ตามสิ่งที่เป็นอยู่และแนวโน้มในอนาคต เมื่อโอกาสทางเศรษฐกิจในบ้านเกิดลดลง ผู้คนจะยิ่งหลั่งไหลเข้ามาในเมืองใหญ่ ด้วยประชากรที่ล้นหลาก ผลักให้ผู้ที่มีรายได้น้อยที่ไม่มีทางเลือกมากต้องรวมตัวเป็นชุมชนแออัด ที่เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาจากคุณภาพชีวิตที่ไร้มาตรฐาน
จากประมาณการล่าสุดของสหประชาชาติ ปัจจุบันทั่วโลกมีประชากร 1.2 พันล้านคน ที่ต้องอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด ดูเหมือนว่าเรายังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานได้เพียงพอและเหมาะสม จึงได้มีความพยายามหาแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยเน้นไปที่ชุมชนเป็นหลัก และแนวทางของ “ที่อยู่อาศัยร่วม” หรือ “Collective Housing” ที่ขับเคลื่อนโดยองค์กรต่างๆ ทั้งหน่วยงานรัฐ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สถาบันการศึกษา และเอกชน ซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เราได้ไปร่วมการประชุมสัมมนาระหว่างประเทศ “การพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยที่ชุมชนเป็นหลัก (Collective Housing Conference) : คำตอบคือชาวชุมชน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แก้ไขปัญหาความยากจน สร้างคนและชุมชนที่เข้มแข็ง กุญแจสู่ความยั่งยืน” ที่มีเจ้าภาพหลักคือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับมูลนิธิ สถาบันการศึกษา เครือข่ายสถาปนิกชุมชน โดยมีภาคีสนับสนุนจากต่างประเทศ
เป็นกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมจากในประเทศและต่างประเทศ ได้ร่วมการสัมมนา ทำเวิร์คช็อป และลงพื้นที่ดูงานในชุมชนที่เปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาแล้ว เช่น ชุมชนริมคลองเปรมประชากร ชุมชนประชาร่วมใจ 1 ชุมชนริมคลองลาดพร้าว บ้านมั่นคงเขตวังทองหลาง และ โครงการคนไร้บ้าน ปทุมธานี เป็นต้น
และยังได้แบ่งปันแนวคิดและกระบวนการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากหลายประเทศ ซึ่งสามารถเป็นโมเดลให้ชุมชนอื่นๆ นำไปปรับใช้และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ได้
เพื่อให้คนในสังคมมีความเป็นอยู่อย่างเหมาะสมได้มาตรฐานกันถ้วนทั่ว การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มที่อาจไม่ได้ถูกมองเห็นจึงสำคัญ การยื่นมือเข้าช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ จึงเกิดขึ้น และปรับเปลี่ยนสู่แนวทางใหม่ มิใช่เป็นการให้เงินหรือลงทุนให้แล้วจากไป แต่เป็นการเข้าไปกระตุ้นให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการมองปัญหา ช่วยกันทางออก และออกแบบที่อยู่อาศัยบนพื้นฐานความต้องการเฉพาะสำหรับชุมชนของตน
การเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยการร่วมด้วยช่วยกันของชุมชนที่เข้มแข็ง อยู่คนเดียวแยกกระจัดกระจายอาจไร้กำลัง แต่อยู่รวมกันสามารถสร้างสิ่งที่ดีขึ้นได้มากกว่า “บ้านร่วม” ของพวกเขาจึงไม่ได้หมายถึงบ้านที่แยกกันอาศัยแต่ละครอบครัว แต่คือโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น มีพื้นที่ส่วนกลางร่วมกันนอกเหนือจากหลังคาเรือนของตน และการรวมตัวกันการสร้างโอกาสใหม่ๆ ด้วย เช่น
การตั้งสหกรณ์เพื่อหาทุนในการพัฒนาชุมชนของตัวเอง ขึ้นบนพื้นฐานของ การเงินรวม (Collective Finance) และที่ดินรวม (Collective Land) เพื่อให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและดูแลปรับปรุงที่อยู่อาศัยด้วยกำลังของตน และหากต้องการขยับขยาย ก็จะได้มีเงินทุนในการหาซื้อที่ดินของชุมชนเอง อาศัยกำลังเสริมจากองค์กรภายนอกในช่วงเริ่มต้น จากนั้นก็ไปต่อ เพราะรู้ว่าพวกเขาต่าง “สามารถ” สร้างความเปลี่ยนแปลงได้
คุณกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เล่าผ่านโครงการ “บ้านมั่นคง” ซึ่งถือเป็นร่มใหญ่ของการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ในพื้นที่ต่างๆ เช่น ชุมชนริมคลองลาดพร้าว และชุมชนริมคลองเปรมประชากร ที่แต่เดิมสร้างรุกล้ำเข้าไปในลำคลอง เกิดปัญหาขยะและสิ่งก่อสร้างที่ขวางทางน้ำจนเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง ทาง พอช.ได้รับมอบหมายให้ทำ “โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลอง” แม้ในเบื้องต้นชุมชนจะเข้าใจว่าเป็นการรื้อไล่ แต่โครงการนี้เป็นการปรับปรุงที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคง และไม่เป็นทางการ จากที่ล้ำไปในลำคลองให้ขึ้นมาอยู่ริมคลอง โดยมาพร้อมกับถนนหนทาง สาธารณูปโภค พื้นที่สันทนาการส่วนกลาง และจุดจัดการขยะรีไซเคิล ซึ่งชุมชนได้มาจากการทำงานร่วมกับพอช.และเครือข่าย จึงเข้าใจถึงประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงนี้
โดยโจทย์สำหรับการออกแบบตั้งอยู่บนปัญหาและการหาทางออกร่วมกันของคนในชุมชนเอง ถึงตอนนี้ชุมชนริมคลองได้ถูกปรับปรุงใหม่จนเรียบร้อยสะอาดตา ไม่มีปัญหาน้ำท่วมทุกครั้งที่ฝนตกเหมือนแต่ก่อน สิ่งที่ได้กลับมานอกเหนือจากโครงสร้างบ้าน คุณดวงพร บุญมี ตัวแทนชุมชนบอกว่าคือ การได้รู้จักคนในชุมชนทั้งหมด ได้เข้าใจปัญหา ได้ทำงานร่วมกันจนสามารถพึ่งพาอาศัยกันและกัน เป็นชุมชนที่ใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย โมเดลนี้กำลังเกิดขึ้นในหลายชุมชนทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด
การสัมมนานี้ได้เชิญตัวแทนเครือข่ายที่ทำงานด้านนี้จากประเทศต่างๆ มานำเสนอสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ ใจความสำคัญที่ทุกคนพูดตรงกันคือ การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาที่อยู่อาศัย ไม่ได้เท่ากับการสร้างบ้าน แต่คือการสร้างสถานที่ที่พวกเขาจะใช้ชีวิตอยู่ได้ การใช้ชีวิตมีมิติที่มากกว่านั้น
คุณลัจนา มานันดาร์ เลขาธิการร่วมมูลนิธิศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย และประธานองค์กร LUMANTI ประเทศเนปาล ซึ่งทำงานกับชุมชนแออัดมาตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว ได้เห็นปัญหาทั้งสุขอนามัยเสื่อมโทรมและอาชญากรรม เธอยกตัวอย่างชุมชนในเขต Kalaiya ที่มีกลุ่มคนชายขอบที่มีรายได้น้อยมากกว่า 130,000 คน ที่ไร้การเหลียวแลจากรัฐ
การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เริ่มจากอยู่ๆ ไปสร้างบ้านให้ แต่เป็นการเสริมกำลังให้ตั้งแต่ฐานราก เข้าใจปัญหาผ่านการสำรวจประชากร เก็บข้อมูลในแต่ละพื้นที่ย่อย จัดกิจกรรมรวมกลุ่มพูดคุยกับชุมชนหลายต่อหลายครั้ง ให้ความรู้เรื่องสุขอนามัยและความเป็นอยู่ แบ่งปันประสบการณ์ ยกตัวอย่าง นำมาสู่ความร่วมมือ และกิจกรรมที่ชุมชนได้มีส่วนร่วมแก้ปัญหาด้วยตัวของพวกเขาเอง เริ่มจาก 10 ชุมชน ขยายต่อออกไปเป็นเครือข่าย 31 ชุมชน
จากชุมชนที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล ไม่รู้ว่าควรจะเปลี่ยนแปลงชีวิตอย่างไร ก็เริ่มรู้ว่าตัวเอง “สามารถ” จะทำอะไรได้อีกมาก ตั้งแต่การตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อให้ชุมชนมีทุนในการดำเนินงาน โดยมีกลุ่มผู้หญิงเข้ามาเป็นกำลังหลักที่เข้มแข็งพร้อมดูแลชีวิตของคนในชุมชน อย่างกลุ่ม DeepShika Women’s Coorerative ซึ่งมีสมาชิกล่าสุด 1,561 คน ถือหุ้นร่วมกันราว 2.8 ล้านรูปีเนปาล สามารถสะสมเงินได้ 19 ล้านรูปีเนปาล หรือราว 146,000 เหรียญสหรัฐ กองทุนนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้สินเชื่อ สำหรับการสร้างบ้าน สร้างห้องน้ำ ตั้งจุดล้างมื่อในชุมชน และกลุ่มนี้ยังทำงานร่วมกับเทศบาลท้องถิ่นเพื่อเชื่อมความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ เข้ามา
อีกหนึ่งกรณีศึกษาจากประเทศบังคลาเทศ เป็นความร่วมมือในระดับเมืองระหว่างกลุ่มสถาปนิก Co.Creation Architects กับเทศบาลเมือง Jhenaidah ที่ได้รับรางวัล Aga Khan Award for Architecture เมื่อปี 2022 เสริมความเข้มแข็งในชุมชนเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อระบบนิเวศที่กำลังถูกทำลาย พร้อมกับการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ริมแม่น้ำให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน
ผ่านขั้นตอนหลักคือ การร่วมมือกัน ออมไปด้วยกัน ทำแผนที่ชุมชนไปด้วยกัน ฝันไปด้วยกัน และสร้างไปด้วยกัน ไม่เพียงสร้างบ้านเท่านั้น ยังร่วมกันปรับปรุงพื้นที่ริมแม่น้ำสาธารณะของชุมชนด้วย ให้ส่วนรวมได้ใช้ประโยชน์ การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากการที่ทำให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกัน ฉะนัน การเปลี่ยนแปลงนี้ กระบวนการจึงสำคัญยิ่งกว่าผลลัพธ์สุดท้าย
เขาเปรียบเทียบกระบวนการนี้ กับการฟื้นฟูบึงน้ำขนาดย่อมใกล้ชุมชน ซึ่งจะมีน้ำในหน้าฝนและแห้งเหือดในหน้าแล้ง ก็ต่อเมื่อเร่ิมชวนชุมชนมาปลูกพืชไม้ชายน้ำรอบบึง เมื่อพงพืชเริ่มเติบโตปกคลุมรอบบึง ความเขียวชอุ่มก็ทำให้มีน้ำเติมเต็มบึงตลอดทั้งปี เพิ่มธรรมชาติให้เป็นนิเวศบริการในชุมชน โดยมีเหล่าสถาปนิกเป็นผู้ริเริ่มผลักดันก่อน เมื่องานเดินหน้าได้แล้ว ชุมชนก็เติบโตได้เอง ไม่ต่างกับพืชริมน้ำที่สนับสนุนระบบนิเวศบึงน้ำให้สมบูรณ์
นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างที่เล่าสู่กันฟัง สิ่งสำคัญที่ทุกเครือข่ายทำไม่ต่างกัน คือการให้ข้อมูล สนับสนุน และผลักดันให้คนในชุมชนเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง สร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชน ที่ออกแบบที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมของตัวเอง ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ร่วมกัน ใช้เงินทุนจากทุกคนในการดูแลชุมชนเอง จนเกิดระบบสวัสดิการชุมชน ระบบอาหารชุมชน ธุรกิจชุมชน โครงการพัฒนาเยาวชน รวมถึงสิ่งแวดล้อมชุมชน ทำให้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องและยั่งยืน และท้ายที่สุด ผู้นำของชุมชนเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ เป็นผู้เชื่อมการทำงานต่างชุมชน เป็นตัวแทนในการไปแบ่งปันประสบการณ์กับชุมชนอื่นๆ ต่อไป
นอกจากกรณีศึกษาจากประเทศต่างๆ แล้ว ยังมีปาฐกถาพิเศษ โดย พระธรรมพัชรญาณมุนี (พระอาจารย์ชยสาโร) ที่บรรยายถึงวิธีวางใจให้แก่ผู้คนที่ทำงานแก้ปัญหาชุมชน
เพราะงานนี้ไม่ง่าย เป็นงานระยะยาวที่ใช้พลังใจสูง ทำให้คนมากมายเกิดท้อถอยหมดไฟไปในระหว่างทาง จึงต้องหาวิธีสร้างความสมดุลในการทำงาน ในขณะที่มีความเชื่อมั่นว่าตัวเองจะสามารถทำงานนี้ได้และเชื่อมั่นในผู้คน แต่ก็ควรลดความคาดหวัง ลดอัตตา เน้นไปที่การทำงานร่วมกันผ่านการพัฒนาความสัมพันธ์ร่วมกัน ที่จะช่วยให้ทั้งกลุ่มผ่านช่วงเวลาที่มีทั้งขึ้นและลง ฝ่าฟันความยากลำบากในโลกที่ไม่สมบูรณ์แบบ ทำความเข้าใจแม้ในสถานการณ์ที่ไม่ยุติธรรม ด้วยการฝึกฝนสติ สติจะช่วยทำให้เรามีความคิดที่แจ่มชัด จัดการกับสิ่งที่ยากลำบากได้ จัดการกับความโกรธในใจ เพิ่มความกรุณาในใจตน เพื่อให้จิตใจเข้มแข็งและเติบโต
แน่นอนว่า การดูแลจิตใจด้วยสติก็ไม่ใช้สิ่งที่ง่าย แต่เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องฝึกฝน ให้เรามีความสงบและสันติสุขในใจ พระอาจารย์เองก็ฝึกมาตลอด 40 ปี เมื่อจิตใจเราเข้มแข็ง เราก็จะได้พบกับตัวตนที่ดียิ่งขึ้น มีปัญญาแจ่มใส แยกแยะสิ่งต่างๆ ได้ดี
แม้ชีวิตจะเต็มไปด้วยความหดหู่ และมองเข้าไปภายในใจ ก็ยังเจอความคิดลบ แต่หากเรามีสติ ก็สามารถหาจุดที่เข้าใจตัวเองได้ และเมื่อยิ่งเข้าใจตัวเองได้มากเท่าไหร่ ก็เข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้นเท่านั้น ด้วยความกรุณาที่มีต่อตนเองและผู้อื่น นี่คือสิ่งที่ต้องยึดถือไว้ในการทำงานกับผู้คน
เมื่อเศรษฐกิจในเมืองใหญ่โตขึ้น ทุกคนก็ควรมีโอกาสเติบโตไปด้วยกัน แต่แน่นอนว่ายังไงก็มีผู้ที่ตกหล่น ไม่ได้รับจากประโยชน์จากการเติบโตนั้น โครงการด้าน Collective Housing จึงจำเป็นสำหรับชุมชนผู้มีรายได้น้อย ให้ได้รับการสนับสนุนและสร้างระบบของชุมชนใหม่ให้สามารถดูแลตัวเองไปพร้อมๆ กับดูแลสังคม เป็นการพัฒนาเมืองที่ตั้งต้นที่คนและชุมชนให้เข้มแข็งแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่สุดท้ายแล้ว ผู้ที่ไม่ถูกทิ้งก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมที่มีคุณภาพได้
การประชุมในระดับนานาชาตินี้ จึงมีความสำคัญในการแบ่งปันองค์ความรู้เรื่อง Collective Housing ที่เกิดขึ้น ดำเนินการ และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในชุมชนต่างๆ ทั่วโลก สร้างความหวังถึงสังคมที่ผู้คนสามารถใช้ชีวิตที่ดีได้ แม้ในส่วนเล็กๆ ที่ถูกมองข้าม