ฮากา คืออะไร ถอดความหมายเบื้องหลังการเต้นประท้วงในสภานิวซีแลนด์

“Kawana, Ka Whakamanuwhiritia Koe e au”

“รัฐบาลเอ๋ย ท่านเป็นเพียงแค่ผู้มาเยือนเท่านั้น” 

ทุกสายตาต่างจับจ้องมาเธอ เมื่อฮานา-ราฟิติ มาอิปิ-คลาร์ก (Hana-Rāwhiti Maipi-Clarke) สมาชิกผู้แทนราษฎรวัย 22 ปี ตัวแทนจากพรรคเตปาติ-เมารี (Te Pāti Māori) ลุกขึ้นยืนกล่าวคำพูดสั้น ๆ เป็นภาษาเมารี (Māori) ที่ถอดความได้ว่า “พรรคเมารี โหวตไม่รับร่างทั้ง 6 เสียง” ก่อนที่เธอจะฉีกร่างกฏหมายฉบับใหม่ทิ้งกลางสภา เปล่งเสียงอันทรงพลัง พร้อมส่งแววตาถมึงทึง รัวมือจนสั่นระริก ตีอกชกตัว จนเจอร์รี่ บราวน์ลี (Jerry Brownlee) ประธานสภาเกือบจะคุมความโกรธเอาไว้ไม่อยู่

ประเด็นร้อนในวันนั้น อยู่ที่การพิจารณาร่างกฏหมายใหม่เกี่ยวกับการตีความสนธิสัญญาไวตังกิ (Treaty of Waitangi) เพื่อสร้างความเท่าเทียมระหว่างประชากรทุกกลุ่มในนิวซีแลนด์ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า การตีความร่างกฏหมายใหม่นี้ อาจไปลดทอนสิทธิพิเศษที่ชาวเมารีเคยได้รับ โดยไม่สนใจว่าพวกเขาจะเป็นผู้ตั้งรกรากกลุ่มแรกในแผ่นดิน ‘อาวเตอารัว (Aotearoa)’ หรือดินแดนที่มีเมฆสีขาวทอดยาว ซึ่งก็คือ ประเทศนิวซีแลนด์ในปัจจุบันก็ตาม

แม้ว่าร่างกฏหมายดังกล่าวแทบจะไม่มีโอกาสผ่านอยู่แล้ว แต่การนำเสนอเพียงครั้งเดียว จากพรรคฝั่งอนุรักษ์นิยม ก็จุดชนวนให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของนิวซีแลนด์ในรอบหลายทศวรรษ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีรายงานจากตำรวจว่าการเดินขบวนครั้งนี้ มีประชาชนเข้าร่วมกว่า 4,2000 คน รวมไปถึง ควินี งาไว โฮโน อิ เต โป (Nga Wai Hono i te Po) ราชินีของชาวเมารีที่มาร่วมเดินขบวนในครั้งนี้ด้วย 

“ฮากา ของมาอิปิ-คลาร์ก ในรัฐสภา คือการลั่นกลองรบ 

ชวนให้ผู้คนออกมาพิทักษ์สิทธิของชาวเมารี”

แล้วอะไรคือพลังที่ซ่อนอยู่ในท่วงท่าและเสียงร้องของฮากา? ทำไมการแสดงที่หลายคนมองว่าเป็นเพียงการเต้นรำของชนพื้นเมือง จึงสามารถสั่นคลอนสภาผู้แทนราษฎรได้ถึงเพียงนี้? คำตอบนี้อยู่ในรากเหง้าและความหมายที่แท้จริงของ ‘ฮากา’ การแสดงที่เป็นมากกว่าการเต้นรำของชาวเมารี

ฮากาคืออะไร

ฮากา (Haka) เป็นมากกว่าการเต้นรำหรือการแสดงทั่วไป แต่เป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่ทรงพลังของชาวเมารี ซึ่งมีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปหลายร้อยปี ในภาษาเมารี คำว่า ‘ฮากา’ มีความหมายตรงตัวว่า ‘การเต้นรำ’ หรือ ‘การแสดง’ มีรากศัพท์มาจากคำว่า ‘HA’ ที่แปลว่าลมหายใจ และ ‘KA’ ที่แปลว่า จุดประกายหรือเติมพลัง ตามตำนานเล่าว่า ฮากาถือกำเนิดจาก ทาเนะ โรเร (Tane-rore) บุตรของทามานูอิเทรา (Tama-nui-te-ra) เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์และฮิเนะ-ราอูมาติ (Hine-raumati) เทพธิดาแห่งฤดูร้อน ที่เห็นแม่ของเขาปรากฏกายในวันที่ร้อนอบอ้าว ด้วยท่าทางที่รวดเร็ว จนทำให้อากาศสั่นสะเทือน ทาเนะ โรเร จึงทำท่าสั่นมือแทนภาพการปรากฏตัวนั้น แล้วแสดงเป็นฮากาให้แม่ได้ชม 

ฮากาประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญหลายอย่าง ทั้งท่าทางการเต้น การเคลื่อนไหว การตบตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย การกระทืบเท้า (waewae takahia) และที่สำคัญที่สุดคือการแสดงออกทางสีหน้า ด้วยการแลบลิ้น (whetero)  โปนตา (pūkana) จนน่ากลัว ซึ่งตรงกันข้ามกับความคิดของคนส่วนใหญ่ ที่มักคิดว่า ‘ฮากา’ ใช้เต้นเพื่อข่มขวัญศัตรูยามสงครามเพียงอย่างเดียว แต่กลับกัน ‘ฮากา’ ก็ถูกแสดงเพื่อการต้อนรับแขกหรือมิตรสหาย ดังนั้นเราจึงคุ้นเคยกับการเต้นฮากา ก่อนการแข่งขันกีฬา นอกจากนี้ ฮากายังสามารถใช้ในการแสดงความเคารพในงานศพหรือบ่งบอกถึงความสำเร็จ และเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ได้ด้วย

ประเภทของฮากา

ความพิเศษของฮากาอยู่ที่ความสามารถในการปรับเปลี่ยนและประยุกต์ใช้เข้ากับสถานการณ์ที่หลากหลาย โดยยังคงรักษาแก่นแท้ของความหมายและพลังในการสื่อสารไว้อย่างครบถ้วน จากการศึกษาประเพณีและวัฒนธรรมของชาวเมารี เราพบว่า ฮากาแต่ละประเภทถูกออกแบบมาเพื่อสื่อสารความรู้สึกและจุดประสงค์ที่เฉพาะเจาะจง โดยแบ่งกว้าง ๆ ตามจำนวนผู้แสดงได้เป็น 2 ประเภท คือ ‘ฮากา’ (Haka) ที่มีผู้แสดงคนเดียว และ ‘คาป้า ฮากา’ (Kapa Haka) หรือการแสดงฮากาเป็นกลุ่ม และสามารถแบ่งประเภทของฮากาตามวัตุประสงค์ของการแสดงได้ตามตัวอย่างดังนี้

ตัวอย่างฮากาที่แบ่งตามวัตุประสงค์การแสดง

ชาวเมารีทำคาปา ฮากา เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การลงนามในสนธิสัญญาไวตังกิ เนื่องในโอกาสครบรอบ 177 ปี ในวันไวตังกิ เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2017 / ภาพ Umomos, Shutterstock

ชาวเมารีพูดอะไรตอนแสดงฮากา

หากใครเป็นคอกีฬาอาจจะคุ้นชื่อของ ‘All Blacks’ หรือทีมรักบี้ ทีมชาตินิวซีแลนด์ ที่มักแสดงแสงฮากาก่อนการแข่งขัน จนกลายเป็นภาพจำให้ใครต่อใครรู้สึกหวั่นเกรงทีมรักบี้ทีมนี้ ทั้งที่จริงแล้วการเต้นฮากาของพวกเขา เป็นเหมือนการต้อนรับคู่แข่งก่อนเกมการแข่งขันเท่านั้น

‘คา มาเต’ (Ka mate) เป็นฮากาที่ทีม All Blacks ใช้มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1905 ซึ่งประพันธ์โดยหัวหน้าเผ่าคนหนึ่งชื่อ เต ราอูปาราฮา (Te Rauparaha) ที่สามารถเอาชีวิตรอดจากการไล่ล่าช่วงสงคราม บทฮากานี้เล่าถึงการเดินทางจากความมืดสู่แสงสว่าง สะท้อนถึงการเอาชนะอุปสรรคและความท้าทาย ซึ่งสอดคล้องกับจิตวิญญาณของการแข่งขันกีฬา จนเนื้อร้องท่อนหนึ่งของ ‘คา มาเต’ ที่ร้องว่า “Ka mate, ka mate, ka ora, ka ora” กลายเป็นที่จดจำของแฟนรักบี้ทั่วโลก

และนี่คือเนื้อหาและคำแปลทั้งหมดของ ‘คา มาเต ฮากา’

“Taringa Whakarong !”

“ตั้งสติให้ดี จงฟัง !”

“Kia Rite ! Kia Rite !  Kai Mau! Hi !”

“เตรียมตัวให้พร้อม และยึดมั่น”

“Ringa Ringa Pakia ! Waewae Takahia Kia Kino Nei Hok !”

“ตบขากระทืบเท้าของพวกเจ้า ให้สุดแรง”

“Ka mate, ka mate, ka ora, ka ora” 

“Ka mate, ka mate, ka ora, ka ora” 

 “ข้าตาย ข้าตาย ข้าอยู่ ข้าอยู่”

 “ข้าตาย ข้าตาย ข้าอยู่ ข้าอยู่”

“Tenei Te Tangata Puhuru Huru! Nana Nei I Tiki Mai! Whakawhiti Te Ra!”

“ข้าคือชายชาตรี ผู้คว้าดวงตะวันและทำให้มันกลับมาส่องแสงอีกครั้ง”
“A Upa…Ne! Ka Upa…Ne! A Upane Kaupane Whiti Te Ra! Hi !”

“ก้าวต่อไป ก้าวต่อไป ก้าวต่อไป พระอาทิตย์จงส่องแสง”

เพื่อให้เกียรติวัฒนธรรมเมารี การทำฮากาของทีม All Blacks จะต้องนำโดยผู้เล่นที่เป็นชาวเมารีหรือมีเชื้อสายเมารี, แอรอน สมิธ คือผู้นำในการทำฮาการะหว่างการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลก 2023 ที่ประเทศฝรั่งเศส / ภาพ Victoe Velter, Shutterstock

ฮากาในความหมายทางวัฒนธรรม

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ที่เป็นจุดพีคของการล่าอณานิคมในนิวซีแลนด์และโพลีนีเชีย วัฒนธรรมของชาวเมารีได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะชาวเมารีต้องเผชิญภัยคุกคามทั้งจากคมดาบของสงครามและโรคระบาดที่ติดมากับผู้มาใหม่ ลงผลให้ประชากรเมารีลดลงเหลือเพียงหยิบมือ 

ข้อมูลในปี 1891 ระบุว่า เหลือประชากรชาวเมารีแค่ร้อยละ 10 ของประชากรที่อาศัยอยู่ในนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประชากรเชื้อสายยุโรปเสียส่วนใหญ่ ทำให้ชาวเมารีกลายเป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่กันอย่างยากลำบาก และไม่สามารถแสดงออกถึงอัตลักษณ์และวัฒนธรรมได้อย่างที่เคยเป็น

แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไปจนถึงกลางศตวรรษที่ 20 ชาวเมารีก็ได้รับการยอมรับมากขึ้น นำไปสู่ยุคสมัยของการฟื้นฟูศิลปะและวัฒนธรรม ทำให้วัฒนธรรมของชาวเมารีที่ถูกกดไว้เป็นเวลานานโดยเจ้าอาณานิคม ถูกนำกลับมาสานต่ออีกครั้ง จนได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกล้ำค่าประจำชาติของนิวซีแลนด์ เช่น

ในโลกทัศน์ของชาวเมารี สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวตนและความภาคภูมิใจในรากเหง้า โดยเฉพาะ ‘ฮากา’ ที่เป็นการถ่ายทอดจิตวิญญาณโดยตรงผ่านร่างกาย เป็นภาษากายที่สื่อความหมายได้ลึกซึ้งกว่าคำพูดใด ๆ 

ในมิติทางสังคม ฮากาทำหน้าที่เป็นกาวเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างผู้คน การแสดงฮาการ่วมกันสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียว เมื่อทุกคนขยับร่างกายและเปล่งเสียงอย่างพร้อมเพรียง พวกเขากำลังหลอมรวมพลังและจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน ความแตกต่างระหว่างปัจเจกจางหายไป เหลือเพียงพลังของกลุ่มคนที่แข็งแกร่งและเป็นหนึ่งเดียว นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ฮากามักถูกใช้แสดงในพิธีกรรมที่ต้องแสดงถึงความสามัคคี

ยิ่งไปกว่านั้นฮากายังทำหน้าที่เป็นคลังความทรงจำและภูมิปัญญาของชาวเมารี เพราะบทร้องที่ใช้ในฮากามักบรรจุเรื่องราวประวัติศาสตร์ ตำนาน และคำสอนสำคัญ การที่ได้ฝึกฮากา จึงไม่ใช่แค่การเรียนรู้ท่าเต้น แต่กำลังซึมซับประวัติศาสตร์ ค่านิยม และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไปพร้อม ๆ กัน

ฮากา กลายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงเพื่อต้อนรับแขกสำคัญ ในที่นี้ชาวเมารี กำลังแสดงฮากาให้กับนักท่องเที่ยว /ภาพ ChameleonsEye, Shutterstock

มีฮากาในวัฒนธรรมอื่นหรือไม่

แน่นอนว่าฮากาคือวัฒนธรรมของชาวเมารี แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่พบการเต้นรำหรือการแสดงในลักษณะที่คล้ายกันจากชนพื้นเมืองอื่นในหมู่เกาะแปซิฟิก เพราะวัฒนธรรมการแสดงออกทางร่างกาย ที่พูดถึงการเชื่อมโยงตัวตนและจิตวิญญาณ ได้หยั่งรากลึกและแตกติ่งก้านสาขา กลายเป็นการแสดงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในแต่ละถิ่น 

ชาวอะบอริจิน (Aborigines) ในออสเตรเลียมีการเต้นรำที่เรีกยกว่า ‘คอร์โรบอรี่’ (Corroboree) เป็นการแสดงละครใบ้ เพื่อเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์และตำนานของชนเผ่า และเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของจิตวิญญาณบรรพบุรุษและความเชื่อมโยงกับแผ่นดิน ในการแสดงนี้ ผู้แสดงจะใช้สีหรือโคลนทาตัว ถืออาวุธหรือกิ่งไม้ พร้อมกับเคลื่อนไหวร่างกายไปตามเสียงของ ‘ดิดเจริดู’ (Didgeridoo) เครื่องเป่าพื้นเมืองของชาวอะบอริจิน ที่บรรเลงเพื่อสร้างบรรยากาศความศักดิ์สิทธิ

ในหมู่เกาะตองกา ‘ไคเลา’ (Kailao) เป็นการแสดงที่สื่อถึงความกล้าหาญและความภูมิใจของชาวตองกา การแสดงนี้พิเศษตรงที่มีการผสมผสานท่าทางที่แข็งแแกร่งเข้ากับการเคลื่อนไหวร่างกายที่รวดเร็ว ผู้แสดงจะยืนรวมกันเป็นกลุ่ม แล้วย้ำเท้า สลับกับการกระโดดขึ้นลง หลังจากนั้นก็จะแสดงท่าทางการควงอาวุธและท่าข่มขู่ศัตรู สมัยก่อนชาวตองกาจะแสดงไคเลาเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับนักรบและข่มขวัญศัตรู แต่ปัจจุบันการแสดงนี้ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพิธีต้อนรับแขกเท่านั้น

ถัดออกไปใกล้ ๆ กับตองกา ที่หมู่เกาะซามัว ก็มีประเพณีการแสดงก่อนการแข่งขันกีฬา เช่นเดียวกับฮากาของทีม All Blacks เช่นกัน ทีมรักบี้ของซามัวจะเรียกฮากาในเวอร์ชั่นของตัวเองว่า ‘ซิวา ตาอู’ (Siva Tau) เป็นการแสดงการเคลื่อนไหวที่ดุดัน ทรงพลัง คล้าย ๆ กับฮากา แต่แตกต่างตรงที่ซิวา ตาอู จะเน้นการเคลื่อนไหวของแขนและขา รวมไปถึงการตบส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากกว่าการสั่นมือ ซึ่งมีความเข้มข้นของอารมณ์ที่แสดงไปในเชิงเข้มแข็งมากกว่าข่มขวัญ

ไกลออกไปในเกาะปาปัวนิวกินี ที่นี่มีการแสดงที่เรีกว่า ‘ซิง ซิง’ (Sing-Sing) เป็นการรวมตัวกันของชนเผ่าต่าง ๆ เพื่อแสดงพลังและความเป็นหนึ่งเดียวกันของชุมชน แม้จะไม่เหมือนฮากาในแง่ของท่าทาง แต่ซิงซิงก็มีจุดประสงค์ที่คล้ายกัน คือเพื่อแสดงอัตลักษณ์และความภูมิใจในวัฒนธรรม ผู้แสดงจะใช้สีและโคลนทาตัว ใส่ผ้านุ่งสีฉูดฉาด ประดับด้วยใบไม้ ขนนกและขนสัตว์ ยืนเรียงกันเป็นหน้ากระดานแล้วเต้นรำเพื่อเชื่อมโยงจิตวิญญาณกับธรรมชาติ

เหตุใดฮากาจึงถูกหยิบมาเป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงในนิวซีแลนด์

เรื่องนี้ต้องเล่านย้อนไปถึง การต่อสู้ของชาวเมารีในนิวซีแลนด์ ซึ่งมีรากฐานมาจากประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตั้งแต่เมื่อราว 1,000 ปีก่อน เมื่อบรรพบุรุษของชาวเมารี เริ่มเดินทางจากหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเฉพาะจากเขตโพลินีเซียตะวันออก ในบริเวณที่เป็นหมู่เกาะคุกและตาฮิติในปัจจุบัน พวกเขาใช้ความรู้ด้านการเดินเรือและนำทางโดยใช้ ดวงดาว กระแสน้ำ และการสังเกตธรรมชาติ เดินทางข้ามมาสมุทรด้วยเรือแคนูขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ‘วาก้า’ (Waka) จนมาพบแผ่นดิน ‘อาวเตอารัว (Aotearoa)’ หรือดินแดนที่มีเมฆสีขาวทอดยาว ซึ่งก็คือ ประเทศนิวซีแลนด์ในปัจจุบัน

การตั้งถิ่นฐานของชาวเมารีในนิวซีแลนด์เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยกลุ่มผู้อพยพหลายระลอกที่เดินทางมาตั้งรกรากในพื้นที่ต่าง ๆ ของเกาะเหนือและเกาะใต้ พวกเขาได้พัฒนาวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งผสมผสานระหว่างรากเหง้าแบบโพลินีเชียนกับการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ มีการจัดระบบสังคมเป็นเผ่า มีดินแดน ประเพณี และประวัติศาสตร์เป็นของตนเองอย่างมีความสุข จนกระทั่ง พวกเขาได้ลงนามกับตัวแทนของราชวงศ์อังกฤษในสนธิสัญญาไวตังกิ ในปี 1840

สนธิสัญญาไวตังกิถูกร่างขึ้นมาสองภาษา คือภาษาอังกฤษและภาษาเมารี แต่เนื้อหาของทั้งสองกลับมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ในฉบับภาษาอังกฤษระบุว่า ชาวเมารียอมมอบอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) ให้กับราชวงศ์อังกฤษ แต่ในฉบับภาษาเมารีใช้คำว่า ‘คาวานาตังก้า’ (Kawanatanga) ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่าอำนาจในการปกครอง (Governorship) ซึ่งทำให้ชาวเมารีเข้าใจว่าเป็นเพียงการให้อำนาจในการบริหารจัดการ โดยที่พวกเขายังคงสามารถรักษาอำนาจอธิปไตย หรือ ‘ตีโน่ รังกาติราตังก้า’ (Tino rangatiratannga) เหนือแผ่นดิน ทรัพยากร และวัฒนธรรมของตนเอาไว้ได้

ความคลุมเครือและความแตกต่างในการตีความสนธิสัญญาไวตังกิ จึงนำไปสู่ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ รัฐบาลอาณานิคมในเวลาต่อมา ได้ยึดที่ดินจำนวนมากของชาวเมารี ด้วยวิธีหลบเลี่ยงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการซื้อในราคาต่ำกว่าประเมิน การยึดโดยพละการ นำไปสู่สงครามที่ดินในช่วงปี 1860 และการสูญเสียทรัพยากรและอำนาจทางการเมืองของชาวเมารีอย่างต่อเนื่อง

จนเกิดการเคลื่อนไหวในช่วงศตวรรษที่ 20 เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมตามสนธิสัญญาไวตังกิ นำไปสู่การจัดตั้งศาลไวตังกิ (Waitangi Tribunal) ในปี 1975 เพื่อพิจารณาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสนธิสัญญา กระบวนนี้นำไปสู่การชดเชยที่ดินและคืนทรัพยากรต่าง ๆ ให้กับชาวเมารี รวมถึงการยอมรับสิทธิและวัฒนธรรมของพวกเขามากขึ้น ทำให้พวกเขาสามารถสามารถแสดงอัตลักษณ์ได้อย่างอิสระ

ตอนนี้ฮากากลายเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาและการสร้างความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม ฮากาถูกบรรจุเป็นส่วนนึงของการศึกษาในโรงเรียนที่นิวซีแลนด์ เด็กชาวเมารีและปาฮิกา (Pākehā) หรือผู้มาใหม่ (ซึ่งในที่นี้ก็คือเด็กชาวนิวซีแลนด์ที่ไม่ได้มีเชื้อสายเมารี) จะได้เรียนรู้การแสดงฮาการ่วมกัน เพื่อสร้างความเข้าใจและการยอมรับวัฒนธรรมที่หลากหลาย สร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรม ตลอดจนความสำคัญของความสามัคคี

ด้วยบริบทนี้เอง ฮากาในวันนี้ จึงไม่ใช่แค่การแสดงทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการดำรงอยู่และการต่อสู้ของชาวเมารี แม้ว่าจะผ่านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองมาหลายยุคสมัย แต่ชาวเมารีก็ยังคงรักษาแก่นแท้ของวัฒนธรรมนี้เอาไว้ได้ จึงไม่แปลกใจที่เราจะได้เห็นการแสดงฮากาในหลายโอกาส ตั้งแต่พิธีต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง พิธีสำคัญของรัฐ งานศพของบุคคลสำคัญ ไปจนถึงการประท้วงทางการเมืองและสังคม ที่ตอกย้ำถึงการมีตัวตนและสิทธิอันชอบธรรมของชาวเมารีในนิวซีแลนด์

เสียง ‘คา มาเต ฮากา’ ที่ดังก้องในสภาวันนั้น จึงไม่ใช่เพียงการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อร่างกฎหมาย แต่เป็นเสียงสะท้อนก้องมาจากอดีตอันไกล เป็นเสียงเดียวกับที่บรรพบุรุษใช้ในการประกาศจุดยืน ปกป้องสิทธิของชาวเมารี เพื่อการดำรงอยู่ การต่อสู้ และเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ชนพื้นเมืองทั่วโลก หันมาสนใจในการรักษาและฟื้นฟูวัฒนธรรมของตน เพื่อสร้างสร้างสังคมที่เคารพในความหลากหลายและตระหนักถึงคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมที่แต่ละชนชาติได้สั่งสมมา 

“ท้ายสุดแล้ว ‘ฮากา’ ก็คือบทเพลงแห่งชีวิตที่ยังคงบรรเลงต่อไป ด้วยจังหวะของการต่อสู้

ด้วยท่วงทำนองแห่งความหวัง และด้วยพลังแห่งจิตวิญญาณที่ไม่มีวันดับสูญของชาวเมารี”

สืบค้นและเรียบเรียง

อรณิชา เปลี่ยนภักดี

ที่มา

https://www.newzealand.com

https://teara.govt.nz

https://www.britannica.com

https://www.creativeteamevents.com

https://www.nytimes.com


อ่านเพิ่มเติม : นิวซีแลนด์มอบสถานะบุคคลให้แม่น้ำของ ชาวเมารี

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.