คนยุคก่อนอาจเคยเรียกคนขีดๆ เขียนๆ ภาพในที่สาธารณะว่าคนมือบอน แต่เดี๋ยวนี้ภาพกราฟฟิตี้กลายเป็น “สตรีทอาร์ต” (street art) หรืองานศิลปะบนถนนแล้ว และยังเริ่มถูกยอมรับกันทั่วไปในฐานะงานศิลปะที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ ความที่มันเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของบ้านเมืองนั้นๆ นั่นเอง
สตรีทอาร์ตเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งของเมือง ไม่เพียงแต่จะดึงดูดสายตาให้มองเท่านั้น หลายครั้งที่สตรีทอาร์ตยังมีหน้าที่เป็นประตูสู่ความห่วงใยสำคัญที่ซ่อนอยู่ในสังคม วัฒนธรรม หรือการเมือง ในสถานที่ที่มันปรากฏอยู่ ในขณะที่มันเป็นเรื่องง่ายที่จะถ่ายรูปงานสวยๆ บนกำแพงเมืองสักแห่ง แล้วอัปโหลดลงอินสตาแกรม งานสตรีทอาร์ตที่สวยที่สุดยังคู่ควรกับการใช้เวลาสักสองสามขณะเพื่อคิดว่ามันพูดถึงสิ่งใด และต่อไปนี้คือเมืองที่ดีที่สุดในโลกที่จะมองหางานสตรีทอาร์ตที่มีความหมาย มาดูกันว่ามีกรุงเทพมหานครรวมอยู่ด้วยไหม
โบโกตา, โคลอมเบีย
ประวัติศาสตร์ของโคลอมเบียที่ดังก้องสะท้อนไปมาบอกว่าสตรีทอาร์ตที่มีหัวใจเกี่ยวกับการเมืองและเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมีอิทธิพลอย่างไร หลังจากการประท้วงตำรวจที่ยิงวัยรุ่นคนหนึ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2011 โบโกตานิรโทษกรรมงานสตรีทอาร์ตที่เคยผิดกฎหมายอย่างขนานใหญ่ ทำให้ภาพวาดผนังที่งดงามเกิดขึ้นทั่วเมือง
เริ่มจากภาพของ Guache บนด้านหน้าของสตูดิโอดนตรี Holofónica แล้วสำรวจถนนสายศิลปะ La Candelaria ก่อนจะมุ่งไป El Centro ตรงสี่แยก Carrera 4 ตัดกับ Calle 20 มีภาพหลายภาพที่แสดงเป็นภาพใหญ่ภาพเดียว งานสเตนซิลของ Toxicómano ที่ทำร่วมกับ DJ Lu, Lesivo, และ Guache, แสดงใบหน้าของบรรดาคนไร้บ้านที่สื่อถึงเรื่องอื้อฉาวเมื่อทหารล่อลวงพลเมืองที่ยากจนออกไปยังที่ห่างไกลด้วยคำสัญญาว่าจะหางานให้ ก่อนจะลงมือฆาตกรรม แล้วจับพวกเขาแต่งตัวด้วยเครื่องแบบกบฏ และเสนอข่าวว่าพวกเขาเป็นกองโจร ภาพระเบิดมือที่ทิ้งในชนบทของโคลอมเบีย สื่อถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนานหลายทศวรรษจนทำให้ประเทศแตกเป็นเสี่ยงๆ ก็ปรากฏให้เห็นอยู่ข้างๆ ภาพถุงเงินและหมวกคนทำเหมือง ก็สื่อถึงความโลภของทุนนิยมและการตักตวงทรัพยากรธรรมชาติของโคลอมเบีย
วิลเลียมเบิร์ก, นิวยอร์ก
ย่านที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางแห่งความเท่แห่งนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยการให้ใช้ภาพศิลปะบนถนนเป็นฉากหลังสำหรับเซลฟี่ เมื่อมองดูให้ดีจะพบว่า งานศิลปะดังกล่าวแสดงถึงใบหน้าหลากหลายของมนุษยชาติที่ถักทอขึ้นเป็นเมือง
เริ่มต้นจากถนน North 10th และ Bedford ที่ภาพเด็กชายลูกครึ่งอิตาเลียนจาไมกาชื่อ คามิโล เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เผ่าพันธุ์มนุษย์” ของ Jorit Agoch ห่างจากนั้นสามบล็อกทางใต้ เป็นภาพ “วางอาวุธลง” ของ Faith 47 สะท้อนธรรมชาติที่เชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งของมนุษย์ ที่ TPA Brooklyn on Wythe คู่หูชาวอิหร่าน ไอซีกับซ็อต ก็แสดงควาพเด็กๆ ที่เอิบอาบสีรุ้ง ซึ่งแสดงถึงเสรีภาพการสร้างสรรค์ที่พวกเขาพบในบรูกลิน
อิสตันบูล, ตุรกี
“อิสตันบูลแหล่งรวมวัฒนธรรม” Leo Lunatic ศิลปินท้องถิ่นกล่าว “พหุวัฒนธรรมและความหลากหลายฝังลึกอยู่ในสังคมอิสตันบูลและสายตาชาวโลก ไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันของภูมิภาคและความสำคัญทางภูมิศาสตร์การเมืองของเราจะเป็นอย่างไร เราก็ยังเป็นศิลปิน เลือกที่จะปลอดการเมืองเป็นหลัก ศิลปินส่วนใหญ่สร้างสรรค์บางอย่างเพื่อส่งเสริมสันติภาพ ประณามสงครามหรือเห็นด้วยกับการเมืองแบบที่ชอบ”
ในทางวัฒนธรรม จากประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ศิลปินสตรีทของอิสตันบูลทำงานหนัก ศิลปินจำนวนมาก “แสดงการทำลายของกรีกและโรมันในงานศิลปะของเรา สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ของอิสตันบูลและมรดกด้านประติมากรรมที่พบได้ทั่วในตุรกีบุคปัจจุบัน” ลีโอ มักจะใส่ลวดลายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกระเบื้องออตโตมันและรายละเอียดในงานสถาปัตยกรรม ถึงแม้ว่าเอกลักษณ์งานของเขาจะเป็นรูปแพนด้าหลายเวอร์ชั่นที่พบได้ทั่วกำแพงเมืองก็ตาม
รูปแพนด้าสูงเท่าตึกสองชั้นที่พ่นด้วยสเปรย์ ใต้หอคอย Galata ในเขต Karaköy จากตรงนั้นมุ่งไปทางตะวันออกเฉียงใต้ผ่านถนนด้านหลังที่มีคาเฟ่มากมาย ไปทางบอสฟอรัส ก็จะพบกับศิลปะบนผนังและแผงร้านค้า ส่วนใหญ่เป็นฝีมือของ Mr. Hure, Olihe, และ Luckypunch ซึ่งเพิ่งถูกเล่าไปในสารคดีชื่อ Revolt Against Gray
ไคโร, อียิปต์
การปฏิวัติอียิต์เมื่อปี 2011 จุดประกายระเบิดให้สตรีทอาร์ตที่ได้รับอิทธิพลที่เกี่ยวกับการเมืองชนิดที่ชาวไคโรไม่เคยเห็นมาก่อน ภาพสเตนซิลรูปการล้มตายของนักกิจกรรมและภาพเขียนลายมือของเผด็จการบนพื้นผิวผนังรอบ Tahrir Square โดยเฉพาะที่ถนน Mohammed Mahmoud ที่กำแพงของมหาวิทยาลัยอเมริกันแห่งไคโรถูกใช้เป็นหนังสือพิมพ์ของนักกิจกรรม
การกวาดล้างผู้ประท้วงทำให้งานศิลปะที่ปลุกเร้าที่สุดเงียบเสียงลง กำแพงมหาวิทยาลัยอเมริกันแห่งโคโรถูกทาสีทับและบางส่วนก็ถูกทำลาย แต่บางภาพเช่นภาพพอร์เทรตของ Ammar Abo Bakr ยังคงอยู่ จากมหาวิทยาลัยดังกล่าวไปทางทิศตะวันออกราว 5 กิโลเมตรจะเป็นย่าน Mansheya Nasir ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของคนเก็บขยะ ศิลปิน El Seed สดุดีผู้ใช้แรงงานกลุ่มนี้ด้วยภาพขนาดใหญ่ 50 ตึกเป็นภาพลายมืออักษรอาหรับด้วยคำพูดของนักบวชชาวคอปติกสมัยศตวรรษที่สามว่า “ถ้าใครอยากเห็นแสงตะวัน เขาต้องเช็ดดวงตาของตนเอง”
กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย
กรุงเทพฯ มอบโอกาสในผู้มาเยือนมองภาพสตรีทอาร์ตด้วยมุมมองพิเศษจากแม่น้ำ ภาพฝาผนังที่สร้างขึ้นปีที่แล้วในเทศกาลศิลปะ “บุกรุก” จะเห็นก็ต่อเมื่อนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาจากท่าเตียนถึงสะพานสาทร
ภูมิทัศน์ของกรุงเทพฯ และคนกรุงเทพฯ สร้างแรงบันดาลใจทางศิลปะ ถ้านั่งเรือจากท่าราชวงศ์ จะเห็นภาพกลุ่มจักรยานที่วาดโดย Aryz ส่วนภาพช้างสองตัวหกคะเมนฝั่งตรงข้ามก็แสดงถึงสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้ๆ ที่เขาวาด
สตาวังเงร์, นอร์เวย์
ทุกๆ ปี ชาวเมืองจะยอมมอบกำแพงบ้านหรือธุรกิจของตนเข้าร่วมเทศกาลศิลปะ NuArt ไม่มีใครรู้ว่าศิลปินจะวาดรูปอะไร แต่ทุกคนเห็นพ้องกันว่าจะปล่อยภาพนั้นทิ้งไว้อย่างน้อยหนึ่งปี หลายครั้งผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นประเด็นในท้องถิ่นที่แสดงในพื้นที่สาธารณะ
เริ่มจากใจกลางเมืองด้านหลังโรงแรม Scandic Stavanger City ภาพขาวดำของ Roa แสดงภาพวาฬที่ถูกเฉือนจนเลือดและน้ำมันกระจาย ซึ่งแสดงแนวคิดเรื่องประเพณีการล่าวาฬและการพึ่งพาน้ำมันของนอร์เวย์ ถัดไปทางตะวันออกถึง Storhaug ไซโลสูง 36 เมตร สองแห่ง ปรากฏภาพวาด Fintan Magee, Monument to a Disappearing Monument ของ Fintan Magee ที่พูดถึงราคาน้ำมันโลกที่ตกลงและผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมืองสตาวังเงร์ เมืองหลวงน้ำมันของนอร์เวย์ ภาพดังกล่าวแสดงภาพคนงานน้ำมันบนไซโลแห่งหนึ่งและภาพสะท้อนของเขาซึ่งแตกกระจายและอันตรธานไปบนไซโลอีกแห่งหนึ่ง
ซานฮวน, เปอร์โตรีโก
เทศกาลสตรีทอาร์ต Santurce Es Ley ที่เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2010 จุดประกายให้ย่าน Santurce ที่ถูกปล่อยทิ้งมานานในเมืองซานฮวน แปรเปลี่ยนเป็นจุดหมายปลายทางหลักทางศิลปะ แต่ภาพวาดบนตึกต่างๆ ไม่ได้เป็นแค่วอลล์เปเปอร์เท่านั้น หลายภาพมีเป้าหมายเพื่อเสนอประเด็นร่วมสมัยและประวัติศาสตร์ของเปอร์โตรีโก
ที่หัวมุมของ Calles Cerra และ Aurora ภาพวาดบนผนังที่แสดงเรือสามลำของโคลัมบัสเมื่อออกเดินทางในปี 1492 ศพก่ายกองกันและทะเลเปลี่ยนเป็นสีเลือดอยู่ในผลงานของกลุ่ม El Basta มีชื่อว่า “การเดินทางที่เรือแตกมากกว่ากะลาสี” ซึ่งเป็นวลีที่คัดจาก The Open Veins of Latin America ของ Eduardo Galeano กลุ่ม El Basta บอกว่า “เหมาะสำหรับการพรรณนาถึงกระบวนการล่าอาณานิคม การตักตวงผลกระโยชน์ และการปล้นที่เกิดขึ้นนับแต่นั้น”
“ในปี 2014 เมื่อเราเริ่มทำภาพบนผนัง ตอนนั้นยังไม่มีสตรีทอาร์ตที่ซ่อนความหมายทางการเมืองมากนัก” กลุ่มศิลปิน El Basta กล่าว “แต่มันเปลี่ยนไปแล้ว” ถัดไปที่ Cerra ดูภาพ “จงตื่นเถิดชาวเปอร์โตริกัน” โดย Natalia Sanchez ที่เป็นเสียงร้องปลุกให้ตื่นตัวทางเกษตรกรรม วิกฤติทางเศรษฐกิจของเปอร์โตรีโกทำให้พลเมืองต้องไปหางานทำต่างประเทศ การกลับสู่อ้อมอกมาตุภูมิที่อุดมสมบูรณ์เป็น “ความหวังเดียวของเราที่จะสร้างประเทศที่พึ่งพาตนเองและมีอธิปไตย”
โดย คาเรน การ์ดิเนอร์