‘เมทานอล’ ในเหล้าเถื่อน เหตุสลดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศเอเชียและบทเรียนสำคัญของนักเดินทาง

เหล้าเถื่อนกับการตาย เหตุสลดซ้ำแล้วซ้ำเล่าของประเทศในเอเชียที่ไม่ควรมองข้าม กับคำถามที่ว่าในขั้นตอนการผลิตสุรากระบวนการเปลี่ยนแอลกอฮอล์ที่สุ่มเสี่ยงต่ออันตรายจนถึงชีวิตอยู่ตรงไหน?

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 สำนักข่าวเดอะการ์เดียน รายงานว่า รัฐบาลของประเทศลาวได้ออกมาแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6 รายที่เสียชีวิตจากภาวะพิษจากเมทานอล หลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ปนเปื้อนเมทานอลที่บาร์แห่งหนึ่งในเมืองวังเวียง แขวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว

รายงานข่าวระบุว่า ถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 6 รายเป็นชาวเดนมาร์ก 2 ราย อเมริกัน 1 ราย อังกฤษ 1 ราย และออสเตรเลีย 2 ราย โดยพวกเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวราว 12 รายที่มีอาการป่วยรุนแรงหลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปนเปื้อนเมทานอลไม่นานหลังจากวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในประเทศลาว ขณะที่รัฐบาลต่างๆ อาทิ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ได้เตือนประชาชนของตนเกี่ยวกับการดื่มสุราในประเทศลาว

แถลงการณ์ตอนหนึ่งของครอบครัวฮอลลี่ โบว์ลส์ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวสาวชาวออสเตรเลีย จากเมืองเมลเบิร์น วัย 19 ปี หนึ่งในผู้เสียชีวิต ระบุว่า “รู้สึกใจสลายกับสิ่งที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้สมาชิกของครอบครัววัย 19 ปีผู้นี้ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วยการเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบปะเพื่อนใหม่ๆ และเพลิดเพลินไปกับประสบการณ์ที่น่าทึ่ง แต่ก็ต้องพบกับข่าวร้ายที่ทำลายจิตใจ”

ข้างต้นคือข่าวล่าสุดที่ว่าด้วยการเสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์ที่ปนเปื้อนเมทานอลที่เราได้ยิน หลังก่อนหน้านี้ไม่นาน ในประเทศไทยเองก็เพิ่งมีข่าวมีผู้ป่วยและเสียชีวิตหลังดื่มสุราดองในพื้นที่ย่านคลองสามวา กรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง จนเรียกกันว่าคลัสเตอร์ “ยาดองมรณะ” ซึ่งต่อมากรมสรรพสามิตได้ตรวจสอบต้นตอโรงงานผลิตพบลักลอบผสมเมทานอล และสั่งปิดซุ้มยาดองในพื้นที่ใกล้เคียง

“แพทย์ทำการตรวจเลือดผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพบว่ามีความเป็นกรดสูง เกิดจากภาวะพิษจากเมทานอล (Methanol intoxication) ทั้งยังพบความผิดปกติเมื่อมีคนไข้หลายรายทยอยถูกส่งตัวเข้ามารับการรักษาตัวด้วยอาการเหนื่อยหอบ ซึม อ่อนเพลีย ตาพร่ามัว วิงเวียนศีรษะ และอาเจียน โดยหลายรายอาการหนักถึงขั้นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เมื่อประสานข้อมูลกับโรงพยาบาลใกล้เคียงก็พบว่ามีผู้ป่วยด้วยอาการดังกล่าวเข้ารับการรักษาเหมือนๆ กัน” รายงานข่าวส่วนหนึ่งระบุถึงอาการของผู้ป่วยในไทยเมื่อปลายสิงหาคมที่ผ่านมา

สุราเถื่อนกับ เมทานอล กระบวนการอันตรายเกิดตรงไหน?

กระบวนการผลิตยาดอง หรือสุราท้องถิ่น เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมาในแทบทุกชาติ เป็นเสน่ห์ด้านการท่องเที่ยวที่หลายคนอยากทำความรู้จัก แต่ถึงเช่นนั้นการผลิตที่ไม่สามารถควบคุมมาตรฐานได้ ก็เป็นเหตุทำให้ผู้บริโภคเกิดอันตรายถึงชีวิตตามที่เป็นข่าว

ทั้งนี้การเสียชีวิตเหล่านี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเมทานอล ซึ่งเป็นสารประกอบเป็นพิษที่พบได้ทั่วไปในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผิดกฎหมาย

เมทานอล (Methanol หรือ Methyl alcohol) เป็นของเหลวใสไม่มีสี มีลักษณะคล้ายกับ เอทานอล (Ethyl alcohol)  ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมักพืชผลทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง  โดยเมทานอลนั้น เป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่ “บริโภคไม่ได้” ซึ่งปกติถูกใช้เป็นส่วนประกอบของเชื้อเพลิงหรือใช้เป็นสารทำละลายในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น น้ำยาลอกสี น้ำหมึก

ธวัชชัย วิบูลย์จันทร์ อดีตอาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ นักวิชาการด้านเบียร์ เจ้าของเพจ “Beerotechnologist เบียร์โอเทคโนโลจิสท์” ให้สัมภาษณ์ National Geographic ฉบับภาษาไทย ว่า ผู้ผลิตสุราบริโภคเอง ที่มีการปนเปื้อนเมทานอลนั้น คาดว่าไม่ได้กลั่นเอง หรือ ไม่มีความรู้ด้านการกลั่นที่ถูกต้องเพียงพอ ทำให้ไม่ทราบถึงการปนเปื้อน ผิดพลาด จนนำแอลกอฮอล์ที่บริโภคไม่ได้มาใช้ในกระบวนการผลิต

 “เอทานอล เกิดจากกระบวนการการหมักจากน้ำตาล เช่น ข้าวบาร์เลย์ ผลไม้ หรือ มันสำปะหลัง การเปลี่ยนองค์ประกอบทางเคมีที่เปลี่ยนกระบวนการหมักที่ทำให้เอทานอล กลายเป็นเมทานอล มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก หรือแทบจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลย โดยเฉพาะการหมักเบียร์ โอกาสที่จะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยผลิดพลาดน่าจะเป็นจากการรับหัวเชื้อแอลกอฮอล์มาผลิตต่อ ซึ่งอาจใช้สารตั้งต้นที่แปลกออกไป เพียงเพื่อต้องการควบคุมต้นทุนการผลิต” หรือบางราย อาจมีการผสมเมทานอลลงในเอทานอลเพื่อลดต้นทุน”

สารตั้งต้นของการเกิดเมทานอลในกระบวนการการหมักนั้นคือ เพคติน (Pectin, โพลีแซคคาไรด์ชนิดหนึ่ง พบในพืช, ผลไม้) ซึ่งวัตถุดิบในการทำเบียร์นั้น มีปริมาณเพคตินน้อยมากๆ ทำให้ในเบียร์นั้นมีปริมาณเมทานอลน้อยมากๆ แม้จะเป็นเบียร์ผลไม้หรือไวน์ ก็พบปริมาณเมทานอลน้อยมากๆเช่นกัน

ถึงเช่นนั้น ปริมาณน้อยๆ จะเพิ่มเป็นมากขั้นในกระบวนการการกลั่น โดยการกลั่น คือ การเพิ่มความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ให้สูงขึ้น และสำหรับการหมักจากสารตั้งต้นที่มีเพคตินนั้น อาจเกิดเมทานอลขึ้นมาได้ แต่ถ้าผู้กลั่นมีความรู้ ความชำนาญในการกลั่น ก็จะทราบว่า จุดเดือดของเมทานอลนั้น อยู่ที่ 64.7 องศาเซลเซียส ส่วนจุดเดือดของเอทานอล อยู่ที่ 78.37 องศาเซลเซียส ซึ่งแตกต่างกันพอสมควร พอเริ่มกลั่น เราจะได้เมทานอลออกมาก่อน เพราะมีจุดเดือดที่ต่ำกว่า เอทานอล ซึ่งผู้กลั่น ก็จะทิ้งส่วนนี้ หรือที่เรียกว่า “ทิ้งหัว”ขณะที่ผู้กลั่นที่ไม่ทราบ หรือ เสียดาย ก็จะเก็บส่วนนี้ไว้ ทำให้เอทานอลที่ได้จากการกลั่นนั้นมีเมทานอลปนเปื้อนมาได้

ทั้งนี้เมื่อร่างกายรับสาร เมทานอล แล้ว จะถูกเผาผลาญให้กลายเป็นฟอร์มาลดีไฮด์ (หรือฟอร์มาลีน) และกรดฟอร์มิก ซึ่งเป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อระบบประสาท ระบบการหายใจ และการมองเห็น ทำให้เลือดกลายสภาพเป็นกรด ทำลายเซลประสาท บางรายหากมีอาการรุนแรง อาจถึงขั้นตาบอด หรือเสียชีวิตได้

ข่าวร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่าของแหล่งท่องเที่ยวเอเชีย

ข้อมูลของโครงการริเริ่มเกี่ยวกับเมทานอลเป็นพิษ (Methanol Poisoning Initiative – MPi) โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยออสโลและองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ระบุว่า ในปี 2023 มีเหตุที่เกี่ยวข้องกับเมทานอล 60 ครั้งทั่วโลกที่ทำให้ผู้คนถึงแก่ความตาย 309 ราย

มีรายงานว่า เคสส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเอเชีย เช่น ในประเทศอินโดนีเซียก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากตกเป็นเหยื่อเหล้าเถื่อน หรือสุราที่มีผสมของเมทานอลจนมีภาวะเป็นพิษ ทั้งในเกาะบาหลี เกาะลอมบอก นอกจากนั้น ยังมี อินเดีย บังกลาเทศ จีน กัมพูชา และเวียดนาม

ที่อินโดนีเซีย มีการระบุเลยว่า สาเหตุที่พบเคสเหล้าเถื่อนปนเปื้อนเมทานอลจำนวนมาก เป็นเพราะเป็นประเทศที่มีกฎหมายเข้มงวดเกินไป ทำให้ผู้คนหาทางออกด้วยการบริโภคเหล้าเถื่อนแทน

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีรายงานคนหลายคนเกิดภาวะแพ้เมทานอลในอินโดนีเซีย หลังดื่มแอลกอฮอล์ที่สั่งในอินเทอร์เน็ต ขณะที่ก่อนหน้านี้มีนักเรียนป่วยจากภาวะเป็นพิษเพราะผสมเหล้าปนเปื้อนร่วมกับเครื่องดื่มชูกำลัง และจากนั้นนักเรียน 3 คนในกลุ่มก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา

หนังสือพิมพ์ Hindustan Times ของอินเดีย เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รายงานว่า ที่อินเดียเพิ่งเกิดกรณีพบผู้เสียชีวิตจากการดื่มเหล้าเถื่อนปนเปื้อนเมทานอลมากกว่า 47 ราย และตาบอดหลายรายในเมืองทางใต้ของประเทศ  เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่เกิดเหตุการณ์ ผู้ป่วยได้รับสารพิษจากการดื่มยาดองที่มีการปนเปื้อนเมทานอล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตต่อเนื่อง

สุราพื้นบ้านที่ต้มเอง บริโภคเอง ในทางหนึ่งคือเสน่ห์ของการท่องเที่ยวหาประสบการณ์ แต่ในเวลาเดียวกันก็กลายเป็นดาบสองคมที่ผู้มาเยือนต้องพิจารณา

ดร. เลย์ลา ฮันเบ็ค ประธานของ Association of Independent Multiple Pharmacies ในอังกฤษ แสดงความคิดเห็นหลังมีนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษเป็นหนึ่งในเหยื่อที่เสียชีวิตจากการดื่มเหล้าเถื่อนในลาวว่า “คนหนุ่มสาวที่เดินทางควรได้รับความรู้มากขึ้นว่าบางพื้นที่ในโลกก็มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ และเมื่อพวกเขาเดินทางไปต่างประเทศ พวกเขาจะได้ระมัดระวัง

ไม่ให้ต้องกลายเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าแบบที่ได้ยินกันมาตลอด

สืบค้นและเรียบเรียงข้อมูล : อรรถภูมิ อองกุลนะ

ภาพประกอบ ภาพถนนที่มีบาร์ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย

Photo by Phong Vo on pexels.com

ที่มา

https://www.theguardian.com

 https://www.hindustantimes.com

https://www.gbnews.com

https://www.nbclosangeles.com


อ่านเพิ่มเติม : ฮากา คืออะไร ถอดความหมายเบื้องหลังการเต้นประท้วงในสภานิวซีแลนด์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.