BAB 2024 “รักษา กายา Nurture Gaia” เตรียม 200 งานศิลป์ สะท้อนวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก

“‘งานศิลปะที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ จะว่าด้วยเรื่องราวเมื่อมนุษย์และธรรมชาติ

เกิดมาพร้อมกัน อาศัยอยู่ร่วมกัน และสุดท้าย ก็อาจจะล่มสลายไปพร้อมกัน” 

มูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ จัดงานแถลงข่าว บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 (Bangkok Art Biennale 2024) ขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 6 กันยายน  2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ได้ผสานความร่วมมือครั้งสำคัญกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) กรุงเทพมหานคร เครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชน จัดขึ้นอย่างต้อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด รักษา กายา (Nurture Gaia) จัดเต็มผลงานผลงานศิลปะร่วมสมัยมากกว่า 200 ผลงาน จากศิลปินชั้นนำ 76 คน 39 สัญชาติ ที่จัดแสดงตามสถานที่สำคัญ ในย่านใจกลางเมืองและย่านเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางศิลปวัฒนธรรม เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ วันแบงค็อก ฯลฯ ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม – 25 กุมภาพันธ์ 2568

คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ กล่าวว่า ทางมูลนิธิ มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งกับการประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อารฺต เบียนนาเล่ 2024 ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี 2561 และจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุก 2 ปี ในปี 2563 และปี 2565 ซึ่งประสบความสำเร็จมาโดยตลอด ในการป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมของเมืองกับศิลปกรรมสมัยใหม่ที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร การจัดงานนี้เป็นการเสริมสร้างพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และต้นทุนทางวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร และโลกเข้าด้วยกัน ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ในเชิงการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสให้ศิลปินไทย และศิลปินจากทั่วโลกได้แสดงผลงานในกรุงเทพมหานคร ให้คนไทยและชาวโลกได้ร่วมชื่นชม

สำหรับปีนี้ การจัดงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ตเบียนนาเล่ 2024 จะเป็นการนำเสนองานศิลป์ ภายใต้ธีมหลัก “รักษา กายา (Nurture Gaia)” โดยมุ่งเน้น ที่จะถ่ายทอดความหมายที่แตกต่างของธรรมชาติ การเลี้ยงดู ความเป็นผู้หญิง และการครุ่นคิดเกี่ยวกับนิเวศวิทยา การเมือง หรืออำนาจเหนือธรรมชาติต่าง ๆ ผ่านผลงานศิลปะร่วมสมัยจากทั่วโลกด้วยสื่อศิลปะที่หลากหลาย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัจจุบัน กระตุ้นให้ฉุกคิด รวมทั้งมองหาวิธีใหม่ในการจัดการกับประเด็นปัญหาของอนาคตในด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม คำว่า “รักษา กายา” จึงเหมาะสมกับช่วงเวลาและสถานการณ์ทางสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันมากที่สุด ซึ่ง งานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ก็ได้รับความร่วมมือจากศิลปินนานาชาติทั่วโลก มาช่วยกันถ่ายทอดผลงานที่สะท้อนตัวตนของเราว่าจะช่วยกันสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในโลกได้อย่างไร

แต่ทั้งนี้คำว่า “รักษา กายา” อาจตีความหมายได้กว้างกว่านั้น เพราะคำว่า กายา ในที่นี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากชื่อของเทพีกรีก นามว่า ไกอา (Gaia) เปรียบเสมือนตัวแทนของความเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต ทั้งชีวิตมนุษย์และธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่ของเธอในรูปแบบของความลี้ลับหรืออำนาจวิเศษนี้ ได้จุดประกายความเชื่อ ศาสนา พิธีกรรม แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ การตีความสุดท้ายของคำว่า “กายา” ที่ถูกยกมาเป็นธีมหลักในการนำเสนองานครั้งนี้ จึงหมายความว่า ทั้งมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อม ล้วนเกิดมาพร้อมกัน อาศัยอยู่ร่วมกัน และสุดท้ายเราก็อาจจะล่มสลายไปพร้อมกัน

โดยในงานนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ กัญญา เจริญศุภกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ตัวแทนศิลปินจากประเทศไทย กล่าว่า รู้สึกตื่นเต้นและดีใจอย่างยิ่ง ที่ได้รับโอกาสมาร่วมจัดแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะนานาชาติครั้งนี้ ยิ่งเมื่อได้ทราบถึงธีมหลักของงานอย่าง ‘รักษา กายา’ ก็กระตือรือร้นที่จะร่วมทำผลงานออกมานำเสนอ โดยจะถ่ายทอดเป็นผลงานชื่อ ‘ความเจ็บปวดรวดร้าวของพระแม่ธรรณี’ ที่สอดแทรกเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตและความร้ายกาจของมนุษย์ ทั้งการเจาะขุดน้ำมัน ทดลองนิวเคลียร์ ทำลายป่า ทำสงคราม เป็นผลงานที่สะท้อนความโกธรของตัวอาจารย์ลงไปในชิ้นงาน ซึ่งสะท้อนแนวคิดว่า ในที่สุดแล้ว มนุษย์เราควรจะรู้ตัวว่าได้ทำร้ายพระแม่ไปอย่างไรบ้างและควรสำนึกในบุญคุณของพระแม่ธรณี หากเรารักษาพระแม่ธรณีไว้ได้ ก็เท่ากับเราเยียวยาตัวเองได้เช่นกัน

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ กัญญา เจริญศุภกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์

งาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024  จะมีศิลปินที่เข้าร่วมแสดงผลงานทั้งสิ้น 76 ท่าน เป็นศิลปินไทย 22 ท่าน และศิลปินจากนานาชาติ 54 ท่าน สำหรับรายชื่อกลุ่มสุดท้ายที่ได้ร่วมแสดงผลงานศิลปะทั่วกรุงเทพมหานคร ได้แก่  บู้ซือ อาจอ (ประเทศไทย) บรูซ แอสเบสตอส (สหราชอาณาจักร) ลีน่า บุย (เวียดนาม) กัญญา เจริญศุภกุล (ประเทศไทย) วิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์ (ประเทศไทย) ดาเนียลลา โกมานิ (อิตาลี) โทนี แคร็กก์ (ออสเตรเลีย) ร็อบ ครอส (สหราชอาณาจักร) กิม ฮงซอก (เกาหลีใต้) แอกกี้ เฮนส์ (สหราชอาณาจักร) เมลล่า จาร์สมาร์  (เนเธอร์แลนด์ / อินโดนีเซีย) จอร์จ เค. (อินเดีย) อนิช คาพัวร์ (สหราชอาณาจักร) จิตติ เกษมกิจวัฒนา (ประเทศไทย) โคล หลู (ไต้หวัน) มาเรีย มาเดร่า (ติมอร์-เลสเต) ซุล มาห์มุด (สิงคโปร์) นักรบ มูลมานัส (ประเทศไทย) โศภิรัตน์ ม่วงคำ (ประเทศไทย) มัดหมี่ พิมดาว พานิชสมัย (ประเทศไทย) ดีเนธ ปิอูมัคชี เวดาราชชิเก (ศรีลังกา) โม สัท (สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า) ถวิกา สว่างวงศากุล (ประเทศไทย) ลาตัย เตาโมเอเปอาว (ออสเตรเลีย) คมกฤษ เทพเทียน (ประเทศไทย) เถียน เสี่ยว เหล่ย (สาธารณรัฐประชาชนจีน) อเล็กซานเดอร์ ทิโมทิช (เซอร์เบีย) จัสมิน โตโก-บริสบี (ออสเตรเลีย) หวัง ซีเหยา (สาธารณรัฐประชาชนจีน) ปกฉัตร วรทรัพย์ (ประเทศไทย) 

นอกจากงานศิลป์กว่า 200 ชิ้น ที่ Bangkok Art Biennale 2024 จะขนมาให้คนไทยได้ชมอย่างจุใจตลอด 4 เดือน ในวันที่ 24 ตุลาคม – 25 กุมภาพันธ์ 2568 แล้ว ในช่วงเฉลิมฉลองสัปดาห์แรกของเทศกาล ก็มีกิจกรมการแสดงสดจากศิลปินชั้นนำมากมาย เช่น

– การแสดงของศิลปิน Kira O’Reilly (ฟินแลนด์-ไอร์แลนด์) ซึ่งเป็นผลงานที่ถ่ายทอดประสบการณ์ความเป็นผู้หญิง
– ผลงานศิลปิน Amanda Coogan (ไอร์แลนด์) ที่ทำงานร่วมกับชุมชนผู้ใช้ภาษามือ
– ผลงานศิลปิน ไอแซค ชอง ไว วิดีโอจัดวางที่พูดถึงผลกระทบจากสงคราม และความเศร้าโศกที่สังคมร่วมแบ่งปันกัน
– ผลงานศิลปิน Elmgreen & Dragset จัดแสดงประติมากรรมที่ละเอียดอ่อน บอบบาง
– ชุดผลงานจัดวางเฉพาะพื้นที่ หรือตอบสนองกับพื้นที่สาธารณะทั่วกรุงเทพ โดยศิลปินหลากหลายท่าน รวมถึง ชเวจองฮวา และการจัดประชุมสัมมนาวิชาการ เป็นต้น

ติดตามข่าวสาร และตารางกิจกรรมของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 Bangkok Art Biennale 2024 (BAB 2024) เพิ่มเติมได้ทาง Facebook และ Instagram : Bkkartbiennale  


อ่านเพิ่มเติม : งานศิลป์แปลก คนใช้ชีวิตในกล่องแคบ สะท้อนชีวิตอึดอัดยุคใหม่ ที่งาน BAB 2022

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.