ตลอดช่วงสามเดือนในฤดูหนาว อุณหภูมิเฉลี่ยของเมืองยาคุตสค์จะอยู่ที่ราว -40 องศาเซลเซียส เมืองยาคุตสค์ตั้งอยู่ทางตะวันออกของภูมิภาคไซบีเรีย ในรัฐซาฮา ของรัสเซีย และได้ชื่อว่าเป็นเมืองหนาวที่สุดในโลก แน่นอนว่าสถานที่อื่นมีอุณหภูมิที่สุดขั้วรุนแรงกว่า ยกตัวอย่าง หมู่บ้านโอมยาคอนที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมืองนี้ไป 925 กิโลเมตร ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยประมาณ 500 คน อุณหภูมิหนาวเย็นที่สุดที่เคยวัดได้อยู่ที่ -88 องศาเซลเซียส หรือแม้แต่ในทวีปแอนตาร์กติกาซึ่งในฤดูหนาวจะมีอุณหภูมิประมาณ -76 องศาเซลเซียส แต่ทั้งสองสถานที่ก็ไม่ได้มีสรรพสิ่งเพียบพร้อมในฐานะ “เมือง” เช่นยาคุตสค์ เมืองแห่งนี้มีผู้อยู่อาศัยมากถึง 280,000 คน เนื่องจากในฤดูหนาวพื้นดินจะเย็นจนเป็นน้ำแข็ง ดังนั้นแล้วอาคารส่วนใหญ่จึงถูกสร้างให้ยกขึ้นสูงอีกชั้นหนึ่งจากพื้นดิน
อย่างไรก็ตามลึกลงไปที่ใต้ผืนดินของเมืองนี้คือขุมสมบัติอันมีค่า ที่แม้แต่อากาศอันหนาวเหน็บก็ไม่ใช่อุปสรรค เมืองแห่งนี้คือสถานที่ตั้งของเหมืองเพชรที่มีการผลิตเพชรคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของโลก นอกจากนั้นยังผลิตก๊าซธรรมชาติ, น้ำมัน, ทองคำ, เงิน และแร่อื่นๆ อีกมากมาย
(ความหนาวเหน็บใช่ว่าจะมาพร้อมกับความเงียบเหงาเสมอไป ชมความสวยงามท่ามกลางความหนาวเย็น)
ในปี 2013 Steeve Iuncker ช่างภาพผู้เติบโตในบริเวณเทือกเขาแอลป์ ของสวิสเซอร์แลนด์ (สถานที่ซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ -4 องศาเซลเซียสในช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์) ตัดสินใจเดินทางไปเป็นประจักษ์พยานความหนาวยังสถานที่แห่งนี้ ตัวเขาต้องการรู้ว่าอุณหภูมิที่ติดลบมากขนาดนั้นจะส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย, จิตวิญญาณ และสังคม เมื่อเดินทางถึงยังสนามบินเขาโทรศัพท์หาลูกสาวของเจ้าของที่พักที่ติดต่อไว้ให้มารับ ซึ่งเธอตรวจเช็คเขาทุกอย่างตั้งแต่หัวจรดเท้า รวมไปถึงตรวจเช็คด้วยว่าเขาได้นำหมวก, ถุงมือ, ผ้าพันคอ และรองเท้าบู๊ทที่จะป้องกันความหนาวได้เพียงพอมาหรือไม่
“ใครจะไปคิดว่าแค่เดินออกจากบ้านไปโบกรถจะกลายเป็นเรื่องอันตรายได้” ช่างภาพหนุ่มกล่าว เพราะวิถีชีวิตในเมืองยาคุตสค์ การจะออกไปข้างนอกคุณต้องวางแผนอย่างรัดกุม ชาวเมืองไม่แวะสถานที่ที่ไม่ได้ตั้งใจไป ไม่เดินดูข้าวของเตร็ดเตร่ “ความหนาวบงการชีวิตเราทุกอย่าง” Iuncker กล่าวเสริม “หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ วิธีการที่คุณตอบสนองต่อความหนาวนั่นแหละเป็นตัวกำหนด”
Iuncker สังเกตเห็นชาวเมืองแวะเยี่ยมเยียนกันบ่อยครั้งมาก ซึ่งแต่ละครั้งใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น “พวกเขาจะเข้ามาถอดเสื้อคลุมชั้นนอกออก จิบชาร้อนๆ กินขนมปังกับแยม ก่อนจะสวมเสื้อคลุมและกลับออกไปข้างนอกราวกับว่าเพื่อนบ้านเป็นจุดแวะพักระหว่างทางของพวกเขา” Iuncker เองก็ต้องปรับการทำงานของเขาให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเช่นกัน กล้องที่เขาใช้คือ กล้อง Rolleiflex แบบเลนส์คู่ แต่ด้วยสภาพอากาศนั้นเอื้อให้เขาถ่ายภาพได้เพียงครั้งละไม่เกิน 15 นาทีเท่านั้น ก่อนที่เครื่องมือจะกลายเป็นน้ำแข็งและม้วนฟิล์มจะแข็งจนแตกหักเอา รวมไปถึงนิ้วของเขาด้วยที่ชาจนแทบไม่รู้สึกระหว่างการทำงาน
(เมืองไหนๆ ก็มีสมญานาม แต่กรุงไคโรกลับขึ้นชื่อเรื่องขยะ)
เมื่อไม่มีใครอยู่ข้างนอกนาน การปรากฏตัวของมนุษย์ในภาพถ่ายของเขาจึงเป็นสิ่งพิเศษ ชาวเมืองยาคุตสค์ห่อหุ้มตนเองด้วยเสื้อขนสัตว์หนาปรากฏกายดังนักสำรวจท่ามกลางสรรพสิ่งที่เคลือบไปด้วยน้ำแข็ง แต่อย่าเผลอหลงระเริงว่านี่คือแดนมหัศจรรย์เข้าเชียว “มันง่ายมากเลยครับที่จะหลงทาง เมื่อคุณมองเห็นข้างหน้าได้ในระยะไม่เกินสิบเมตร แถมถนนยังดูคล้ายกันไปหมด” และสิ่งสุดท้ายที่คุณต้องการจะให้เกิดขึ้นคือ หิมะกัด เมื่อคุณอยู่ข้างนอกนานไป
ชุดภาพถ่ายของ Iuncker เป็นหนึ่งในโปรเจคภาพถ่าย “record city” ของเขา โปรเจคที่ใช้เวลาในการเยือนเมืองที่น่าสนใจเป็นเวลา 10 วัน ด้วยงบประมาณเท่าๆ กัน ก่อนหน้านี้เขาเคยไปเยือนยังกรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่นมาแล้ว (เมืองที่มีประชากรมากที่สุด) รวมถึงเมืองอาห์วาซในอิหร่าน (เมืองที่มีมลพิษมากที่สุด) โปรเจคนี้มุ่งเป้าสำรวจว่าตัวเขาจะตอบสนองอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวที่แตกต่างกันไปในแต่ละเมือง เขาจะพักในโรงแรมไหม? มีเวลาแค่ไหนสำหรับการออกไปเดินเตร็ดเตร่ข้างนอก? เมืองนั้นๆ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเขาอย่างไร? “ใช่ครับ ผู้คนในไซบีเรียก็รู้สึกหนาวไม่ต่างจากเรา เพียงแต่ว่าพวกเขามีวิธีการเตรียมตัวและรับมือที่ดีกว่า” เขากล่าว
เรื่อง Laurence Butet-Roch
ภาพถ่าย Steeve Iuncker
อ่านเพิ่มเติม