เสียงปรบมือดังกึกก้องในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ทันทีที่มีการประกาศรับรองขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย เมื่อเวลา 15.30 น. ของวันอังคารที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2566 หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในที่ประชุม คือนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลุกขึ้นโบกธงชาติไทย ติดตามมาด้วยภาพและเสียงของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณที่ประชุม พร้อมเชิญชวนให้ทุกคนเดินทางมาเยือนศรีเทพ
ในเวลาเดียวกัน ห่างจากกรุงริยาดมาทางตะวันออกเฉียงใต้อีกเกือบ 6,000 กิโลเมตร นาทีประวัติศาสตร์ที่มีการประกาศให้เมืองโบราณศรีเทพขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่สี่ของประเทศไทย ถูกถ่ายทอดขึ้นจอ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทั้งนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงที่กำลังรับชมต่างลุกขึ้นยืนปรบมือโดยพร้อมเพรียงกัน ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และอธิบดีกรมศิลปากร บรรยากาศเต็มไปด้วยความชื่นมื่น
สุดสัปดาห์นั้นเอง อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพที่โดยปกติแล้วค่อนข้างเงียบเหงา ต้องตกอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่า “แทบแตก” เมื่อผู้คนมากมายล้วนต้องการมาเยือนมรดกโลกแห่งใหม่ของประเทศ รายงานข่าวจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ มติชน ระบุว่ามีประชาชนไปเฝ้ารอตั้งแต่ก่อนแปดโมงเช้าอันเป็นกำหนดเวลาเปิดประตู เพื่อนคนหนึ่งของผมที่ดั้นด้นเดินทางไปกับเขาด้วย โพสต์เล่าในเฟซบุ๊กว่า การจราจรในเช้าวันนั้นติดขัดอย่างหนักจนสุดท้ายแล้ว รถยนต์ของเธอและครอบครัวไม่สามารถฝ่าคลื่นมหาชนเข้าไปภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ได้ด้วยซ้ำ
จู่ๆ เมืองโบราณศรีเทพในท้องที่อำเภอศรีเทพ อำเภอใต้สุดของจังหวัดเพชรบูรณ์ กว่า 200 กิโลเมตรทางเหนือของกรุงเทพฯ สถานที่ซึ่งก่อนหน้านี้แทบไม่มีใครที่อยู่นอกแวดวงวิชาการประวัติศาสตร์และโบราณคดีจะรู้จัก ได้รับการประกาศให้เป็น “มรดกโลก” และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมไปภายในเวลาชั่วข้ามคืน
อันที่จริง การประกาศรับรองนี้ถือเป็นขั้นสุดท้ายปลายทางของกระบวนการที่ทุกฝ่าย ตั้งแต่ประชาคมระดับท้องถิ่นของจังหวัดเพชรบูรณ์ ขึ้นไปจนถึงหน่วยราชการต่างๆ ของรัฐบาลไทย ทั้งกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กับสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผลักดันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายปีในการนำเสนอ “เมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง” (The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments) ว่ามีความโดดเด่นตรงกับข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก
มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งล่าสุดนี้ประกอบไปด้วยทั้งตัวเมืองโบราณศรีเทพ และพื้นที่เกี่ยวเนื่องโดยรอบ เช่นที่มีหมุดหมายสำคัญแลเห็นได้ชัดเจน คือโบราณสถานเขาคลังนอกทางทิศเหนือ และถ้ำเขาถมอรัตน์ทางทิศตะวันตก
แผนผังของเมืองศรีเทพเป็นชุมชนโบราณที่มีการขุดคูน้ำและถมคันดินล้อมรอบพื้นที่เป็นสองชั้น เนื้อที่ราว 2,889 ไร่ หรือ 4.7 ตารางกิโลเมตร (ใหญ่กว่าเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีพื้นที่ 4.1 ตารางกิโลเมตรเล็กน้อย) ประกอบด้วยบริเวณเรียกกันว่า “เมืองใน” มีผังเป็นรูปวงกลม และ “เมืองนอก” ซึ่งมีการขยายเขตเมืองออกไปทางตะวันออกต่อจากผังวงกลมของเมืองในจนดูคล้ายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มาต่อเข้ากับวงกลมอีกที
ประวัติการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเมืองโบราณแห่งนี้ย้อนหลังไปกว่าศตวรรษ ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพ (พ.ศ. 2405-2485) บันทึกไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง นิทานโบราณคดี (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2487) ว่าเมื่อปี พ.ศ. 2447สมัยรัชกาลที่ห้า เมื่อครั้งสมเด็จฯ ยังทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ระหว่างเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ ทรงสอบถามคนในท้องถิ่นเกี่ยวกับเมืองโบราณที่ชื่อ “ศรีเทพ” ในแถบลุ่มน้ำป่าสักซึ่งเคยปรากฏนามในเอกสารจดหมายเหตุเก่า แต่น่าแปลกใจว่าชาวบ้านกลับไม่ยอมให้ความร่วมมือ
สมเด็จฯ ทรงเล่าว่า “คนเหล่านั้นต่างคนพากันปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็น จนออกประหลาดใจ ฉันคิดใคร่ครวญดูเห็นว่า คนพวกนั้นไม่เคยพบเจ้านาย และไม่เคยได้ยินใครซักไซ้ไถ่ถามเช่นนั้นมาแต่ก่อน น่าจะเข้าใจตามภาษาของเขา ว่าฉันคงได้ลายแทงปริศนามาขุดทรัพย์แผ่นดิน ถ้าพาไปไม่ได้ทรัพย์ก็จะถูกลงโทษ จึงบอกปัดเสียให้พ้นภัย ต้องพูดจาชี้แจงอยู่นาน จนคนเหล่านั้นวางใจ จึงบอกออกความตามรู้เห็น และรับจะพาไปตามประสงค์”
นอกจากนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังทรงเล่าถึงการสำรวจเมืองโบราณแห่งนี้ ซึ่งพระธุดงค์เรียกว่า “เมืองอภัยสาลี” หรือ “ไพศาลี” ว่า “พอรุ่งเช้าก็ไปดูเมืองโบราณ…เป็นเมืองใหญ่โตตั้งในที่ราบ มีคูรอบ และมีปราการถึงสองชั้น มีสระน้ำก็หลายสระ ที่กลางเมืองมีปรางค์เทวสถาน และมีโคกดินปนกับแผ่นศิลาแลง ซึ่งแสดงว่าเคยเป็นเทวสถาน ทั้งข้างนอกเมืองและในเมืองเรี่ยรายไปหลายแห่ง แต่ข้อสำคัญของการดูเมืองโบราณแห่งนี้ อยู่ที่ไปพบของจำหลักศิลาแปลก ๆ มีอยู่เกลื่อนกล่น เพราะยังไม่มีใครได้เคยไปค้นของโบราณมาแต่ก่อน พวกชาวบ้านนำไปให้ ฉันเห็นสิ่งใดชอบใจ ฉันก็ให้เงินเป็นรางวัลแก่ผู้นำ ถ้าเป็นของขนาดย่อมพอจะส่งลงมากรุงเทพฯ ได้ ก็ให้นายอำเภอเอามารวมไว้…วิธีให้เงินรางวัลแก่ผู้นำมีผลดีมาก ชาวบ้านบอกให้เองไม่ต้องถาม”
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเชื่อมั่นว่านี่เองคือเมืองโบราณที่ทรงค้นหา จึงทรงขนานนามเมืองนี้ว่า“ศรีเทพ” ตามชื่อที่เคยพบในเอกสารโบราณ นั่นจึงเป็นต้นเหตุให้ที่นี่กลายเป็นที่รู้จักกันในนาม “ศรีเทพ” นับแต่นั้นมา
หลังจากการ “ค้นพบ” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อปี พ.ศ. 2447 แล้ว เนื่องจากความห่างไกลจากกรุงเทพฯ และยังไม่มีเส้นทางคมนาคมที่สะดวก จึงยังมิได้มีการดำเนินการใดๆ
กว่าจะมีการรวบรวมโบราณวัตถุและศิลาจารึกที่พบในเมืองศรีเทพเข้ามายังพิพิธภัณฑ์ที่กรุงเทพฯ ก็อีกกว่า 20 ปีต่อมา ในสมัยรัชกาลที่เจ็ดเมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นสภานายกของราชบัณฑิตยสภา (ปัจจุบันคือนายกราชบัณฑิตยสภา) มีหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งคือกำกับดูแลการจัด “พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2469 พร้อมกันนั้น ทรงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ส่งโบราณวัตถุชิ้นสำคัญจากท้องถิ่นของตนเข้ามารวมไว้ยังส่วนกลางด้วย
ในวันธรรมดาเช่นนี้ ถ้าไม่ใช่ช่วงที่มีคณะนักเรียนมาทัศนศึกษาเป็นหมู่ใหญ่แล้ว ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติส่วนมากมีเพียงนักท่องเที่ยวต่างชาติและกลุ่มผู้สูงอายุชาวไทย จุดหมายสำหรับการมาเยือนของผมคือห้อง 404 ของอาคาร มหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ด้านข้างสนามหลวงในกรุงเทพฯ
ที่นี่เป็นสถานที่รวบรวมโบราณวัตถุชิ้นสำคัญจากเมืองศรีเทพ ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่เทวรูป หรือรูปประติมาของเทพเจ้า ในศาสนาฮินดู และเกือบทั้งหมดเป็นสิ่งที่ถูกส่งลงมายังกรุงเทพฯ ในคราวที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงจัดพิพิธภัณฑ์นั่นเอง
เทวรูปจากศรีเทพที่แลเห็นโดดเด่นเป็นพิเศษมีอยู่สองรูปแบบ คือพระสุริยเทพ หรือพระอาทิตย์ กับพระกฤษณะ อันเป็นอวตารหนึ่งของพระวิษณุ หรือที่คนไทยคุ้นหูกันในนามว่า “พระนารายณ์”
รูปพระสุริยเทพจากเมืองศรีเทพในห้อง 404 มีถึง 3 องค์ ล้วนสวมศิราภรณ์ (มงกุฎ) ทรงกระบอก มีประภามณฑล (รัศมี) แผ่เป็นแผ่นกลมอยู่เบื้องหลังเศียร (ศีรษะ) บางองค์มีหนวดเคราครึ้มเต็มแก้มและคาง
ส่วนรูปพระกฤษณะที่พบในเมืองศรีเทพ นำมาจัดแสดงไว้ 2 องค์ ล้วนอยู่ในปางที่เรียกว่า “ยกเขาโควรรธนะ” (อ่านว่า โค-วัน-ทะ-นะ)
ป้ายประจำโบราณวัตถุบรรยายว่าพระกฤษณะ “แสดงตนในรูปของชายหนุ่มที่ช่วยเหลือชาวบ้านผู้เลี้ยงโค โดยยกภูเขาโควรรธนะขึ้น เพื่อกำบังพายุฝนที่เกิดจากการบันดาลของพระอินทร์” ข้อความนี้อ่านแล้วยังอาจเข้าใจได้ยากสักหน่อย แต่เรายังมีตัวช่วยคือในหนังสือ ศิลปะในประเทศไทย ที่ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ผู้ทรงล่วงลับไปแล้ว อธิบาย คำนี้ไว้ในหนังสือ โดยให้รายละเอียดมากขึ้นว่า พระกฤษณะ “อวตารปางที่ 8 ของพระนารายณ์ แปลตามตัวว่า ผู้มีผิวคล้ำ ราชธานีของพระองค์คือเมืองทวารกา หรือทวารวดี…ทรงเป็นผู้มีกำลังมาก ช่างชอบสลักภาพพระกฤษณะกำลังทรงยกภูเขาโควรรธนะด้วยพระหัตถ์ซ้ายเพื่อป้องกันมิให้ผู้เลี้ยงโคและฝูงโคเป็นอันตรายจากฝนที่พระอินทร์บันดาลให้ตกลงมา เนื่องจากพระกฤษณะได้ทรงยุยงผู้เลี้ยงโคที่เคยนับถือพระอินทร์มาแต่ก่อนให้เลิกนับถือพระองค์”
โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมที่ถูกส่งเข้ามายังพิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ เหล่านี้ คงมีส่วนสำคัญในการทำให้เมืองโบราณศรีเทพได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2478 ก่อนจะมีสถานะเป็นอุทยานประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของ กรมศิลปากร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527
คนไทยที่เคยผ่านการเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนย่อมคุ้นเคยกับชื่อเมืองโบราณหลายแห่งที่ได้รับการระบุว่าเป็น “ราชธานี” ในอดีต เช่น สุโขทัย และอยุธยา หากแต่ชื่อของศรีเทพอาจยังไม่คุ้นหูนัก ยิ่งคำว่า “สมัยทวารวดี” ดังที่ปรากฏในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกว่า “เมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง” อาจมีคนรู้จักน้อยลงไปอีก ทั้งที่จริงชื่อ “ทวารวดี” ถูกนิยามให้เป็นยุคสมัยทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของประเทศไทยมาร่วมร้อยปีแล้ว
ณ อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถัดจากห้อง 404 ที่รวบรวมเทวรูปจากเมืองศรีเทพ คือห้อง 403 หรือ “ห้องทวารวดี” คลังสะสมซึ่งมีโบราณวัตถุและเรื่องราวของ “ทวารวดี” จัดแสดงไว้
ทั้งภาชนะดินเผาทรงแปลกตา ภาพปูนปั้นรูปบุคคลในอากัปกิริยาต่างๆ ซึ่งเคยประดับที่ฐานเจดีย์ วงธรรมจักรศิลาขนาดมหึมาพร้อมด้วยกวางหมอบ ตลอดจนพระพุทธรูปองค์ใหญ่น้อยมากมาย ถูกนำมาจัดแสดงไว้ภายในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศจนเย็นฉ่ำ พร้อมการจัดแสงเงาที่ออกแบบไว้อย่างดีเยี่ยม ทัดเทียมกับพิพิธภัณฑ์ระดับโลก
“ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่เจ็ดบริเวณกลางแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างวัฒนธรรมจากตะวันตกและตะวันออก ผ่านการติดต่อค้าขายมาตั้งแต่สมัยโบราณ และโดดเด่นขึ้นในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 ในเวลาดังกล่าว ประเทศไทยได้มีหลักฐานการก่อตั้งรัฐทวารวดี โดยเริ่มจากบริเวณลุ่มน้ำในภาคกลางของประเทศไทย ได้พัฒนาตนเองเข้าสู่ความเจริญในด้านต่างๆ อาทิ การเปิดรับพระพุทธศาสนา การมีรูปแบบการปกครองที่เข้มแข็งขึ้นและการมีตัวอักษรไว้ใช้บันทึกเรื่องราวต่างๆ และแผ่ขยายออกไปเป็นวงกว้างมากขึ้น”
ตัวอักษรสีขาวบนพื้นสีแดงก่ำ แลดูขรึมขลัง ประกาศเรื่องราวความเจริญรุ่งเรืองของทวารวดี ว่าเป็นรัฐโบราณยุคพุทธศตวรรษที่ 11-16 (ช่วงเวลาราว พ.ศ. 1000-1600) มีกำเนิดจากลุ่มน้ำภาคกลางของไทย แผ่นป้ายนั้นยังให้ข้อมูลต่อไปอีกว่า “หลักฐานการมีอยู่ของรัฐทวารวดีปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในเอกสารจดหมายเหตุสมัยราชวงศ์ถังของประเทศจีน ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-15 ซึ่งรวบรวมจากบันทึกการเดินทางของภิกษุจีนสองรูป คือ ภิกษุเสวียนจั้ง หรือพระถังซัมจั๋ง และภิกษุอี้จิง และยังพบจารึกที่เหรียญด้านหนึ่งมีอักษรจารึก อีกด้านหนึ่งมีรูปวัวกับลูกวัว เป็นอักษรปัลลวะ ข้อความภาษาสันสกฤตว่า ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ หมายถึง ผู้มีบุญกุศลของพระผู้เป็นเจ้าแห่งทวารวดี”
น่าสนใจว่านามของ “ทวารวดี” ที่มีบันทึกทั้งในจดหมายเหตุจีนและปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรบนเหรียญเงิน ยังคงตกทอดมาในความทรงจำของการสร้างบ้านแปงเมืองยุคหลัง เช่นเมื่อมีการสถาปนาราชธานีใหม่ขึ้น ณ จุดที่แม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก และลพบุรี มาบรรจบกันในทุ่งราบภาคกลางของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 1893 นครแห่งนั้นได้รับนามว่า “กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา” หรือที่เรารู้จักกันในนาม “กรุงศรีอยุธยา” นั่นเอง
จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในกรุงเทพฯ เมื่อเราพอรู้เรื่องราวของทวารวดีบ้างแล้ว จึงต้องย้อนกลับไปทำความรู้จักกับเมืองโบราณศรีเทพ เพิ่มเติม
จากการศึกษาทางโบราณคดี เราพบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ในบริเวณเมืองศรีเทพมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังที่มีการขุดค้นพบหลุมฝังศพ มีโครงกระดูกมนุษย์ โครงกระดูกสุนัขทั้งตัว พร้อมกับข้าวของเครื่องใช้ เครื่องประดับต่างๆ ที่ฝังร่วมไปด้วย มีอายุราว 1,700 ปีมาแล้ว นักโบราณคดียังสันนิษฐานด้วยว่าการขุดคูน้ำผังวงกลมล้อมรอบชุมชนในเขตที่เรียกกันว่า “เมืองใน” น่าจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยุคนี้เช่นกัน
บริเวณนี้คงมีผู้คนอยู่อาศัยสืบเนื่องลงมาจนถึงยุค “ทวารวดี” ของเมืองศรีเทพ มีการขุดขยายคูเมืองต่อออกมาทางทิศตะวันออก หรือที่เรียกกันว่า “เมืองนอก” รวมถึงมีการก่อสร้างศาสนสถานต่างๆ ช่วงนี้ยาวนานหลายร้อยปี จนสุดท้าย เมืองศรีเทพถูกทิ้งร้างไปเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18 (ช่วงเวลาราว พ.ศ. 1700-1800) ไล่เลี่ยกับการเกิดขึ้นของสุโขทัยและอยุธยา ด้วยสาเหตุที่ยังไม่ปรากฏแน่ชัด
แต่เดิม โบราณสถานที่มองเห็นได้ชัดเจนในเมืองโบราณศรีเทพมีอยู่เฉพาะกลุ่มบริเวณกลางเมืองใน ได้แก่ปรางค์ศรีเทพที่เป็นปรางค์องค์ใหญ่หนึ่งหลัง กับปรางค์สองพี่น้องที่เป็นปรางค์คู่สองหลัง นอกนั้น เช่นเขาคลังในที่อยู่ถัดมาทางทิศใต้ยังอยู่ในสภาพรกร้าง ตราบจนเมื่อกรมศิลปากรขุดลอกดินที่ทับถมออกในช่วงต้นทศวรรษ 2530 เขาคลังในจึงเผยโฉมความเป็น “โบราณสถาน” ให้ปรากฏ
สิ่งที่หลงเหลืออยู่ของเขาคลังใน คือฐานก่อด้วยศิลาแลง ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 28 คูณ 44 เมตร ในอดีต บริเวณตัวอาคารด้านนอกคงเคยมีการฉาบปูน ประดับลวดลายปูนปั้น (และน่าจะเคยมีการระบายสี) โดยรอบ แต่สภาพที่พบหลังการขุดแต่งคงเหลือเพียงฐานชั้นล่าง ประดับปูนปั้นลายก้านขด ฐานชั้นที่อยู่เหนือขึ้นมาแบ่งออกเป็นช่องสี่เหลี่ยม ภายในบรรจุ ปูนปั้นภาพคนแคระและอมนุษย์ต่างๆ ซึ่งมีร่างกายเหมือนคน แต่กลับมีหัวเป็นสัตว์ เช่น ลิง สิงห์ และควาย กำลังทำท่าทางใช้หลังและไหล่แบกรับน้ำหนักของตัวอาคารทั้งหมดไว้
ภาพปูนปั้นประดับฐานเขาคลังในนี้เอง เมื่อไม่นานมานี้ ถูกนำไปเป็นต้นแบบลวดลายบนแท่งไอศกรีมหลากสีสารพัดรสชาติ ตั้งร้านรอต้อนรับผู้มาเยือนใกล้ๆ จุดจำหน่ายบัตรเข้าชม จนแทบกลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่สำหรับการท่องเที่ยว เมืองโบราณศรีเทพไปแล้ว
อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเมืองศรีเทพซึ่งเป็นจุดถ่ายภาพยอดนิยมของนักท่องเที่ยว คือธรรมจักรสลักจากหินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณหนึ่งเมตรเศษ ตั้งแท่นไว้ทางด้านหน้าโบราณสถานเขาคลังใน
ในวัฒนธรรมยุคทวารวดี มีความนิยมตั้งเสาธรรมจักรขึ้นใกล้กับสถูปองค์สำคัญ เพื่อเป็นสัญลักษณ์การประกาศ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมจักรที่หน้าเขาคลังในนี้ ตามประวัติว่าได้รับมาจากที่ว่าการอำเภอศรีเทพ โดยได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาแล้วจนสมบูรณ์ครบวง รวมทั้งเคยได้รับคำวิจารณ์เชือดเฉือนจากนักประวัติศาสตร์ศิลปะผู้เชี่ยวชาญศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างศาสตราจารย์ฌอง บวสเซอลีเยร์ (Jean Boisselier 1912-1996) ผู้ล่วงลับว่า “ข้าพเจ้าจำต้องเสียใจที่จะกล่าวว่าธรรมจักรศิลาที่เมืองศรีเทพ ซึ่งไม่อาจกล่าวได้ว่าค้นพบที่ใดแน่นั้น ได้รับการบูรณะด้วยความสามารถ จนกระทั่งปัจจุบันยากที่จะทราบได้ว่าส่วนไหนเป็นของดั้งเดิมและส่วนไหนเป็นของที่ซ่อมเพิ่มเติมขึ้นใหม่”
ดังที่ศาสตราจารย์บวสเซอลีเยร์กล่าว ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าธรรมจักรวงนี้ดั้งเดิมอยู่ที่ใด แต่มีบางคนเล่าว่าได้มาจากโบราณสถานเขาคลังนอก
นอกเมืองโบราณศรีเทพไปทางทิศเหนือ ประมาณสองกิโลเมตร มี “เขาคลัง” อีกแห่งหนึ่ง เรียกกันว่า “เขาคลังนอก” เหตุที่มีชื่อเรียกว่า “เขา” คงเป็นเพราะสภาพที่ปรากฏแก่สายตาชาวบ้านมาแต่ไหนแต่ไร คือเนินดินสูงใหญ่ กว้าง 120 เมตร ยาว 150 เมตร มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมเป็นป่า แลดูเหมือนภูเขาลูกย่อมๆ ผู้ที่ทันเห็นสภาพดั้งเดิมเล่าว่า “วัวควายขึ้นไปหากินได้”
ส่วนที่ระบุว่าเป็น “คลัง” คงเป็นเพราะความเชื่อของชาวบ้านว่าสิ่งที่เห็นนั้นคือ “คลัง” หรือสถานที่เก็บทรัพย์สมบัติ ของคนโบราณ รวมถึงคงเคยมีการขุดค้นพบสิ่งของมีค่าบางอย่างในพื้นที่ด้วย ดังที่ตรงกลางเนินมีร่องรอยการลักลอบขุดหาสมบัติจนเป็นโพรงลึกลงไป และเนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งอยู่นอกเมือง ที่นี่จึงกลายเป็นเขาคลัง “นอก” เข้าคู่กับเขาคลัง “ใน” ภายในตัวเมือง
กรมศิลปากรเพิ่งเริ่มขุดค้นและขุดแต่งเขาคลังนอกเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 2550 ก่อนจะบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2555 นี่เอง โบราณสถานแห่งนี้หลงเหลือเพียงส่วนฐานศิลาแลงขนาดมหึมา ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 64 คูณ 64 เมตร สูงราว 20 เมตร ส่วนองค์สถูปที่เคยตั้งอยู่บนลานด้านบนสุด พังทลายไม่เหลือซากให้เห็นจากน้ำมือของมิจฉาชีพดังกล่าว
ด้วยขนาดฐานซ้อนชั้นลดหลั่นที่มีขนาดใหญ่โดดเด่นที่สุดในบรรดาโบราณสถานของศรีเทพ บางคนจึงให้สมญาว่าเป็น “พีระมิดเมืองไทย” นั่นทำให้ปัจจุบัน เขาคลังนอกกลายเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมของทางอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงแสง-เสียง ระบำรำฟ้อนโขนละครต่างๆ หรือพิธีกรรมทางศาสนา เช่นการจัดพิธีเวียนเทียนเนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา วันเพ็ญเดือนหก (ราวเดือนพฤษภาคม)
ทั้งโบราณสถานเขาคลังในและเขาคลังนอก ล้วนเป็นสถูป หรือพุทธสถานแบบทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 (ช่วงเวลาราว พ.ศ. 1300-1400)
จนถึงทุกวันนี้ การศึกษาเรื่องราวในอดีตของศรีเทพยังคงดำเนินต่อไป เพราะยังมีซากโบราณสถานอีกมากมายที่กรมศิลปากรสำรวจพบแล้วแต่ยังมิได้มีการขุดค้น เฉพาะที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นกลุ่มอาคารขนาดใกล้เคียงกับโบราณสถานเขาคลังนอก ได้แก่บริเวณที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “เขาคลังสระแก้ว” ซึ่งยังคงเป็นเนินดินใหญ่รกร้างกลางไร่มันสำปะหลัง สูงถึงหกเมตร และกว้างกว่า 40 เมตร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของคูเมืองนอก ใกล้กับสระแก้ว อันเป็นสระน้ำโบราณหนึ่งใน 108 สถานที่ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ตามโบราณราชประเพณี เพื่อทำน้ำพระพุทธมนต์เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งล่าสุด เมื่อปี พ.ศ. 2562
โบราณสถานยุคต่อมา ได้แก่ ปรางค์ศรีเทพ และปรางค์สองพี่น้อง เป็นเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ หรือศาสนาฮินดู ศิลปะขอม อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 (ช่วงเวลาราว พ.ศ. 1500-1700) ข้อที่น่าสังเกตคืออาคารเหล่านี้ล้วนหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ผิดกับคตินิยมทั่วไปของศาสนสถานในประเทศไทย ซึ่งมักมีประตูทางเข้าจากด้านตะวันออก รวมถึงโบราณสถานเขาคลังนอก ซึ่งเคยมีทางขึ้นที่กึ่งกลางฐานทั้งสี่ทิศ ปรากฏร่องรอยว่าในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการสร้างปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้อง กลับมีการก่อปิดทางขึ้นด้านอื่นไป เหลือไว้เฉพาะบันไดทางเดินด้านทิศตะวันตกเช่นกัน หลายคนจึงเชื่อกันว่าเหล่านี้ล้วนส่อแสดงให้เห็นความสำคัญของเขาถมอรัตน์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง ด้วยการหันด้านหน้าอาคารไปสู่เขาถมอรัตน์
เขาถมอรัตน์อยู่นอกเมืองไปทางทิศตะวันตก ราว 15 กิโลเมตร เป็นภูเขาหินปูน สูงกว่า 500 เมตร ภายในถ้ำแห่งหนึ่งบนเขา มีร่องรอยการดัดแปลงให้เป็นพุทธสถานด้วยการสกัดโขดหินและผนังถ้ำให้เป็นพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ ตามคติพุทธศาสนานิกายมหายาน นอกจากนั้น ยังมีการจำหลักผนังหินเป็นภาพสถูปและเสาธรรมจักร ตามความนิยมของยุคทวารวดีอีกด้วย กำหนดอายุจากรูปแบบศิลปะที่พบได้ว่าอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 (ช่วงเวลาราว พ.ศ. 1200-1400)
ในช่วงทศวรรษ 2500 ปรากฏข่าวว่ามีการลักลอบสกัดเศียรและหัตถ์ (มือ) ของพระพุทธรูปกับเทวรูปในถ้ำเขา ถมอรัตน์ จากนั้นจึงไปตกอยู่ในความครอบครองของนายเจมส์ ดับเบิลยู ทอมป์สัน (James W. Thompson) หรือที่รู้จักกัน ในนาม “จิม ทอมป์สัน ราชาไหมไทย” ซึ่งสุดท้ายได้นำโบราณวัตถุเหล่านั้นกลับมาบริจาคให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2505 และยังคงเก็บรักษาอยู่ ณ ที่นั้นมาจนถึงบัดนี้
เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกล การลักลอบขุดทำลายโบราณสถานและลักขโมยโบราณวัตถุของศรีเทพจึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมายาวนาน โดยเฉพาะในระหว่างยุคสงครามเวียดนาม ทศวรรษ 2510 ดังมีโบราณวัตถุที่ระบุที่มาว่าขุดพบในเมืองศรีเทพ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป และแผ่นทองคำดุนลายเทพเจ้าต่างๆ จำนวนมาก ตกอยู่ในความครอบครองของนักสะสม ทั้งชาวไทย และในชุดสะสมของพิพิธภัณฑ์บางแห่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
ทั้งหมดที่กล่าวถึงไปแล้ว อาจฟังดูเหมือนเรื่องราวของอารยธรรมโบราณที่สาบสูญและงานศิลปะเลอค่า แต่บางคนอาจรู้สึกว่า ช่างเป็นเรื่องที่แห้งแล้งอย่างยิ่ง เพราะไม่มีผู้คนอยู่ตรงไหนในนี้เลย ราวกับว่าศรีเทพเป็นเมืองร้างมาตั้งแต่แรกก่อตั้ง
ปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่หลายคนหลายฝ่ายตระหนักดี แม้แต่ในหนังสือคู่มือนำชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพของกรมศิลปากร (2550) ยังยอมรับ เช่นประเด็นที่ว่าด้วยบ้านเรือนที่อยู่อาศัยนั้น “ยังไม่เคยพบอาคารที่อยู่อาศัยของผู้ปกครองเมืองและพลเมืองในเมืองศรีเทพ อาจเป็นเพราะสร้างด้วยไม้ จึงผุพังไปตามกาลเวลา”
อย่างไรก็ตาม จากโบราณวัตถุที่ค้นพบ เราอาจใช้สะท้อนแง่มุมบางอย่างเกี่ยวกับความคิดความเชื่อของผู้คนพลเมืองชาวศรีเทพแต่ครั้งโบราณได้บ้าง และหนึ่งในความน่าสนใจคือการค้นพบหลักฐานการยอมรับนับถือศาสนาที่แตกต่างหลากหลาย คลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา
จากยุคแรกเริ่มของการตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ ซึ่งพบหลุมฝังศพยุคก่อนประวัติศาสตร์ สะท้อนความเชื่อในชีวิต หลังความตาย คือมีรูปแบบพิธีกรรม เช่น ทิศทางการหันหัวของศพ ผู้วายชนม์ถูกฝังลงไปพร้อมกับเครื่องประดับ และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่นภาชนะดินเผา คงด้วยจุดประสงค์ให้นำติดตัวไปใช้ในโลกหน้า
เมื่อถึงราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 (ช่วงเวลาราว พ.ศ. 1100-1300) เป็นยุคของศาสนาพราหมณ์ มีการค้นพบทั้งเทวรูปพระกฤษณะ อันเป็นอวตารปางที่แปดของพระนารายณ์ ตลอดจนเทวรูปพระนารายณ์สี่กร ซึ่งล้วนเป็นเทพเจ้าที่นับถือสูงสุดของลัทธิไวษณพ อันมีพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าสูงสุด รวมทั้งยังค้นพบเทวรูปพระสุริยะหรือพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิเสาระ ซึ่งอินเดียรับสืบทอดมาจากต้นกำเนิดในดินแดนอิหร่าน โดยยังทิ้งร่องรอยความเป็นเทพต่างชาติต่างภาษาไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น เสื้อของพระสุริยะที่เป็นเสื้อคลุมตัวยาว และใบหน้าซึ่งมีหนวดมีเครา เป็นต้น
จากการค้นพบเทวรูปพระกฤษณะหลายองค์จากเมืองศรีเทพ เมื่อไม่นานมานี้ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะคนสำคัญ ได้นำเสนอทฤษฎีใหม่ว่า เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะ “ศรีเทพ” นี้เอง คือศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดี ราชอาณาจักรแห่งแรกของสยาม ดังที่อาจารย์กล่าวไว้ในหนังสือ เมืองศรีเทพ ศูนย์กลางทวารวดี ? (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2560) ว่า “ศรีเทพน่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุดสำหรับการเป็นราชธานีของอาณาจักรทวารวดีเพราะชื่อ ‘ทวารวดี’ ได้มาจาก ‘ทวารกา’ เมืองที่สถาปนาโดยพระกฤษณะในอินเดีย…ศรีเทพคือโบราณสถานในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวที่พบว่ามีการสร้างรูปพระกฤษณะเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์”
ถัดมาในยุคพุทธศตวรรษที่ 14-15 (ช่วงเวลาราว พ.ศ. 1300-1500) เป็นช่วงเวลาเฟื่องฟูของพุทธศาสนา ดังปรากฏหลักฐานสถูปที่เขาคลังใน เขาคลังนอก รวมถึงภาพสลักพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ และเสาธรรมจักรที่ถ้ำเขาถมอรัตน์
หลักฐานจากศรีเทพบางชิ้น แม้มีขนาดเล็กแต่กลับสามารถสะท้อนภาพใหญ่ของสังคมในอดีตที่น่าตื่นตาตื่นใจให้เราได้เห็น
มีพระพิมพ์ดินเผาองค์หนึ่ง กล่าวกันว่าค้นพบจากเมืองศรีเทพเมื่อราว พ.ศ. 2524 แต่เป็นชิ้นส่วนแตกหัก เหลือเพียงครึ่งบน สูงเพียง 8.5 เซนติเมตร เดิมเป็นสมบัติของเอกชน ต่อมาได้มอบให้กรมศิลปากร และจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี มาหลายสิบปี
ด้านหน้าของพระพิมพ์องค์ดังกล่าวเป็นพระพุทธรูป มีเหลือเพียงส่วนพระเศียร (ศีรษะ) ที่มีรัศมีโดยรอบ กำหนดอายุจากรูปแบบศิลปะได้ว่าอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 (ช่วงเวลาราว พ.ศ. 1200-1400) ส่วนด้านหลัง มีจารึกลายมือหวัด เขียนเป็นอักษรจีนเหลือเพียงสองตัว ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมายังไม่เคยมีการอ่านแปลใดๆ คงเพราะเห็นว่ามีเพียงสองอักษรและอ่านไม่ได้ความ
ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เล่าเรื่องการศึกษาพระพิมพ์องค์นี้ไว้อย่างน่าตื่นเต้นว่า จนถึง ปี พ.ศ. 2539 โรเบิร์ต แอล บราวน์ (Robert L. Brown) ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ The Dvaravati Wheels of the Law and the Indianization of South East Asia (ธรรมจักรทวารวดีและกระบวนการภารตภิวัตน์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) กล่าวถึงพระพิมพ์ดินเผาองค์หนึ่งที่เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะฟ็อกก์ (Fogg Art Museum) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับพระพิมพ์ดินเผาครึ่งองค์ที่พบในเมืองศรีเทพมาก ทว่ายังมีสภาพสมบูรณ์ ด้านหลังปรากฏจารึกอักษรจีนสี่ตัว “ซึ่ง 2 ตัวแรกนั้น เหมือนกันกับที่พบบนพระพิมพ์จากเมืองศรีเทพทุกประการ”
เมื่อมีการอ่านแปลจารึกภาษาจีนออกมา จึงสรุปได้ว่า “อักษรสองตัวแรกเป็นคำจีนที่เลียนเสียงภาษาบาลีว่า ‘ภิกขุ’ ส่วนอักษรอีกสองตัวต่อมาเป็นชื่อเฉพาะ…อ่านได้ว่า ‘ปี่ชิวเหวินเซียง’ แปลว่า ‘พระภิกษุเหวินเซียง’…”
เรามิอาจทราบได้ว่าท่านเหวินเซียง ภิกษุจีนรูปนี้ เดินทางมาจากที่ใดหรือจะจาริกไปไหน แต่การที่พบพระพิมพ์ ดินเผา ซึ่งมีจารึกลายมือระบุนามของท่านที่เมืองศรีเทพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มากกว่าหนึ่งองค์ ตอกย้ำให้เห็นเครือข่ายการเดินทางไกลที่เชื่อมดินแดนโพ้นทะเลเข้าด้วยกัน เฉกเช่นที่ปรากฏในจดหมายเหตุของภิกษุจีนในยุคราชวงศ์ถัง ซึ่งกล่าวถึง “ทวารวดี” ไว้ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
หรือหากจะตีความให้มากกว่านั้น จารึกบนพระพิมพ์เช่นนี้ ย่อมต้องเขียนขึ้นหลังจากที่นำเอาดินเหนียวอัดเข้าไปในแม่พิมพ์ ก่อนจะนำไปเผาอีกครั้งหนึ่งให้คงทนถาวร นั่นย่อมต้องหมายความว่าเมื่อกว่า 1,200 ปีก่อน ภิกษุเหวินเซียงน่าจะได้เดินทางเข้ามายังเมืองศรีเทพ (ไม่ว่าครั้งนั้นเมืองนี้จะมีนามเช่นไร) ซึ่งอาจมีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง แล้วจึงตั้งจิตประกอบกุศล ด้วยการสร้างพระพิมพ์ชุดดังกล่าวขึ้น พร้อมกับจารึกนามของตนซึ่งเป็นผู้สร้างไว้ ไม่ผิดอะไรกับที่คนไทยสมัยนี้ยังคงนิยมจารึกชื่อตามถาวรวัตถุต่างๆ ซึ่งได้อุทิศไว้ในพุทธศาสนา
จากนั้น ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 (ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 1500-1700) มีหลักฐานของศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย ที่นับถือพระศิวะ หรือพระอิศวร เป็นเทพเจ้าสูงสุด ภาพสลักหินทั้งที่ปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้องล้วนเป็นเรื่องราวของไศวนิกาย เช่นทับหลังที่ปรางค์สองพี่น้อง สลักภาพพระศิวะและพระอุมาประทับบนหลังโคนนทิ เทวพาหนะ
จนหลายร้อยปีหลังจากเมืองศรีเทพร้างไป ผู้คนกลุ่มใหม่ทยอยเข้ามาตั้งหลักแหล่ง หักร้างถางพง ทำการเกษตรในบริเวณนี้ หากแต่ชาวบ้านทั่วไปยังคงรู้สึกว่าภายในวงรอบคูน้ำคันดินของเมืองโบราณศรีเทพเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่พึงล่วงล้ำ จึงแทบไม่มีใครเข้าไปตั้งบ้านเรือนในบริเวณนั้น
ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านรอบๆ ยังคงจดจำเรื่องราวเหตุลึกลับต่างๆ ที่เล่าขานกันมาได้ เช่นว่าใน “วันพระวันศีล” ก็จะผู้พบเห็นแสงเป็นดวงไฟลอยขึ้นมาจากซากโบราณสถาน รวมถึงเคยมีชาวบ้านเข้าไปเก็บเห็ดหาหน่อไม้ในเขตเมืองโบราณ แล้วหาทางกลับออกมาไม่ได้ ว่ากันว่าญาติพี่น้องไปตามหาก็ไม่เห็นกัน คนที่หลงอยู่ได้ยินเสียงคนเรียกชื่อ แต่ตะโกนตอบไป กลับไม่มีใครได้ยิน
ตามความเชื่อของชาวบ้าน ดวงวิญญาณที่เชื่อกันว่าเป็นอารักษ์ผู้ปกปักรักษา สร้างความร่มเย็นให้แก่พื้นที่ตรงนี้คือ “เจ้าพ่อศรีเทพ”
ทุกปีในช่วงต้นเดือนสาม หรือราวปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เป็นเวลาของงานบวงสรวงเจ้าพ่อศรีเทพ แต่เดิมเป็นกิจกรรมเซ่นไหว้และเข้าทรงเจ้าพ่อประจำปีของชาวบ้านในท้องถิ่น แต่มาในระยะหลังขยายตัวขึ้นจนกลายเป็นงานประเพณีระดับอำเภอ มีไปจนถึงการประกวดธิดาเจ้าพ่อศรีเทพ ขบวนแห่รถบุปผชาติ และการทำข้าวต้มมัดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งจากส่วนราชการต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบริษัทห้างร้านของเอกชน รวมถึงจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ด้วย
พื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอศรีเทพปัจจุบัน กลายเป็นเขตเพาะปลูกพืชไร่สำหรับป้อนโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ มันสำปะหลัง และอ้อย ในฤดูหีบอ้อย เมื่อเกษตรกรตัดอ้อยลำเลียงส่งเข้าสู่โรงงานน้ำตาล ช่วงตั้งแต่ราวเดือนธันวาคมถึงมีนาคมเสียงเครื่องยนต์รถบรรทุกอ้อยจึงดังกระหึ่มทั้งวันทั้งคืนรอบเขตอุทยานประวัติศาสตร์ ขณะที่ท่อนอ้อยที่ร่วงหล่นระหว่างทาง แล้วถูกล้อรถคันต่อๆ มาบดขยี้ มีให้เห็นเกลื่อนกลาดเต็มถนน
ช่วงเวลาเดียวกัน คือระหว่างเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ คือ “ไฮซีซัน” ของฤดูท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ นักท่องเที่ยวหลั่งไหลกันมารับลมหนาวในเขตอำเภอตอนบนของจังหวัด เช่นอำเภอเขาค้อ และแต่ไหนแต่ไรมา นั่นคือช่วงเวลาที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพซึ่งอยู่บนทางผ่าน พลอยได้รับอานิสงส์ มีผู้มาเยือนมากที่สุดในรอบปีไปด้วย
เมื่อเมืองโบราณศรีเทพกลายเป็นมรดกโลกแล้ว ฤดูหีบอ้อยที่ทาบทับกับฤดูท่องเที่ยว จึงกลายเป็นข้อวิตกของหลายฝ่าย ดังนั้น ช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูหีบอ้อย 2566/2567 ที่ผ่านมา ทางจังหวัดเพชรบูรณ์ถึงกับต้องจัดประชาสัมพันธ์ เป็นการใหญ่ ให้ชาวไร่อ้อยในพื้นที่รัศมีห้ากิโลเมตรรอบอุทยานประวัติศาสตร์ รวมทั้งที่อยู่ริมเส้นทางสัญจรของนักท่องเที่ยว งดการเผาไร่อ้อยก่อนที่จะตัดส่งโรงงาน เพื่อลดฝุ่นละอองและหมอกควัน ให้อากาศสะอาด ไม่สร้างผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว เพื่อการ “เป็นเจ้าบ้านที่ดี” ของชาวเพชรบูรณ์
ปัญหาการเผาไร่อ้อยไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้โดยทั่วไปทางโรงงานน้ำตาลต้องการรับซื้ออ้อยสดซึ่งมีคุณภาพดีกว่าหากแต่เกษตรกรทั่วไปมักนิยมเผาไร่ เพื่อให้ใบอ้อยที่แข็งและคมไหม้ไฟไปหมดก่อนตัด ซึ่งจะทำให้แรงงานรับจ้างสามารถ ตัดอ้อยได้มากขึ้นและเร็วขึ้นหลายเท่า นั่นคือชาวไร่จ่ายค่าจ้างน้อยลง แรงงานได้เงินเร็วกว่า และที่สำคัญคือทันกับระยะเวลาการเปิดหีบอ้อยในแต่ละปีที่มีจำกัด
เมื่อทางจังหวัดมีนโยบายเช่นนี้ ด้านโรงงานน้ำตาลในพื้นที่อำเภอศรีเทพจึงต้องออกตระเวนจัดกิจกรรมร่วมกับนายอำเภอ และเกษตรอำเภอ เรียกประชุมชาวไร่อ้อยในพื้นที่เพาะปลูกอ้อย 12,000 ไร่ รอบพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ เพื่อรณรงค์ย้ำเตือนให้ชาวไร่ตัดอ้อยสด ตามคำขวัญ “ส่งเสริมตัดอ้อยสด ลดการเผาอ้อยเผาใบ”
การแสวงหาแนวทางเพื่อให้ทั้งเกษตรกรและนักท่องเที่ยวได้รับประโยชน์ร่วมกัน จึงกลายเป็นเงื่อนไขใหม่ที่ทุกฝ่ายต้องพยายามสร้างจุดสมดุล เพื่อการดำรงอยู่ร่วมกันต่อไป ไม่ก่อปัญหาระหว่าง “มรดกโลก” กับ “ท้องถิ่น”
เมื่อศรีเทพได้รับสถานะมรดกโลก ทั้งชาวไทยและประชาคมโลกก็รับรู้ความมีอยู่และคุณค่าความสำคัญของเมืองโบราณแห่งนี้มากยิ่งขึ้น แต่แน่นอนว่าเรื่องนี้มี “ราคา” ที่ต้องจ่าย
“เอาห่อข้าวมา (ก็) ไม่ได้เปิด” ลูกจ้าง รปภ. หนุ่มอีสานของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพในชุดสีกากี เอ่ยและย้อนความทรงจำให้ผมฟังว่า ในวันสุดสัปดาห์หลังจากที่ศรีเทพได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก ตลอดทั้งแปดชั่วโมงที่เข้ากะทำงาน เขาไม่มีโอกาสได้นั่งลงเลย ไม่มีแม้แต่เวลาจะกินอาหาร เพราะผู้คนไม่รู้ว่าจากที่ไหนต่อไหน เข้ามาเที่ยวกันวันละ เป็นหมื่นคน เรียกว่าตั้งแต่เช้าตรู่ ยังไม่ทันจะเปิดประตูอุทยานฯ ก็มีรถยนต์มาจอดรอต่อแถวกันยาวเหยียดแล้ว
ตามสถิติของกรมศิลปากร ครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2565 ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ถึงมีนาคม พ.ศ. 2565 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ 34,782 คน หรือเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละราว 5,800 คน ทว่าภายในเวลาเพียงเก้าเดือน นับจากเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ที่ศรีเทพได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ทางอุทยานฯ สามารถจัดงานเฉลิมฉลองนักท่องเที่ยวมาเยือนศรีเทพครบหนึ่งล้านคน เท่ากับว่าเฉลี่ยเดือนละกว่า 110,000 คน มากกว่าช่วงก่อนหน้านี้ถึงเกือบ 20 เท่า
นี่อาจมากเกินกว่าศักยภาพของแหล่งประวัติศาสตร์แห่งนี้จะรองรับได้
อนาคตของศรีเทพ เมืองมรดกโลก จึงยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองกันต่อไป
เรื่อง ศรัณย์ ทองปาน
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา
ภาพสันนิษฐาน กลุ่มคิดอย่าง