ปฏิวัติเกษตรจีนเลี้ยงมังกรหิว

ปฏิวัติเกษตรจีนเลี้ยงมังกรหิวเลี้ยงมังกรหิว

จีนกำลังขบคิดปริศนาหนักอกข้อหนึ่ง นั่นคือทำอย่างไรจึงจะเลี้ยงประชากรเกือบหนึ่งในห้าของโลกด้วยที่ดินที่สามารถเพาะปลูกได้ไม่ถึงหนึ่งในสิบของพื้นที่ประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับรสนิยมการกินที่เปลี่ยนไปด้วย ชาวจีนกินอาหารประเภทเนื้อสูงขึ้นเกือบสามเท่าจากปี 1990 และในช่วงปี 1995 ถึงปี 2010 การบริโภคนมและผลิตภัณฑ์จากนมในกลุ่มประชากรเมืองเพิ่มสูงขึ้นสี่เท่า และสูงขึ้นเกือบหกเท่าในหมู่ประชากรชนบท ทุกวันนี้ จีนซื้ออาหารแปรรูปเพิ่มขึ้นอย่างมาก คือเพิ่มขึ้นราวสองในสามจากปี 2008 ถึงปี 2016

เนื่องจากทรัพยากรทางการเกษตรของจีนมีอยู่อย่างจำกัด การผลิตอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการอาหารการกินแบบใหม่นี้ จึงหมายถึงการมุ่งหน้าสู่ต่างประเทศ นั่นเป็นเหตุผลที่รัฐบาลกระตุ้นและช่วยเหลือบริษัทสัญชาติจีนให้ไปถือครองที่ดินเพาะปลูกและบริษัทผลิตอาหารในประเทศอย่างสหรัฐฯ ยูเครน แทนซาเนีย และชิลี แต่จีนเชิดชูการพึ่งพาตนเองในการผลิตธัญพืชชนิดหลักต่างๆมายาวนาน ทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ทางการเมืองและผลจากการตอบสนองต่อการโดดเดี่ยวทางการเมือง และเรื่องนี้ก็ส่งผลต่อเรือกสวนไร่นาในประเทศด้วย เมื่อปี 2013 ระหว่างประชุมหารือด้านนโยบายอาหารกับเจ้าหน้าที่รัฐในชนบท ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงกล่าวกับที่ประชุมว่า “ชามข้าวของเราควรมีอาหารจีนเป็นหลัก” ประเด็นนี้ก่อให้เกิดคำถามที่หาทางออกได้ยาก นั่นคือหากชาวจีนจะเลี้ยงตัวเองและบริโภคอาหารเหมือนชาวอเมริกันมากขึ้น นั่นจะส่งผลอย่างไรต่อวิถีการเกษตรของพวกเขา

ในฤดูใบไม้ผลิ เกษตรกรจะดำกล้าลงในแปลงนาขั้นบันไดเหลาหู่จุ้ย ซึ่งเป็นวิถีเกษตรดั้งเดิม ชาวนาบางคนยังคงใช้ควายไถพรวนดิน จีนหันไปทำเกษตรที่ปรับให้เป็นระบบอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่เกษตรกรรายย่อยยังมีบทบาทสำคัญอยู่

ความไม่สอดคล้องระหว่างอุปทานกับอุปสงค์ทางการเกษตรในจีนอาจดูเหมือนยากที่จะเอาชนะได้ ที่ดินที่สามารถเพาะปลูกได้ (arable land) มีอยู่ราว 843 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ประมาณ 93 ล้านไร่ปนเปื้อนมลพิษหรือกันไว้เพื่อฟื้นฟูสภาพ ขณะที่ประชากรซึ่งต้องผลิตอาหารมาเลี้ยงอยู่ที่ 1,400 ล้านคน แต่ฟาร์มขนาดมหึมาที่ผลิตอาหารป้อนรสนิยมอาหารการกินแบบตะวันตกนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างเลียนแบบขึ้นที่นี่ ส่วนหนึ่งไม่เพียงเป็นเพราะภูมิประเทศส่วนใหญ่ของจีนเป็นพื้นที่ภูเขาหรือไม่ก็ทะเลทราย แต่ยังเป็นเพราะพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดถูกซอยแบ่งเป็นเรือกสวนไร่นายิบย่อยราว 200 ล้านแปลง ภูมิทัศน์ทางการเกษตรของจีนไม่ได้ดูเหมือนผ้าห่มสีเขียวผืนใหญ่ หากดูเหมือนผ้าผวยที่ใช้เศษผ้าเย็บปะติดปะต่อกันมากกว่า

หากจีนต้องการตอบสนองรสนิยมทางอาหารที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปด้วยพืชผลที่ผลิตได้ภายในประเทศ “เราจำเป็นเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างครับ” หวางจี้คุน นักเศรษฐศาสตร์การเกษตรจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง บอกและเสริมว่า ระบบชลประทานต้องได้รับการยกระดับให้ดีขึ้น มีการนำเทคโนโลยีและจักรกลการเกษตรมาใช้อย่างกว้างขวาง แต่สิ่งแรกที่จำเป็นต้องทำหากต้องการผลิตอาหารป้อนประเทศจีนจากภายในบ้านตัวเอง คือการขยายไร่นาแปลงเล็กๆให้ใหญ่ขึ้น

ทางออกดังกล่าวอาจดูเหมือนง่าย แค่แทนที่ผ้าผวยที่เย็บจากเศษผ้าปะติดปะต่อกันด้วยผ้าห่มผืนใหญ่ซึ่งสามารถลาดปูทีเดียวเสร็จ แต่หวางเตือนว่า ขนาดใหญ่ไม่ได้แปลว่าดีที่สุดเสมอไป พืชผลหลักของจีนอย่างข้าวโพด ข้าว และข้าวสาลี ล้วนให้ปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงที่สุดเมื่อทำด้วยระบบเกษตรกรรมขนาดเล็ก การศึกษาชิ้นหนึ่งแนะนำว่า ขนาดที่เหมาะสมที่สุดคือระหว่าง 12 ถึง 44 ไร่ แผนการของจีนคือจะไม่รวมเรือกสวนไร่นาที่เกษตรกรรายย่อยถือครองเข้าด้วยกันเพื่อให้เป็นไร่นาขนาดใหญ่เหมือนในสหรัฐฯ เพราะนั่นแทบจะเป็นไปไม่ได้ในเชิงตรรกะ และยังอาจเป็นชนวนนำไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายในสังคมได้ เพราะนั่นหมายถึงการถอนรากถอนโคนเกษตรกรรายย่อยนับล้านๆราย อย่างน้อยในตอนนี้ ความคิดที่เหมาะสมคือการรวมเรือกสวนไร่นาที่อยู่ติดกันให้เป็นไร่นาที่มีขนาดประมาณลานจอดรถขนาดใหญ่สัก 40-50 ไร่

ที่เมืองชวีเจี้ยทางตอนใต้ของมณฑลกวางตุ้ง เด็กๆกินอาหารเช้าแบบจัดเต็มซึ่งมีทั้งบะหมี่ ไข่ และเนื้อสัตว์ที่หน้าโรงเรียน ปัจจุบัน หลายครอบครัวทั้งพ่อและแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน จึงมีเวลาน้อยลงสำหรับการเตรียมอาหารที่บ้านตามประเพณีดั้งเดิม

อันที่จริงแล้ว จีนเองมีไร่นาระบบอุตสาหกรรมที่ทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือแวดวงอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และโคนม ซึ่งทางการจีนสร้างขึ้นตามแบบของตะวันตก

ที่ฟาร์มเปิงปู้ของบริษัทโมเดิร์นฟาร์มมิงในมณฑลอานฮุย ซึ่งเป็นฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ที่สุดในจีน บรรดาแม่วัวพันธุ์โฮลสไตน์ลายขาวดำอยู่กันอย่างเงียบๆ ฟาร์มซึ่งมีขนาดเกือบ 1,500 ไร่แห่งนี้มีโรงเลี้ยงวัวขนาดมหึมาอยู่แปดโรงสำหรับเลี้ยงวัวนมโรงละ 2,880 ตัว นอกจากนี้ยังมีโรงเรือนสำหรับเลี้ยงลูกวัวกับแม่วัวตั้งท้อง ทำให้ฟาร์มแห่งนี้รองรับประชากรวัวได้สูงสุดถึง 40,000 ตัว ซึ่งจัดเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

แม้ขณะที่จีนพยายามขยายขนาดกิจกรรมการเกษตรให้ใหญ่โตขึ้น ชาวเมืองฐานะดีจำนวนมากก็ก้าวข้ามการทำฟาร์มระบบอุตสาหกรรมที่ไม่น่าไว้ใจ ตัวอย่างที่น่าสนใจรายหนึ่งพบได้ทางเหนือของกรุงปักกิ่ง ซึ่งเจี่ยงเจิ้งเชากำลังช่วยเพิ่มการทำเกษตรอีกรูปแบบหนึ่งให้กับอนาคตทางการเกษตรของจีน ด้านหลังอาคารคอนกรีตเตี้ยๆ สองหลังที่อยู่ติดกับทางด่วนซึ่งมีรถวิ่งเสียงกระหึ่ม เขาดูแลไร่เพาะปลูกขนาด 12.5 ไร่ที่เป็นเศษผ้าส่วนของเขาในผืนผ้าผวยของการเกษตรในประเทศจีน

เจี่ยงเพาะปลูกพืชผลเกือบร้อยชนิด ในจำนวนนี้มีแตงโม มะเขือยาว เผือก และข้าวโพดหวานรวมอยู่ด้วย เขานำบางส่วนไปขายที่ตลาดขายส่ง แต่ธุรกิจหลักของเขาคือการโน้มน้าวให้ชนชั้นกลางชาวปักกิ่งยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินเป็นงวดๆ ตลอดหกเดือนให้เขา เพื่อแลกกับบริการนำส่งผักสดปลอดสารตรงจากฟาร์มถึงประตูบ้านทุกอาทิตย์ “ผมมีความผูกพันทางใจ” กับการทำไร่ เจี่ยงผู้จบปริญญาด้านสังคมสงเคราะห์ เปิดใจ ท้ายที่สุด เขาหวนกลับมาทำไร่ “ผมไม่มีเงินพอจะใช้ชีวิตหรูหราได้” เขาบอก และเขาก็รับได้กับเรื่องนี้

 


อี้อูเป็นเมืองเล็กๆตามมาตรฐานของจีน แต่สินค้าหลายชนิดทั่วโลกถูกผลิตจากเมืองนี้

สินค้าที่ “ผลิตในจีน” จริงๆแล้วผลิตที่ไหน


 

เจี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์หวนคืนสู่เรือกสวนไร่นาของชาวจีนที่เกิดในชนบทและจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แม้จะยังอยู่ในวงแคบ แต่ก็พบเห็นได้มากพอจนมีวลีใช้เรียกผู้เข้าร่วมขบวนการนี้ว่า ฝ่านเซียงชิงเหนียน หรือหนุ่มสาวผู้หวนคืนสู่ชนบท ปัจจุบัน คนกลุ่มนี้มีองค์กรที่มุ่งสนับสนุนความสนใจของพวกเขาโดยเฉพาะ คือศูนย์พัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนวั่วถู่ ภาคเกษตรอินทรีย์ของจีนกำลังเฟื่องฟู โดยยอดขายเติบโตขึ้นถึง 30 เท่านับตั้งแต่ปี 2006 ตามการวิเคราะห์ของภาคอุตสาหกรรมการเกษตรเมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยยังบอกด้วยว่า โครงการเกษตรกรรมที่ชุมชนให้การสนับสนุน หรือซีเอสเอ (community-supported agriculture: CSA) ซึ่งเกษตรกรเดินตามรอยต้นแบบเดียวกันกับของเจี่ยง เกิดขึ้นแล้วอย่างน้อย 122 โครงการ แต่ขบวนการเคลื่อนไหวอ้างว่า น่าจะมีอยู่หลายร้อยโครงการแล้ว

สำหรับผู้บริโภค เสน่ห์ของฟาร์มขนาดเล็กนั้นมีสองต่อ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของความไว้วางใจว่า ตนจะได้รับอาหารที่ปลอดภัยจากมือเกษตรกร ยิ่งไปกว่านั้น ฟาร์มขนาดเล็กกว่ายังสะท้อนถึงขนบดั้งเดิมทางการเกษตรของจีนด้วย เวินเถี่ยจวิน นักวิชาการด้านประเทศจีนภาคชนบทระดับแถวหน้า กล่าว และนั่นเป็นเสน่ห์ดึงดูดชาวจีนทั้งที่อยู่ในชนบทและในเมือง “ในเอเชีย คุณมีประวัติศาสตร์การเกษตรยาวนานถึง 4,000 ปี” เวินบอก “คุณไม่เพียงแค่ผลิตอาหารได้มากพอสำหรับประชากรจำนวนมหาศาลขนาดนี้ แต่ยังมีสิ่งแวดล้อมที่ดีมากด้วยครับ”

เรื่อง เทรซี แมกมิลแลน

ภาพถ่าย จอร์จ สไตน์เมตซ์

 

อ่านเพิ่มเติม

มรดกโลก : อลังการความงามแผ่นดินมังกร

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.