ชวนชมเส้นทางธรรมชาติป่าชายเลนสงขลา ชิมยำสาหร่ายผมนาง อาหารโบราณที่มีอายุเกิน 100 ปี

สงขลา ถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่น่าสนใจในภาคใต้ แม้ว่าที่ผ่านมาอำเภอหาดใหญ่จะมีชื่อเสียงมากกว่าพื้นที่อื่นๆ แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สงขลา มีการความเปลี่ยนแปลง

สงขลา ถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่น่าสนใจในภาคใต้ แม้ว่าที่ผ่านมาอำเภอหาดใหญ่จะมีชื่อเสียงมากกว่าพื้นที่อื่นๆ แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สงขลา มีการความเปลี่ยนแปลงที่พัฒนาขึ้นในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และ ศิลปะ ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา หลายหน่วยงานในจังหวัดมีการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะเขตเมืองเก่า ที่ตอบโจทย์ด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น

ส่วนตัวจังหวัดก็เดินหน้าขับเคลื่อนสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO) ด้านอาหาร ซึ่งมีการดึงทุนทางวัฒนธรรมและความหลากหลายของอาหารในพื้นที่มาแสดงศักยภาพ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกันอีกสิ่งที่โดดเด่นมากในเมืองสงขลาก็คือ ธรรมชาติซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ มีทั้งทะเล ทะเลสาบ ป่าไม้ และภูเขา แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในจังหวัดมีมากมาย โดย 1 ในนั้นคือ เส้นทางธรรมชาติป่าชายเลนสงขลา แหล่งเรียนรู้ในการศึกษาธรรมชาติทางชีวภาพป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์อีกแห่งหนึ่งของทะเลสาบสงขลา

ป่าชายเลนในสวนประวัติศาสตร์

เส้นทางธรรมชาติป่าชายเลนสงขลา ตั้งอยู่ภายในบริเวณสวนประวัติศาสตร์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สงขลา เป็นแหล่งเรียนรู้ความหลากหลายทางธรรมชาติอีกแห่งที่น่าสนใจ อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก พิกัดคืออยู่ตรงเชิงสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ซึ่งมีชื่อว่า สะพานติณสูลานนท์ เลี้ยวซ้ายเข้ามาในสวนก็จะเจอกับวงเวียนให้วนขวาเลียบสระน้ำเลี้ยวซ้ายเข้าไปทางเส้นทางสวนพฤกษศาสตร์

เมื่อมองสองข้างทางเราจะพบกับต้นตาลโตนด ระยะทางประมาณ 500 เมตรก็จะเจอกับศูนย์บริการการเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนขวามือ ด้านหน้าศูนย์บริการฯมีพื้นที่จอดรถรองรับรถทัวร์ รถยนต์ รถตู้ศูนย์บริการนี้จะแสดงข้อมูลป่าชายเลนพันธุ์ไม้ และพันธุ์สัตว์ ให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้รู้ข้อมูลก่อนเดินชมป่าชายเลนแห่งนี้

คลองในสวนประวัติศาสตร์ฯ ที่ไหลลงไปสู่ทะเลสาบสงขลา

ป่าชายเลนบริเวณภายในสวนประวัติศาสตร์ฯ คือเป็นป่าชายเลนสังคมพืชและสัตว์ที่เกิดอยู่ริมคลองวง ซึ่งเป็นคลองที่ไหลงลงสู่ทะเลสาบสงขลา และได้รับอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลงจากทะเลสาบที่เชื่อมต่อกับทะเลน้ำเค็ม ทำให้คลองวงในบริเวณนี้มีสภาพน้ำกร่อย จึงเป็นปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ อีกทั้งในป่าชายเลนยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน รวมถึงสัตว์

อื่นๆ อีกนานับชนิดตอนมาถึงได้เจอกับคณะน้อง ๆ นักเรียนจากโรงเรียนในเขตตำบลสะกอมอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แวะมานั่งทานข้าวกลางวัน และคุณครูน่ารักอัธยาศัยดีมีการแบ่งเงาะกับกล้วยที่ปลูกที่บ้านให้เรามาทานด้วย (เงาะหวาน กรอบ อร่อยมากเลย)

ในส่วนของเส้นทางธรรมชาติ เมื่อเข้าไปด้านในจะพบกับเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน เป็นสะพานคอนกรีตแข็งแรงระยะทางเดินประมาณ 800 เมตร โดยมีศาลาการเรียนรู้อยู่ 4 ศาลาด้วยกัน คือ ศาลาคลองวง ศาลาโกงกาง ศาลาลำพู และศาลาลำแพน ต่อมาก็เลี้ยวซ้ายตามป้ายบอกทางเดินออกไปซึ่งสองข้างทางที่เดินก็จะเจอกับโกงกางใบเล็กตลอดเส้นทางเดินไปแปปเดียวก็จะเจอศาลาแรก ซึ่งก็คือศาลาคลองวง

ศาลาแห่งนี้จะนำเสนอข้อมูลเมนูอาหารพืชป่าชายเลนว่าพืชในป่าชายเลนนี้สามารถนำไปประกอบอาหารอะไรได้บ้าง ซึ่งสามารถทำได้ทั้งอาหารคาวหวาน ขณะเดินไปก็เจอชาวบ้านกลุ่มนึงกำลังหาหอยอยู่พอดีเพื่อนำไปประกอบอาหารกันในครอบครัว หลังจากนั้นก็เดินกลับทางเดิมเพื่อที่จะไปเดินสะพานเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนซึ่งมี 2 เส้นทาง (สะพานเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนทางออกที่ 1 และสะพานเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนทางออกที่ 2 )

สะพานเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนทางออกที่ 1 มีระยะทางประมาณ 265 เมตรระหว่างเส้นทางก็จะมีศาลาโกงกางและศาลาลำแพนเป็นศาลาแสดงข้อมูลให้ความรู้ซึ่งศาลาโกงกางนี้จะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ในป่าชายเลนว่ามีต้นอะไรบ้าง และศาลาลำแพนเป็นศาลาที่แสดงข้อมูลคุณประโยชน์ของป่าชายเลน

ทางเดินป่าโกงกางภายในสวน

ระหว่างทางที่เดินก็จะเจอกับป้ายบอกชื่อของต้นไม้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นตะบูนดำ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก หวายลิง ตาตุ่มทะเล ตอนเดินอยู่ได้เจอดอกไม้อะไรก็ไม่รู้สีขาว สวยดี เลยได้แวะถ่ายรูปน้องดอกไม้สีขาวนั้นเอาไว้ (มารู้ทีหลังตอนอ่านเจอป้ายข้อมูลน้องมีชื่อว่าถอบแถบน้ำ) เดินไปพลางฟังเสียงลมพัด เสียงใบไม้เสียดสี เกิดเป็นเสียงที่ได้ยินแล้วรู้สึกสบาย สงบ เสียงธรรมชาตินี่มันดีจัง ได้ลองอยู่กับตัวเองเงียบ ๆ เดินไปก็ฟังเสียงของธรรมชาติไปทั้งเสียงลมพัด ใบไม้เสียดสี เสียงจิ้งหรีด เป็นการพักสมองผ่อนคลายความเหนื่อยล้าจากการทำงาน เดินชมธรรมชาติ2ข้างทาง เจอสีเขียวสดใสของต้นไม้ สีฟ้าของท้องฟ้าที่สวย เส้นทางระหว่างเดินจะมีพื้นที่ได้นั่งพักชมป่าชายเลนอีกฝั่งของคลองวง นั่งพักเหนื่อยปล่อยอารมณ์ดื่มด่ำกับธรรมชาติสูดลมหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไปเต็มปอดรู้สึกสดชื่นจริง ๆ ระหว่างพักที่ศาลาลำแพนเราสามารถมองเห็นทางออกที่ 1 ได้เลย ใกล้มาก แต่ยังไม่เดินออก เราเดินย้อนกลับไปทางเดิมเพื่อจะเดินสะพานเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนเส้นทางออกที่ 2 ต่อ

สะพานเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนเส้นทางทางออกที่ 2 ระยะทาง 400 เมตร จะเจอศาลาลำพู ซึ่งเป็นเส้นทางที่ยาวที่สุด ศาลาลำพู เป็นศาลาแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ในป่าชายเลนว่ามีอะไรบ้างเส้นทางนี้ระหว่างทางเดินก็จะเจอเอื้องกุหลาบเดือยไก่ ปอทะเล โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ฝาดดอกขาว ถอบแถบน้ำ ที่พบในเส้นทางนี้เยอะเกือบตลอดเส้นทาง เส้นทางนี้มีจุดนั่งพักลานคอนกรีต ล้อมรอบต้นโกงกาง ไปนั่งตรงเก้าอี้คอนกรีตมองออกไป บริเวณนี้มีลมพัดเย็นสบาย และมีวิวที่สวยมาก ลมพัดเย็นเอื่อย ๆ

ตามรอยยำสาหร่ายผมนาง อาหารพื้นถิ่นฝั่งเกาะยอที่มีอายุเกิน 100 ปี

สำรับยำสาหร่ายผมนางแห่งเกาะยอ

ยำสาหร่ายผมนาง หรือ ยำสาย อยู่ไม่ไกลจากจากสวนประวัติศาสตร์ฯ เมื่อผ่านสะพานติณสูลานนท์ จะร้านของฝากมีขายทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ซึ่งมีร้านค้าที่ขายยำสาหร่ายผมนางเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก ในกล่องจะมียำสาหร่ายผมนาง หอมแดง พริกสด กินพร้อมกับใบชะพลูรสชาติหวานอมเปรี้ยว หอมกลิ่นมะพร้าวคั่วและถั่วคั่ว สาหร่ายกรุบกรุบ

ใครที่อยากรู้วิธีการทำยำสาหร่ายผมนาง ต้องไปที่วิสาหกิจชุมชนยำสาหร่ายผมนางเกาะยอ ซึ่งมีพี่กาญจน์ แม่ค้าที่เปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวเข้าไปดูวิธีการทำยำสาหร่ายผมนางของเธอได้

คุณกาญจน์ จิระกาญจน์ หาญณรงค์ เล่าถึงอาชีพการทำยำสาหร่ายผมนางขาย โดยบอกเล่าเรื่องที่ฟังต่อมาจากคุณยายว่า ที่สงขลาการกินสาหร่ายผมนางเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 100 ปีแล้ว ซึ่งเริ่มต้นจากการที่ชาวบ้านเห็นพ่อค้าชาวจีนจากฝั่งเมืองสงขลาที่อพยพมาอาศัยบริเวณเกาะยอมีการนำสาหร่ายผมนางมาปรุงเป็นอาหาร ชาวบ้านในสมัยนั้นเลยนำสาหร่ายผมนางมาทดลองทำเป็นอาหารทั้งแบบกินสดและทำเป็นยำสาหร่าย และพบว่าอร่อย สามารถนำมาทานเป็นเมนูอาหารประจำได้ จากที่ทำกินกันเองตามบ้าน ต่อมามีการพัฒนาเรื่องรสชาติแล้วนำไปขายตามท้องตลาดในพื้นที่ กระทั่งได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับครอบครัวคุณกาญจน์ เริ่มขายยำสาหร่ายผมนาง มาตั้งแต่รุ่นคุณยาย จนถึงปัจจุบันพี่กาญจน์รับสืบทอดกิจการมาจากคุณแม่ จึงถือ เป็นรุ่นที่สามในการสืบทอดการทำยำสาหร่ายผมนาง ซึ่งมีขายเฉพาะตำบลเกาะยอที่เดียว โดยเป็นสูตรลับเฉพาะของชุมชน

สาหร่ายผมนาง สามารถหาได้ในทะเลสาบสงขลาโดยเฉพาะบริเวณรอบๆ เกาะยอ ซึ่งเป็นน้ำกร่อยและน้ำเค็ม สาหร่ายผมนางสีดำสามาถทำให้เป็นสีขาวด้วยวิธีธรรมชาติ คือ นำไปตากน้ำค้าง แล้วล้างด้วยน้ำฝน ซึ่งจะทำให้เส้นของสาหร่ายผมนางเป็นสีขาวนุ่ม และมีความกรอบ

ยำสาหร่ายผมนางเป็นอาหารทั่วไป มีขายเฉพาะในท้องถิ่นเกาะยอและบริเวณใกล้เคียง โดยยุคแรกใส่เป็นกระทง ราคาขายตั้งแต่กระทงละ 25 สตางค์ แล้วเพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ เป็น 50 สตางค์ 1 บาท ไปเรื่อย ๆ จนปัจจุบันราคากล่องละ 20 บาท ซึ่งมีวัตถุดิบที่สำคัญประกอบด้วย สาหร่ายผมนาง มะพร้าวคั่ว ถั่วลิสงคั่วบดหยาบน้ำยำ และส่วนผสมของ กะทิ มะขามเปียก น้ำตาลปี๊บ เกลือ ส่วนเครื่องเคียง ประกอบด้วย พริกสดนิยมสีเขียว หอมแดงซอย และใบชะพลู

วิธีการทำยำสาหร่ายผมนาง ลำดับแรกให้หั่นหอมแดง พริกสด เตรียมไว้ ต่อมานำสาหร่ายผมนางใส่ในชามพอประมาณ ตักน้ำยำราดบนสาหร่าย แนะนำว่าค่อยๆ ราดน้ำยำลงไป ใส่มะพร้าวคั่ว ถั่วลิสง คลุกให้เข้ากัน ชิมรสชาติให้ถูกใจ ตักใส่จานที่รองด้วยใบชะพลู ตกแต่งด้วยหอมแดง พริกสด  หน้าตาสวยงามน่าทาน

วิธีการทานยำสาหร่ายผมนาง เริ่มต้นที่นำใบชะพลูมาม้วนเป็นรูปทรงกรวยหยิบยำสาหร่ายผมนาง หอมแดง พริกสด ใส่ลงไปตามลำดับ โดยหากใครสนใจ คุณกาญจน์พร้อมให้ความรู้และให้ทดลองทำยำสาหร่ายด้วยตนเอง สนใจสามารถติดต่อได้ที่ คุณกาญจน์ จิระกาญจน์ หาญณรงค์ วิสาหกิจชุมชนยำสาหร่ายผมนางเกาะยอ เบอร์ติดต่อ 093-6673033

วิสาหกิจชุมชนยำสาหร่ายผมนางเกาะยอ 43/1 ม.4 ต.เกาะยอ อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา

พิกัด https://maps.app.goo.gl/r8Cj1duKgfxPQwFD7

เส้นทางธรรมชาติป่าชายเลนสงขลา – สวนประวัติศาสตร์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สงขลา

เข้าชมฟรี เปิดทุกวันตั้งแต่ 06.00 – 20.00 น.

กรณีต้องการวิทยากรนำชมป่า ค่าบำรุง 150บาท/1กลุ่ม/50คน (ต้องจองคิวล่วงหน้า)

ติดต่อ 0743302678

พิกัด https://maps.app.goo.gl/EWkAGkmXUVsQdW5P6

 

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ภาพจาก นลินี หมานหมาด


อ่านเพิ่มเติม : จังหวะชีวิตที่หายไปและลมหายใจที่เปลี่ยนแปลง ณ ทะเลสาบสงขลา

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.