสตริช วี-เดโว อาหูรา-ทเกโช” อารียาท่อง “ข้าพระองค์ขอปวารณาตัว เป็นผู้เคารพบูชาพระผู้สร้าง อาหูรามาสดา เป็นสาวก แห่งศาสนาที่เผยให้ปรากฏโดยซาราธุสตรา องค์ ศาสดาพยากรณ์”
อารียากับครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้มีศรัทธา แรงกล้ากลุ่มเล็ก ๆ ที่ลดจำนวนลงทุกทีในดินแดนที่ ศาสนาโซโรอัสเตอร์ปรากฏขึ้นครั้งแรกและเผยแผ่ออกไป ทุกวันนี้เหลือศาสนิกชนไม่ถึง 100,000 คนใช้ชีวิตอยู่ ภายในและชายขอบของอดีตจักรวรรดิเปอร์เซีย ในอิหร่าน อินเดีย และปากีสถาน แต่ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ความเชื่อนี้เดินทางไปไกลจากต้นกำเนิดสู่ดินแดนต่าง ๆ เช่น ลอสแอนเจลิส เม็กซิโกซิตี และสตอกโฮล์ม ทำให้เกิดชุมชนหัวก้าวหน้าใหม่ ๆ ซึ่งมองว่า ทุกคนที่ ปฏิบัติตามหลักความเชื่อขององค์ศาสดาพยากรณ์ ซาราธุสตราล้วนถือเป็นชาวโซโรอัสเตอร์ทั้งสิ้น
ในจินตนาการของคนจำนวนมากในโลก ศาสนาโซโรอัสเตอร์ชวนให้นึกถึงอะไรบางอย่าง ที่เก่าแก่และอาจเข้าขั้นแปลกประหลาด แต่ หลักความเชื่อเบื้องต้นเป็นเรื่องพื้นฐานของ มนุษย์ทุกแห่งหน นั่นคือ ความดีต่อกรกับ ความชั่ว การฟื้นคืนจากความตาย และชีวิตหลังความ ตาย โดยแก่นหลักคือ หุมะตา หุขตา หวัชตา หรือ “คิดดี พูดดี ทำดี” นั่นเอง
ตามขนบที่เล่าสืบต่อกันมา ซาราธุสตรา หรือ โซโรอัสเตอร์ในภาษากรีก เป็นนักบวชผู้รู้แจ้งในศาสนา พหุเทวนิยมโบราณศาสนาหนึ่งซึ่งได้รับการเผยวจนะ จากอาหูรามาสดาหรือพระเจ้าสูงสุด ไม่ปรากฏแน่ชัดว่า ซาราธุสตราอยู่ที่ไหนในยุคสมัยใด นักวิชาการหลายคน อาศัยเบาะแสจากคัมภีร์อเวสตะของโซโรอัสเตอร์ และ คาดว่าองค์ศาสดาน่าจะอยู่ในเอเชียกลาง โดยอาจเป็น บริเวณที่ปัจจุบันคืออัฟกานิสถานหรือทาจิกิสถานเมื่อราว 1700 ถึง 1000 ปีก่อนคริสต์ศักราช
ว่ากันว่าตอนแรก ซาราธุสตรามีสาวกที่เป็นญาติกันหนึ่งคนเท่านั้น แต่พอ ถึงศตวรรษที่หกก่อนคริสต์ศักราช ลัทธิโซโรอัสเตอร์ได้ ผูกติดกับจักรวรรดิอะคีเมนิดของเปอร์เซีย ซึ่งเป็น มหาอำนาจที่ทั้งเก่าแก่และใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หลักความเชื่อของซาราธุสตราจึงค่อย ๆ เผยแผ่ออกไปสู่ เมืองการค้าอันมั่งคั่งบนเส้นทางสายไหมทางตะวันตกของ จีนและอารามเล็ก ๆ บนภูเขาในคาบสมุทรบอลข่าน
ความเชื่อเรื่องพระเจ้าสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวและความดีต่อกรกับความชั่วของโซโรอัสเตอร์ส่งอิทธิพล ลํ้าลึกต่อกลุ่มศาสนาอับราฮัม นั่นคือยูดาห์ คริสต์ และอิสลาม พระเจ้าไซรัสมหาราช ผู้ก่อตั้งจักรวรรดิ อะคีเมนิดของเปอร์เซีย ทรงปล่อยชาวยิวจากการจับกุม คุมขังในบาบิโลนเมื่อ 539 ปีก่อนคริสตกาล และส่งกลับนครเยรูซาเลมที่ซึ่งพวกเขาเริ่มสร้างวิหารอีกครั้ง นักวิชาการจำนวนมากเชื่อว่า การได้รู้จักลัทธิโซโรอัสเตอร์ในบาบิโลเนียและเปอร์เซียของคนกลุ่มนี้ทำให้ ความเชื่อพื้นฐานต่าง ๆ ของชาวยิวเป็นปึกแผ่น ซึ่งรวมถึงเรื่องชีวิตหลังความตายและการพิพากษาครั้งสุดท้าย
ชาวกรีกโบราณล่วงรู้ถึงปัญญาอันลํ้าลึกของนักปราชญ์โซโรอัสเตอร์ ซึ่งเป็นที่มาของปราชญ์ทั้งสามในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ และนักวิชาการสังเกต เห็นความเหมือนกันระหว่างแนวปฏิบัติของโซโรอัสเตอร์กับชาวมุสลิมในการสวดภาวนาหรือละหมาดวันละห้าครั้ง รวมถึงพิธีชำระล้างร่างกายให้บริสุทธิ์ที่ต้องทำก่อนการสวดภาวนาเหล่านี้
พระเจ้าของโซโรอัสเตอร์ไม่ใช่เทพที่ชอบต่อรองหรือลงโทษ ไม่มีแนวคิดเรื่องบาปกำเนิดให้สำนึกและกลับใจ พระเจ้าไม่สนใจสุขภาวะประจำวันของเรามนุษย์มีหน้าที่ต่อสู้เพื่อ อาชา (สัจธรรม คุณธรรม และระเบียบ) และต่อต้าน ทรุจ (สิ่งสกปรก การหลอกลวง และความปั่นป่วนโกลาหล) เมื่อตายลง วิญญาณของเรา หรือ อุรวาน จะหลอมรวมกับจิตวิญญาณผู้ปกปักรักษา หรือ ฟราวาชี และอาศัยอยู่ต่อไปในโลกแห่งบทเพลง หรือไม่ก็ไปแดนชำระบาป จากนั้นจะเกิดสงครามครั้งสุดท้ายที่ความดีจะเอาชนะความชั่ว และทุกคนจะฟื้นขึ้นจากความตายเพื่อมีชีวิตอยู่ในโลกอุดมคติอันไร้ซึ่งสงคราม ความอดอยากหิวโหย และความปรารถนาทางโลก
จามชีด โชกซี อาจารย์ด้านยูเรเชียกลางศึกษาที่มหาวิทยาลัยอินดีแอนา วิทยาเขตบลูมิงตัน บอกว่า ในแง่หนึ่ง คำสอนของซาราธุสตราทำให้เกิด “การขึ้นต้นและลงท้าย” ในกลุ่มศาสนาอับราฮัม กล่าวคือ “เราเริ่มต้นด้วยการสอนเรื่องความดีกับความชั่ว สอนว่ามนุษย์มีบทบาทต้องทำไม่ได้แค่ใช้ชีวิตไปวัน ๆ และสุดท้ายปลายทางเราจะได้รางวัล ทุกสิ่งจะได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง ความชั่วจะพ่ายแพ้”
คนที่ไม่ใช่ศาสนิกชนอย่างฉันได้รับอนุญาตให้เข้าถึงแค่บางส่วนของชุมชนศรัทธาเท่านั้น กฎระเบียบเข้มงวดเรื่องความบริสุทธิ์ห้ามคนนอกเข้าวิหารไฟอิหร่านชาห์ รวมถึงวิหารไฟขนาดเล็กกว่าอื่น ๆ ในอุดวาดา เช้าวันที่อารียาทำพิธีปฏิญาณตน ซารีน ภารดา จอดรถสกูตเตอร์สีขาวนอกวิหารไฟอีกแห่งโดยมีลูกสาวอายุไล่เลี่ยกับอารียานั่งอยู่ในรถพ่วงข้าง ภารดาซึ่งสวมชุดขาวทั้งชุดและโพกผ้าสีขาว ขอไม่จับมือเปื้อนเหงื่อของฉันด้วยรอยยิ้มรู้สึกผิด “ถ้าจับมือคุณ ฉันต้องสระผมอีกหนถึงจะเข้าวิหารได้ค่ะ” เธออธิบาย
ภารดาเคยเป็นวิศวกรจากครอบครัวโซโรอัสเตอร์ในแคนาดา แต่ตอนนี้เธอเป็นโค้ชสุขภาพสำหรับสตรี เนื่องจากเธอแต่งงานกับมอเบ็ดแห่งวิหารอิหร่านชาห์ จึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเรื่องความบริสุทธิ์อย่างเข้มงวดที่สุด เป็นต้นว่าช่วงที่มีประจำเดือน เธอจะแยกตัวไปอยู่อพาร์ตเมนต์ในเมือง ใช้เสื้อผ้าและจานชามแยกต่างหากอีกชุดหนึ่ง “แบบนั้นง่ายกว่าค่ะ” เธอบอก ศรัทธาชนในชุดขาวจำนวนมากขึ้นเดินมายังวิหาร และลูกสาวของภารดาก็กระตุกแขนเสื้อของมารดาด้วยความรำคาญใจ ถึงเวลาเข้าไปข้างในแล้ว
ผู้นับถือโซโรอัสเตอร์ในอินเดียซึ่งเรียกกันว่า ปาร์ซี อ้างตน เป็นผู้พิทักษ์ศาสนาที่แท้จริง ในสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ศูนย์กลางของจักรวรรดิเปอร์เซียเดิม ศาสนิกชนของโซโรอัสเตอร์ ถูกดำเนินคดีและต้องแอบปฏิบัติศาสนกิจหลายอย่างแบบลับ ๆ โซโรอัสเตอร์อ้างว่ามีสาวกหลายล้านคนในยุครุ่งเรืองสูงสุด แต่ตอนนี้น่าจะเหลืออยู่ราว 15,000 ถึง 25,000 คนในอิหร่าน ชาว ปาร์ซีในอินเดียมีอยู่ราว 50,000 คน โดยส่วนใหญ่ รวมตัวกันอยู่รอบเมืองมุมไบและรัฐคุชราต และมี ส่วนน้อยอีกไม่ถึงหนึ่งพันคนในปากีสถานเพื่อนบ้าน โดยกลุ่มเคร่งศาสนาที่สุดจะถือว่า บุตรที่เกิดจากบิดา มารดาที่นับถือโซโรอัสเตอร์ทั้งคู่เท่านั้นจึงเป็นชาวปาร์ซี ที่แท้จริง และไม่ยอมรับการแต่งงานนอกศาสนา ข้ อห้ามเหล่านี้ ประกอบกั บอั ตราการเกิ ดที่ ลดลง ส่ งผลให้ ประชากรชาวปาร์ซีลดลงอย่างรวดเร็ว
รามียาร์ กะรันเจีย เป็นอาจารย์ใหญ่ของวิทยาลัย ศาสนศาสตร์ปาร์ซีในวิทยาเขตดาดัรอันร่มครึ้มกลาง นครมุมไบ ที่ซึ่งบุตรชายของเหล่ามอเบ็ดจะเข้ารับการ ศึกษาอย่างเข้มข้นด้านวรรณกรรมศาสนาและพิธีกรรม ต่าง ๆ ควบคู่กับคณิตศาสตร์และภูมิศาสตร์ กะรันเจีย เข้าเรียนในโรงเรียนประจำแห่งเดียวกันนี้ตอนเป็นเด็ก เมื่อ 50 ปีก่อน ท่องจำคัมภีร์และผ่านพิธีกรรมชำระล้าง อันยากลำบากที่มอเบ็ดในอนาคตพึงทำรวมถึงการ บำเพ็ญตนแบบเดี่ยว 25 วันในวิหารไฟ ซึ่งห้าม เด็กชายก่อนเข้าวัยหนุ่มสัมผัสแตะต้องสิ่งของและ ผู้คน และห้ามรับประทานอาหารตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น จนพระอาทิตย์ตกดิน
อเวสตะ คัมภีร์หลักของโซโรอัสเตอร์ มี 17 กถา จำนวน 21 เล่ม เป็นถ้อยคำที่อาหูรามาสดาตรัสกับ ซาราธุสตรา ศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ ข้อความ เก่าแก่ที่สุดเขียนเป็นภาษาอเวสตะโบราณ ซึ่งเชื่อกันว่า ใช้ในเอเชียกลางยุคสำริดเมื่อราว 3,500 ปีก่อน นอกจากนี้ยังมีเวนดิดาด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อสรุปของบทบัญญัติสำหรับนักบวชและกฎระเบียบทางสังคมโดยถือเป็นหนึ่งใน 21 เล่มที่ประกอบเป็นประมวลคัมภีร์ฉบับเดิมของโซโรอัสเตอร์ และเป็นเล่มเดียวที่เหลือรอดในสภาพสมบูรณ์ที่สุด หลังการโจมตีจักรวรรดิเปอร์เซียเมื่อ 330 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยพระเจ้าอเล็กซาน-เดอร์มหาราช หรือ “อเล็กซานเดอร์ผู้ถูกสาปแช่ง”ซึ่งเป็นชื่อที่รู้จักกันในแถบนี้
บรรดาชุมชนโซโรอัสเตอร์ยกให้นักบวชมอเบ็ดเป็นผู้นำตามขนบปาร์ซี มีเพียงบุตรชายของมอเบ็ดเท่านั้นที่จะสืบทอดการเป็นนักบวชได้ กะรันเจียบอกว่า มอเบ็ดอาจมีรายได้เพียงปีละ 50,000 รูปี หรือราว 600 ดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นเงินเล็กน้อยแม้กระทั่งในพื้นที่ยากจนที่สุดของอินเดีย และไม่มีประกันสุขภาพหรือบำนาญ ดังนั้นมอเบ็ดส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพอื่น และทำหน้าที่นักบวชแบบไม่เต็มเวลา
ไม่นานก่อนหน้านี้ วิทยาลัยศาสนศาสตร์ดาดัรมีนักเรียนกว่า 20 คน “ปัจจุบันเรามีแค่ 14 คน” กะรันเจียโอดครวญ ขณะที่สถาบันเตรียมบวชของปาร์ซีที่เหลืออีกแห่งหนึ่งไม่มีนักศึกษาแม้แต่คนเดียวมาเกือบสิบปีแล้ว
จำนวนผู้เข้าศึกษาในสถาบันเตรียมบวชที่มีเพียงน้อยนิดสะท้อนอัตราการเจริญพันธุ์ที่ตํ่าของชุมชนปาร์ซี เหล่าผู้นำศาสนาและนักวิจัยสังเกตว่า หญิงชายชาวปาร์ซีมีแนวโน้มแต่งงานช้า ถ้าคิดจะแต่ง และมีลูกน้อยลงกว่าที่เคยเป็นมา คาดว่าจะมีชาวปาร์ซีเสียชีวิตสี่คนต่อการเกิดของชาวปาร์ซีหนึ่งคนในชุมชน โครงการจิโยปาร์ซีที่เปิดตัวเมื่อปี 2013 และได้เงินสนับสนุนส่วนหนึ่งจากรัฐบาลอินเดีย ส่งเสริมให้ครอบครัวปาร์ซีมีขนาดใหญ่ขึ้นด้วยแรงจูงใจทางการเงิน การให้คำปรึกษา การรักษาภาวะมีบุตรยาก และการรณรงค์ต่าง ๆ แต่บางคนคิดว่านี่เป็นอนาคตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
โรหินตัน นาริมาน นักบวชมอเบ็ดและอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาของอินเดีย ยอมรับว่า อคติที่ไม่ยอมรับการแต่งงานข้ามศาสนาจะส่งผลเสียต่อชาวปาร์ซี “อเมริกาเหนือเป็นที่เดียวในตอนนี้ที่เปิดใจยอมรับทั้งคู่สมรสและลูก ๆ” จากการแต่งงานข้ามศาสนา เขาบอก “และผมมั่นใจว่าศาสนาโซโรอัสเตอร์จะเจริญรุ่งเรืองที่นั่นครับ”
เรื่อง คริสติน รอมีย์
ภาพถ่าย มาตีเยอ ปาเลย์ และ บาลาซส์ การ์ดี
ติดตามสารคดี ผู้รักษาเปลวไฟแห่งศรัทธา ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤษภาคม 2567
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/609119